สิทธิผู้ป่วยสำหรับพยาบาล


สิทธิผู้ป่วยสำหรับพยาบาล

สิทธิผู้ป่วย 

          สิทธิผู้ป่วย  หมายถึง ความชอบธรรมที่ผู้ป่วยรวมทั้งผู้ไปรับบริการด้านสุขภาพสาขาต่าง ๆ จะพึงได้รับ เพื่อคุ้มครองหรือรักษาผลประโยชน์ของตนเอง โดยไม่ละเมิดสิธิของผู้อื่น สิทธิผู้ป่วยจึงเป็นแนวทางหรือหลักการที่ใช้ในการตัดสินใจของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ โดยการกำหนดหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อผู้ป่วยด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวังตามมาตรฐานวิชาชีพและตามกฎหมายบ้านเมือง

          การพยาบาลที่มีการเคารพสิทธิผู้ป่วย  หมายถึง กิจกรรมของพยาบาลที่ตอบสนองความต้องการด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม โดยมีพื้นฐานอยู่บนความรับผิดชอบต่อสิทธิพื้นฐานอันเป็นความชอบธรรมที่ผู้ป่วยควรได้รับการตอบสนองตามมาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพและสิทธิทางกฎหมาย การละเลยหรือไม่ตระหนักต่อสิทธิเหล่านี้ ทำให้เกิกปัญหาทางศีลธรรมและปัญหาทางด้านกฎหมายได้

 

บทบาทของพยาบาลวิชาชีพในการเป็นผู้พิทักษ์สิทธิของผู้ป่วย มีแนวทางดังนี้ 

สิทธิข้อที่ 1

ผู้ป่วยทุกคนมีสิทธิพื้นฐานที่จะได้รับบริการด้านสุขภาพตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 

กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 รับรองสิทธิของประชาชนในการได้รับบริการด้านสุขภาพอนามัยดังนี้

หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของบุคคล

     มาตรา 52 “ บุคคลย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการรับบริการทางด้านสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ตามกฏหมายบัญญัติ ”

หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

      มาตรา 82 “ รัฐต้องจัดและส่งเสริมการสาธารณสุขให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง ”

      ดังนั้นผู้มารับบริการทุคนจึงมีสิทธิเสมอภาคในการได้รับบริการตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพ โดยไม่คำนึงว่าบุคคลนั้นสามารถรับภาระค่าบริการได้หรือไม่ ผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับบริการจากสถานพยาบาลของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายในการรับบริการ และเสียค่าบริการโดยสมเหตุสมผล โดยอาจเลือกใช้บริการได้ทั้งในภาครัฐและเอกชน ตามความต้องการและฐานะทางการเงินของตนเอง และในข้อบังคับสภาการพยาบาล ว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์และการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2530

หมวด 2 ข้อ 4 ระบุว่า

          “ ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์และผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ต้องรักษามาตรฐานของการประกอบวิชาชีพการพยาบาลหรือการผดุงครรภ์ในระดับที่ดีที่สุด ด้วยการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสภาพแก่ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการ โดยไม่เรียกร้องสินจ้างรางวัลพิเศษ นอกเหนือจากค่าบริการที่ควรได้รับตามปกติ ”

          การปฏิบัติ :

1)             ให้การพยาบาลผู้ป่วยอย่างครอบคลุม ทั้งร่างกาย จิตสังคม

2)             ให้การพยาบาลตามมาตรฐานการพยาบาล

3)             ให้การต้อนรับผู้ป่วยทุกรายด้วยอัธยาศัยอันดี ให้คำแนะนำเรื่องสถานที่กำหนดการและการปฏิบัติตัวในหอผู้ป่วย ด้วยการมอบหมายผู้รับผิดชอบในแต่ละเวรทำหน้าที่ปฐมนิเทศผู้ป่วยและญาติเมื่อแรกรับ

4)             ตรวจเยี่ยมที่เตียงผู้ป่วยจากทีมสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ให้ออดหรือกริ่งเรียก เมื่อผู้ป่วยมีความไม่สุขสบายทั้งร่างกายและจิตใจ

5)            สอนและให้คำแนะนำการปฏิบัติตนแก่ผู้ป่วยทุกรายอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่แรกรับจนกระทั่งกลับบ้าน

6)            ป้องกันผู้ป่วยไม่ให้เกิดการติดเชื้อและให้การฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วย เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน

7)            จัดทำคู่มือปฏิบัติงาน เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรพยาบาลในแต่ละหอผู้ป่วย

8)            ประสานงานช่วยเหลือ ในกรณีผู้ป่วยไมมีเงินชำระค่ารักษาพยาบาล

 

สิทธิข้อที่ 2

      ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับบริการจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากความแตกต่างด้านฐานะ เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา สังคม ลัทธิการเมือง เพศ อายุ และลักษณะของความเจ็บป่วย

 

     หลักการข้อนี้เป็นหลักการที่พยาบาลทั่วโลกยอมรับและถือปฏิบัติ เพราะเป็นจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ (Code of Ethics) และในข้อบังคับสภาการพยาบาล ว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์และการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2530

หมวด 1 ข้อ 2 ระบุว่า

     “ ผุ้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์และผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ย่อมประกอบวิชาชีพด้วยเจตนาดี  โดยไม่คำนึงถึง ฐานะ  เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา สังคม หรือลัทธิการเมือง ”

    นอกจากนี้ในกฎหมายรับธรรมนูญ มาตรา 30 ระบุว่า

“ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เท่าเทียมกัน ”

    ดังนั้นผู้ป่วยทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับบริการสุขภาพในมาตรฐานที่ดีที่สุด ไม่มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เพราะเหตุแห่งสภาวะทางสุขภาพ ความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ เพศ อายุ สถานะส่วนบุคคล ฐานะทางเศรษกิจทางสังคม ความเชื่อทางศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง  ฯลฯ ทั้งนี้มิได้รวมถึงสิทธิอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือบทบัญญัติกฎหมาย เช่น การพักในห้องพิเศษ การบริการพิเศษ หรือไม่ชำระค่ารักษาพยาบาล ทั้งที่อยู่ในฐานะที่จะกระทำได้

          การปฏิบัติ :

1)            ปฏิบัติการพยาบาลตามมาตรฐานการพยาบาล โดยไม่เลือกปฏิบัติว่าจะเป็นผู้ป่วยพิเศษหรือสามัญ

2)            ไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วยตามลักษณะของความเจ็บป่วยที่ขัดต่อ ความเชื่อเจตคติ / ทัศนคติของพยาบาลผู้ดูแล เช่น ผู้ป่วยที่ทำแท้งโดยเจตนา ผู้ป่วยที่กินยาฆ่าแมลงเพื่อฆ่าแมลง ผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุจาการดื่มสุรา หรือผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV เป็นต้น บุคลากรทีมสุขภาพทุกคนต้องปฏิบัติต่อผู้ป่วยด้วยความสุภาพ ปราศจากอคติและเป็นไปตามมาตรฐานการพยาบาล เช่นเดียวกับปฏิบัติต่อผุ้ป่วยที่มาด้วยสาเหตุความเจ็บป่วยอื่น ๆ

สิทธิข้อที่ 3  

        ผู้ป่วยที่ขอรับการบริการด้านสุขภาพมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอ และเข้าใจชัดเจนจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถตัดสินใจในการยินยอมหรือไม่ยินยอม ให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพปฏิบัติต่อตน เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือรีบด่วนหรือจำเป็น 

 

          ถ้ามองการเข้ารับบริการด้านสาธารณสุขในเชิงสัญญา คู่สัญญาจะต้องเข้าใจในเนื้อหาของการทำสัญญาดังกล่าวอย่างชัดเจน เข้าใจตรงกันและแสดงเจตนาเพื่อการนั้น ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในหมวดที่ 2  หลักการแสดงเจตนาที่สำคัญอีกประการ คือ มิได้มีการแสดงเจตนา ลวง ข่มขู่ ฉ้อฉล หรือสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของการทำนิติกรรมและสืบเนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2552 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 ได้บัญญัติมาตรา 4 ผู้บริโภคมีสิทธได้รับความคุ้มครองดังต่อไปนี้

1)            สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอ เกี่ยวกับสินค้าและบริการ

2)            สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ

3)            สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ

(3 ทวิ)**สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา

4)            สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย

            ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับผู้ป่วย ซึ่งถือว่าเป็นผู้บริโภคเช่นกัน ว่ามีสิทธิที่จะ        

ได้รับข่าวสารที่เพียงพอเกียวกับการบริการก่อนที่ผู้ป่วยจะตัดสินใจเลือกรับบริการและการได้รับการคุ้มครองด้านความเป็นธรรมและการชดเชยค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่ต้องอธิบายให้ผู้ป่วยทราบถึง วิธีการรักษา อาการ การดำเนินโรค ฯลฯ อย่างละเอียด ก่อนที่ผู้ป่วยจะยินยอมรับบริการการรักษาพยาบาล ความยินยอมของผู้รับบริการ จึงจะถือได้ว่ามีผลทางกฎหมาย เป็นการรับรองสิทธิที่จะรู้ (Right to know) และสิทธิในการตัดสินใจ (Right to self-determination) ซึ่งเรียกว่าเป็นความยินยอมที่ได้รับคำบอกกล่าว (Informed consent)

           อย่างไรก็ตาม ความยินยอมต่อผู้ป่วยสิ่งหนึ่ง ไม่ได้หมายถึงสิ่งอื่นเพิ่มเติมหรือแตกต่างออกไป การยินยอมที่ไม่ได้ตกลงกันไว้ก่อน ผู้ป่วยสามารถฟ้องร้องให้ชดใช้ได้ นอกจากนี้ ความยินยอมต้องมีการแสดงออกและคงที่อยู่ตลอดเวลา ผู้ป่วยมีสิทธิบอกเลิกความยินยอมได้ สรุปว่าการรักษาพยาบาลทุกประเภทต้องได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอ และให้การรักษาพยาบาลตามวิธีที่ผู้ป่วยยินยอมเท่านั้น การยินยอมแต่ละกรณีต้องปราศจากการบังคับ ข่มขู่ ปกปิดข้อมูลบางประการ

          สำหรับกรณีการช่วยเหลือรีบด่วนหรือจำเป็นนั้น พิจารณาจากสภาพและประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับเป็นหลัก คือ รีบด่วนหรือจำเป็นสำหรับผู้ป่วย ไม่ใช่รีบด่วนหรือจำเป็นสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ หมายถึง ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ อาศัยหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ปัจจุบัน พิจารณาว่ารีบด่วนและจำเป็นต้องให้การรักษา หรือดำเนินการทางการแพทย์ แต่ผู้ป่วยไม่อยู่ในสภาพที่จะให้ความยินยอมได้ หรือการที่จะให้ผู้ป่วยได้รับข้อมูลเพียงพอนั้นไม่ทันการณ์ ก็จำเป็นต้องรีบให้การช่วยเหลือทันที่ โดยไม่ต้องรอให้ผู้ป่วยหรือญาติตัดสินใจให้ความยินยอม

     การปฏิบัติ :

1)            ให้ข้อมูลด้านการรักษาแก่ผู้ป่วยและญาติในขอบเขตของวิชาชีพ อย่างชัดเจน

2)            เปิดโอกาสให้ซักถามก่อนให้ผู้ป่วยเซ็นต์ยินยอมการรักษา

3)            ติดต่อประสานงานในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการพบแพทย์ผู้รับผิดชอบ

4)            ให้โอกาสผู้ป่วยแสดงความเห็นและเข้าร่วมปรึกษากับทีมสุขภาพก่อนที่จะตัดสินใจเลือกวิธีการรักษา

5)            ให้โอกาสผู้ป่วยเลือกรูปแบบหรือวิธีการพยาบาลที่ผู้ป่วยจะรับได้

6)            อธิบายให้ผู้ป่วยทราบทุกครั้งก่อนให้การรักษาพยาบาล

7)            บอกวิธีสังเกตอาการที่อาจจะเกิดอันเป็นผลจากการให้การรักษาพยาบาล

8)            ตรวจสอบข้อมูลการรรับรู้ของผู้ป่วยว่าเข้าใจถูกต้อง ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย

9)            รับฟังปัญหา ความคิดเห็น ความต้องการ และตอบข้อซักถามของผู้ป่วยด้วยใจที่ปราศจากอคติ โดยไม่แสดงสีหน้าหรือท่าทางรำคาญ

สิทธิข้อที่ 4

      ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต มีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือรีบด่วนจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ โดยทันที ตามความจำเป็นแก่กรณี โดยไม่คำนึงว่าผู้ป่วยจะร้องขอความช่วยเหลือหรือไม่ 

       การช่วยเหลือผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะฉุกเฉิน ถือเป็นจริยธรรมแห่งวิชาชีพพยาบาลที่จะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว คำประกาศสิทธิผู้ป่วยในข้อนี้ จึงเป็นการย้ำเตือนให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง คำนึงถึงจริยธรรมแห่งวิชาชีพและมนุษยธรรมเป้นที่ตั้ง สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายแล้วแต่กรณี

       ผู้ป่วยจึงมีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตอย่างชัดเจน การถูกปฏิเสธจากสถานพยาบาลที่ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจนผู้ป่วยต้องมีโรคแทรกซ้อน อยู่โรงพยาบาลนานเกินความจำเป็น ต้องขาดรายได้ หรือถูกออกจากงานต้องกลายเป็นคนพิการ หรือถึงแก่ชีวิต

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 374 ระบุว่า

     “ ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิต ซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผูอื่น แต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ”

     และข้อบังคับสภาการพยาบาล ว่าด้วยข้อจำกัดละเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์และการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2530

 

หมวด 2 ข้อ 13 ระบุว่า

        “ ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ และผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ต้องไม่ปฏิเสธการช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในระยะอันตรายจากการเจ็บป่วย เมื่อได้รับคำร้องขอและตนอยู่ในฐานะที่จะช่วยได้ ”

          การปฏิบัติ :

1)            เมื่อพบผู้ป่วยอยู่ในภาวะเสี่ยงต่ออันตรายต้องให้ความช่วยเหลือโดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามการช่วยเหลือรีบด่วนจะต้องคำนึงถึงความจำเป็นแก่กรณีด้วย มิใช่แฝงไว้ด้วยประโยชน์ทางด้านการเงิน

2)            หน่วยงานต้องมีการเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์การช่วยเหลือชีวิต ให้พร้อมปฏิบัติการเสมอ

3)            จัดให้มีการทบทวนปรับปรุงขั้นตอน วิธีการช่วยชีวิตอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันเวลา

4)            จัดให้มีผู้รับผิดชอบการช่วยเหลือผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินในหน่วยงานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

 

สิทธิข้อที่ 5

      ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบ ชื่อ สกุล และประเภทของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ที่เป็นผู้ให้แก่ตน

      เนื่องจากในสถานบริการมีผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพหลายสาขา หลายระดับ ปฏิบัติงานร่วมกัน ตามกฎหมายในการประกอบวิชาชีพ บุคลากรหรือผู้ประกอบวิชาชีพเหล่านั้นมีความแตกต่าง ในด้านความรู้ความสามารถและขอบเขตการให้บริการ นอกจากนี้เครื่องแบบในการทำงานมีความคล้ายคลึงหรือหลากหลายจนผู้ป่วยไม่สามารถจำแนกได้ว่า บุคคลใดมีคุณสมบัติและความสามารถที่จะให้การรักษาพยาบาลได้ในระดับใด หรือผู้ป่วยไม่สามารถทราบได้ว่าบุคลากรที่ให้การดูแลรักษาพยาบาลแก่ตน เป็นผู้ทีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปอย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่งก่อให้เกิดความไม่แน่ใจแก่ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป ดังนั้น การกำหนดให้ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลของผู้ให้บริการเกี่ยวกับ ชื่อ สกุล ตำแหน่งหน้าที่การงานและความรับผิดชอบ โดยให้บุคลากรในทีมสุขภาพเป็นผู้ชี้แจงหรือผู้ป่วยมีสิทธิที่จะสอบถาม จะทำให้ผู้ป่วยเข้าใจถูกต้องและสามารถตัดสินใจ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้แน่ใจว่าจะได้รับบริการจากผู้ให้บริการที่มีความรู้ ความสามารถที่จะให้การรักษาพยาบาลตามกฏหมายการประกอบวิชาชีพ

        การปฏิบัติ :

1)            ทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างบุคลากรในทีมสุขภาพถึงบทบาทและหน้าที่รับผิดชอบ

2)            แนะนำตัวและบุคลากรทีมสุขภาพที่เกี่ยวข้องแก่ผู้ป่วยและญาติก่อนให้บริการตามความเหมาะสม

3)            สร้างวัฒนธรรมในการแนะนำตนเองทุครั้งก่อนให้การพยาบาล

4)            ปักหรือติดบัตร ชื่อ สกุล ตำแหน่งที่ถูกต้องของบุคลากรทุกประเภท ให้มองเห็นได้ชัดเจนและอ่านง่าย

5)            ในหอผู้ป่วยนอก / ผู้ป่วยใน / ผู้ป่วยฉุกเฉิน มีแผนภูมิแสดงสายงานบังคับบัญชาพร้อมติดรูป ชื่อ สกุล และตำแหน่งไว้หน้าหน่วยงาน

6)            ในหอผู้ป่วยนอก / ผู้ป่วยใน / ผู้ป่วยฉุกเฉิน : เขียนขื่อ สกุล ของแพทย์ บคลากร พยาบาล และประเภทของผู้ประกอบวิชาชีพอื่นที่รับผิดชอบในแต่ละเวร ไว้ในสถานที่ที่มองเห็นเด่นชัด

7)            หอผู้ป่วยใน : ติดรายชื่อแพทย์เจ้าของไข้ไว้ทุกเตียงและหน้าห้องผู้ป่วยทุกห้อง

8)            หอผู้ป่วยนอกติดป้ายชื่อแพทย์เวรที่ออกตรวจที่หน้าห้องตรวจโรค / โต๊ะตรวจ ให้ผู้ป่วยมองเห็นเด่นชัด

สิทธิข้อที่ 6

ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะขอความเห็นจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอื่นที่มิได้เป็นผู้บริการแก่ตน และมีสิทธิในการขอเปลี่ยนผู้ให้บริการและสถานบริการได้ 

                สิทธิที่จะเลือกรับบริการด้านสุขภาพ  เกิดขึ้นเนื่องจากการบริการด้านสุขภาพในปัจจุบันมีหลายรูปแบบ  มีทั้งของรัฐและเอกชน  ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยตัดสินใจเลือกรับบริการต่างๆตามความรู้  ความเชื่อหรือเศรษฐานะของแต่ละบุคคล  นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค  พ.ศ.2522  และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2 )  พ.ศ. 2541 มาตรา 4 ได้บัญญัติสิทธิของผู้บริโภคว่า  มีอิสระในการเลือกสินค้าหรือบริการ การกำหนดสิทธิของผู้ป่วยในข้อนี้  จึงเป็นการรับรองความเป็นอิสระของผู้ป่วยในการเลือก  หรือปฏิเสธการรับการรักษาพยาบาลด้วยตนเอง

                รวมทั้งกฎหมายในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540  หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของประชาชนชาวไทย  มาตรา 30 ยังได้ระบุไว้ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในร่างกาย”  บทบัญญัติในมาตรานี้แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยมีเสรีภาพในร่างกาย  ที่บุคคลอื่นต้องไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการละเมิด  ดังนั้น  การตรวจวินิจฉัยหรือบำบัดโรคที่จะกระทำต่อผู้ป่วย  โดยผู้ป่วยไม่ยินยอม  ถือว่าเป็นการละเมิดต่อสิทธิของผู้ป่วย  เว้นแต่จะเป็นการกระทำของเจ้าพนักงานสาธารณสุข  ซึ่งใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ  พ.ศ. 2523  ที่จะกระทำต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อภายในขอบเขตของกฎหมาย  ซึ่งมีจุดประสงค์ที่จะคุ้มครองสาธารณชนให้ได้รับความปลอดภัยจากโรคติดต่อตามที่กฎหมายกำหนดไว้

                สิทธิสำคัญของประชาชน  รวมทั้งผู้บริโภคด้านบริการวาธารณสุข  คือ สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัย  (Right  to  safety) และสิทธิที่จะเลือก (Right   to choose)  เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพมีความรู้สึกไม่พอใจเมื่อผู้ป่วยขอเปลี่ยนวิธีการรักษา ฯลฯ  และต้องการจะทราบความเห็นจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพคนอื่น  ที่มีความรู้ในด้านนั้น ๆ  เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่จะรับการรักษาและมีความมั่นใจว่าจะไม่เกิดความผิดพลาดในการรักษา  การขอความเห็นจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอื่น  ซึ่งไม่ใช่แพทย์/พยาบาลผู้ดูแลรักษา  มิใช่เกิดจากความไม่ไว้วางใจจากผู้ประกอบวิชาชีพ  แต่เป็นการยืนยันในสิ่งที่ผู้ประกอบวิชาชีพได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับความเจ็บป่วยหรือแนวทางการรักษาไว้  และถ้าผู้ป่วยยังเกิดกรณีสงสัย  ไม่แน่ใจ  เช่น  ผู้ประกอบวิชาชีพคนแรกกับผู้ประกอบวิชาชีพคนที่สอง  มีความเห็นแตกต่างกันผู้ป่วยย่อมสามารถขอความเห็นจากผู้ประกอบวิชาชีพคนอื่นได้ต่อไปอีก

                อย่างไรก็ตาม  สิทธิผู้ป่วยข้อนี้ก็คงอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่สามารถปฏิบัติได้  เช่น  โรงพยาบาลที่มีแพทย์อยู่อย่างจำกัด  ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแพทย์ผู้ให้การรักษาได้  หรือการเปลี่ยนสถานบริการจะเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยอย่างมา  ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอาจต้องดำเนินการช่วยเหลืออย่างรีบด่วน  เพื่อป้องกันมิให้บุคลากรในทีมสุขภาพต้องรับผิดชอบ  ฐานทอดทิ้งผู้ป่วย

                สรุปว่า  การรับรองสิทธิผู้ป่วยที่จะขอความเห็นจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอื่นที่มิได้เป็นผู้ให้บริการแก่ตน  สิทธิในการขอเปลี่ยนผู้ให้บริการและสถานบริการ  มีขึ้นเพื่อไม่เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรในทีมสุขภาพ  เมื่อผู้ป่วยเลือกตัดสินใจด้วยตัวเอง

                การปฏิบัติ

1)            เป็นตัวแทนผู้ป่วยและญาติในการเรียกร้องสิทธิ  หากผู้ป่วยได้รับบริการที่ไม่มีคุณภาพ

2)            ให้การพยาบาลผู้ป่วยอย่างดี  แม้ผู้ป่วยจะปฏิเสธรับการรักษาจากหน่วยงานของท่าน

3)            ให้ความช่วยเหลือประสานงาน  เมื่อผู้ป่วยแจ้งความจำนงขอเปลี่ยนผู้ให้บริการหรือสถานบริการ

4)            ให้ข้อมูลผู้ป่วยในการเลือกผู้ให้บริการหรือสถานบริการที่ผู้ป่วยประสงค์จะถูกส่งไปรักษาต่อ  โดยใจที่ปราศจากอคติและคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

5)            แจ้งให้ผู้ป่วยหรือญาติทราบว่า  ผู้ป่วยสามารถจะกลับมารับบริการจากหน่วยงานของท่านได้ตลอดเวลา  โดยจะไม่เกิดผลกระทบใดๆ  ในการรักษาพยาบาล

6)            ให้ผู้ป่วยหรือญาติที่มีสิทธิในการดูแลผู้ป่วย  ลงนามในเอกสารว่าไม่สมัครอยู่หลังจากได้รับคำบอกกล่าวของแพทย์และพยาบาลและเข้าใจถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นอย่างละเอียด  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฟ้องร้องว่าละเลยผู้ป่วยทั้งที่อยู่ในภาวะอันตราย

สิทธิข้อที่ 7

                ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับตนเองจากผู้ประกอบวิชีพด้านสุขภาพโดยเร่งรัด  เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยหรือการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย

                หลักการหรือสิทธิผู้ป่วยข้อนี้ถือเป็นรากฐานที่ผู้ป่วยให้ความไว้วางใจต่อผู้ประกอบวิชาชีพด้วนสุขภาพ  การเปิดเผยข้อมูลการรักษาพยาบาลจะกระทำได้  เมื่อได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยหรือมีเหตุจำเป็น  สิทธิที่จะได้รับการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยนี้  เป็นสิทธิที่ผู้ป่วยได้รับการรับรองตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 323 ว่า

                “ ผู้ใดล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของผู้อื่น  โดยเหตุที่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่  โดยเหตุที่ประกอบอาชีพเป็นแพทย์  เภสัชกร  คนจำหน่ายยา นางผดุงครรภ์  นักบวช  หมอความ  ทนายความ  หรือ  ผู้สอบบัญชี  หรือโดยเหตุที่เป็นผู้ช่วยในการประกอบอาชีพนั้น  แล้วเปิดเผยความลับนั้น  ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ”  และที่ปรากฏในวรรคสอง  ความว่า  “ผู้รับการศึกษาอบรมในอาชีพดังกล่าวในวรรคแรก  เปิดเผยความลับผู้อื่น  อันตนได้ล่วงรู้หรือได้มาในการศึกษาอบรมนั้น  ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน”  การเปิดเผยข้อมูลอาจเกิดจากความไม่ตั้งใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์  ซึ่งรวมถึงการสนทนาซักถามในเรื่องส่วนตัวของผู้ป่วยในสถานที่ไม่เหมาะสม  เช่น  ตึกผู้ป่วยนอก  หรือในหอผู้ป่วย ทำให้บุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วย สำหรับกรณีที่แพทย์นำประวัติหรือเวชระเบียบของผู้ป่วยไปให้แพทย์อีกคนหนึ่ง เพื่อการศึกษาอันเป็นประโยชน์ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ไม่ถือว่าเป็นการเปิดเผยความลับ แต่แพทย์ที่รับรักษาก็ต้องรักษาความลับของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ใน พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 บัญญัติว่า “หน่วยงานของรัฐจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความดูแลของตนต่อหน่วยงานของรัฐอื่นๆหรือผู้อื่น โดยปราศจากความยินยอมเป็นหนังสือของเจ้าของข้อมูลที่ให้ไว้ล่วงหน้าหรือในขณะนั้นมิได้ เว้นแต่เป็นความเปิดเผยเพราะจำเป็น” ซึ่งการเปิดเผยจะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยก็ได้”

รวมทั้งตามข้อบังคับสภาการพยาบาล ว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพพยาบาลและการผดุงครรภ์และการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2530 หมวด 2 ข้อ 12 ที่บัญญัติไว้ว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์และผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ต้องไม่เปิดเผยความลับของผู้ป่วยหรือผู้มารับบริการซึ่งตนรับทราบมา เนื่องมาจากการประกอบวิชาชีพ เว้นแต่ด้วยความยินยอมของผู้ป่วยหรือผู้รับบริการ หรือเมื่อต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือตามหน้าที่”

การปฏิบัติ:

1                 ผู้ป่วยทุกรายได้รับการรักษาความลับเกี่ยวกับข้อมูลการเจ็บป่วยของตน เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยหรือเมื่อเจ้าพนักงานต้องปฏิบัติตามหน้าที

2                 อภิปรายข้อมูลผู้ป่วยเฉพาะผู้ร่วมทีมสุขภาพและเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลเท่านั้น

3                 ไม่นำเรื่องของผู้ป่วยมาถกเถียงหรือวิจารณ์ให้ผู้อื่นได้ยิน โดยเฉพาะในที่สาธารณะ

4                 จัดสถานที่ที่เหมาะสมในการให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำแก่ผู้ป่วย

5                 ไม่ว่างแฟ้มประวัติหรือเขียนชื่อโรคไว้ที่ปลายเตียง/หน้าห้องผู้ป่วย เพราะข้อมูลความเจ็บป่วยอาจมีผลเสียหายต่อผู้ป่วยหรือครอบครัว

6                 ไม่ตอบสนองข้อมูลด้านการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยทางโทรศัพท์หรือพิจารณาตรวจสอบให้แน่ใจก่อนให้ข้อมูล

7                 จัดเก็บรายงานผู้ป่วยไว้เป็นสัดส่วนและทบทวนระเบียบการหยิบยืมแฟ้มประวัติ/เวชระเบียนผู้ป่วย เมื่อมีการส่งไปให้คำปรึกษา/การส่งต่อหรือการนำไปเพื่อใช้ในการศึกษา

8                 จัดทำระเบียบการขอสำเนาเวชระเบียนของผู้ป่วยหรือการแจ้งข้อมูลผู้ป่วยต่อบุคคลที่สาม เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติแก่บุคลากรในหน่วยงานและป้องกันการนำความลับของผู้ป่วยไปใช้ในทางเสื่อมเสียแก่ผู้ป่วยหรือครอบครัว


หมายเลขบันทึก: 470617เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2011 21:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 05:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สิทธิข้อที่ 8

ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้ข้อมูลอย่างครบถ้วน ในการตัดสินใจเข้าร่วมหรือถอนตัวจากการเป็นผู้ถูกทดลองในการทำวิจัยของผู้ประอบวิชาชีพด้านสุขภาพ

การวิจัยในคนหรือการทดลองต่อมนุษย์ หมายถึง การวิจัยที่ใช้คนเป็นอาสาสมัคร ซึ่งอาจเป็นผู้ป่วยหรืออาสาสมัครที่มีสุขสุขภาพสมบูรณ์ งานวิจัยจึงต้องมีรูปแบที่ชัดเจนตามหลักทางวิชาการและระเบียบวิธีวิจัย เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงหรืออันตรายที่จะเกิดแก่อาสาสมัครผู้ถูกทดลอง ภาระของผู้วิจัยที่ต้องรับผิดชอบคือ การปกป้องชีวิต สุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี ความเป็นส่วนตัว และความมีศักดิ์ศรีของอาสาสมัคร รวมถึงผลกระทบต่อขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคม เพราะการศึกษาวิจัยในคนหรือการทดลองต่อมนุษย์มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่อาจเกิดผลกระทบต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพการประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือข้อมูลส่วนบุคคล ที่มีผลกระทบต่อจิตใจ พฤติกรรม ในสังคมของอาสาสมัครผู้ถูกทดลองหรือผู้ป่วยได้ทั้งสิ้น

การกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อคุ้มครองอาสาสมัครผู้ถูกทดลอง ถ้าหละหลวมเกินไปการคุ้มครองและปกป้องสิทธิอาสาสมัครก็อาจไม่เพียงพอ อาสาสมัครผู้ถูกทดลองหรือผู้ป่วยอาจได้รับความเสี่ยงและอันตรายร้ายแรงอย่างไม่คาดคิดได้ แต่ในทางกลับกันถ้ากฎเกณฑ์เข้มงวดเกินไป การค้นคว้าวิจัยบางอย่างก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะการทดลองต่อมนุษย์เป็นสิ่งจำเป็นทางการแพทย์ ในการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมเพื่อการส่งเสริม ป้องกันและรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

กฎระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการทำการศึกษาวิจัยและทดลองในมนุษย์ ที่ถือปฏิบัติในขณะนี้ มีรากฐานมาจากคำประกาศ เฮลซิงกิ ของแพทย์สมาคมโลก (Helsinki Declaration) ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2507 และมีการปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะๆ จนกระทั่งครั้งสุดท้าย เมื่อปี พ.ศ.2543 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการปกป้องคุ้มครองศักดิ์ศรี สิทธิ ความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของอาสาสมัครผู้เข้าร่วมโครงการวิจัย กระบวนการส่งเสริมให้โครงการวิจัยได้ดำเนินการไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว คือ การกำหนดให้ผู้ทำวิจัยยื่นเสนอโครงการวิจัยต่อคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน ที่ได้รับการแต่งตั้งตามนโยบายของแต่ละองค์กรหรือโรงพยาบาล เพื่อพิจารณาและอนุมัติโครงการ ก่อนเริ่มดำเนินการวิจัย คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนควรประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อย 5 คน และควรมีผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คนในสาขาที่ไม่ใช่ทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ นอกจากนี้ ถ้าโครงการวิจัยมีความซับซ้อนหรือเฉพาะเจาะจงก็อาจเชิญผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ เข้าร่วมพิจารณาเป็นคราวๆไป โดยหลักการคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนมีหน้าที่พิจารณา โครงการวิจัยทั้งทางด้านระเบียบวิธีวิจัยและทางด้านจริยธรรมควบคู่กันไป ดังนั้นคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนและผู้ทำวิจัยต้องมีเจตคติที่ดีต่อการทำงานตามหน้าที่ของแต่ละฝ่าย เพื่อสนับสนุนให้มีการพัฒนาการสร้างองค์ความรู้ใหม่และหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดกับอาสาสมัครผู้ถูกทดลองและประชาชนโดยส่วนร่วม

ตามข้อบังคับสภาการพยาบาล ว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์และการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพการพยาบาลและการ ผดุงครรภ์ พ.ศ.2530

หมวด 2 ข้อ 27 ระบุว่า

“ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ และผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ผู้ทำการทดลองต่อมนุษย์ต้องได้รับความยินยอมต่อผู้ถูกทดลองและต้องพร้อมที่จะป้องกันผู้ถูกทดลองจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้น จากการทดลองนั้นๆ”

ข้อ 29 “ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ และผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ต้องรับผิดชอบต่ออันตรายหรือผลเสียหายเนื่องจากการทดลองที่บังเกิดต่อผู้ถูกทดลอง อันมิใช่ความผิดของผู้ถูกทดลองเอง”

หลักการในสิทธิผู้ป่วยข้อนี้ เป็นลักษณะเดียวกับการให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาล ถือเป็นความยินยอมที่ได้รับการบอกกล่าว (Informed consent) คือ ผู้ถูกทดลองต้องได้รับทราบข้อมูลครบถ้วนอย่างชัดเจน การให้ข้อมูลทางการแพทย์ สถิติใดๆ ที่ผู้ป่วยทั่วไปไม่สามารถเข้าใจได้หรือมิรู้เลยว่าการทดลองนั้นจะมีอันตรายหรือผลแทรกซ้อนอะไร เพราะการบอกข้อมูลไม่ครบถ้วนไม่วาจะเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม ถือว่าอาสาสมัครผู้ถูกทดลองหรือผู้ป่วยได้ให้ความยินยอมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและถึงแม้อาสาสมัครผู้ถูกทดลองหรือผู้ป่วยจะตัดสินใจยินยอมเข้าร่วมในการทำวิจัยแล้ว ก็มีสิทธิที่จะเลิก/ถอนตัวได้ตลอดระยะเวลาของการวิจัย โดยไม่เกิดผลกระทบใดๆต่อการรักษาหรือสัมพันธภาพกับบุคลากรทีมสุขภาพทั้งสิ้น

จะเห็นได้ว่า การทำการวิจัยในมนุษย์จะต้องผ่านการพิจารราและอนุมัติของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของแต่ละสถาบัน เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้ถูกวิจัยให้ได้รับความปลอดภัย ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกล่อลวงให้สำคัญผิด ซึ่งอาจจะเกิดผลกระทบ/ภาระแก่ผู้ป่วยเกินความจำเป็น เช่น ต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆเพิ่มขึ้น หรือถูกยืดระยะเวลาในการรักษาพยาบาลออกไปเพื่อผลทางการทดลอง

การปฏิบัติ:

1 จัดตั้งคณะกรรมการหรือหน่วยงานในโรงพยาบาล ทำหน้าที่รับผิดชอบการวิจัย/ทดลองที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยใช้ข้อมูลที่เป็นของผู้ป่วยเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายหรือถุกละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

2 ให้รายละเอียดที่ช่วยให้ผู้ป่วยตัดสินใจเข้าร่วมการวิจัย/ทดลองและเคารพในการตัดสินใจของผู้ป่วย

3 ชี้แจ้งให้ผู้ป่วยทราบว่าผู้ป่วยมีสิทธิที่จะตอบรับหรือปฎิเสธารเข้าร่วมการวิจัย/ทดลอง โดยยืนยันว่าจะไม่มีผลใดๆ ต่อคุณภาพการรักษาพยาบาลและการดูแลที่จะได้รับ

4 บอกให้ผู้ป่วยทราบถึงวัตถุประสงค์ วิธีการ ระยะเวลา ขอบเขต การวิจัย/ทดลองอย่างชัดเจน

5 อธิบาย ตอบข้อข้องใจ ให้ข้อมูลภาวะแทรกซ้อนหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นตลอดจนวิธีการปฏิบัติระหว่างหรือการทำการวิจัย/ทดลอง

6 ไม่เปิดเผย ชื่อ ที่อยู่ ข้อมูลผู้ป่วยที่เข้าร่วมการวิจัย/ทดลอง

สิทธิข้อที่ 9

ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูล เฉพาะของตนที่ปรากฏในเวชระเบียนเมื่อร้องขอ ทั้งนี่ข้อมูลดังกล่าวต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่น

เวชระเบียน คือ เอกสารที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับความเจ็บป่วยของผู้ป่วย ซึ่งสถานพยาบาลทำขึ้นไว้เพื่อประกอบการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย ข้อมูลที่ปรากฏในเวชระเบียน ถือว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเจ้าของประวัติมีสิทธิที่จะรับทราบข้อมูลนั้นได้ ทั้งนี้รวมถึงกรณีผู้ป่วยยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลของตนต่อบุคคลที่สาม เช่น การมอบอำนาจให้ทนายความหรือตัวแทนบริษัทประกันโดยมีหนังสือมอบอำนาจถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งสิทธินี้ได้รับการรับรองตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ตามมาตรา 25 ระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะได้รู้ถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนและเมื่อบุคคลนั้นมีคำขอเป็นหนังสือ หน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลข่าวสารนั้น จะต้องให้บุคคลนั้น จะต้องให้บุคคลนั้นหรือผู้กระทำการแทนบุคคลนั้นได้ตรวจดูหรือได้รับสำเนาข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับบุคคลนั้น” สิทธิของผู้ป่วยในการที่จะรู้เรื่องของตนในเวชระเบียน เช่น เพื่อนำประวัติการเจ็บป่วยหรือประวัติการรักษาที่ผ่านมาไปให้แพทย์อื่นที่ตนต้องการย้ายไปรักษา การนำไปใช้ประกอบการขอรับสิทธิต่างๆหรือถูกนำไปเป็นหลักฐานอ้างอิงในศาล เช่น การฟ้องร้องเรื่องการกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือการรักษาพยาบาลที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพ เวชระเบียนจึงต้องบันทึกด้วยลายมือที่อ่านง่าย ไม่มีรอยขูดลบ เปลี่ยนแปลง แก้ไข ถ้าเขียนบันทึกผิดและต้องการแก้ไขให้ขีดเส้นทับข้อความ ลงลายมือชื่อและลงวันที่กำกับให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันผู้เกี่ยวข้องกับเวชระเบียนต้องมีโทษฐานปลอมแปลงเอกสาร

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในเวชระเบียนมีบางส่วนซึ่งเป็นการแสดงความเห็นของแพทย์พยาบาลในการรักษาและการพยาบาล หรือมีข้อมูลที่อาจพาดพิงเกี่ยวข้องถึงบุคคลอื่น เช่นบุคคลที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อมา ดังนั้นการเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยจะต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่น ดังนั้นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบข้อมูลตามกฎหมาย เช่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาล หัวหน้าฝ่ายกรพยาบาลหรือคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของโรงพยาบาล มีสิทธิไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลในส่วนที่อาจมีผลกระทบต่อบุคคลอื่นที่อยู่ในเวชระเบียนผู้ป่วยได้

การปฏิบัติ

1. หน่วยงานจัดประชุมและหาข้อตกลงร่วมกันถึงแนวทางปฏิบัติในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ว่าข้อมูลใดเปิดเผยได้ ข้อมูลใดเปิดเผยไม่ได้และใครเป็นผู้รับผิดชอบในการให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและญาติ

2. ผู้ป่วยมีสิทธิจะทราบและขอดูผลการวินิจฉัยโรค ผลการตรวจร่างกายและผลการตรวจทางห้องทดลองของตนได้

3. กรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยป่วยเป็นโรคร้ายแรงหรือต้องการให้การรักษาพยาบาลด้วยวิธีพิเศษที่อาจเสี่ยงต่อภาวะสุขภาพ ด้านร่างกายหรือจิตใจ พยาบาลควรประเมินความพร้อมของผู้ป่วยก่อนแจ้งข้อมูล

4. อธิบายให้ผู้ผู้ป่วยทราบข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย

5. ผู้ป่วยสามารถเป็นผู้ที่ขอข้อมูลเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นกระทำแทน ตามวิถีทางกฎหมายได้

6. ตรวจสอบการยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลของผู้ป่วยต่อบุคคลที่สาม เช่น การสมัครงาน การประกันชีวิตหรือการประกันสุขภาพ

7. ไม่นำเรื่องราวของผู้ป่วยไปเปิดเผยต่อสื่อมวลชน ถ้าจำเป็นต้องไม่เปิดเผยชื่อผู้ป่วยหรือปิดส่วนของใบหน้าที่จะทำให้ผู้อื่นจำได้ โดยต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยก่อนเช่นกัน

สิทธิข้อที่ 10

บิดา มารดา หรือผู้แทนโดยชอบธรรม อาจใช้สิทธิแทนผู้ป่วยที่เป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบแปดปีบริบูรณ์ ผู้บกพร่องทางกายหรือจิตซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิด้วยตนเองได้

ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กระบุว่า เด็ก หมายถึง มนุษย์ทุกคนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี (เว้นแต่จะบรรลุนิติภาวะก่อนหน้านั้นตามกฎหมาย) ดังนั้น จึงกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้แทนโดยชอบธรรม ใช้สิทธิแทนผู้ป่วยเด็กที่อายุไม่เกินสิบแปดปีบริบูรณ์ อย่างไรก็ตามยังมีความเห็นขัดแย้งในเรื่องการพิจารณาอายุของผู้ป่วยเด็ก ซึ่งสิทธิผู้ป่วยระบุไว้ว่า คือ ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ในขณะที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 มาตรา 19 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์” ขณะที่มาตรา 20 บัญญัติว่า “ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส หากการสมรสได้ทำตามบทบัญญัติ มาตรา 1448” ซึ่งมาตรา 1448 บัญญัติว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่เหตุการณ์อันสมควร ศาลอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนหน้านั้นได้” จึงขึ้นกับดุลยพินิจ ในการพิจารณาว่า ถ้าเด็กยังอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนหรือยังอยู่ในความดูแลของผู้ปกครอง การตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับการรักษา การให้ข้อมูลควรจะอยู่ในการตัดสินใจและรับทราบข้อมูลร่วมกับของบิดา มารดา หรือผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน และสำหรับผู้บกพร่องทางกายหรือทางจิตนั้นต้องถึงขนาดไม่สามารถรับรู้ เข้าใจ หรือมีสติสัมปชัญญะที่จะสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง เช่น ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ผู้มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรมย่อมใช้สิทธิแทนผู้ป่วยได้ในทุกกรณี

การเฝ้าระวังเพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยในโรงพยาบาล

การกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้มารับบริการหรือผู้ป่วย ตลอดจนการติดตามตรวจสอบเพื่อป้องกันและยับยั้งการกระทำที่ไม่พึงประสงค์ไม่ให้เกิดขึ้นในหน่วยงานหรือในโรงพยาบาล นอกจากจะเป็นหน้าที่ของผู้บริหารโรงพยาบาลทุกระดับแล้ว ยังถือว่าเป็นภารกิจหลักของบุคลากรทุกคนในโรงพยาบาล เพราะการมารับบริการในโรงพยาบาล ผู้ป่วยและญาติต้องพบปะหรือติดต่อสื่อสารกับบุคลากรทุกคนในโรงพยาบาลในทุกกระบวนการ ตั้งแต่เริ่มเข้ามาที่แผนกผู้ป่วยนอก แผนกอุบัติเหตุฉุกเฉิน เจาะเลือด เอ็กซเรย์ ซื้อยา หรือเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในจนกระทั่งกลับบ้าน การสนับสนุน ส่งเสริมให้บุคลากรทุกคนในโรงพยาบาลโดยเฉพาะพยาบาลวิชาชีพได้แสดงบทบาทในการคุ้มครองสิทธิผู้มารับบริการด้วยนโยบายการเฝ้าระวังเพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยในโรงพยาบาลจึงเป็นหนทางที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีคุณภาพ สามารถประเมินการปฏิบัติโดยมีเกณฑ์ชี้วัดที่ชัดเจนเหมาะสม

เทคนิคการเฝ้าระวังในการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยในโรงพยาบาล มี 2 ระดับ คือ การเฝ้าระวังในระดับนโยบาย และการเฝ้าระวังในระดับการปฏิบัติ สรุปได้ดังนี้

1. เทคนิคการเฝ้าระวังในการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยในโรงพยาบาลในระดับนโยบาย

เป็นการกำหนดระเบียบหรือแนวทางปฏิบัติให้ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลยึดถือเป็นแนวทางเดียวกัน เพื่อช่วยให้ผู้รับบริการได้รับการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกันประกอบด้วยการกำหนดกฎระเบียบ นโยบายต่างๆ ให้ทุกคนในโรงพยาบาลปฏิบัติ กำหนดสายการบังคับบัญชา บทบาทหน้าที่รับผิดชอบของทุกบุคลากรแต่ละระดับในสายการบังคับบัญชาอย่างชัดเจน จัดอบรม / ปฐมนิเทศบุคลากรทุกระดับ ให้ทราบนโยบายและกฎระเบียบของหน่อยงานอย่างทั่วถึง เพื่อให้เข้าใจความหมายและความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย มีการจักระบบการบริหารจัดการที่เอื้อต่อการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยอย่างชัดเจน เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างทีมสุขภาพและลดปัญหาการละเมิดสิทธิผู้ป่วยโดยไม่เจตนา รวมทั้งกำหนดวิธีการปฏิบัติหรือการลงโทษ ตามระดับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้รับบริการหรือหน่วยงาน เช่น การตักเตือน การเขียนรายงาน การภาคทัณฑ์ ฯลฯ

2. เทคนิคการเฝ้าระวังในการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยในโรงพยาบาลในระดับปฏิบัติ

เป็นการสอดส่องดูแล คุ้มครอง ปกป้องสิทธิผู้มารับบริการ ตามคำประกาศสิทธิผู้ป่วย กำหนดวิธีการตรวจสอบมิให้มีการละเมิดสิทธิของผู้มารับบริการ จากพฤติกรรมและการกระทำที่ไม่เหมาะสมจากบุคลากรทีมสุขภาพ เทคนิคการเฝ้าระวังประกอบด้วย การนิเทศ ติดตามตรวจสอบ ให้มีการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่โรงพยาบาลกำหนด กำหนดมาตรการป้องกันภาวะเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น อาทิ การให้ยาผิด การให้เลือดผิด การตกเตียง การกระโดดตึก ฯลฯ กำหนดวิธีการรายงานผู้รับผิดชอบเพื่อช่วยเหลือควบคุมสถานการณ์ เมื่อเกิดเหตุการณ์อันไม่คาดฝันหรือเหตุการณ์ที่ส่งผลเสียต่อผู้ป่วยทั้งในเวลาราชการและนอกเวลาราชการ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการคุ้มครองอย่างทันท่วงที ผู้บริหารในโรงพยาบาลต้องกำหนดวิธีการตรวจเยี่ยมหอผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติการพยาบาลในเรื่องต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยมีหลักประกันว่าได้รับการดูแลและการปฏิบัติอย่างมีคุณภาพเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ยังต้องมีการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐาน (Quality Assurance) อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเกณฑ์ชี้วัดที่ชัดเจนและปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

ในการเฝ้าระวังนั้น การวิเคราะห์อุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นและหามาตรการป้องกันแก้ไข เป็นกลวิธีที่ดีประการหนึ่งของเทคนิคการเฝ้าระวังเพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย โดยศึกษาจากกรณีหรือเหตุการณ์ที่อาจเกิดอันตรายหรือเคยเกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยมาแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีสาเหตุจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของบุคลากรในทีมสุขภาพระดับต่างๆ การเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการเฝ้าระวังแบบต่อเนื่อง (Continuous surveillance) เป็นการเก็บข้อมูลหมุนเวียนไปตามหอผู้ป่วยหรือหน่วยงานต่างๆ อย่างไม่เฉพาะเจาะจง ติดตามเป็นระยะๆ เพื่อเป็นการตรวจสอบการปฏิบัติงานของบุคลากรในทีมสุขภาพและเป็นการกระตุ้นเตือนบุคลากรทุกคนให้ปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงสิทธิของผู้มารับบริการ นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ จัดลำดับความถี่ของปัญหาที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของสถานการณ์ที่พบบ่อยจากมากไปหาน้อยตามลำดับ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาซึ่งปัญหาที่พบบ่อยย่อมแสดงถึง ความต้องการอย่างรีบด่วนในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ควรจะให้ความสำคัญและมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการเฝ้าระวังแบบเฉพาะที่เป็นปัญหา (Targeted surveillance) คือ เก็บข้อมูลซ้ำ เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหา ในหอผู้ป่วยหรือหน่วยงานเป็นเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อดูความถี่ของปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำและนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุ กำหนดวิธีการแก้ไข นำไปทดลองปฏิบัติและประเมินผลซ้ำโดยเก็บข้อมูลความถี่ของปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่หลังดำเนินการแก้ไขตามที่กำหนด ทำอย่างต่อเนื่องทุก 3-6 เดือน นอกจากนี้ก็ตรวจสอบว่าเทคนิคการเฝ้าระวังได้ปฏิบัติครอบคลุมทุกด้านแล้ว ก็สามารถทำได้โดยการสำรวจความพึงพอใจในการให้บริการจากผู้มารับบริการ (Costomer satisfaction) เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ร่วมกันปรับปรุงคุณภาพการบริการให้สอดคล้องกับความต้องการและความพึงพอใจของผู้มารับบริการ

เทคนิคการเฝ้าระวังในการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพยาบาลวิชาชีพและสามารถส่งเสริมให้เกิดขึ้นได้ เพื่อพัฒนามาตรฐานวิชาชีพให้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นที่พึ่งของผู้มารับบริการและเพื่อนร่วมวิชาชีพในทีมสุขภาพได้ตลอดไป

บทส่งท้าย

บทบาทพยาบาลที่สำคัญในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพคือ การเป็นผู้พิทักษ์สิทธิของผู้ป่วย พยาบาลถือว่าเป็นบุคลากรในทีมสุขภาพที่ต้องปฏิบัติงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยตลอดเวลา จึงมีหน้าที่ประเมินความต้องการและประสานความต้องการของผู้ป่วยกับบุคลากรอื่นๆ ในทีมสุขภาพ ให้ข้อมูลสนับสุนุนผู้ป่วยให้มีการแสดงออกในขอบเขตของสิทธิ เสริมสร้างพลังอำนาจให้ผู้ป่วยสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของตน บทบาทหน้าที่ดังกล่าวนอกจากจะเป็นการรักษาศักดิ์ศรีและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพไว้ได้แล้ว ยังทำให้สังคมเชื่อมั่นและเห็นคุณค่าการปฏิบัติงานของพยาบาลที่ส่งเสริมความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ป่วยและผู้ให้บริการด้านสุขภาพ

อ้างอิง :

สุกัญญา ประจุศิลป์. การพิทักษ์สิทธิผู้ป่วย:บทบาทพยาบาลวิชาชีพ.พิมพ์ ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2548.

หลักฐานที่ต้องเตรียมเพื่อที่จะฟ้องเอาความผิดกับคนที่เอาประวัติคนป่วยที่รักษามาเปิดเผยต้องเตรียมอะไรบ้างครับ แล้วต้องไปฟ้องกับหน่วยงานไหนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท