นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ


Politic is medicine, medicine is social science.

นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ

ได้รับฟังการบรรยายของท่าน ผศ.ดร.นพ.ปัตตพงษ์ เกษสมบูรณ์ ในหัวข้อ "นโยบายสาธารณุเพื่อสุขภาพ และ พรบ. สุขภาพแห่งชาติ" เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2554 ที่ห้องประชุมชั้น 7 อาคารเวชวิชาคาร คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีประเด็นที่อยากจะแบ่งปัน และ แลกเปลี่ยนดังนี้ครับ


จากบทสรุปการบรรยายที่ยกคำพูดของ Rudolf Carl Virchow กล่าวไว้ว้า "Medicine is a social science, politics is medicine" เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ว่า การเมืองกับการแพทย์ และ สังคมศาสตร์ เป็นเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้ มุมมองต่อสุขภาพที่ได้ยกระดับจากการเกิดโรคมาเป็นสุขภาวะ ที่มีปัจจัยมากมากเกียวข้องนั้นเป็นจุดที่ทำให้เห็นถึงความจำเป็นของการที่จะต้องมีนโยบายสาธารณะที่เหมาะสมเพื่อเอื้อต่อสุขภาวะที่ดีในสังคมใดสังคมหนึ่ง

ได้เห็นถึงสถานการณ์ปัญหา (ทุกข์) ที่สำคัญคือ "การป่วย หรือ ตาย โดยไม่สมควร" ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาถึงปัจจุบันรวมถึงแนวโน้มต่ออนาคต ได้แก่ สาเหตุการตายที่เปลี่ยนแปลงจากโรคติดเชื้อ มาเป็นโรคที่ป่วยหรือตายโดยไม่สมควร เช่น มะเร็ง (เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนไทยมามากกว่า 5 ปี) อุบัติเหตุ และ พิษ (เป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ของคนไทยมามากกว่า 5 ปี) และ เมื่อวิเคราะห์สาเหตุที่เป็นภัยคุกคามสุขภาพคนไทยดังกล่าวนั้นพบว่ามีสาเหตุมาจากแหล่งที่ใกล้เคียงกันคือการมีสารเคมีอันตรายที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมี และ เชื่อมต่อกับสาเหตุการเกิดมะเร็งต่าง ๆ จากผลรายงานการวิจัยของอาจารย์ที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับสารเคมีต่าง ๆ โดยเฉพาะสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรทั้งเกษตรกรใช้เองในแปลงการเกษตร มีรายงานการวิจัยที่พบความสัมพันธ์ของการสัมผัสสารเคมีและเกิดโรคต่าง ๆ มากมาก ทั้งหลักฐานเชิงประจักษ์ในโรงพยาบาล และ พื้นที่การเกษตรเช่นพื้นทื่ภาคกลาง และ จากสารเคมีที่ปนเปื้อนมาจากอุตสากรรมอาหารที่ไม่มีคุณภาพ จากภาพยนตร์ของ Food Inc ที่แสดงให้เห็นถึงการดำเนินธุรกิจอาหารที่มีผลต่อโรคอ้วนในอเมริกา และ การต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่กระทบจากการบริโภคอาหารปนเปื้อนจนทำให้เสียชิวิต สะท้อนถึงความล้มเหลวของการเอาจริงเอาจังของภาครัฐกับกลุ่มนายทุนที่ทำธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารที่มีจริยธรรม รวมถึง กรณีการที่ได้มีการเพิกถอนผลิตภัณฑ์เคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทยแล้ว แต่ก็ยังพบว่ามีการซื้อขายกันอยู่ เป็นต้น.....

เกิดการเจ็บป่วยที่ไม่จำเป็น สร้างหมอ สร้างโรงพยาบาล ก็ไม่พอรับการรักษาผู้ป่วยที่รอคิวรับบริการจนล้นโรงพยาบาล สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจากการใช้ทรัพยาการแบบเน้นป้อนการผลิตทำให้เกิดภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง และ รุนแรงขึ้น เหล่านี้สะท้อนถึงผลของการพัฒนาคำนึงแต่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่นำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และ สุขภาพอย่างพอเพียง เป็นการพัฒนาที่ไม่สมดุล และ ไม่ยั่งยืน 

การแก้ไขปัญหา ต้องปรับจากการซ่อมสุขภาพ ไปเป็นสร้างสุขภาพ (เน้นที่สุขภาวะ) มีกาย จิต ปัญญา และ สังคมไปพร้อม ๆ กัน รู้ และ เข้าใจถึงปัจจัยกำหนดสุขภาพ จากปัจเจกบุคคล ครอบครัว สังคม และ ระบบเศรษฐกิจสังคมของประเทศ  สอดคล้องกับผลการประชุมที่เมืองอ็อตตาว่าปี 2529 (Ottawa charter for health promotion - 1986) กล่าวคือ (1) นำนโยบายสาธารณะพัฒนาปัจจัยกำหนดสุขภาวะที่มีผลต่อสุขภาพของคน (2) สร้างสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทางสังคม ที่เอื้อหนุน เกื้อกูล ต่อสุขภาวะ มีทางเลือกให้ประชาชน (3) พัฒนาทักษะประชาชน และ ครอบครัว (4) สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง  และ (5) ปรับทิศทางการลงทุนด้านสุขภาพมาเน้นบริการปฐมภูมิ ส่งเสริม ป้องกัน กำหนดวิสัยทัศน์ให้มั่นคงคือ "พัฒนาอย่างยั่งยืน เน้นสร้างสุขภาวะ ไม่ทำลายโอกาส คนรุ่นต่อไป"

สำหรับประเทศไทยได้มีธรรมนูญสุขภาพซึ่งประกาศใช้เป็นกรอบภาพรวมของระบบสุขภาพระยะยาว  (2552-2563) โดยมีปรัชญา และ แนวคิดพื้นฐานสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ สุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งเป็นระบบความสัมพันธ์มั้งมวลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ โดยมีระบบบริการสาธารณสุขเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพ ระบบสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นส่วนของความมั่นคงของประเทศ รัฐและทุกภาคส่วนในสังคมพึงให้ความสำคัญอย่างสูงแก่การพัฒนาระบบสุขภาพ โดยได้กำหนดให้มียุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนานโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม และ เป็นรูปธรรม โดยส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐ และ ส่วนต่าง ๆ ได้พัฒนานโยบายที่เอื้อต่อสุขภาพด้วยกระบวนการแบบมีส่วนร่วม ใช้องค์ความรู้เป็นฐาน ทุกหน่วยงานมีส่วนร่วมอย่างจริงจังทุกกระบวนการ ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนของการทำงานพัฒนาระบบสุขภาพโดยรวมของประเทศ

กรอบธรรมนูญสุขภาพนี้ถือเป็นส่วนสำคัญจากหลาย ๆ ส่วนที่เกิดจาก พรบ. สุขภาพแห่งชาติ 2550 ซึ่งพรบ. นี้ถือเป็นกลไกหลักสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาสุขภาพของประเทศไปสู่การพัฒนาสุขภาพแบบองค์รวม โดยให้ความหมายของสุขภาพว่าเป็นภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งกาย จิตใจ ทางปัญหา และ สังคม เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล มีระบบสุขภาพหมายถึงระบบความสัมพันธ์่ทั้งมวลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ มีกลไกสมัชชาสุขภาพ เพื่อให้เกิดกระบวนการที่ประชาชน และ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสมานฉันท์เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะนโยบายสาธารณุเพื่อสุขภาพ หรือ การมีสุขภาพดีของประชาชน กำหนดสิทธิ และ หน้าที่ด้านสุขภาพ กำหนดให้มีกลไกการพัฒนาธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติโดยคณะกรรรมการสุขภาพแห่งชาติ และ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งได้สรุปสาระสำคัญหลักแล้วข้างต้น

ผลจากความพยายามดังกล่าว มีความสำเร็จมากมายที่เกิดขึ้นทั้งระดับนโยบายสำคัญ ๆ ได้แก่การทำงานหลักประกันสุขภาพ การควบคุมบุหรี่ การใช้สิทธิบัตรยาเพื่อสาธารณะโดยรัฐ การถอนคาเฟอีนออกจากยาแก้ปวด การให้มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ในโครงการของรัฐ รวมถึง การทำงานถุงยางอนามัย 100% เป็นต้น ประเทศไทย และ บุคลากรสำคัญได้รับการยอมรับจากสังคมโลกในการดำเนินงานในหลาย ๆ ด้าน่ี่ผ่านมา รวมถึง ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในระดับชุมชน คือการปรับเปลียนวิธีชีวิตจากการพึ่งพิงระบบเศรษฐกิจที่เน้นผลิตเพื่อขาย มาเป็นเศรษฐกิจพอเพียงการพึ่งวิธีธรรมชาติต่าง ๆ มีเรื่องเล่ามากมายจากกรณีปราชญ์ชาวบ้าน นักคิด คนทำงานชุมชนต่าง ๆ ที่มุ่งมั่น และ ทำงานในจุดเล็ก ๆ ของตนเองให้เข้มแข็ง และ เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายต่าง ๆ 

แนวคิดกลไกสามเหลี่ยมเขยื่อนภูเขา เป็นกลไกการทำงานจาก  3 ส่วนประกอบหลักที่เสนอโดยนายแพทย์ประเวศ วะสี ซึ่งได้แก่ (1) ความรู้ที่ตรงประเด็น ต้องรู้เรื่องนั้นจริง ค้นคว้าวิจัย ชัดเจนในเรื่องนั้น ๆ (2) สังคม หรือ การขับเคลื่อนทางสังคม (Social Mobilization) หมายถึง สังคมเข้ามาร่วมเรียนรู้ เข้ามาสนใจ เข้ามาร่วมกัน และ (3) อำนาจรัฐ หรือ การเมือง ซึ่งจะต้องมาทำงานร่วมกันทั้ง 3 ด้านขาดด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ จะไม่สำเร็จ คนคิด สังคมเคลื่อน รัฐหนุนนำ จึงจะสำเร็จ


ที่สำคัญที่สุด เราเองในฐานประชาชนคนไทย ไม่ว่าจะอยู่บทบาทไหน

หน้าที่ไหน ต้องรู้เท่าทันปัญญา ใช้ชีวิตอย่างมีปัญญา ส่งเสริม และ มีส่วนร่วม

ขับเคลื่อนสังคมที่ตนเองอยู่ รวมถึง สร้างเสริม และ สนับสนุนการทำงานของ

ภาครัฐที่เป็นธรรม และ โปร่งใสให้มีกำลังใจทำงานได้ต่อไป

 

....

หมายเลขบันทึก: 471195เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2011 12:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 16:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท