KM00077 : เรื่องของ "กรรม" ตามความเข้าใจของผม


ในชีวิตประจำวันบ่อยครั้งที่เราก็ "ประมาทในเรื่องของจิต"

"หากมีเด็กในบ้านทำแก้วแตก เราโมโห ดุด่าว่ากล่าวเด็ก ขณะนั้นทั้งคู่เกิดเสียชีวิตทันที ใครตกนรก คำตอบก็คือ เรา เพราะจิตขณะนั้นอยู่ในสภาวะจิตที่กำลังโมโห ส่วนเด็กที่ทำแก้วแตกไม่ตกนรก" (ข้อความอาจไม่ตรงเป๊ะๆ แต่ก็ประมาณนี้ครับ) อ่านจาก "รู้เท่าทันกรรม ชีวิตเป็นสุข" ของ พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

เมื่อก่อนผมก็ไม่เข้าใจ เรื่องของ มโนกรรมหรือกรรมทางใจสักเท่าไหร่ (ตอนนี้ก็อาจยังไม่เข้าใจ) ทำไมแค่การไปคิดเรื่องไม่ดี ทั้งต่อตัวเองและคนอื่นต้องถือเป็น "กรรม" ที่ไม่ควรทำ และเป็น "อกุศลกรรม" เพราะหากเรายังไม่ไปทำอะไรใคร หมายถึง "กายกรรม" หรือว่ากล่าวใคร หมายถึง "วจีกรรม" ก็ไม่น่าจะ "บาป" เพราะยังไม่ทำให้ใครเดือดร้อนนี่ ตอนนี้พอจะเข้าใจแล้วว่า "จิตก่อนตาย" เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะนำให้เราไปไหน ทำดีมาแทบตายทั้งชีวิต แต่จิตก่อนตายกลับเป็น "อกุศล" ก็อาจต้องไป "อบายภูมิ" กันก่อน ตัวอย่างที่พระอาจารย์มิตซูโอะ ยกมาทำให้ผมพอจะเข้าใจได้ ๒ อย่าง นั่นคือ

๑. ต้องพยายามทำจิตให้เป็น "กุศล" อยู่เสมอ ซึ่งก็อาจจะยากสำหรับปุถุชนคนธรรมดาอย่างเรา อาจารย์จึงแนะนำว่าจากจิต "ฟุ้งซ่าน" หรือ "คิดอกุศล" ให้กลับมา "ดูลมหายใจ" ความยากจึงต้องคู่กับการ "ฝึกฝน" เสมอ

๒. การคิดเรื่อง "การตายเกิดได้ตลอดเวลา" (ผมไม่ถนัดบาลีครับ) เมื่อคิดเช่นนี้แล้วเราก็ "ไม่ประมาท" และให้กลับไปคิดข้อ ๑

ในชีวิตประจำวันบ่อยครั้งที่เราก็ "ประมาทในเรื่องของจิต" ผมชอบยกตัวอย่างเรื่องการขับรถ ตามประสาคนอยู่ในกรุงเทพฯ หากมีคนขับรถมาปาดหน้าเรา รอไม่พอใจ จะด่า สบถ หรือคิดโมโหในใจก็ตาม ขณะนั้นเกิดมีรถอีกคันขับมาชนเราอย่างแรง เราเสียชีวิตทันที ใครรับกรรมครับ ก็น่าจะเป็นเรา เพราะจิตขณะโมโหนั้นน่าจะนำพาเราไป "อบายภูมิ" ส่วนคนที่ขับรถปาดหน้าเราก็อาจไม่ได้มารับรู้ "กรรม" ของเรา (ผมใช้คำว่า "อาจ" เพราะเรื่องของ "กรรม" เป็นเรื่องที่ซับซ้อน)

น่าจะพอเข้าใจได้ระดับหนึ่งว่า "การทำกรรมทางใจ" เป็นเรื่องที่ยาก ทั้ง "กุศลกรรม" และ "อกุศลกรรม" พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องหนึ่งคือ "ไตรสิกขา" คือ ศีล สมาธิ และ ปัญญา น่าจะนำมาขัดเกลาจิตใจให้เกิด "กุศลกรรม" ได้ครับ

 

 

คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 471193เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2011 12:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2012 10:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ÄÄ..ท่านพุทธทาส..แปล..คำว่า..กุศล ว่า..ความฉลาด..อาจจะ..คิดเป็นว่า..ความฉลาดแห่งผลการกระทำ..(กรรม)..คือรู้ว่าอะไรเป็นอะไรบริสุทธิ์และบริบูรณ์รู้สิ้นรู้จริงถึงไตรลักษณ์..อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา..ที่จริงก็ไม่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนใดๆๆ...เพราะมันเป็นจริงอยู่ดังนั้น..แล...

ขอบคุณครับ คุณยายธี เมื่อเข้าใจ อนัตตา ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะไม่มีอะไรให้ซับซ้อน แต่กว่าจะไม่มีอะไรให้ซับซ้อน ก็ต้องพยายามหลุดไปจากความซับซ้อนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท