คู่มือการทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลด


เตรียมตัวอย่างไรเมื่อน้องน้ำจากบ้านไปแล้ว ทิ้งไว้เพียงซากความเสียหายมโหฬาร

ที่มา: http://thaiflood.kapook.com/view34082.html

เตรียมพร้อมก่อนเข้าบ้าน

  1. เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม อาทิ แว่นตาช่าง, หน้ากากกรองฝุ่น, ผ้าปิดปากปิดจมูก, ถุงมือยาง, รองเท้าบูท, ไฟฉาย และหมวกนิรภัย
  2. แต่งกายให้พร้อม ก่อนเข้าไปในตัวบ้าน สิ่งสำคัญคือห้ามประมาทและอย่าเข้าไปคนเดียว ต้องมีคนไปเป็นเพื่อนและต้องมีคนรออยู่ด้านนอกเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินที่ไม่คาดคิดขึ้น


ทำความสะอาด

ขั้นตอนก่อนเข้าไปยังตัวบ้านให้ปฏิบัติ ดังนี้

  1. ก่อนเข้าไปในตัวอาคารบ้านเรือน ให้เดินดูบริเวณรอบ ๆ บ้านก่อน โดยสำรวจพิจารณาดูโครงสร้างที่อาจจะเสียหายเป็นอันตรายก่อนตัดสินใจที่จะเข้าไป
  2. ระวังเรื่องสัตว์มีพิษต่าง ๆ ที่อาจหนีน้ำเข้าไปอาศัยอยู่ในตัวบ้าน
  3. สังเกตดูรอยร้าว หรือการบิดตัวของโครงสร้างก่อนตัดสินใจเข้าไป
  4. ตรวจดูที่จัดเก็บถังแก๊ส มองหาสิ่งผิดปกติที่อาจจะมีการรั่วซึม
  5. ตรวจสอบการจ่ายไฟให้แน่ใจว่า ไฟฟ้ายังไม่ได้จ่ายกระแสเข้าไปในบ้าน โดยการดูที่คัตเอาท์ว่ายังมีการสับสวิตช์ลงอยู่หรือไม่
  6. เปิดประตูให้เกิดการถ่ายเทอากาศ อย่าเหยียบเข้าบ้านทันที ให้สังเกตพื้นบ้าน ลองค่อย ๆ ใช้เท้าทิ้งน้ำหนักเพื่อทดสอบก่อน
  7. สังเกตดูเพดานว่ามีการอมน้ำ แอ่นท้องช้าง หรือมีคราบน้ำอยู่หรือไม่ เพราะเพดานอาจพังทลายลงมาได้เมื่อมีการเคลื่อนไหวให้ระมัดระวัง


วิธีตรวจเช็คเชื้อโรค-ระบบไฟฟ้า

  1. การป้องกันตนเอง เช่น การใส่ถุงมือยาง และรองเท้าบูท ที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคเชื้อรา, ป้องกันการสัมผัสสารเคมี รวมถึงป้องกันไฟดูด รวมทั้งคาดผ้าปิดจมูกและปากที่ช่วยป้องกันการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อราและไอระเหยของสารเคมีเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ
  2. ในระหว่างการทำความสะอาด ควรเปิดประตูหน้าต่างให้อากาศระบายได้มากที่สุด โดยอาจเปิดพัดลมเพดานช่วยระบายอากาศ 
  3. ห้ามเปิดเครื่องปรับอากาศ เพราะเชื้อโรคต่าง ๆ จะถูกดูดเข้าไปอยู่ในระบบปรับอากาศ และจะกลายเป็นที่เพาะพันธุ์เชื้อราต่อไป ถือเป็นภัยเงียบที่เรามองไม่เห็น
  4. จากนั้นก็มาเริ่มที่ระบบไฟฟ้าของทั้งบ้าน ซึ่งจะต้องถูกปิดทันทีที่น้ำท่วมบ้าน ดังนั้น ระบบไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งแรก ๆ ที่จะต้องจัดการทันทีที่น้ำลด โดยให้ช่างไฟฟ้ามืออาชีพมาตรวจสอบและซ่อมแซมให้หมดก่อนจึงจะสามารถกลับไปใช้ไฟฟ้าได้
  5. บางครั้งจำเป็นอย่างมากที่จะต้องเดินสายไฟใหม่ทั้งหมด และสายไฟจะต้องแห้งสนิท รวมทั้งสวิตช์ไฟ, เต้าเสียบปลั๊กไฟต่าง ๆ ที่จมอยู่ใต้น้ำอาจจะมีโคลนตมและตะกอนที่มากับน้ำเข้าไปอยู่ จึงต้องมีการตรวจเช็กระบบอย่างละเอียด
  6. ระบบเครื่องปรับอากาศ หลังน้ำลดต้องเรียกช่างแอร์มืออาชีพมาตรวจเช็คระบบเครื่องปรับอากาศภายในบ้านทั้งหมด พร้อมทั้งทำความสะอาดท่อต่าง ๆ, แผ่นกรองอากาศ เปลี่ยนฉนวนกันความร้อนที่จมน้ำ ฯลฯ เมื่อช่างแก้ไขให้เสร็จเรียบร้อยแล้วให้ซีลปิดไว้ก่อนจึงจะเริ่มการทำความสะอาดบ้าน 
  7. อย่าลืมว่าก่อนจะเปิดเครื่องปรับอากาศต้องทำความสะอาดบ้านจนเสร็จเรียบร้อยพร้อมกลับเข้าไปอยู่แล้วเท่านั้น

 

จัดพื้นที่เก็บขยะ

  1. แน่นอนว่าจะมีขยะทั้งของบ้านเราเองและบ้านคนอื่น เลือกที่พักขยะหรือที่แขวนถุงขยะ เพราะสิ่งที่ลำบากที่สุดหลังน้ำลดก็คือปริมาณขยะมากกว่าคนจะมาเก็บขยะ ดังนั้นจึงต้องใช้เวลา
  2. เรียงลำดับ แยกประเภทขยะ เพราะกำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ทิ้งขยะที่จะเน่าได้ก่อน เช่น เศษอาหาร ส่วนขยะบางประเภทเก็บไว้ในบริเวณบ้านก่อนได้แล้วค่อยทยอยทิ้งทีหลัง เช่น โฟม พลาสติก เฟอร์นิเจอร์ที่พังเสียหาย ส่วนขยะอันตราย จำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า หลอดไฟ (ที่ยังไม่แตก) ควรคัดแยกไว้ต่างหาก แล้วหาวิธีจัดการอย่างเหมาะสมเป็นลำดับถัดไป


วิธีเลาะซิลิโคน ที่เราอัดรูระหว่างประตูตอนน้ำท่วม

  1. ใช้มีดปลายแหลมกรีดตามรอยซิลิโคนที่ยิง
  2. เมื่อเอากำแพงออกจะมีรอยเลอะและคราบของซิลิโคนติดอยู่  
  3. ใช้มีดปลายแหลมลอกซิลิโคนออก (ถ้าไม่มีเครื่องมือข้างต้น อาจจะใช้คัตเตอร์ หรือมีดแทนได้)
  4. ใช้มีดปลายแหลมขูดเศษของซิลิโคนออกอีกรอบ 
  5. ทำความสะอาดลอกซิลิโคนออกจากกำแพงกั้นน้ำสังกะสีหรือแผ่นโพลีคาร์บอเนตด้วยความปราณีตเผื่อได้ไว้ใช้งานต่อ 
  6. เก็บกวาดอีกครั้งก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย


การทำความสะอาด


1. พื้น

  • ด้านนอกอาคาร ทำความสะอาดโดยการฉีดน้ำล้าง การขัด และใช้น้ำยาทำความสะอาดต่างๆ สามารถ ล้างแบบเปียกได้แล้วทิ้งให้แห้ง สามารถใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรครวมด้วยเพื่อความสะอาด
  • ด้านในอาคาร เช็ดทำความสะอาด หากคราบฝังแน่น ขัดด้วยแปรงหรือแผ่นขัด และใช้น้ำยาทำความสะอาดต่าง ๆ สามารถใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรครวมด้วยเพื่อความสะอาดเพื่อทำความสะอาด 

*หมายเหตุ หากพื้นที่กว้างสามารถใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง หรือเครื่องขัดพื้น ช่วยทำความสะอาดจะลดเวลาทำงานได้มาก

  • พื้นไม้ สะสมความชื้นสูง ควรใช้น้ำยาทำความสะอาดและน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทำความสะอาด ล้าง หรือเช็ดถู
  • พื้นพรม หากสะสมความชื้นสูง แนะนำให้เปลี่ยนใหม่จะดีกว่า เพื่อความสุขภาพของผู้อยู่อาศัย หากไม่ชื้นมากให้ใช้เครื่องซักพรมทำความสะอาด หรือซักล้างด้วยแปรงขัดล้างทำความสะอาด แล้วใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดน้ำเพื่อดูดน้ำกลับ ระวังพรมบางประเภทไม่ทนต่อน้ำ กาวหรือขนพรมอาจหลุดได้

2. กำแพง

  • ด้านนอกอาคาร ทำความสะอาดโดยการฉีดน้ำล้าง การขัด และใช้น้ำยาทำความสะอาดต่างๆ สามารถ ล้างแบบเปียกได้แล้วทิ้งให้แห้ง สามารถใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรครวมด้วยเพื่อความสะอาด
  • ด้านในอาคาร เช็ดทำความสะอาด หากคราบฝังแน่น ขัดด้วยแปรงหรือแผ่นขัด และใช้น้ำยาทำความสะอาดต่าง ๆ สามารถใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรครวมด้วยเพื่อความสะอาดเพื่อทำความสะอาด แต่สีผนังอาจหลุด จะต้องแต่งใหม่ 
  • วอลเปเปอร์ เช็ดทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรค


3. เฟอร์นิเจอร์

  • ตู้บิลอิน เช็ดถูทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรค เปิดหน้าบานระบายความชื้น
  • เฟอร์นิเจอร์ลอยตัว ฉีดล้างทำความสะอาด นำตากแดด หากเป็น เฟอร์นิเจอร์ผ้าจะเปียกและสะสมความชื้นสูง แนะนำให้เปลี่ยนใหม่จะดีกว่า เพื่อความสุขภาพของผู้อยู่อาศัย หากไม่ชื้นมากให้ซักล้างด้วยแปรงขัดล้างทำความสะอาด แล้วใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดน้ำเพื่อดูดน้ำกลับ


4. เครื่องใช้ต่าง ๆ

  • เครื่องครัว แช่ทำความสะอาดในน้ำคลอรีนผสม หรือ แอลกอฮอล์ เพื่อฆ่าเชื้อโรค แล้วนำไปแช่ในน้ำเดือดต้มทำความสะอาดอีกครั้ง
  • เครื่องเงินและโลหะ แช่ในน้ำเดือด เพื่อเป็นการต้มทำความสะอาด


ทำความสะอาดห้องน้ำ

  1. ขนย้ายสิ่งของต่าง ๆ ภายในบ้านออกมาให้ได้มากที่สุด เพื่อสะดวกในการจัดการกับโคลนตมที่มากับน้ำ ให้ใช้พลั่วตักดินโคลนออกจากพื้นบ้านให้ได้มากที่สุด
  2. ใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง (ถ้ามี) หรือสายยางฉีดน้ำเพื่อชะล้างโคลนออกจากพื้นผิว อุปกรณ์อย่างหนึ่งที่จะช่วยผ่อนแรงได้มากคือ ไม้ปาดน้ำ หากไม่มีและพื้นที่ไม่ใหญ่มากนัก สามารถใช้ผ้าขนหนูทำเป็นผ้าลากน้ำได้ โดยเน้นการกำจัดดินโคลนออกไปให้หมด 
  3. เรื่องของพื้น หากพื้นบ้านของท่านมีการใช้วัสดุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ไวนิล, เสื่อน้ำมัน, พรม, ปาร์เกต์ ฯลฯ มีความจำเป็นที่จะต้องรื้อวัสดุปูพื้นเหล่านั้นออกเพื่อให้พื้นด้านล่างแห้ง ซึ่งกว่าจะแห้งสนิทอาจใช้ระยะเวลานานพอสมควร 
  4. การทำความสะอาดพื้นทุกชนิด ต้องพิจารณาดูตามความเหมาะสมของพื้น โดยทั่วไป ๆ สามารถใช้น้ำผสมคลอรีนในอัตราส่วน 0.1% (1 CC ต่อน้ำ 1,000 CC) ฉีดพ่นให้ทั่วบริเวณก่อนแล้วจึงขัดถูพื้นด้วยน้ำยาล้างจานหรือผงซักฟอก ขัดถูให้ทั่วบริเวณแล้วจึงราดด้วยน้ำร้อนเดือด ๆ หรือใช้ผลิตภัณฑ์น้ำยาเคมีทำความสะอาดที่สามารถฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้ ซึ่งต้องอ่านฉลากวิธีใช้ให้ละเอียดและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด 
  5. หากเป็นไปได้ควรใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อกำจัดกลิ่นที่เป็นสารชีวภาพเอนไซม์ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อ กำจัดกลิ่น กำจัดคราบไขมันได้
ข้อดี คือ สารชีวภาพเอนไซม์นั้นจะยังคงมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อที่จะเกิดขึ้นใหม่จากความชื้นต่อไปได้อีกนานประมาณ 3-6 เดือน ตราบที่พื้นยังมีความชื้นอยู่ และที่สำคัญสารชีวภาพเอนไซม์นั้นไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
สำหรับพื้นบ้านที่ปูพรม ถ้าพื้นบ้านที่ปูพรมจมอยู่ใต้น้ำท่วมหรือน้ำเสีย ควรจะตัดใจกำจัดทิ้งไปเพื่อความปลอดภัยของสุขภาพ เพราะพรมเป็นแหล่งเพาะเชื้อราอย่างดี
การทำความสะอาดพรมด้วยตัวเองเป็นเรื่องยาก ต้องใช้มืออาชีพที่เชื่อถือได้ว่าจะใช้น้ำยาซักพรมที่ฆ่าเชื้อกำจัดกลิ่น และใช้เครื่องมือซักพรมชนิดพิเศษที่สามารถทำความสะอาดได้ล้ำลึก แต่ค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดค่อนข้างสูง ควรพิจารณาให้ดี


วิธีกำจัดเชื้อราในบ้าน

  1. การป้องกันร่างกายให้ถูกต้อง เช่น สวมถุงมือยาง (เช่น ถุงมือล้างจานที่แม่บ้านใช้) สวมรองเท้าบูทยาง สวมหน้ากาก (mask) สวมเสื้อผ้ามิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ความสกปรกมาถูกตัว ถูกผิวหนัง/แผล หรือน้ำกระเด็นเข้าปาก/น้ำเข้าตา ต้องล้างมือล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดและสบู่บ่อย ๆ ต้องคำนึงว่ากำลังทำงานอยู่กับของสกปรก
  2. ใช้น้ำยาที่ใช้อยู่ตามปกติ ทำความสะอาดคราบต่าง ๆ (คราบดิน/โคลน คราบน้ำ) ก่อนในขั้นแรก เพื่อเอาความสกปรกออกให้ได้มากที่สุด เช่น น้ำยาล้างบ้าน ล้างพื้นห้องน้ำ ผงซักฟอก เป็นต้น แต่ต้องปฏิบัติตามฉลากของนำยาเหล่านั้นให้ถูกต้อง เช่น อะไรใช้กับไม้ กับกระเบื้อง กับ โลหะ (= ต้องอ่านฉลาก) 
  3. ควรทำในที่ที่อากาศถ่ายเทดี (ห้ามเปิดพัดลม หรือเครื่องปรับอากาศ เพราะจะทำให้เชื้อราฟุ้งกระจายในอากาศ)


ขั้นตอนการทำความสะอาดเชื้อราในแต่ละส่วน

  1. เมื่อเกิดเชื้อราขึ้นกับวัสดุที่เป็นพื้นแข็ง ให้ใช้น้ำสบู่ แอลกอฮอล์ หรือน้ำยาขัดห้องน้ำล้าง และขัดให้ด้วยแปรงชนิดแข็งจนเชื้อราออกจนหมดจด จากนั้นใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดหลาย ๆ รอบจนกว่าจะแน่ใจว่าสะอาด
  2. วัสดุที่เป็นเนื้ออ่อน เช่น หนังสือ กระดาษมัน พลาสติก กล่อง ให้ใช้สำลีชุบฟอร์มาลีนเช็ด แล้วตามด้วยผ้าชุบน้ำสะอาด จากนั้นนำไปวางไว้ในที่ที่อากาศถ่ายเท และมีแสงแดดส่องถึงเล็กน้อย แล้วปล่อยให้แห้ง 
  3. พรม ฝ้า หรือที่นอน หากมีเชื้อราขึ้น ให้โยนทิ้งจะปลอดภัยที่สุด เพราะวัสดุที่มีรูอย่างพรม ฝ้า และที่นอนนี้ เป็นวัสดุที่ล้างเชื้อราออกได้ยากมาก และแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสามารถล้างออกได้หมดจด 100% ซึ่งถ้าหากยังดันทุรังใช้ต่อไป ความชื้นในห้องก็อาจจะทำให้เชื้อราลุกลาม ฟักตัวได้กว้างขึ้น ทำให้เกิดโรคและเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจของผู้อยู่อาศัยไม่รู้ตัว ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่คุ้มกันเลยล่ะ
  4. อย่าทาสีหรือแลคเกอร์ทับในบริเวณที่เกิดเชื้อรา ให้ล้างออกให้สะอาดหมดจดก่อน จากนั้นค่อยเริ่มทาสีหรือแลคเกอร์
  5. รณีที่เชื้อราผุดให้เห็นในข้าวของเครื่องใช้ประเภทเครื่องหนัง ให้ใช้น้ำส้มสายชูเช็ดหลาย ๆ ครั้ง จนแน่ใจว่าสะอาด จากนั้นเช็ดครั้งสุดท้ายด้วยน้ำสะอาด น้ำส้มสายชูจะช่วยกำจัดเชื้อราได้เป็นอย่างด
  6. เฟอร์นิเจอร์ หรือของใช้ที่เป็นไม้เนื้ออ่อน โดยปกติวัสดุเหล่านี้จะเสี่ยงต่อการขึ้นราเมื่อมีความชื้นอยู่แล้ว ซึ่งมันจะไม่เป็นอะไรมากนักหากนำมาล้างทำความสะอาดภายใน 24-48 ชั่วโมงที่พบเชื้อ หรือเริ่มสังเกตเป็นดอกเป็นดวงขึ้น แต่ในกรณีที่น้ำท่วมแล้วปล่อยบ้านไว้นานเป็นเดือน ๆ ขอแนะนำให้ทิ้งข้าวของเครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้เนื้ออ่อนเหล่านั้นไปอย่างไม่ต้องเสียดาย เพราะอาจจะฟักตัวเป็นเชื้อราที่อันตรายมากขึ้นได้
  7. ย้ายเฟอร์นิเจอร์ หรือเครื่องใช้ที่มีราขึ้น (และตอนนี้ได้ทำความสะอาดแล้ว) ไปอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก หรือที่แสงแดดส่องถึงสักระยะหนึ่ง คือประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วหมั่นคอยตรวจสอบว่า หลังจากทำความสะอาดแล้วยังมีเชื้อราขึ้นอยู่อีกหรือไม่ หากไม่มีก็แสดงว่าสามารถแน่ใจแล้วว่าเราได้ทำความสะอาดเชื้อราออกไปได้อย่างหมดจดแล้วจริง ๆ แต่หากยังพบร่องรอยของเชื้อรา ขอให้นำมาทำความสะอาดใหม่ เพราะมันจะลามได้ง่ายมากถ้าหากวันหนึ่งอากาศชื้นอีกครั้ง
  8. วอลเปเปอร์ ใช้กรดซาลิไซลิด ผสมกับแอลกอฮอล์ในอัตราส่วน 1:5 จากนั้นนำผ้ามาชุบไปเช็ดวอลเปเปอร์ซ้ำ ๆ ประมาณ 2 รอบ แต่ถ้าหากว่ามีเชื้อราอยู่มาก แนะนำให้รื้อทิ้งแล้วเปลี่ยนวอลเปเปอร์ใหม่จะดีกว่า
  9. เสื้อผ้า ผ้าม่าน และผ้าห่ม หากพบเชื้อรา สามารถฆ่าเชื้อเบื้องต้นได้โดยใช้น้ำร้อน จากนั้นขยี้แล้วซักให้สะอาดหลาย ๆ ครั้ง และตากในที่ที่มีแสงแดดเท่านั้น เพื่อเป็นการฆ่าเชื้ออีกที
  10. งดกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดความชื้นภายในบ้าน หากตัวบ้านเพิ่งมีราขึ้นและได้รับการทำความสะอาดไปใหม่ ๆ ไม่ควรต้มน้ำ ซักผ้า ตากผ้า เปิดเครื่องปรับอากาศเย็นจัด แต่ควรเปิดให้อากาศภายนอกได้ระบายเข้ามาบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันแดดจัด แม้ว่าจะทำให้คุณร้อนอบอ้าวไปบ้าง แต่แสงแดดจะช่วยฆ่าเชื้อราได้ดีเลยทีเดียว


เตรียมพร้อมรับมืออยู่กับน้ำ (ในคราวหน้า)

  1. หากเลือกได้ ปูพื้นบ้านด้วยกระเบื้องดูจะเป็นทางเลือกที่ง่ายต่อการทำความสะอาดที่สุด
  2. ถังส้วม อย่าฝังไว้ในดิน ลองประยุกต์พื้นที่จัดวาง เช่น ใต้บันได
  3. กล่องไฟแยกระบบชั้นบน-ชั้นล่างชัดเจน ถึงเวลาน้ำมาตัดไฟชั้นล่าง ใช้ชีวิตชั้นบนได้ตามปกติ
  4. ทุกชุมชนควรกำหนดพื้นที่พักขยะหรือซากปรักหักพังเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติไว้อย่างชัดเจน ขยะจะได้ไม่ล้นทะลัก และช่วยให้ง่ายต่อการจัดการในภายหลัง
คำสำคัญ (Tags): #น้ำท่วม
หมายเลขบันทึก: 470675เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2011 13:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 11:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท