บันทึกความดี ฅนน่านจัดการตนเอง ถวายพ่อหลวงแห่งแผ่นดิน


 “การเรียนรู้ของชุมชน” เป็นกระบวนการพัฒนาตนเองเพื่อความอยู่รอด และสร้างความสุขของคนในชุมชน โดยใช้ศรัทธา ความเชื่อ และวัฒนธรรม เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ มีความเป็นพี่เป็นน้อง ความเป็นเครือญาติ เป็นเพื่อน เป็นเสี่ยว มาช่วยพึ่งพิงอาศัยกัน ดูแลทุกข์สุขกัน

ด้วยเชื่อว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน ดังนั้นความเป็นชุมชนจึงไม่มีเขาไม่มีเรา กรอบวิธีคิดนี้เองจึงนำไปสู่ฐานคิดของการพัฒนาชุมชนฐานราก ที่เชื่อมั่นในศักยภาพของชุมชนและประชาคมฐานรากว่าจะสามารถยืนหยัดสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเองให้สามารถทัดทานกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาในชุมชนได้

บทเรียนการจัดการตนเองของปราชญ์ชาวบ้าน ครูชาวบ้าน ชุมชน ที่มิได้รอรัฐเท่านั้น หากแต่ลุกขึ้นมาจัดการตนเอง ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ พึ่งพากันและกันได้ และลดทานการรุกเข้ามาของอำนาจรัฐ อำนาจทุนได้ ตัวอย่างเช่น กลุ่มบ้านหลวงหวงป่า กลุ่มศิลาแลง กลุ่มขุนสมุนขุนสะเนียน กลุ่มอนุรักษ์วังปลาบ้านดอนแก้ว ที่คอยปกปักรักษาดูแลป่าและน้ำของตนเอง จากประกายไฟแห่งความหวังจากวิธีคิดของคนเล็กๆ เกิดการเกาะเกี่ยวกันเป็น “เครือข่าย” ดูแลผืนแผ่นดินถิ่นเกิด สร้างสำนึกดูแลป่า สายน้ำ วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของคนในชุมชนมาอย่างต่อเนื่องกว่า ๒ ทศวรรษ ภายใต้กระบวนการของคนเมืองน่านที่ชื่อว่า “ฮักเมืองน่าน” และเชื่อมร้อยเอาภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ทั้งรัฐ เอกชน ท้องถิ่น และประชาชน ในการที่จะผนึกกำลังกันดูแลเมืองน่านให้มีความเป็นอยู่ที่ดี นับเป็นก้าวกล้าของประชาชนที่มิดูดายต่อปัญหาของตนเองและปัญหาของสาธารณะ เกิดเป็นเครือข่ายคนเล็กคนน้อยอย่างหลากหลายที่ลุกขึ้นมาจัดการตนเอง เช่น เครือข่ายอนุรักษ์ป่าชุมชน, เครือข่ายอนุรักษ์วังปลา, เครือข่ายเกษตร, เครือข่ายออมทรัพย์และสวัสดิการภาคประชาชน, เครือข่ายป้องกันและแก้ไขยาเสพติด, เครือข่ายป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคเอดส์, เครือข่ายสื่อภาคประชาชน, เครือข่ายเยาวชน, เครือข่ายครอบครัวเข้มแข็ง ฯลฯ มี ปราชญ์ชาวบ้าน” “ครูชาวบ้าน” “ศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบ” หลากหลายพื้นที่ หลากหลายประเด็น ที่จะเป็นครูถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนอื่นๆ และคนรุ่นใหม่

กาดหมั่วคัวฮอม สินค้าจากหัวไร่ปลายนา

นอกจากนี้ยังมีกระบวนการของภาคประชาคมน่านที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานเพื่อนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขของคนในจังหวัดน่าน ผ่านกระบวนการต่างๆ อาทิเช่น จังหวัดบูรณาการ, สมัชชาสุขภาพคนน่าน, จังหวัดจัดการตนเอง, การปฎิรูปประเทศไทย, การจัดการภัยพิบัติ, การจัดการที่ดินและโฉนดชุมชน, การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, เด็ก เยาวชนและครอบครัวเรียนรู้, สมาคมศิลปินน่าน, การศึกษาทางเลือกในโรงเรียนขนาดเล็ก, การเกษตรยั่งยืนและความมั่นคงด้านอาหาร, การจัดสวัสดิการชุมชน, บ้านมั่นคง, การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์, งานบรูณาการข้อมูลและความรู้, และวิทยาลัยชุมชนน่าน เป็นต้น

รางวัลเีกียรติยศ

 

การจัดงาน “บันทึกความดี นน่านจัดการตนเอง ถวายพ่อหลวงแห่งแผ่นดิน” จึงเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะถักทอเอาเครือข่ายการเรียนรู้ และบทเรียนการทำงานที่ผ่านมาร่วมกัน ถวายความดีแด่ในหลวง ในวโรกาสครบรอบ ๘๔ พรรษา โดยกำหนดงานในวันจันทร์ที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ น. ณ ลานโพธิ์ ลานไทร วัดอรัญญาวาส ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน

วัตถุประสงค์  

๑.     เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติปราชญ์ชาวบ้าน ครูชาวบ้าน ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน และกลุ่ม/องค์กร/ชุมชนต้นแบบ

๒.     เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียนการทำงานภาคประชาสังคมน่านในการจัดการตนเองและ    การบูรณาการการทำงานร่วมกัน

๓.     เพื่อนำเสนอประเด็นนโยบายที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย

๔.     เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมผลงานองค์กรชุมชนสู่สาธารณะ และกลุ่มเด็กและเยาวชน 

๕.     เพื่อร่วมกันถวายความดีแด่พ่อหลวงของแผ่นดิน ในวโรกาสครบรอบ ๘๔ พรรษา

 

มีเครือข่ายภาคประชาชนที่เข้าร่วมจัดกิจกรรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างหลากหลาย ได้แก่ เครือข่ายป้องกันยาเสพติดภาคประชาชน , เครือข่ายการจัดสวัสดิการและองค์กรการเงิน, เครือข่ายเกษตร, เครือข่ายศูนย์เรียนรู้ชุมชน, เครือข่ายครอบครัวเข้มแข็ง, เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, เครือข่ายเด็กและเยาวชน, เครือข่ายสื่อภาคประชาชน, เครือข่ายบ้านมั่นคง, เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ, เครือข่ายพระสงฆ์, เครือข่ายเอดส์, เครือข่ายสิ่งแวดล้อมศึกษา, เครือข่ายบริการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการ, เครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กในจังหวัดน่าน, หน่วยงานภาครัฐในจังหวัดน่าน,หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดน่าน, สื่อมวลชน, เครือข่ายองค์กรภายนอกจังหวัด ได้แก่ มูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทยภาคเหนือตอนบน, เครือข่ายปปส.เชียงใหม่. กลุ่มศิลปินซอปี่ เชียงใหม่, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเชียงใหม่ โดยมีมูลนิธิกระจกเงา (Bannok.com) และวิทยุเยาวชนขยายความดี ตำบลถืมตอง ร่วมถ่ายทอดผ่านวิทยุชุมชนและ TV Internet ดูจากสายตาน่าจะอยู่ที่ ๕๐๐ คน

เบื้องหลังทีมสื่อถ่ายทอดเรื่องราวของงาน

 

กระบวนการเรียนรู้เริ่มคึกคักแต่เช้า เมื่อกลุ่มองค์กรเครือข่ายต่างๆ ทยอยนำเอาบูธนิทรรศการ ของเล่น ของดี ผลิตภัณฑ์ สินค้า ผลงานมาจัดวางตามจุด ตามมุมต่างๆ เด็กนักเรียนจากโรงเรียนขนาดเล็กเดินเข้าแถวมาส่งเสียงเจี้ยวจ้าว ดูสนุกสนาน และตื่นเต้นกันใหญ่ แกนนำเครือข่ายต่างๆ ก็ทยอยมาลงทะเบียนหน้างาน พร้อมรับใบโพธิ์คนละใบเพื่อที่จะนำไปเขียนปณิธานของตนเองที่จะทำความดีเพื่อถวายแด่ในหลวง  

บนเวทีก็มีน้องๆ เยาวชนบรรเลงสะล้อ ซอ ปิน ควบคุมวงโดย ดร.กิจชัย ส่องเนตร เป็นการบรรเลงเพลงพื้นบ้านเมืองน่านได้อย่างประทับใจผู้มาร่วมงานอย่างมาก ผู้เขียนก็ต้องสาละวนกับการทักทายบรรดาพี่น้องเครือข่ายต่างๆ หลายคนก็ไม่ได้เจอกันนาน มีผู้อาวุโสของฮักเมืองน่านหลายคน อาทิ พ่อปั๋น อินหลี กลุ่มบ้านหลวงหลวงป่า, พ่อสมาน ค่ายอาจ กลุ่มอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำบ้านดอนแก้ว, พ่อเสริม  ต๊ะแก้ว  กลุ่มอนุรักษ์ป่าศิลาแลง, พ่อสวน แปงไชย ครูชาวบ้านนักการเกษตรบนที่สูง และอีกหลายท่าน

พระครูพิทักษ์นันทคุณ และอาจารย์หมอบุญยงค์ วงศ์รักมิตร สองผู้เปี่ยมด้วยศรัทธา

 

อาจารย์หมอบุญยงค์  วงศ์รักมิตร ที่ปรึกษาประชาคม ก็มามีไม้เท้าคู่กายเดินดูตามซุ้มบูธต่างๆ ผมจึงอาสาพาอาจารย์เดินไปตามดูผลงานของเครือข่ายต่างๆ ไปเจอกลุ่มอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดลที่ได้มาลงประเมินโครงการปิดทองหลังพระที่น่าน และเราก็แวะไปกราบนมัสการท่านพระครูพิทักษ์นันทคุณ ผู้ก่อตั้งกลุ่มฮักเมืองน่าน บริเวณใต้ถุนกุฏิ สักพักอาจารย์หมอคณิต  ตันติศิริวิทย์ พร้อมกับภรรยาที่อยู่ช่วงฟื้นฟูสมรรถภาพ ก็ตามมาสบทบ ได้มีโอกาสคุยกันถึงงานที่คุณหมอกำลังผลักดันอยู่คือ “โรงเรียนพ่อแม่” อาจารย์อยากให้ผมเข้าไปช่วยคิดด้วย ผมตอบรับยินดี หากมีอะไรที่พอช่วยได้ แล้วผมก็พาอาจารย์หมอบุญยงค์ เดินไปตามบูธต่อ ไปดูกลุ่มหมอพื้นบ้านที่บริการย่ำขาอยู่ แล้วเลยไปยังซุ้มสะล้อซอปินที่บริเวณด้านหลังวัด มีน้องเปี๊ยกจากน้ำเกี๋ยนเล่นบรรเลงเพลงซออย่างสนุกสนานครื้นเครง อาจารย์หมอแวะถ่ายรูปด้วย

ย่ำขาง ศาสตร์ดูแลกันเองของชาวบ้าน

บรรเลงเพลงสะล้อซอปิน

เรื่องเล่าจากผู้เคยพิการ

 

หลังจากนั้นได้เดินย้อนกลับมา ไปดูบูธนิทรรศการการเรียนรู้ของเครือข่ายฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการของหน่วยบริการสาธารณสุขต่างๆ มีกลุ่มผู้พิการที่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพแล้วสามารถกลับมาช่วยเหลือตนเองได้ มาเล่าและสาธิตการฟื้นฟูร่างกายด้วยกายอุปกรณ์ที่สถานบริการสุขภาพได้มีการประดิษฐ์เอาอุปกรณ์ต่างๆ และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ เช่น จักรยาน เชือกชักรอก มีบีบมือ และอีกหลากหลาย อาจารย์หมอดูตื่นเต้นและมีความสุขที่ได้ฟังเรื่องเล่าพร้อมสาธิตของผู้พิการ และบุคลากรสาธารณสุขที่ได้ดูแล อาจารย์ชักชวนคุณหมอคณิตและภรรยามาฟังและดูวิธีการฟื้นฟูสมรรถภาพ พร้อมกับถ่ายรูปเป็นที่ระลึก

พระครูพิทักษ์นันทคุณ

ขณะที่บนเวทีกลางก็ได้เริ่มการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ภูมิปัญญาพื้นบ้าน : จากการจัดการตนเองสู่การปฏิรูปประเทศไทย” โดย  พระครูพิทักษ์นันทคุณ  ผู้ก่อตั้งกลุ่มฮักเมืองน่าน  ท่านพระครูได้เล่าถึงกระบวนการจัดตั้งตนเองของกลุ่มคนเล็กคนน้อยในพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัด ที่ต่อมาได้เชื่อมกันมาเป็นเครือข่ายฮักเมืองน่าน ขยายเครือข่ายและการจัดการต่างๆ ออกไป

 

นายพงษ์ศักดิ์  วังเสมอ  ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวเปิดงาน

หลังจากนั้น นายพงษ์ศักดิ์  วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ซึ่งกำลังมารับตำแหน่งในจังหวัดน่านเป็นวันแรกก็เดินทางมาถึงเพื่อเป็นประธานเปิดงาน ผู้เขียนและคุณสำรวย  ผัดผล ประธานมูลนิธิฮักเมืองน่าน ได้ออกไปต้อนรับ ท่านผู้ว่าถามว่างานนี้มีอะไรบ้าง แล้วตัวอย่างรูปธรรมของการจัดการตนเองมีอะไรบ้าง คุณสำรวยก็สาธยายถึงตัวอย่างการริเริ่มสร้างสรรค์ของกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ที่สามารถจัดการตนเองได้ในระดับพื้นที่ ขณะที่กำลังคุยกันอยู่นั้นก็มีสาวงามหุ่นบอบบางอรชรอ้อนแอ้นปรากฎกายขึ้นมา มีสายสะพายและมงกุฎด้วย ทำให้ทราบว่าเป็นรองนางสาวไทย ที่มาร่วมกิจกรรมและออกขอรับเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคกลาง เรียกว่าแทบจะแย่งซีนท่านผู้ว่าฯ คนใหม่ไปเลยครับงานนี้

แล้วพิธีเปิดเป็นทางการก็เริ่มขึ้น โดยมีคุณสำรวยได้กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน  และท่านผู้ว่าฯ ก็กล่าวเปิดงานอย่างเป็นกันเองและอบอุ่น หลังจากนั้นก็ท่านผู้ว่าฯ ก็ได้ให้เกียรติมอบเกียรติบัตรให้กับผู้รู้ กลุ่ม และชุมชนที่ได้ดำเนินการจัดการตนเองจนเป็นแบบอย่างให้กับเครือข่าย แล้วผู้เข้าร่วมงานทั้งหมดก็ได้ร่วมกันร้องเพลงพลังแผ่นดินเพื่อถวายความดีแด่ในหลวง ในวโรกาสครบรอบ ๘๔ พรรษา แล้วต่อด้วยการแสดงตีกลองสะบัดชัยของกลุ่มเยาวชนตำบลยม นำโดยคุณสำเริง กลุ่ม ฒ เมืองยม เป็นการแสดงศิลปะพื้นบ้านที่มีชีวิตชีวาและคึกคักมาก เสียดายเวลาเรามีน้อยจึงจำกัดเวลาในการแสดงแบบไม่เต็มรูปแบบ มิเช่นนั้นคงสนุกกว่านี้ไม่น้อย

มอบรางวัลคนดี

ร้องเพลงถวายพระพรในหลวง

 

         หลังจากนั้นท่านผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน พร้อมด้วยคุณนรินทร์  เหล่าอารยะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน คุณสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองน่าน ได้ออกเดินไปเยี่ยมชมตามบูธนิทรรศการต่างๆ

 

ส่วนเวทีกลาง ก็มีรายการเวทีชาวบ้าน “ข้อเสนอบทเรียนภาคประชาชนในการจัดการตนเองสู่การบูรณาการเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย” โดย ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาสังคมจากเครือข่ายปปส.ภาคประชาชน, เครือข่ายผู้พิการ, เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, เครือข่ายเด็กเยาวชนและครอบครัว, เครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก เข้าร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย คุณประพจน์ ภู่ทองคำ พิธีกรรายการเวทีชาวบ้าน มีประเด็นข้อเสนอจากเครือข่ายต่างๆ น่าสนใจมาก ช่วงท้ายอาจารย์หมอบุญยงค์ ได้กล่าวว่า “...ถ้าถามว่าเมืองน่านน่าอยู่ไหม ก็อยากบอกว่าผมมาอยู่เมืองน่านกว่าค่อนชีวิต...คนที่จะมาเมืองน่านก็อยากให้มาเพื่อช่วยอนุรักษ์เมืองน่านให้คงความน่าอยู่ไว้ อย่าได้มาทำลาย....สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุดคือนักการเมืองที่ไม่โกงกิน และทำลายบ้านเมือง....”

เนื่องจากเวลาการเสวนาล่วงเลยเที่ยงไปมาก ข้างล่างเวทีจึงได้นำข้าวห่อใบตองแบบพื้นบ้านโดยฝีมือของเครือข่ายแม่บ้านตำบลถืมตองที่ยกโรงครัวมาตรฐานอาหารปลอดภัยมาสาธิตให้เห็นกันจะจะว่าเดี๋ยวนี้การจัดงานเลี้ยงของชุมชนมีการจัดการเรื่องความสุกสะอาดปลอดภัย อาหารมื้อกลางวันนี้เป็นข้าวนึ่งกับน้ำพริกตาแดง หมูทอด น้ำพริกหน่อไม้ เป็นอาหารมื้อที่อร่อยมื้อหนึ่งครับ ที่ทานไปพร้อมกับฟังเรื่องราวบนเวที

 

หลากหลายกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้


พ่อปั๋น  อินหลี และผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน


หลังจากเวทีเสวนาจบลงก็เป็นรายการแสดงของเยาวชนจากกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ทั้งในชุมชน และสถานศึกษา กว่า ๑๐ รายการ ที่สร้างความประทับใจแก่ผู้เข้าร่วมงานยิ่งนัก หลังจากดูรายการแสดงได้สักสองสามรายการ อาจารย์หมอบุญยงค์ก็อยากไปดูบูธนิทรรศการการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการด้านบนศาลาการเปรียญ (เรื่องราวการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการขอยกยอดไปเขียนอีกตอนก็แล้วกันครับ)

          กระบวนการเรียนรู้เครือข่ายฮักเมืองน่านยังคงดำเนินต่อไปทั้งเวทีกลางของเครือข่ายผู้พิการ ตามซุ้มนิทรรศการ กาดหมั้วคัวฮอม และการบรรเลงเพลงซอประชันกันระหว่างคณะซอเมืองน่านกับเชียงใหม่ เป็นวงซอที่คึกคักมาก

การประชันสองสองศิลปินลุ่มน้ำน่าน และลุ่มน้ำปิง


          แล้วงานเลี้ยงก็มีการเลิกรา ที่เราประเมินกันเองว่า “เป็นสุข แม้จะมีจุดบกพร่องของงานบางอย่างที่ต้องปรับปรุงก็ตาม” หลังจากนี้ก็ไปลุยงานกันในพื้นที่ ขยายเรื่องราวดีดี พื้นที่ดีดีให้เติบใหญ่ออกไปให้กว้างขวาง 

............................................................

ขอบคุณทุกคน ทุกเครือข่าย ทุกองค์กรที่มีส่วนร่วมในการจัดงานสร้างการเรียนรู้ร่วมกันในครั้งนี้ 

ขอบคุณอาสาสมัครฮักเมืองน่านและน้องๆ เยาวชนที่เป็นมดงานสำคัญยิ่ง

หมายเลขบันทึก: 469950เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2011 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท