การเรียนรู้นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ


นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ

จากการได้รับฟังการบรรยายของ ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ ในหัวข้อ "นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ และ พรบ. สุขภาพแห่งชาติ" เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2554 เวลา 09.00-16.00 น. ที่ห้องประชุม 2 ชั้น 7 อาคารเวชวิชาคาร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีประเด็นที่อยากจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายดังนี้ค่ะ

                “ปัญหาสุขภาพ ปัจจุบันมีความซับซ้อนของสาเหตุ และส่วนใหญ่เป็นปัญหาจากโรคไม่ติดต่อ (Non- Communicable Disease: NCD ) ที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงของมนุษย์ ผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่เกิดเฉพาะรายปัจเจก แต่ส่งผลต่อสังคมโดยรวม  และต่อระบบใหญ่ (Macro system) ไม่ว่าทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา ฉะนั้นกระบวนการแก้ไขปัญหาหรือการพัฒนา ต้องสร้างความเข้มแข็งมั่นคงในเชิงระบบ และมองให้เป็นองค์รวมหรือสะท้อนถึง “สุขภาวะ” ด้วย และ นโยบาย เป็นกลไกที่สำคัญ ช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ได้จากกระบวนการคิด วิเคราะห์และวางแผนร่วมกัน  สู่การปฏิบัติในพื้นที่อย่างเป็นจริงและเป็นไปได้ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา “โลกป่วย (ทฤษฎี GIAI)”

            “นโยบายสาธารณะ” เป็นวิวัฒนาการของแนวทางการพัฒนาที่เกิดจากการจัดเวทีระดมความคิดเห็นร่วมกันของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีความหลากหลาย ในประเด็นหนึ่งๆที่ส่งผลกระทบโดยรวมที่สำคัญต่อสาธารณะ และผ่านกระบวนการวิพากษ์ของสังคมและหาข้อตกลงร่วมกัน โดยมีองค์กรกลางในการขับเคลื่อน พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ  (พรบ.สุขภาพแห่งชาติ) เป็นผลการผลักดันนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ   เช่น ในประเทศไทยมีสมัชชาสุขภาพ (สช.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) หรือสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หรือองค์กรภาครัฐอื่นๆ เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค นโยบายด้านการซื้อ-ขายหรือดื่มสุรา   หรือในระดับโลก เช่น Ottawa Charter  for health promotion (1986) ที่ได้เสนอแนวทางการพัฒนาให้ประชาชนมีสุขภาวะโดยเน้นการส่งเสริมสุขภาพ คือ  1) นำนโยบายสาธารณะพัฒนาปัจจัยกำหนดสุขภาวะที่มีผลต่อสุขภาพของคน  2) สร้างสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทางสังคม ที่เอื้อหนุน เกื้อกูล ต่อสุขภาวะ มีทางเลือกให้ประชาชน (3) พัฒนาทักษะประชาชน และ ครอบครัว (4) สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง  และ (5) ปรับทิศทางการบริการ หรือลงทุนด้านสุขภาพมาเน้นบริการปฐมภูมิเพื่อเป็นทิศทางในการทำงานร่วมกัน เป็นต้น   

           ปัญหาส่วนใหญ่คือ การที่ไม่สามารถขับเคลื่อนสู่การเป็นนโยบายได้หรือไม่ทันต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยหลายปัจจัยเหตุ เช่น อิทธิพลทางการเมือง  ขัดต่อประโยชน์ทางธุรกิจ บริบทของประเทศทั้งสภาพสังคม วัฒนธรรม ประเพณีทำให้มีประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประโยชน์ต่อสังคมที่แตกต่างกัน ดังกรณีศึกษาที่ได้จากการชมภาพวีดีโอในต่างประเทศเรื่อง Story Field” ที่นำเสนอเรื่องราวให้สังคมได้รับรู้อย่างเป็นลำดับต่อเนื่องกัน  เพื่อเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้ถึงความพยายามของกลุ่มคนเล็กๆที่ต่อต้านธุรกิจข้ามชาติ ด้านอาหารหรือการขายเมล็ดพันธุ์ “ข้าวโพด”  ที่เป็นคำตอบของอาหารทั้งคนและสัตว์มากมายทั่วโลก มีกระบวนการวางแผนอย่างเป็นระบบครบวงจรเชื่อมโยงผลประโยชน์ในหลายองค์กรที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การผลิตเมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรม (GMO)  แต่มีระบบลิขสิทธิ์ทางกฎหมายควบคุมการขยายพันธุ์ การขายสารกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมีหรือการแปรเปลี่ยนวัตถุดิบเป็นอาหารที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่อการบริโภคแต่แฝงผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในระยะสั้นและระยะยาว สิ่งเหล่านี้ทำให้สังคมอ่อนแอหรือสร้างระบบการพึ่งพา  และขาดพลังอำนาจการต่อรอง (Negotiation)ในที่สุด โดยไม่คิดว่า “ตนเองมีอำนาจที่จะเลือกหรือไม่เลือกซื้ออะไร” จุดเปลี่ยนของความคิดจึงเกิดการได้รับผลกระทบโดยตรงต่อตนเองหรือครอบครัว และแผ่ขยายวงกว้างให้คนในสังคมได้ก้าวออกมาตีแผ่ถึงเรื่องราวเหล่านั้น และเสนอมุมมองด้านต้นทุนเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นในกรณีที่เลี้ยงหรือผลิตแบบดั้งเดิม หรือเป็น “เงินที่ได้จากแสงอาทิตย์”  ซึ่งเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันเหล่านี้ ได้เกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่ยังไม่มีการขับเคลื่อนที่ชัดเจน  ดังในกรณีของประเทศไทยที่มีนโยบายส่งเสริมการใช้พืชสมุนไพรหรือปุ๋ยอินทรีย์แก่เกษตรกรในการทำเกษตรกรรม แต่ยังไม่มีความยั่งยืน  จากหลายสาเหตุ เช่น 1) ยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพตนเอง ต่อสิ่งแวดล้อม ต่อผู้บริโภคอื่น  2) ผลผลิตได้น้อยกว่าการใช้สารเคมี 3) สื่อส่งสารในด้านที่เป็นประโยชน์ /กำไร  สะดวก เห็นผลเร็ว แต่ไม่กล่าวถึงผลกระทบด้านลบ หรือ 4) กลยุทธ์ทางธุรกิจที่มีความซับซ้อนและเอื้อประโยชน์มหาศาล เช่น ระบบการกู้ยืม การขายตรง การสร้างสื่อที่ตรงใจ จำง่าย เข้าถึงโดยละเลยการตรวจสอบ การไม่ให้อำนาจกลุ่มองค์กรที่ช่วยตรวจสอบหรือคุ้มครองผู้บริโภค จึงขาดพลังในการคานอำนาจดังกล่าว  รวมถึงการไม่ส่งเสริม/สนับสนุนเพื่อค้นหาหลักฐานหรือข้อมูลเชิงประจักษ์ต่อการนำเสนอผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลให้นโยบายขาดความจริงจัง  สังคมไม่รับรู้และขาดความต่อเนื่องในการดำเนินการในที่สุด 

                    สำหรับประเทศไทยได้พยายามพัฒนาระบบหรือกลไกเพื่อขับเคลื่อนให้เป็นทิศทางเดียวกันและเห็นเป็นรูปธรรม เช่น การสร้างธรรมนูญสุขภาพ เป็นกรอบการทำงานสุขภาพระยะยาว  (2552-2563)  การสร้าง พรบ.สุขภาพปี 2550 และร่างปี 2553 การประเมินผลกระทบจากนโยบายโดยกระบวนการวิจัย และนำเสนอผลต่อสาธารณะ  และผลิตสื่อ องค์ความรู้ เทคนิคหรือเครื่องมือต่างๆ  และที่สำคัญ ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน  แต่ทั้งนี้การ “เปลี่ยน” สิ่งที่เคยรับรู้ เคยปฏิบัติจนชิน  ต้องอาศัยหลายส่วน  นพ.ประเวส วะสี ราษฎรอาวุโส ได้เสนอมุมมอง “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ที่ยาก แต่หากใช้ “พลังทางปัญญา พลังทางสังคม และพลังของอำนาจรัฐ ที่เชื่อมโยงกัน  โดยเฉพาะประเทศไทย สังคมต้องเป็นฝ่ายนำ  หากมีการรวมตัวในทุกพื้นที่ ในทุกเรื่อง สังคมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงจากโครงสร้างเชิงดิ่ง เป็นเชิงราบ เรียกว่า “ประชาสังคม”   ต้องมีความหลากหลาย อิสระ แต่มีเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมกัน  ก็จะเกิดความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองในที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม  ยังขาดความสามารถในการสังเคราะห์ประเด็นเชิงนโยบายให้สามารถนำไปปฏิบัติได้ แม้ว่าจะมีหน่วยงานเข้ามาดำเนินการ แต่ก็ไม่มีพลัง เพราะยังขาดการสังเคราะห์ประเด็นเชิงนโยบายสาธารณะดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องปฏิรูป..ต้องสัมผัสชุมชนท้องถิ่นเพื่อหนุนเสริมท้องถิ่นทั้งหมด..”  (http://www.tnnthailand.com,Thursday, June 17, 2010)

                จากที่ได้รับฟังการบรรยาย การแลกเปลี่ยนในชั้นเรียน ในแต่ละประเด็นที่ชมภาพวิดีโอ ทำให้ได้เรียนรู้และเชื่อมโยงถึงการเกิดนโยบายสาธารณะ ฝึกการคิดวิเคราะห์ภายใต้ข้อมูลที่มีอยู่และประสบการณ์จากการทำงาน การใช้ชีวิต  และฝึกการมองภาพ “เชิงระบบ” มากกว่าการมองในสิ่งที่กำลังทำเป็นประจำ.....และเชื่อมกับระบบอื่น..ประเทศอื่นจึงจะเห็นภาพหรือแหล่งของปัญหาที่แท้จริง...

 

หมายเลขบันทึก: 471279เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2011 00:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณนะคะที่แบ่งปันความรู้...ชีกี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท