ลำดับและชนิดของเฟรมในบทเรียนโปรแกรม


ลำดับและชนิดของเฟรมในบทเรียนโปรแกรม

 

 

 

         ลำดับและชนิดของเฟรมในบทเรียนโปรแกรม

         ในการเขียนบทเรียนโปรแกรมนั้น เฟรมชนิดต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นบทเรียนโปรแกรม  จะแบ่งได้เป็น 4 ชนิด ดังนี้

          1. เฟรมตั้งต้น (Set Frame) ลักษณะของเฟรมตั้งต้นนี้จะเป็นเฟรมที่ให้ข้อมูลข้อสนเทศกับผู้เรียน หรือเป็นเฟรมที่ปูพื้นฐานให้กับผู้เรียน กิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้ร่วมในการเรียนการสอนสำหรับเฟรมชนิดนี้อาจเป็นความรู้ที่มีในเฟรมที่ผู้เรียนสามารถจะดึงมาตอบได้ในตัวมันเอง เช่น “ราก คือ ส่วนของพืชที่ส่วนใหญ่แล้วจะงอกหรือเจริญเติบโตลงไปในดินหรือแทงลงสู่ดิน เพื่อทำหน้าที่ดูดอาหารและยึดลำต้น ถ้ามีใครถามนักเรียนว่ารากคืออะไร นักเรียนก็น่าจะตอบได้ว่า ราก คือ ………………….” จากลักษณะของเฟรมตั้งต้นนี้จะเห็นได้ว่าความรู้ที่ผู้เรียนจะนำมาใช้ตอบคำถามเป็นความรู้ที่ผู้เรียนนำมาจากเฟรมตั้งต้นนั่นเองหรือเป็นเฟรมที่ให้ผู้เรียนนำไปใช้ตอบโดยตรง

           2. เฟรมฝึกหัด (Practice Frame) เป็นเฟรมให้ผู้เรียนได้นำความรู้จากเฟรมที่ผ่านมาใช้ตอบปัญหา เป็นเฟรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกหัด สิ่งสำคัญสำหรับเฟรมฝึกหัด คือ ผู้เขียนบทเรียนโปรแกรมจะต้องระลึกเสมอว่าจะต้องให้นักเรียนฝึกหัดเฉพาะความรู้ที่ได้รับมาในเฟรมตั้งต้นเท่านั้น ไม่ถามสิ่งอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องหรือที่ไม่ได้สอนมาในเฟรมต้นๆ ที่ผ่านมาแล้ว หรือถามเฉพาะสิ่งที่บทเรียนแบบโปรแกรมสอนเท่านั้น เช่น ในเฟรมตั้งต้นพูดถึงระบบของรากว่ามี 2 ระบบ คือ ระบบรากสามัญ กับระบบรากวิสามัญ ในเฟรมฝึกหัดอาจจะเขียนถามโดยไม่มีข้อสนเทศใดๆ ก็ได้ เช่น “นักเรียนได้ศึกษาเรื่องรากมาจนเป็นที่เข้าใจแล้ว นักเรียนลองตอบซิว่า รากมีกี่ระบบอะไรบ้าง? รากมี ………..ระบบ คือ …………... …………………………………”

           3. เฟรมรองสุดท้าย (Sub Terminal Frame) การเขียนเฟรมรองสุดท้ายก็เพื่อให้ข้อสนเทศเพิ่มเติม ให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะหรือแนวทางและความรู้ที่จำเป็นเพื่อผู้เรียนจะได้นำไปใช้ในเฟรมสุดท้าย หรือเป็นเฟรมสรุปข้อความที่ผู้เรียนสามารถจะนำไปใช้ในเฟรมสุดท้ายได้แน่ “นักเรียนทราบแล้วว่า พืชชั้นสูงมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ ราก ลำต้น ใบ ดอก ผลและ เมล็ด และระบบของรากเราแบ่งได้เป็น 2 ระบบ นักเรียนลองตอบซิว่าระบบของรากมี ระบบอะไรบ้าง? รากมี….2…..ระบบ คือ ……………………………..”

            4. เฟรมสุดท้าย (Terminal Frame) โดยปกติเฟรมต่างๆ ในบทเรียนโปรแกรมจะเรียงลำดับจากง่ายไปหายากหรือจากง่ายๆ ไปหาซับซ้อน เฟรมสุดท้ายของลำดับต่อเนื่องเราเรียกว่า เฟรมสุดท้าย หรือ Terminal Frame เป็นเฟรมที่กำหนดให้ผู้เรียนใช้ความรู้ที่เรียนมาแล้วในเฟรมต้นๆ ตัดสินใจตอบปัญหา หรือประกอบกิจกรรมที่กำหนดให้และเป็นเฟรมที่จะวัดว่าผู้เรียนได้ความคิดรวบยอดถูกต้องและเป็นไปตามจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ที่เราตั้งไว้หรือไม่ โดยไม่มีข้อสนเทศให้ไว้ในเฟรมเลย เช่น “ดังนั้นพืชชั้นสูงประกอบไปด้วยส่วนประกอบที่สำคัญ ดังนี้ คือ …………………………….”

           การจัดลำดับของเฟรมต่างๆ ในบทเรียนโปรแกรมที่เป็นรูปเล่ม (Programmed Text Book) ต้องเป็นไปตามลำดับและชนิดของกรอบ ความแตกต่างของบทเรียนโปรแกรมชนิดนี้ขึ้นอยู่กับการวางตำแหน่งของคำตอบและคำถามซึ่งอาจวางได้ในลักษณะดังนี้
           1. ให้คำตอบอยู่หน้าเดียวกัน แต่มีวิธีปิดบังคำตอบไว้ 

           2. ให้คำตอบอยู่หน้าถัดไป

           3. ให้คำตอบอยู่กลับกันในหน้าเดียวกัน คือ กลับทิศทางในการอ่าน 

           4. ให้คำตอบอยู่หน้าสุดท้ายของบท

           5. ให้คำตอบอยู่แยกกันคนละเล่ม

 

เอกสารอ้างอิง

วิเชียร  ชิวพิมาย. บทเรียนแบบโปรแกรม. ขอนแก่น : คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2544.

 

 

คำสำคัญ (Tags): #บทเรียนโปรแกรม
หมายเลขบันทึก: 470150เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2011 10:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 20:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท