ก่อนอาทิตย์อัสดง


เราทุกคนทำงานด้วยความเอาใจใส่ ไม่ได้หวังเพื่อให้ได้ “รางวัล” ผลลัพท์ที่ออกมานอกเหนือจากตัวเลขชี้วัด การให้บริการด้วยหัวใจ ใส่ใจเอื้ออาทรต่อผู้รับบริการต่างหาก คือ การพัฒนาคุณภาพอย่างแท้จริง และ ยั่งยืน.

                                   ก่อนอาทิตย์อัสดง

                                                                          ศิริพร โทลา

                                                                  พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ

                                                                 โรงพยาบาลแม่พริก จ.ลำปาง

     ภาพของหญิงวัยชรา ใบหน้าซูบผอมจนมองเห็นโครงกระดูกอย่างชัดเจนที่นอนลืมตาเลื่อนลอยอยู่บนเตียงผู้ป่วยหมายเลข 6 เพียงเดียวดาย ไม่มีลูกๆหลานๆคอยดูแลห้อมล้อมเหมือนอย่างเช่นผู้ป่วยรายอื่นๆ ยังคงติดอยู่ในความทรงจำของพวกเราในแผนกมาจนถึงวันนี้ นึกถึงขึ้นมาทีไรทำให้นึกสะท้อนอยู่ในอก ในยามเจ็บป่วยเช่นนี้คุณยายจะรู้สึกเหงาและอ้างว้างเพียงใดหนอ ที่ต้องถูกทิ้งให้เผชิญชะตากรรมอย่างโดดเดี่ยวเพียงลำพัง……ดูเถอะชีวิต

 “ยายเป็ง เป็นไงบ้างคะ เหนื่อยไหมคะ”

ฉันเดินไปที่เตียงพลางจับมือซ้ายของยายเบาๆ ยายเป็งไม่ตอบแต่ลืมตาจ้องมองฉันคล้ายๆต้องการจะบอกอะไรบางอย่างฉันบอกให้ยายจับมือตอบ ยายทำได้แต่แรงจับนั้นไม่มีแรงเอาเสียเลย

     ยายเป็งเข้ามาอยู่ในการดูแลของพวกเราในเวรบ่ายของวันหนึ่ง หลังได้รับการประสานงานจากโรงพยาบาลลำปางส่งต่อผู้ป่วยกลับมาเพื่อให้ยาปฏิชีวนะต่อ ครั้งแรกที่รับเข้ามายายรู้สึกตัว แต่ไม่พูด ขยับตัวไปมาได้บ้างแต่มีแขนขาซีกขวาอ่อนแรง ที่รูจมูกมีสายสำหรับให้อาหารทางสายยางและสายอ็อกซิเจนคาอยู่ ด้านข้างมีสายต่อกับสายสวนปัสสาวะตามสายมีปัสสาวะสีเหลืองเข้มกำลังไหลลงถุงข้างเตียง บริเวณก้นกบมีผลกดทับระดับ1 ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง5 ซม. และ1 ซม.จำนวน2แผลเราจึงปูที่นอนลมให้ ยายเป็งมีโรคประจำตัวอยู่หลายโรคทั้งโรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซ้ำยังเคยใส่ท่อช่วยหายใจและส่งต่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลลำปางก่อนที่จะมา Admit ที่เราประมาณ 2 ครั้งจากปัญหา Strok และการสำลักอาหาร

     ยายเป็งหย่าร้างกับสามีคนแรกซึ่งมีบุตรชายด้วยกันหนึ่งคน อยู่ต่างจังหวัดไม่ได้มาดูแล ส่วนสามีคนที่สองเสียชีวิตแล้วด้วยโรคพิษสุราเรื้อรังเมื่อหลายปีก่อน มีบุตรชายอีก 2 คน คนโตแต่งงานและย้ายครอบครัวไปอยู่ต่างอำเภอ ไม่ได้มาดูแลเช่นกัน ส่วนบุตรชายคนเล็กชื่อ นายแดง แต่งงานและแยกทางกับภรรยา มีบุตรสาว 1 คน คือน้องแว้น ต่อมาแต่งงานมีครอบครัวใหม่ นายแดงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการหารายได้มาจุนเจือครอบครัว และส่งเสียบุตรให้เรียนหนังสือ โดยมีรายได้จากการค้าขายอยู่ต่างจังหวัด นานๆจะกลับบ้าน ปัจจุบันยายเป็งจึงอาศัยอยู่กับน้องแว้นหลานสาวเพียงสองคน

     ช่วงแรกๆที่มานอนโรงพยาบาล มีเพียงน้องแว้นที่มาดูแลยาย เราจึงเห็นข้างๆเตียงมีเด็กสาววัยประมาณย่างวัยรุ่น สวมเสื้อผ้าเก่าๆ ยืน feed อาหาร คอยดูแลพลิกตะแคงตัว ทำกายภาพบำบัด เช็ดอุจจาระ และเช็ดตัวให้ยาย เป็นภาพที่ทุกคนเห็นแล้วรู้สึกประทับใจ และนึกสงสาร จนน้องๆที่แผนกพากันเรียกน้องแว้นว่า “วัลลี” ต่างอยากจะช่วยเหลือเด็กคนนี้เท่าที่จะสามารถทำได้ นอกเหนือไปจากการสอน ให้คำแนะนำ และฝึกทักษะในการดูแลที่ถูกต้องให้แล้ว จากนั้นของฝากทั้งเสื้อผ้า และเงินเล็กๆน้อยๆจึงทยอยมอบให้กับน้องวัลลี

     บางทีเราก็วุ่นวายอยู่กับตัวเอง จนไม่มีเวลาเหลียวมองคนรอบด้านเลย บางทีเราท้อแท้กับชีวิต ในขณะที่บางคนมีปัญหาหนักกว่าเราหลายเท่าก็ยังสู้ไม่ถอย บางทีเรามัวแต่ทุกข์ที่ไม่สมหวังในสิ่งที่อยากได้ แต่เราไม่คิดว่าถ้าเราสามารถได้ให้คนอื่นบ้างจะมี “ความสุข” แค่ไหน และเมื่อโรงเรียนเปิดเทอม น้องแว้นจึงไม่สามารถที่จะมาดูแลยายได้อย่างเต็มที่ จึงใช้เวลาตอนเย็นหลังเลิกเรียนแล้วมาดูแลยาย จากนั้นจึงกลับไปนอนที่บ้านเนื่องจากต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปเรียนหนังสือ

     วันแล้ววันเล่าที่พวกเราได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเพื่อให้การดูแลยายเป็งในทุกๆด้านจนอาการดีขึ้น โดยเสริมมิติด้านจิตใจในการทำงานเข้าไปในทุกกระบวนการดูแล ร่วมกันวางแผนกับทีมสหวิชาชีพ โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ บรรเทาความทุกข์ทรมานทางกายและใจเพื่อช่วยให้คุณภาพชีวิตของยายดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมถึงการเสริมสร้างกำลังใจให้กับน้องแว้นผู้ดูแลให้สามารถเผชิญกับความเครียดสะสมจากการที่ต้องวนเวียนเฝ้าไข้และดูแลยายที่ต้องนอนโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานานอีกด้วย

     เราทุกคนตระหนักดีว่าผู้ป่วยทุกคนย่อมต้องการกำลังใจและอยากอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลที่รักและผูกพันกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุซึ่งปกติเป็นคนที่ต้องพึ่งพาคนอื่น กำลังใจที่ดีที่สุดคงมาจากคนในครอบครัวและลูกหลาน เราจึงเพียรพยายามติดต่อบุตรชายทั้ง 3 คนของยายให้มาเยี่ยมและได้มีส่วนร่วมในการดูแล วางแผน ตัดสินใจ หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆภายใต้ขีดจำกัดต่างๆ หลายๆครั้งที่การติดต่อล้มเหลว เราแอบนึกกังวลอยู่ไม่น้อยลูกๆอาจจะไม่มาเยี่ยม แต่เราก็ไม่ละความพยายาม ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ บุตรชายทั้ง 3 คนมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา และอยู่ช่วยดูแลยายเป็ง พวกเราสังเกตเห็นว่ามีน้ำใสๆคลออยู่บริเวณหัวตาทั้งสองข้างของยาย เห็นแววตาที่บ่งบอกถึงความสุขใจ เรารู้สึกอิ่มเอมใจอย่างบอกไม่ถูก เหมือนทุกๆครั้งที่เราได้ช่วยแก้ปัญหาให้คนอื่น ถึงแม้นจะเหน็ดเหนื่อย แต่ความเหน็ดเหนื่อยก็จะหายไปเป็นปลิดทิ้งเมื่อได้เห็นภาพที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า

     พวกเราร่วมกันวางแผนในการดูแลยายเป็งอีกครั้ง โดยประสานความร่วมมือจากทีมเยี่ยมบ้าน ภาคีเครือข่าย และ PCU ใกล้บ้าน ครั้งนี้เรามีบุตรชายของยายเข้าร่วมด้วย นายแดงบอกว่าสามารถดูแลยายได้ เช่นการทำแผล การ feed อาหาร การดูแลสายสวนปัสสาวะ และการทำกายภาพบำบัดเนื่องจากได้รับการสอนและฝึกทักษะมาแล้วจากโรงพยาบาลลำปาง โดยได้ถ่ายทอดน้องกับน้องแว้นบุตรสาวซึ่งก็สามารถทำได้ดี ในขณะที่ตนเองต้องไปทำงานต่างจังหวัดจะจัดจ้างผู้ดูแลมาช่วยน้องแว้นอีกแรงหนึ่งด้วย เจ้าหน้าที่เทศบาลรับเป็นธุระช่วยนำยายไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าทีPCU จะติดตามเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านพร้อมส่งข้อมูลย้อนกลับให้ทางโรงพยาบาลเป็นระยะๆตลอดทั้งให้ยืมอุปกรณ์ทางการแพทย์และถังอ็อกซิเจนไปใช้ที่บ้านด้วย ส่วนเพื่อนบ้านใกล้เคียงจะช่วยเป็นหูเป็นตาและช่วยดูแลในเรื่องทั่วๆไปได้ แต่ครั้งนี้ยังไม่พร้อมบุตรชายจึงขอให้ยายนอนต่อที่โรงพยาบาลอีกสักระยะหนึ่งเพื่อเตรียมความพร้อมที่บ้านให้เรียบร้อยเสียก่อน

     บ้านของยายเป็งอยู่ห่างจากโรงพยาบาล   10    กิโลเมตร เป็นบ้านพระราชทานก่อสร้างของเทศบาลแม่ปุ สภาพบ้านเป็นบ้านปูนชั้นเดียว ด้านหลังอยู่ติดกับแม่น้ำวัง  เมื่อเปิดเข้าไปภายในตัวบ้านมีข้าวของวางอยู่ระเกะระกา ไม่เป็นระเบียบ ที่พื้นมีฝุ่นหนา ห้องครัวห้องน้ำค่อนข้างสกปรกเนื่องจากขาดการดูแลและทำความสะอาด จึงได้ให้คำแนะนำจัดสภาพแวดล้อมและจัดพื้นที่ในบ้านใหม่เพื่อให้เหมาะสำหรับการพักฟื้นของยาย โดยโรงพยาบาลให้ยืมเตียงผู้ป่วยไปใช้ที่บ้านเพื่อความสะดวกในการดูแล

     “ยายเป็ง เหนื่อยไหมคะ” น้องพยาบาลเวรถามยายขณะกำลังให้การพยาบาลอยู่

     “บ่อหนิ”  น้องแปลกใจกับเสียงที่ได้ยิน ชงักนิดนึง ไม่เชื่อหูตัวเองก่อนจะตั้งคำถามใหม่อีกครั้ง

     “ยายเป็ง หิวข้าวไหมคะ” น้องนิ่ง….เงี่ยหูฟังคำตอบ

     “หิวอยู่”  ยายเป็งตอบ ขณะ feed อาหารน้องก็คุยกับยายไปเรื่อยๆพร้อมให้กำลังใจ

 “ ยายเป็งต้องสู้ๆนะ ตอนนี้ดีขึ้นมากแล้ว เดี๋ยวก็จะได้กลับบ้านแล้ว ยายต้องสู้นะโอเคมั๊ย”ยายเป็งพยักหน้ารับช้าๆ น้องชูนิ้วชี้กับนิ้วกลางสองนิ้วขึ้นมาและบอกให้ยายเป็งทำตาม ในวินาทีที่ยายเป็งพยายามทำมือตาม มันเป็นความรู้สึกที่อธิบายไม่ถูก น้องรีบกลับมาเล่าให้พี่ๆฟังด้วยความตื่นเต้นและหัวใจที่พองโต ผลลัพท์ที่ออกมาในครั้งนี้เป็นสิ่งที่พวกเราไม่ได้คาดหมาย แต่รับรู้ได้ด้วยใจตนเองว่าเป็นผลลัพท์ที่ได้จากการทำงาน นั่นคือ จิตใจของตนเองที่อ่อนโยนขึ้น เราไม่เพียงแต่ได้ช่วยคนอื่น เรายังได้พัฒนาตนเองไปในคราวเดียวกันอีกด้วย

    แพทย์อนุญาตให้ยายเป็งกลับไปอยู่ที่บ้านได้เนื่องจากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ญาติสามารถดูแลผู้ป่วยได้ หลังกลับไปอยู่ที่บ้านพักหนึ่ง ยายถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอีกครั้งเนื่องจากดึงสายยางให้อาหารหลุด สำลักอาหาร และมีอาการซึมลง แพทย์จึงต้องใส่ท่อหายใจและส่งไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลลำปาง

     อีกครั้งที่ยายได้กลับมาอยู่ในความดูแลของพวกเรา ครั้งนี้ยายดูซูบลงมากและมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยมากขึ้นเนื่องจากมีการติดเชื้อที่ปอดจากการสำลักอาหาร  ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง  แผลกดทับมีบริเวณกว้างและลึกเพิ่มขึ้น เราประเมินปัญหาและวางแผนให้การดูแลตั้งแต่แรกรับ ที่สำคัญคือ เปิดโอกาสให้ลูกหลานได้มีส่วนร่วมในการดูแลมากที่สุด

     โรงพยาบาลจัดทำบุญตักบาตร ญาติผู้ป่วยหลายคนที่เข้าร่วมบอกกับเราว่า“มานอนเฝ้ากันเฉยๆไม่ได้ช่วยอะไร เผื่อผลบุญกุศลจะได้ช่วยญาติของตนให้หายเร็วขึ้น” จริงสิ…ถ้าผู้ป่วยได้ทำบุญด้วยตัวเองล่ะ? นอนเตียงตักบาตรจึงได้เกิดขึ้นครั้งแรกเป็นการตักบาตรข้างเตียงโดยนิมนต์พระมาบิณฑบาตและให้กำลังใจผู้ป่วยที่เตียง ยายเป็งได้มีโอกาสทำบุญในครั้งนี้เช่นกัน แม้ร่างกายจะอ่อนล้าเต็มทน ไม่มีเรี่ยวแรงพี่หัวหน้าตึกผู้ใจดีจึงช่วยประคองมือยายค่อยๆยกของขึ้นใส่บาตร ยายมีรอยยิ้มน้อยๆที่มุมปาก พี่หัวหน้าตึกยังคงกุมมือยายไว้เบาๆ สุขใจที่ได้ทำให้ยายสุขใจได้เช่นกัน

     อาการของยายเป็งยังคงทรงๆทรุดๆ บุตรชายจึงขออนุญาตพายายเป็งกลับบ้าน พร้อมกับไม่ลืมกล่าวคำ “ขอบคุณ” พวกเราที่ได้ช่วยดูแลยายอย่างดีมาโดยตลอด ทีมเยี่ยมบ้านและเจ้าหน้าที่PCU ที่ไปเยี่ยมบ้านยายส่งข่าวกลับมาบอกเราเป็นระยะ ในช่วงเวลาก่อนตะวันจะลับขอบฟ้าของยายเป็งใกล้เข้ามาแล้ว สิ่งที่พวกเราหวังอยู่ในใจเงียบๆคือ ขอให้ยายจากไปอย่างสงบ ครั้งสุดท้ายที่เราทราบข่าว เจ้าหน้าที่PCU เล่าให้ฟังว่า ขณะกำลังง่วนทำงานอยู่ในห้อง น้องแว้นวิ่งกระหืดกระหอบเข้ามาพร้อมเสียงพูดอย่างเร่งรีบเจือด้วยความวิตกกังวล ขอให้ไปดูยายเป็งที่บ้าน จึงละมือจากงานที่ทำอยู่เพื่อรีบไปยังบ้านของยายทันที ภายในบ้านยายยังนอนอยู่ที่เดิม ดูเหมือนอาการของยายจะทรุดหนักลงทุกที ด้วยโรคที่รุมเร้าคุกคามชีวิตมากมายจนไม่อาจยื้อมัจจุราชได้ ในที่สุดยายเป็งก็เสียชีวตลงในบ้านของแกนั่นเอง พิธีศพถูกจัดขึ้นอย่างเรียบง่าย เจ้าหน้าที่PCU รับปากว่าจะไปเยี่ยมบ้านเพื่อติดตามดูแลครอบครัวนี้ต่อไป

     “เราอาจช่วยชีวิตผู้ป่วยไม่ได้

      เราอาจบรรเทาความทุกข์ทรมานของเขาไม่ได้

      แต่เราพยายามทำอย่างเต็มที่แล้ว ด้วยเจตนาบริสุทธิ์เท่าที่จะทำได้

      ไม่ว่าอะไรที่เราทำ ถึงแม้จะไม่ประสบผลอย่างถึงที่สุด

      หากวันหนึ่งเมื่อมองย้อนกลับมา

      อยากจะให้มั่นใจว่า ณ วันนี้ทุกอย่างถูกตัดสินใจอย่างดีที่สุดแล้ว

      ภายใต้ขีดจำกัดต่างๆที่เรามีและเราเป็น”

พวกเราทุกคนทำงานด้วยความเอาใจใส่ ไม่ได้หวังเพื่อให้ได้ “รางวัล” ผู้ป่วยรอดชีวิตกลับบ้านโดยปกติสุข คือ “ค่าตอบแทน” คือรางวัลการทำงานของพวกเรา ผลลัพท์ที่ออกมานอกเหนือจากตัวเลขชี้วัด การให้บริการด้วยหัวใจ ใส่ใจเอื้ออาทรต่อผู้รับบริการต่างหาก คือ การพัฒนาคุณภาพอย่างแท้จริง และ ยั่งยืน.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #palliative care
หมายเลขบันทึก: 470613เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2011 20:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาอ่านหลักวิชาพยาบาลครับผม


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท