หลวงพ่อสามพี่น้องและพระร่วงนำทาง


การก้าวข้ามกาลเวลา : ตามหาพระคู่เมือง

         การแพร่กระจายทางวัฒนธรรมทางความคิด   เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นมาช้านาน  โดยเริ่มตั้งแต่การที่มนุษย์ในสังคมหนึ่ง ได้เดินทางติดต่อสื่อสารกับมนุษย์อีกสังคมหนึ่ง   สังคมไทยได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมความคิดจากอินเดีย   จีนและขอม    ต่อมาในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์      วัฒนธรรมตะวันตกมีอิทธิพลสำคัญต่อสังคมไทยตลอดมาจนปัจจุบัน  หนึ่งในวัฒนธรรมทางความคิดที่โดดเด่น    และได้สถาปนาอย่างมั่นคงลงในความคิดของคนจำนวนมากโดยเฉพาะในประเทศไทย ได้แก่ แนวคิดแห่งพระพุทธศาสนา  สาระสำคัญของ  “ความเป็นไทย”  ก็คือ  การที่มีพระมหากษัตริย์และพระพุทธศาสนา  เป็นหัวใจของความเป็นไทย    และวัฒนธรรมไทยในด้านต่างๆเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่คนไทยควรภาคภูมิใจและรักษาไว้ตลอดไป  ได้แก่  ภาษาไทย  ศิลปะไทย มารยาทไทย ศีลธรรมไทย และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ของไทย วัฒนธรรมเหล่านี้ทำให้คนไทยยึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระพุทธศาสนา

         อิทธิพลของพระพุทธศาสนา สามารถมองเห็นได้แทบจะทุกแง่มุมของชีวิตและวัฒนธรรมของคนไทย  ตามบ้านของประชาชนจะพบว่าแทบทุกครัวเรือนของชาวพุทธจะมีพระพุทธรูปองค์เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ตั้งบนโต๊ะหมู่บูชาเพื่อเคารพบูชา  เวลาออกนอกบ้านชาวพุทธไทยก็ไม่ทิ้งนิสัยชอบอยู่ใกล้พระ     จึงนิยมเลี่ยมพระติดสร้อยห้อยคอไว้เพื่อสักการะและป้องกันตัว  ยามเมื่อเดินผ่านสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ก็อดที่จะยกมือประณมก้มลงกราบไหว้บูชาตามโอกาสอันควร         

พระพุทธศาสนาในอาณาจักรสุโขทัย

         ก่อนสมัยสุโขทัย   พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทย เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๖ โดยการอุปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์อินเดียในขณะนั้น ส่งพระสมณทูตไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ  ประเทศไทยรวมอยู่ดินแดนที่เรียกว่าสุวรรณภูมิ  ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวาง สันนิษฐานว่ามีใจกลางอยู่ที่จังหวัดนครปฐมของไทย  เนื่องจากได้พบโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่น พระปฐมเจดีย์ และรูปธรรมจักรกวางหมอบเป็นหลักฐานสำคัญ  

         สมัยสุโขทัย   หลังจากอาณาจักรพุกามและกัมพูชาเสื่อมอำนาจลง  คนไทยจึงได้ตั้งตัวเป็นอิสระ ได้ก่อตั้งอาณาจักรขึ้นเอง ๒ อาณาจักร  ได้แก่ อาณาจักรล้านนา อยู่ทางเหนือของไทย และอาณาจักรสุโขทัยมีศูนย์กลางที่จังหวัดสุโขทัยปัจจุบัน  เมื่อพ่อขุนรามคำแหงเสด็จขึ้นครองราชย์  ทรงสดับกิตติศัพท์ของพระสงฆ์ลังกา      จึงทรงอาราธนาพระมหาเถระสังฆราชซึ่งเป็นพระเถระชาวลังกาที่มาเผยแผ่อยู่ที่นครศรีธรรมราช    มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในกรุงสุโขทัย     พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ได้เข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทยถึง ๒ ครั้ง คือ ครั้งแรกในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ครั้งที่ ๒ ในสมัยพระเจ้าลิไท  พระพุทธศาสนาในสมัยสุโขทัยจึงเจริญรุ่งเรืองมาก   และกษัตริย์ทุกพระองค์ปกครองโดยธรรมธรรม มีความสงบร่มเย็น ประชาชนเป็นอยู่โดยผาสุก ศิลปะสมัยสุโขทัยได้รับการกล่าวขานว่างดงามมาก โดยเฉพาะพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย มีลักษณะงดงาม ไม่มีศิลปะสมัยใดเหมือน 

ศิลปะสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๒๐)

         นับเป็นสกุลศิลปะแบบแรกของชนชาติไทย แต่ไม่ใช่แรกสุดเพราะก่อนหน้านั้นมีศิลปะที่ใกล้เคียงกับศิลปะสุโขทัยมาก คือ ศิลปะเชียงแสน ริมแม่น้ำโขงในแถบจังหวัดเชียงราย ศิลปะสุโขทัยผ่านการคิดค้น สร้างสรรค์ คลี่คลาย สังเคราะห์ในแผ่นดินที่เป็นปึกแผ่น มั่นคงจนได้รูปแบบที่งดงาม พระพุทธรูปสุโขทัย ถือว่ามีความงามตามอุดมคติไทยอย่างแท้จริง อุดมคติของพระพุทธรูปสุโขทัยเกิดจากต้นแบบศิลปะที่ส่งอิทธิพลต่อช่างสมัยนั้นด้วย คือ อิทธิพลศิลปะจากศรีลังกาและอินเดีย ลักษณะ สำคัญของพระพุทธรูปสุโขทัย คือ พระวรกายโปร่ง เส้นรอบนอกโค้งงาม ได้จังหวะ พระพักตร์รูปไข่ยาวสมส่วน ยิ้มพองาม พระขนงโก่ง รับกับ พระนาสิกที่งุ้มเล็กน้อย พระโอษฐ์แย้มอิ่ม ดูสำรวม มีเมตตา พระเกตุมาลา รูปเปลวเพลิง พระสังฆาฏิยาวจรดพระนาภี พระศกแบบก้นหอย ไม่มีไร พระศก พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยมีความงดงามมาก ที่มีชื่อเสียงมากได้แก่ พระพุทธชินราชพระพุทธชินสีห์ พระศาสดา พระพุทธไตรรัตนายก และ พระพุทธรูปปางลีลา นอกจากพระพุทธรูปแล้ว ในสมัยสุโขทัยยังมี งานประติมากรรมที่มีชื่อเสียงอีกอย่างหนึ่งคือ เครื่องสังคโลก ซึ่งเป็นเครื่อง ปั้นดินเผาสมัยสุโขทัยที่มีลักษณะเฉพาะ มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เครื่องปั้น ดินเผาสังคโลก เป็นเครื่องปั้นดินเผาเคลือบ สีเขียวไข่กา สี น้ำตาล สีใส เขียนทับลายเขียนรูปต่าง ๆ มี ผิวเคลือบแตกราน สังคโลกเป็นสินค้าออก ที่สำคัญของอาณาจักรสุโขทัยที่ส่งไปจำหน่ายนอกอาณาเขต จนถึงพิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น

พระบูชาสมัยสุโขทัย

         ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เป็นประโยคที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์พรั่งพร้อมของอาณาจักรสุโขทัย จนได้ชื่อว่าเป็นอาณาจักรแห่งความรุ่งโรจน์ทั้งการเมือง การปกครอง การทหาร การก่อสร้าง สถาปัตยกรรม วัดวาอาราม รวมไปถึงพระพุทธรูปปางต่างๆ จนได้ชื่อว่าเป็นเมืองพระพุทธรูปที่มีศิลปะ อ่อนช้อย งดงาม กว่าสมัยใดๆสำหรับศิลปะสุโขทัยนั้นคาดว่าเริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ ไปถึงอยุธยายุคต้น โดยเข้าใจว่า    พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยนั้นน่าจะได้รับแบบอย่างจากศิลปะของพระพุทธรูปแบบลังกาและศิลปะของพระพุทธรูปแบบลพบุรียุคปลายต่อเนื่องแบบอู่ทองสุวรรณภูมิ ซึ่งเราจะเห็นการผสมผสานของศิลปะ ๒ แบบนี้อยู่ในพระพุทธรูปของสุโขทัยยุคต้นๆ (แบบตะกวน) และต่อมาคงได้แบบพระพุทธรูปจากเมืองเชียงแสงเข้ามาผสม จึงได้พัฒนาจนได้แบบของศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์ ซึ่งมีหลักฐานจากประวัติศาสตร์ในเรื่องที่พ่อขุนรามคำแหง เสด็จขึ้นไปช่วยพ่อขุนเม็งรายสร้างเมืองนครพิงค์เชียงใหม่ ตามศิลาจารึกวัดเชียงมั่น ย่อมส่งผลถึงความสัมพันธ์ด้านศาสนา และศิลปกรรมด้วย

พระพุทธรูปสุโขทัย ได้แบ่งตามศิลปะเชิงช่างเป็น ๔ แบบ หลักๆ ดังนี้

         จากข้อสันนิษฐานที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า พระพุทธรูปสุโขทัยได้รับอิทธิพล มาจากลังกาเป็นส่วนมาก แต่ก็ยังมีพระพุทธรูปที่รับอิทธิพลมาจากเชียงแสนยุคต้น ผสมอยู่ด้วย จึงเกิดพระพุทธรูปแบบ "วัดตะกวนอิทธิพลเชียงแสน" พระพุทธรูป สุโขทัยในยุคต้นถ้าไม่พิจารณาให้ดีอาจเข้าใจผิดว่าเป็นพระพุทธรูปชียงแสนเลยก็ว่าได้  จากนั้นจึงวิวัฒนาการมาเป็นพระพุทธรูปสุโขทัยบริสุทธิ์   พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยได้รับการยกย่องว่าเป็นฝีมือของช่างอันวิเศษสุด คือ พระพุทธรูปปางลีลาในท่ากำลังเสด็จพระดำเนินก้าวพระบาท พระหัตถ์ข้างหนึ่ง อยู่ในท่าประทานอภัย จีวรอยู่ในอาการโบกสบัด อ่อนช้อยงดงาม

         ลักษณะที่สำคัญของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ได้แก่ พระพักต์รูปไข่ พระรัศมีรูปเปลวเพลิง เส้นพระศกขมวด ก้นหอยแหลมสูง ส่วนมากไม่มีพระศก พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระหนุเสี้ยม ชายสังฆาฏิยาวถึงพระนาภี มีปลายสองแฉกย่นเป็นรูปเขี้ยวตะขาบทับซ้อนกันหลายชั้น นั่งขัดสมาธิราบ ฐานหน้ากระดานเกลี้ยงตอนกลาง แอ่นเข้าข้างใน     พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยอาจแบ่งได้ดังนี้

         ๑.แบบวัดตะกวน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่พบครั้งแรกและมากที่สุดที่วัดตะกวน จึงได้ชื่อว่า “สุโขทัยแบบตะกวน” ถือกันว่าเป็นพระพุทธรูปสุโขทัยรุ่นแรก มีแบบพุทธรูปของลังกาผสมมากที่สุด และมีแบบพุทธรูปของอู่ทองผสมด้วยอีกแบบหนึ่ง เรามักเรียกย่อยกันว่า “แบบเชียงแสนตะกวน” และ “แบบอู่ทองตะกวน” ซึ่งน่าจะเป็นการเริ่มเสาะหาแบบฉบับศิลปะของตนเองอยู่ จึงพยายามรวบรวมศิลปะต่างๆ มาผสมผสานกัน   ลักษณะที่สำคัญของพระสุโขทัยแบบตะกวนนี้ พอจะกล่าวได้กว้างๆ คือ พระพักตร์กลม แบน หน้าผากแคบ แต่เม็ดพระศกขมวดเป็นก้นหอยขนาดใหญ่ พระเกศเป็นเปลวเพลิง มือป้อมๆ นิ้วสั้น ผิวพรรณองค์พระมักไม่เรียบเป็นคลื่นขรุขระ แต่มีสนิมโลหะปรากฏอยู่อย่างมากและทั่วองค์พระ มักพบเป็นพระนั่งปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ฐานเป็นแบบฐานเขียงหน้ากระดานเรียบๆ จัดได้ว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีการพบเห็นไม่มาก หายากแบบหนึ่งเลยทีเดียว

        ๒.แบบสุโขทัยบริสุทธิ์ จัดได้ว่าเป็นแบบที่ถูกยกย่องให้ว่าเป็นเลิศทางศิลปะที่งดงามอ่อนช้อย (ในวงการเราเรียกว่า “สุโขทัยชั้นครู”) โดยมีอิทธิพลของพระพุทธรูปแบบลังกาปรากฏอยู่ แต่พัฒนาให้งดงามยิ่งขึ้น คือ ใบหน้าเป็นรูปไข่ คิ้วโก่ง จมูกโด่งงุ้ม ปากเล็กบาง แสดงอาการอมยิ้มเล็กๆ คางเป็นปม เม็ดพระศกเป็นก้นหอยงดงาม (ในวงการเรียกว่า พระหน้านาง-คางหยิก) สัดส่วนขององค์พระอ่อนช้อย สมสัดส่วน หน้าอกใหญ่ ไหล่กว้าง เอวคอด คล้ายสตรีเพศ จีวรแสดงเป็นแบบบางแนบเนื้อ แขนกลมมน มือและนิ้วเรียวยาว มีการเล่นนิ้วมืออย่างมนุษย์ คือ แต่ละนิ้วยาวไม่เท่ากันและที่สำคัญของพระสุโขทัยแบบบริสุทธิ์นี้ ยังนิยมสร้างไว้อีกหนึ่งแบบ คือ พระพุทธรูปปางลีลา ซึ่งจัดว่าเป็นแบบของพระพุทธรูปไทยที่สวยที่สุดก็ว่าได้ ซึ่งแสดงในลักษณะยืนก้าวพระบาทออกไปเบื้องหน้า จนมีการสร้างเป็นพระเครื่องด้วยอีกมากมายหลายพิมพ์ จนชาวบ้านเรียกกันว่า พระกำแพงเขย่ง

        ๓.แบบสุโขทัย-พิษณุโลก (แบบพระพุทธชินราช) โดยทั่วไปยังคงเอกลักษณ์แบบสุโขทัยอยู่แต่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของทรวดทรง พระจะเริ่มล่ำสันบึกบึนกว่าสุโขทัยบริสุทธิ์ ใบหน้าตอบลง คางแหลมขึ้น ฐานเริ่มมีแบบบัวคว่ำ บัวหงายเตี้ยๆ และที่เด่นชัดสุดคือนิ้วพระหัตถ์เท่ากันทั้ง ๔ นิ้ว (ยกเว้นนิ้วหัวแม่มือ) ซึ่งพระสุโขทัยในหมวดนี้ เราจะยกแบบของพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษ ณุโลก เป็นต้นแบบ และที่เห็นได้ชัดอีก ๒ องค์ คือ พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ซึ่งพระพุทธรูปสุโขทัยในแบบนี้เชื่อกันว่าเกิดขึ้นในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย

        ๔.แบบสุโขทัย-กำแพงเพชร เป็นยุคสุดท้ายของศิลปะสุโขทัย ก่อนที่อยุธยาจะมีบทบาททางการปกครองอย่างสูงสุด บางท่านยังเรียกกันว่าพิษณุโลก-กำแพงเพชร ซึ่งเข้าใจว่านอกจากจะพบมากที่กำแพงเพชรแล้วยังพบที่เมืองพิษณุโลกด้วย พุทธลักษณะสำคัญคือ รูปร่าง ทรวดทรงขององค์พระจะดูผอมบางกว่าแบบสุโขทัยบริสุทธิ์ มีแบบที่เห็นมากคือ ประทับนั่งปางมารวิชัย ฐานเป็นแบบ ๔ ขา (๓ ขาด้านหน้า ๑ ขาด้านหลัง)  พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยนี้จัดได้ว่าเป็นที่นิยมอย่างมากสมัยหนึ่งจากหลายๆ สมัย ทำให้มีราคาเช่าหาบูชาสูงมาก เพราะส่วนหนึ่งได้ตกไปอยู่กับนักสะสมต่างชาติ จึงอยากให้ผู้ที่สนใจในเรื่องเหล่านี้ได้ช่วยกันศึกษาและอนุรักษ์ไว้ให้อยู่คู่กับคนไทยต่อๆ ไป

ความรุ่งเรืองแห่งเมืองบางขลังของกรุงสุโขทัย

        ชาวไทยทั่วประเทศต่างตระหนักและทราบถึงคุณค่า  ความสำคัญแห่งเมืองเก่าสุโขทัย  เมืองเก่าศรีสัชนาลัย  แต่ไม่มีใครให้ค่าหรือสนใจเมืองบางขลังเลย  ทั้งๆ ที่สถานที่แห่งนี้เป็นดินแดนอันทรงคุณค่า  และมีความสำคัญยิ่งต่อการก่อเกิดประเทศไทย  เป็นเสมือนดั่งปฐมบทแห่งการสร้างบ้าน  แปลงเมือง  เนื่องด้วยว่า

        เมืองบางขลัง   ถือกำเนิดขึ้นมาร่วมสมัยกับเมืองเก่าสุโขทัย  เมืองเก่าศรีสัชนาลัย  เมืองที่ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์  จากหลักฐานศิลาจารึกหลักที่ ๒ วัดศรีชุม  ด้านที่ ๑ ตั้งแต่บรรทัดที่ ๒๔ สรุปได้ว่า  พ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมืองยกทัพรวมพลกันที่เมืองบางขลัง  ฝึกกำลังพลและเกณฑ์นักรบเมืองบางขลังเข้าตีเมืองสุโขทัยคืนมาจากขอมสบาดโขลญลำพง  แล้วสถาปนาพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์  ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วงของกรุงสุโขทัย

        เมืองบางขลัง   เป็นศูนย์กลางความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรสุโขทัยกับอาณาจักรล้านนาในด้านวัฒนธรรมและพุทธศาสนา  โดยพระสุมนเถระภิกษุมณฑลเชลียงนำพระธาตุที่ฝังใต้กอดอกเข็มเมืองบางขลังไปถวายพระเจ้ากือนา เมื่อ พ.ศ.๑๙๑๓ พระธาตุได้แบ่งเป็นสองส่วน  ส่วนหนึ่งบรรจุอยู่วัดสวนดอก  และอีกส่วนบรรจุอยู่ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ  จังหวัดเชียงใหม่

        เมืองบางขลัง  มีความสำคัญและคุณค่าทางประวัติศาสตร์โบราณคดี  กล่าวคือ  สมเด็จพระศรีศรัทธาราชจุฬามณีฯ พระราชนัดดาของพ่อขุนผาเมือง เสด็จออกผนวชแล้วจาริกแสวงบุญไปยังปูชนียสถานต่างๆ ผ่านเมืองบางขลัง บนเส้นทางที่โบราณเชื่อกันว่าเป็น “ถนนพระร่วง” หรือ “ท่อปู่พญาร่วง”

        เมืองบางขลัง   เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๐  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จประพาสเมืองบางขลัง ตามเส้นทางถนนพระร่วง ดังปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์ เรื่อง เที่ยวเมืองพระร่วง ซึ่งถือว่าเป็นวรรณกรรมของการท่องเที่ยวที่สมบูรณ์แบบเล่มแรกของชาวไทย  โดยข้อความที่เกี่ยวข้องกับวัดโบสถ์, วัดใหญ่และเมืองบางขลัง   

        เมืองบางขลัง   เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เสด็จพระราชดำเนินเมืองโบราณบางขลัง

        เมืองบางขลัง   เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๐  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรร่องรอยอารยธรรมโบราณเมืองบางขลัง

         ดังนั้น  เมืองบางขลัง  จึงเป็นเมืองที่มีความสำคัญและทรงคุณค่า

พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยแห่งเมืองบางขลัง

        จากหลักฐานพระราชนิพนธ์ เรื่อง เที่ยวเมืองพระร่วงของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่า “...ตัววัดโบสถ์เองนั้นก็เป็นที่น่าดูอยู่ ยังมีสิ่งที่เป็นชิ้นควรดูเหลืออยู่ชิ้นหนึ่ง คือ มณฑปมีกำแพงแก้วล้อมรอบ มณฑปนั้นสี่เหลี่ยมจตุรัส ด้านละ ๕ วา ในนั้นพิจารณาดูเห็นท่าทางจะมีพระพุทธรูปนั่ง...”  ประกอบการสืบค้นทำให้ทราบว่า  ภายในฆลฑปวัดโบสถ์มีพระพุทธรูปสำริด ๓ องค์ (ปางมารวิชัย) และพระร่วงนำทาง ๑ องค์ (ปางประทานอภัย) ประดิษฐานอยู่ซึ่งมีอายุกว่า ๗๐๐ ปี และโบราณสถานวัดโบสถ์เมืองบางขลังแห่งนี้  กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอนุรักษ์เป็นสมบัติของชาติแล้ว

         หลังความเจริญรุ่งเรือง  เมืองบางขลังขาดการเอาใจใส่และลดความสำคัญลงตามกาลเวลา  วัดโบสถ์ได้ปล่อยให้ถูกทิ้งร้าง  ไร้คนสนใจ  จนกระทั่งประมาณ พ.ศ.๒๔๔๗ พระอธิการพลอย  เจ้าอาวาสวัดบ้านซ่านในขณะนั้นได้ทำพิธีอันเชิญพระพุทธรูปสำริด ๓ องค์ และพระร่วงนำทาง ๑ องค์  ไปประดิษฐานยังวัดบ้านซ่าน ต.บ้านซ่าน อ.ศรีสำโรงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  ในการเคลื่อนย้ายแม้จะมีคนมากมายแต่ก็ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้  จึงได้บวงสรวงและอธิฐานใจความว่าถึงวันตรุษไทยจะหาปี่พาทย์ทำการแห่มายังเมืองบางขลัง  จึงสามารถเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปทั้ง ๔ องค์ได้   ต่อมาวัดบ้านซ่านก็ได้ยึดถือเป็นประเพณีในการสรงน้ำและแห่พระพุทธรูป ๓ พี่น้อง และพระร่วงนำทางในวันตรุษไทย  มายังเขตแดนดินต่อเมืองบางขลัง  ที่ไม่ยอมแห่มาถึงยังวัดโบสถ์เมืองบางขลัง  เพราะมีความเชื่อและเกรงว่าพระท่านจะไม่ยอมกลับไปยังวัดบ้านซ่านอีก   พระพุทธรูปสำริดสมัยสุโขทัยทั้ง ๔ องค์นี้  กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของชาติด้วยเช่นกัน  ประกาศขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๐  เล่มที่ ๑๐๔ ตอนที่ ๒๓๕ หมายเหตุ น ๓

การฟื้นชีวิต  คืนจิตวิญญาณแห่งชุมชนโบราณเมืองบางขลัง

         นายสุวิทย์  ทองสงค์  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองบางขลัง ร่วมกับประธานสภาฯ นายมาเยือน  โพธิ์ทอง ตระหนักถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์  คุณค่าทางพระพุทธศาสนา  วัฒนธรรม  จึงได้พยายามการพัฒนาฟื้นชีวิต  คืนจิตวิญญาณแห่ง“เมืองบางขลัง”ภายใต้การสนับสนุนอย่างแข็งขันของนายวีระชัย  ภู่เพียงใจ  ปลัดจังหวัดสุโขทัย   เมืองบางขลัง  ในปัจจุบันจึงเริ่มเผยตัวตนให้คนไทยได้ตระหนักถึงคุณค่า  ความสำคัญมาตามลำดับ

         ในโอกาสวันอนุรักษ์มรดกไทย และวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ นายสุวิทย์  ทองสงค์  นายก อบต.ผู้มีศรัทธาแรงกล้าในพระพุทธศาสนาได้ร่วมกับสภา อบต. ประชาชนตำบลเมืองบางขลังจัดจำลองพระพุทธรูปสำริด ๓ พี่น้อง    และพระร่วงนำทางคืนถิ่นเมืองบางขลัง  เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล  เป็นการอนุรักษ์ศิลปะสมัยสุโขทัย  ตลอดจนเป็นการเติมเต็มหน้าประวัติศาสตร์อันขาดวิ่นให้กลับมามีความสมบูรณ์  และเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจให้แก่คนเมืองบางขลังและคนไทยสืบไป

         นอกจากการจำลองพระพุทธรูปองค์ ๓ พี่น้อง พระร่วงนำทางองค์ใหญ่แล้ว  ยังได้จำลองชุดเล็ก  องค์เล็กขนาดต่างๆ  เหรียญพิมพ์โบราณโลหะสีมันปู เนื้อเงิน เพื่อให้ประชาชนได้เช่าบูชาเพื่อเป็นสิริมงคลอีกด้วย ในการนี้ได้นิมนต์เกจิอาจารย์จากทั่วสารทิศมาร่วมพิธีพุทธาภิเษกแบบโบราณ  เช่น หลวงปู่ทิม  วัดพระขาว  จ.อยุธยา, หลวงปู่ครูบาเจ้าอินตา  วัดวังทอง จ.ลำพูน, หลวงปู่ฟู วัดบางสมัคร จ.ฉะเชิงเทรา,  หลวงพ่อท่านสม วัดเขาเจ้าแม่ จ.ประจวบคีรีขันธ์  เป็นต้น  โดยได้ทำพิธีพุทธาภิเษกแบบโบราณในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๒  ณ  โบราณสถานวัดโบสถ์เมืองบางขลัง  อ.สวรรคโลก  จ.สุโขทัย

         ในการนี้ได้รับเกียรติจาก นายโยธินศร์  สมุทรคีรีจ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย (ในขณะนั้น)นายแพทย์ปราเสริฐ  ปราสาททองโอสถ  เจ้าของสายการบินบองกอกแอร์เวส์ จำกัด  นายวีระชัย  ภู่เพียงใจ  นายอำเภอสวรรคโลก (ในขณะนั้น)  ร่วมในพิธีพุทธาภิเษกตลอดงาน   และรายการ กบนอกกะลา ได้มาถ่ายทำทุกขั้นตอน  ทุกกระบวนการของการจำลองพระพุทธรูปจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ และออกอากาศทางช่อง ๙ ในรายการกบนอกกะลา ๑๐,๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๒.

 

หมายเลขบันทึก: 471096เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2011 08:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2013 08:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท