คำที่มักเขียนผิด ๓


ชื่อนั้นสำคัญแน่ ๆ

ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน [1]

คำที่มักเขียนผิด ( 2 ) ตอนชื่อนั้นสำคัญแน่ ๆ  บุญช่วย มีจิต

                         เมื่อครั้งก่อนได้พูดถึงการอ่าน การพูดที่ผิด ๆ มาแล้ว  มาคราวอยากจะพูดถึงการเขียน หรือ การสะกดคำที่ผิดกันบ้าง  การเขียนหรือการสะกดคำนี้เป็นปัญหาใหญ่มากในภาษาไทย  ลำพังการพูดการอ่านนั้น  ผ่านแล้วก็ผ่านเลย  หายไปกับอากาศ  แต่การเขียนนี่สิยังคงอยู่ตลอดไป  ไม่สามารถลบหรือทำลายได้นอกจากการเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา  ยังเป็นภาพติดตาเป็นที่อับอายขายหน้าเขาไปทั้งพารา  บางครั้งเป็นโปสเตอร์ แผ่นปลิว  แจกไปทั่วบ้านทั่วเมือง  ซ้ำบางรายเป็นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ติดอยู่ตามที่สาธารณะ  มีชื่อบริษัท ห้างร้านและข้อความผิด ๆ ติดอยู่ให้เราเห็นจนเกลื่อนเมือง

               ที่พบอยู่บ่อย ๆ เป็นคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ  ภาษาบาลี-สันสกฤต  คำที่แผลงและผันตามระดับเสียงวรรณยุกต์  และคำที่ประวิสรรชนีย์ เป็นต้น

               “ อเนก” ( อ่านว่า อะ – เหนก) มีหลายคนเขียนผิดเป็น  เอนก ไม่ยกเว้นแม้กระทั่งสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เอนกประสงค์ เป็นคำที่พบบ่อยที่สุด  

               อเนก ( อ. อยู่นอก สระ เอ ) คำนี้มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี นปุงสกลิงค์ คือ อเนกํ แปลว่า มากมาย หรือ หลายประการ  แต่พอมาเป็นชื่อคนเขียน เด็กชายเอนก  นายเอนก  กันทั้งนั้น

               “ ปีติ” อีกคำหนึ่งที่มักเขียนผิดเป็น “ ปิติ” อยู่เสมอ ๆ คำนี้ก็มาจากภาษาบาลีคำเดิมก็คือ ปีติ แปลว่า ความพอใจ ดีใจ แต่พอมาถึงไทยไหงกลายเป็น ปิติ ไปได้อย่างไร  โดยเฉพาะชื่อคน เป็นเด็กชาย ปิติ นายปิติ เหมือนกันหมด

               “ จำนง” ก็มีหลายคนเขียนเป็น “ จำนงค์ ” นี่ก็คงจะเทียบผิด  นำไปเทียบคำว่า  อนงค์  หรือ องค์ ในภาษาบาลีแน่ ๆ  ที่แท้แล้วจำนงไม่ใช่ภาษาบาลี  แต่เป็นคำที่แผลงมาจากคำว่า  “ จง” (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับ พ.ศ. 2493 หน้า 226 )

               คำประเภทเดียวกันเห็นจะได้แก่  “ ดำรง”  แผลงมาจาก “ตรง”  และ “ ธำรง ”  แผงมาจาก “ ทรง” เป็นต้น

จึงไม่ต้องมี “ ค์ ”  ตามหลัง

               ดำริ( อ่าน ดำ – หริ)  เป็นคำแผลงมาจาก “ ตริ ” ก็เขียนเป็น “ ดำริห์” ไป

               “สะอาด”  คำไทยแท้ ๆ แต่ก็เขียนผิดเป็น “ สอาด” อยู่ประจำ

               สะอาง  สำอาง  สองคำนี้ก็เป็นคำแผลงมาจาก “ สาง”  แต่ก็ลากเข้าหาภาษาบาลีเขียนเป็น “ สะอางค์”

“ สำอางค์ ”  ไปหมด

               “ สังวาล” เด็กชายสังวาล  นายสังวาล  ก็เขียนผิดเป็น “ สังวาลย์”  ทั้งที่รูปคำเดิมของเขาไม่มี “ ย์ ” เลย

               “ สังวร” คำนี้ก็เขียนผิดเป็น “ สังวรณ์” คงจะเทียบกับนิวรณ์ อุทธรณ์ สังหรณ์ ละกระมัง

               “ ปรานี” ( น หนู) .ในความหมายว่า น่ารักใคร่  น่าเอ็นดู ก็จะเขียนเป็น “ ปราณี” ( น.เณร) ในความหมายว่า

ผู้มีชีวิตในภาษาสันสกฤตไปฉิบ

               คำ” อารี” นี่ก็เขียนผิดเป็น “ อารีย์” อยู่ประจำ คงจะนึก(เอาเอง)ว่า  มาจากคำว่า “ อริยะ” อารยะ” ในภาษาบาลี สันสกฤตเป็นแน่  ที่แท้แล้ว  “ อารี” เป็นภาษาไทยเราแท้ ๆ  (พจนานุกรม พ.ศ. 2493 หน้า 903 )

               “ ชะลอ” อีกคำหนึ่งที่เขียนผิดกันมากเป็น  “ ชลอ” มาตลอด

               ทั้งหมดนี้มักจะเป็นชื่อของคนเสียทั้งนั้น  หลายท่านบอกว่า  ไม่เป็นไร  ชื่อคน เป็นคำเฉพาะ จะเขียนอย่างไรก็ได้ในทำนองว่า  “ ชื่อนั้นสำคัญไฉน”  มันก็ถูกของท่าน  แต่ถ้าคนคนนั้นเป็นคนสำคัญระดับประเทศล่ะ เวลาเขียนชื่อของท่าน  หรือเวลาท่านเซ็นหนังสือคำสั่งต่าง ๆ  ก็จะกระจายออกไปทั่วประเทศ  ผู้ที่แยกไม่ออกว่า  นี่เป็นเพียงชื่อคน ส่วนคำที่ถูกต้องเขียนอีกอย่างหนึ่ง ก็จะเหมารวมเอาว่า  คำที่เป็นชื่อของท่านนั้น ๆ เป็นคำที่ถูกต้อง  ซึ่งเคยเจอเคยถกเถียงกันมาประจำ  ผู้ที่เขียนถูกก็จะกลายเป็นเขียนผิดไปเลย

               เคยสงสัยมานานแล้วว่า  เหตุใดคณะกรรมการผู้แต่งตำราภาษาไทยระดับประถมศึกษา (หลักสูตร พ.ศ. 2520 ) จึงตั้งชื่อตัวละครเอกตัวหนึ่งคือ  เด็กชายปิติ  รักเผ่า  แทนที่จะเขียนเป็นเด็กชาย ปีติ  รักเผ่า  เพราะนักเรียนตั้งชั้น ป.1 ถึง ป.6 คุ้นเคยกับชื่อ ปิติ ตลอดเวลา  อีกอย่างหนึ่ง หนังสือชุดนี้เป็นตำราเรียนของทางราชการ  ใคร ๆ ก็ยึดถือเอาแบบอย่าง  เคยทดสอบกับนักเรียน ป. 6 โรงเรียนวัดปากบึงจำนวน 3 รุ่น ( พ.ศ. 2523-2525)จำนวน 180 คน  ปรากฏว่า

ร้อยละ 80  เห็นว่า “ ปิติ” (สระ อิ )ถูกต้อง  อีกร้อยละ 20 ไม่แน่ใจ  ส่วนคำว่า “ ปีติ” (สระ อี ) ไม่มีใครตอบเลย จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จึงสรุปได้ว่า

        ชื่อนั้นสำคัญแน่ ๆ



[1] เป็นบทความเชิงวิชาการ  เขียนลงวารสารข่าวการศึกษาของ สำนักการศึกษา เป็นตอน ๆ  ประมาณ  14  ตอน  และได้รวบรวมเป็นเล่ม  ทำผลงานอาจารย์ 3 ระดับ 8 รอบแรก แต่ไม่ผ่าน  ตอนที่นำมาลง ณ ที่นี้   เป็นตอนที่ 8  ลงพิมพ์ในวารสารข่าวการศึกษา  ปักษ์หลัง ปีที่ 11 ฉบับที่ 278 ตุลาคม  2532 ็น็

หมายเลขบันทึก: 471026เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2011 07:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท