เรื่องเล่าจากน้ำท่วม ตอน ความทุกข์กับความสุข


วิกฤติ ต้องเป็นโอกาส หายนะต้องนำไปสู่การพัฒนา” บทเรียนอะไรบ้างที่ทุกคนควรได้รับจากการสูญเสีย

ความทุกข์กับความสุข  

          หลายคนอาจจะเชื่อว่าความระทมทุกข์ เป็นคู่ตรงข้ามของความสนุกสนาน ทั้งยังเหมาเอาว่าความสนุกสนานคือความสุขที่แท้จริงที่จะช่วยผ่อนคลายความทุกข์ได้  ด้วยสมมติฐานเช่นนี้เราจึงได้เห็นภาพการโถมทับของความบันเทิงแทบทุกประเภทในศูนย์พักพิงแทบทุกแห่ง ทั้งการปรากฏกายแบบ “ตัวเป็นๆ” ของดารา นักร้อง นักแสดง ทั้งลิเก ดนตรีและภาพยนตร์

         ยิ่งจัดเป็นงานใหญ่ได้ยิ่งดี  ยิ่งเสียงอึกทึกและโฉ่งฉ่างมาก ยิ่งได้บุญ ... ทุกคนจึงพากันจัดหนัก จัดเต็ม!!

         จริงอยู่ที่ว่างานประเภทนี้ มักเข้าถึงและตรึงคนได้จำนวนหนึ่ง  หากก็ไม่ใช่ทั้งหมด จากการจัดเวทีร่วมกับทีมข่าวของณาตยา แวววีรคุปต์ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วม การพูดคุยกับผู้พักพิง ทำให้เราทราบว่า

         พวกเขาต้องการความเงียบ ความสงบ หลายคนกำลังทบทวนถึงสิ่งที่ผ่านมาและวางแผนเตรียมการกับอนาคตอันใกล้  ความฉาบฉวยของกิจกรรมบันเทิงไม่อาจเยียวยาหัวใจที่บอบช้ำ และไม่อาจตอบสนองได้ถึงข้อมูลข่าวสารที่ต้องการ 

         ศูนย์พักพิงของมหาวิทยาลัย มีคนหลากหลายทั้งเพศ วัย ประสบการณ์ ความต้องการและความสนใจ เราตั้งใจที่จะตอบสนองให้ได้กับความเป็นจริงที่แตกต่าง กิจกรรมสร้างสรรค์จึงเกิดขึ้นมากมายสลับสับช่วงกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่คิดไว้ พวกเขาจักต้องได้เรียนรู้สัจธรรมบางประการจากวิกฤติ 

         “วิกฤติ ต้องเป็นโอกาส หายนะต้องนำไปสู่การพัฒนาบทเรียนอะไรบ้างที่ทุกคนควรได้รับจากการสูญเสีย

         ประการแรก ทำอย่างไรให้ใจสงบนิ่ง  ทำอย่างไรจึงเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึง ... ตถตา...มันเป็นเช่นนั้นเอง... ทำอย่างไรจึงพร้อมรับวันใหม่อย่างไม่ทุกข์

         นึกถึงคำของท่านพุทธทาส  ถ้าเพียงแต่จะรู้ว่า “อะไรเป็นอะไร” เราก็จะไม่เป็นอะไร  แต่เพราะว่าคนทั่วไปไม่เคยจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรต่างหาก ชีวิตนี้จึงต้องแบกทุกข์ไว้มากมาย ไม่รู้ว่าอะไรต่ออะไร

         ท่านพุทธทาสย้ำด้วยว่า ถ้ารู้สิ่งทั้งปวงแบบถูกต้อง เราก็จะปฏิบัติต่อสิ่งทั้งปวงทั้งกาย วาจาและใจได้ถูกต้อง อันนี้มันจะเป็นไปเอง ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องกำหนดกดดัน  สำคัญอยู่แต่ว่าเรามักจะเข้าใจสิ่งทั้งปวงแบบไม่ถูกต้อง จึงไปลุ่มหลง ติดยึด และมัวเมา  การมาอยู่รวมกันในศูนย์พักพิงนับเป็นโอกาสหนึ่งของการชำระจิตและเรียนรู้กับความจริงที่ว่า “อะไรเป็นอะไร”  แต่คนส่วนหนึ่งที่อยู่ในกระแสโลกกลับไม่คิดฉกฉวยโอกาสนี้  หาไม่ก็เข้าใจเอาเองว่า รู้แล้ว ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้ อะไรคืออะไร

         เรื่องของสุขกับทุกข์นี้ มีภาพหนึ่งที่ตรึงตราอยู่ในใจ วันนั้นเป็นวันที่เหตุการณ์ในศูนย์พักพิงล่วงไปแล้วสามสัปดาห์ ได้โอกาสที่พระเทพปริยัติวิมลและพระครูปรีชาธรรมวิธาน เดินทางมาเยี่ยมและให้กำลังใจ “ศิษย์เก่า” ที่อพยพมาจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศาลายา   ผู้คนมากหน้ามานั่งรอพบที่โถงชั้นล่าง ท่านก็เมตตาเล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ภายหลังการลี้ภัย พร้อมตอบทุกคำถาม  

         ไม่เว้นแม้แต่คำถามของคุณยาย...  เจ้าของแมวสิบเก้าตัว   ที่ต้องพลัดพรากจากกันระหว่างการขนย้าย เธอเฝ้าถามถึงความเป็นอยู่ของแมวทุกตัวที่เหลือ

         ส่วนผู้ที่ไม่สะดวกเดินลงมา ท่านก็ตามไปเยี่ยมยังโถงชั้นสองซึ่งจัดเป็นที่พัก สองสามีภรรยาคู่หนึ่งเมื่อกราบเสร็จ เงยหน้าขึ้นทั้งน้ำตา    เมื่อท่านยื่นมือไปออกไปลูบศีรษะ   ฝ่ายชายก็ยิ่งร่ำสะอื้น ความทุกข์ในใจนั่นแล้ว ได้ถูกรินไหลออกมา กระแสความสุขแผ่ซ่าน แม้ในความรู้สึกของผู้พบเห็น

         ...นี่กระมังที่เขาเรียกว่า มีพระมาโปรด..   

         ประการที่สองของการพลิกวิกฤติ อยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะป้องกันภัยพิบัติแบบนี้ได้  ครั้งนี้อาจฉุกละหุกเกินไป แต่ประวัติศาสตร์จะต้องไม่ซ้ำรอย นั่นหมายความว่า  ผู้ที่อยู่ในชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน น่าจะต้องได้พูดคุยกัน ร่วมกันวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งแผนระดับชุมชนและครอบครัว จากคนกลุ่มเล็กๆ หลายๆ กลุ่มอาจรวมตัวกันทำงานเป็นเครือข่าย ช่วยกันพลิกฟื้นจากผู้ประสบภัยที่ต้อง “ลอยคอ” และ “รอคอย” การช่วยเหลือ  มาเป็นผู้ประสบภัยที่สามารถจัดการวิถีชีวิตตนเองและชุมชนได้

         ประการที่สาม  เมื่อภาวะน้ำท่วมเป็นเรื่องของธรรมชาติ เราจะให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อะไรบ้างกับการอยู่กับน้ำอย่างมีความสุขและปลอดภัย เช่น เด็กๆ ต้องว่ายน้ำเป็น ช่วยตัวเองและช่วยคนอื่นได้, ทุกคนควรจะต้องพายเรือเป็น,  ปลูกผักเป็นอาหารท่ามกลางสายน้ำได้, ภูมิปัญญาใกล้ตัวหรือสมุนไพรใกล้บ้านต้องรู้จักใช้ เป็นต้น

         เผื่อว่าปีหน้าฟ้าใหม่ น้องน้ำมาเยือนอีก เราก็จะยิ้มรับได้อย่างไม่ทุกข์ร้อนนัก

หมายเลขบันทึก: 470425เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2011 09:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 20:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท