ไทยศึกษา


แนวคิดไทยศึกษา

แนวคิด(Concept)ไทยศึกษา 

           จากพัฒนาการของไทยศึกษาตั้งแต่อดีตจนถึง ณ เวลาปัจจุบันได้ผ่านการสังเคราะห์จนเกิดเป็นองค์ความรู้ที่สามารถสรุปเป็นแนวคิดที่ใช้อธิบายไทยศึกษาได้ว่า

         องค์ความรู้เรื่องไทยศึกษา เป็นภูมิปัญญาสังคมไทยที่มีการเรียนรู้และพัฒนาการจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งโดยไม่ขาดสายและไม่อาจจะกำหนดได้ว่าใครเป็นต้นคิดขององค์ความรู้เหล่านั้น แต่อาจจะเชื่อได้ว่าเป็นความคิดร่วมของบุคคลในสังคมไทย ฉะนั้นคนไทยจึงยอมรับ ยอมปฏิบัติตาม ยอมเชื่อถือและยึดถือเป็นแนวการดำรงชีวิตในสังคม และมีการสืบทอดองค์ความรู้ไทยศึกษาหรือภูมิปัญญาไทยต่อๆกันมาด้วยวิธีการ เล่าสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง การเรียนรู้และได้รับการอบรมสั่งสอนทั้งจากพ่อแม่และพระสงฆ์ การฝึกฝนปฏิบัติเอง การเข้าร่วมในกิจกรรม​​ เป็นต้น

                 ซึ่งสามารถที่จะจำแนกแยกแยะให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในขอบเขตของไทยศึกษาได้ดังนี้

. ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน เช่น ความสัมพันธ์กับ คนในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านในชุมชน ในสังคมไทยทั้งในและนอกประเทศด้วยกิจกรรมที่แตกต่างกันไปเช่น การค้าขาย ก็จะเกิดเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเล่าเรียน ก็จะเกิดเป็นกิจกรรมทางการศึกษา เป็นต้น รวมทั้งความสัมพันธ์ที่ดีในหลักเกณฑ์ที่บรรพบุรุษได้สั่งสอนมา เช่น ลูกควรปฏิบัติอย่างไรกับพ่อแม่ กับญาติพี่น้อง กับผู้สูงอายุ คนเฒ่าคนแก่ กับเพื่อนบ้านพ่อแม่ควรเลี้ยงดูลูกอย่างไร ความเอื้ออาทรต่อกันและกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยเฉพาะในยามทุกข์ยากหรือมีปัญหา ใคร มีความสามารถพิเศษก็ใช้ความสามารถนั้นช่วยเหลือผู้อื่น เช่น บางคนเป็นหมอยา ก็ช่วยดูแลรักษาคนเจ็บป่วยไม่สบายโดยไม่คิดค่ารักษา มีแต่เพียงการยกครูหรือการรำลึกถึงครูบาอาจารย์ที่ประสาทวิชามาให้เท่านั้น หมอยาต้องทำมาหากินโดยการทำนาทำไร่ เลี้ยงสัตว์เหมือนกับชาวบ้านอื่นๆ บางคนมีความสามารถพิเศษด้านการทำมาหากิน ก็ช่วยสอนลูกหลานให้มีวิชาไปด้วย และยังมีกฎเกณฑ์เป็นข้อปฏิบัติและข้อห้ามอย่างชัดเจน มีการแสดงออกทางประเพณี พิธีกรรมและกิจกรรมต่างๆ เช่น การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การบายศรีสู่ขวัญ เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็น ระบบคุณค่าที่ผูกติดไว้กับระบบคิดของการเป็นชาวบ้านด้วยกันก็เป็นได้

 . ความสัมพันธ์ของคนกับสิ่งแวดล้อม ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต แบ่งออกเป็น

สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม หรือสิ่งแวดล้อมประดิษฐ์

                        ..สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น อากาศ ดิน ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะภูมิอากาศ ทัศนียภาพต่าง ๆ ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง ทะเลสาบ ทะเล มหาสมุทรและทรัพยากรธรรมชาติทุกชนิด พืชพันธุ์ธรรมชาติต่างๆ สัตว์ป่า ป่าไม้ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวเรา เป็นต้น

        ๒.๒.สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม หรือสิ่งแวดล้อมประดิษฐ์ หรือมนุษย์เสริมสร้างขึ้น ได้แก่ สิ่งแวดล้อมทางสังคมไทยที่สร้างขึ้นโดยใช้กลวิธีสมัยใหม่ ตามความเหมาะสมของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา และวัฒนธรรม เช่น ดาวเทียม เครื่องจักร เครื่องยนต์ รถยนต์ พัดลม โทรทัศน์ วิทยุ ฝนเทียม เขื่อน บ้านเรือน โบราณสถาน โบราณวัตถุ เครื่องมือเครื่องใช้ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ภาษา วรรณกรรม จารึก หนังสือใบลาน เป็นต้น

ผู้คนทุกยุคทุกสมัยในสังคมไทยล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องพึ่งพาอาศัยสิ่งแวดล้อมแทบทุกด้าน

ตั้งแต่อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค ในครั้งที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังไม่พัฒนาก้าวหน้าเหมือนทุกวันนี้ ยังไม่มีระบบการค้าแบบสมัยใหม่ ไม่มีตลาด คนไปจับปลาล่าสัตว์ เพื่อเป็นอาหารไปวันๆ ตัดไม้เพื่อสร้างบ้านและใช้สอยตามความ จำเป็นเท่านั้น ไม่ได้ทำเพื่อการค้า ชาวบ้านมีหลักเกณฑ์ในการใช้สิ่งของในธรรมชาติ ไม่ตัดไม้อ่อน ทำให้ต้นไม้ในป่าขึ้นแทนต้นที่ถูกตัดไปได้ตลอดเวลา

ในอดีตชาวบ้านยังไม่รู้จักสารเคมี ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ฆ่าหญ้า ฆ่าสัตว์ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้สิ่งของในธรรมชาติให้เกื้อกูลกัน ใช้มูลสัตว์ ใบไม้ใบหญ้าที่เน่าเปื่อยเป็นปุ๋ยทำให้ดินอุดมสมบรูณ์ น้ำสะอาดและไม่เหือดแห้ง ชาวบ้านเคารพธรรมชาติ เชื่อว่ามีเทพมีเจ้าสถิตอยุ่ในดิน น้ำ ป่า เขา สถานที่ทุกแห่งจะทำอะไรต้องขออนุญาตและทำด้วยความเคารพและพอดีพองาม ชาวบ้านรู้บุญคุณที่ธรรมชาติได้ให้ชีวิตแก่ตน ซึ่งก็ส่งผลให้เกิดพิธีกรรมต่างๆที่ล้วนแสดงออกถึงแนวคิดดังกล่าว เช่น งานบุญพิธีที่เกี่ยวกับ น้ำ ข้าว ป่าเขา รวมถึงสัตว์ บ้านเรือน ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เป็นต้น

 . ความสัมพันธ์ของคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ  ชาวบ้านรู้ว่ามนุษย์เป็นเพียงส่วนเล็กๆ

ส่วนหนึ่งของจักรวาล ซึ่งเต็มไปด้วยความเร้นลับ มีพลังและอำนาจที่เขาไม่อาจจะหาคำอธิบายได้ ความเร้นลับดังกล่าวรวมถึงญาติพี่น้องและผู้คนที่ล่วงลับไปแล้ว ชาวบ้านยังความสัมพันธ์กับพวกเขา ด้วยการทำบุญและรำลึกถึงอย่างสม่ำเสมอทุกวันหรือในโอกาสสำคัญๆซึ่งเป็นความเชื่อที่เขาได้ปฏิบัติสืบต่อกันมา ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่ในระบบความคิด ความเชื่อ ของสังคมไทยมาตั้งแต่ครั้งอดีต

       ความสัมพันธ์ในขอบเขตของไทยศึกษาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยดังที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นกับคน กับสิ่งแวดล้อม และกับสิ่งเหนือธรรมชาตินั้น จะเห็นได้ว่า เป็นไปเพื่อต้องการที่จะปรับตัวให้สามารถอยู่รอดได้ในพื้นที่และช่วงเวลา(space and time)ในขณะนั้น ด้วยการนำความรู้ที่มีอยู่เดิม เช่น ระบบความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ที่มีอยู่ในตัวเอง ในท้องถิ่น ในสังคมมาปรับประสานเชื่อมต่อกับความรู้ใหม่ที่คิดกระทำขึ้นเองหรือรับมาจาก บุคคลและชุมชนอื่นในสังคมไทยและสังคมตะวันตก และสิ่งต่างๆเหล่านี้ก็จะกลายเป็น”ภูมิปัญญา”ที่ติดไปกับ บุคคลหรือชุมชนที่เป็นเจ้าของ  เมื่อถูกกระทำซ้ำหรือการผลิตซ้ำ(Reproduction)บ่อยๆก็จะทำให้กลายเป็น”วัฒนธรรม”ในที่สุด   “วัฒนธรรม”จะคงอยู่สืบเนื่องต่อไปได้มากเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับการผลิตซ้ำและการนำไปใช้ในปริมาณที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไปของคนไทย(ไท,ไต)บนโลกใบนี้

       บทสรุปสุดท้าย การศึกษาในบริบทของไทยศึกษาจึงเป็นการศึกษา ที่ต้องการทำให้เรา         ”เข้าใจ”ใน ”วัฒนธรรมและสังคมไทยในภาพรวม” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ความเป็นมา การคงอยู่และการเปลี่ยนแปลง ที่สัมพันธ์กับคน สิ่งแวดล้อม และสิ่งเหนือธรรมชาติ อันจะนำไปสู่

การอนุรักษ์ คือ การบำรุงรักษาสิ่งที่ดีงามไว้ เช่น ประเพณี/พิธีกรรมตามเทศกาล-ในวงจรชีวิต-เกี่ยวกับการทำมาหากิน-เกี่ยวกับชุมชนต่างๆ สมุนไพร ยารักษาโรค หัตถกรรม และยังมีการละเล่น ดนตรีไทย ศิลปกรรม วรรณกรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ คำคม ภาษิต บทกลอน เพลงพื้นบ้าน เพลงสอนเด็ก ปริศนาคำทาย เป็นต้น และระบบคุณค่าต่างๆที่แฝงอยู่ใน โลกทัศน์ ค่านิยม นิสัยใจคอ ความเชื่อ ระบบความเชื่อ ระบบความคิดในตำนาน เรื่องเล่า พิธีกรรม สัญลักษณ์ เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับพุทธ พราหมณ์ ผี (อำนาจลึกลับ) ผีช่วยรักษาธรรมชาติ / ครอบครัว เป็นต้น

การฟื้นฟู  คือ การรื้อฟื้นสิ่งที่ดีงามที่หายไป เลิกไป หรือกำลังจะเลิก ให้กลับมาเป็นประโยชน์และสามาราถนำกลับมาใช้ได้

การประยุกต์ คือ การปรับหรือการผสมผสานความรู้เก่าที่เป็นสิ่งที่ดีงามกับความรู้ใหม่ทั้งที่มาจากตะวันตกและเราสร้างขึ้นเองนำมาปรับเข้าด้วยกันให้เหมาะสมก่อนที่จะไปใช้ปฏิบัติ เช่น การใช้ยาสมุนไพรในโรงพยาบาล ประสานกับการรักษาสมัยใหม่ การทำพิธีบวชต้นไม้ เพื่อให้เกิดสำนึกการอนุรักษ์ธรรมชาติ รักษาป่ามากยิ่งขึ้น การประยุกต์ประเพณีการทำบุญข้าวเปลือกที่วัด มาเป็นการสร้างธนาคารข้าว เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลน

การสร้างใหม่ คือ การค้นคิดใหม่ที่สัมพันธ์กับความรู้ดั้งเดิมที่เป็นสิ่งที่ดีงาม เช่น การประดิษฐ์โปงลาง การคิดโครงการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยอาศัยคุณค่าความเอื้ออาทรที่ชาวบ้านเคยมีต่อกันมาหารูปแบบใหม่ เช่น การสร้างธนาคารข้าว ธนาคารโคกระบือ การรวมกลุ่มแม่บ้าน  เยาวชน เพื่อทำกิจกรรมกันอย่างมีระบบมากยิ่งขึ้น

มากกว่าการได้ ”รู้” ถึงสิ่งที่ศึกษาเท่านั้น “การเข้าใจ”นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการหล่อหลอม”ไทยศึกษา”ที่สามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ และการวิเคราะห์ตีความที่มีการใช้ ”ศาสตร์”ที่หลากหลายสาขาวิชาทั้งมนุษย์ศาสตร์ สังคมศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งการศึกษา”ไทยศึกษา”นั้นถ้าใช้เพียงศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งอาจจะไม่เพียงพอมากนัก เพราะเรื่องที่ศึกษาส่วนใหญ่จะคาบเกี่ยวกันไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง ภูมิศาสตร์ ระบบความคิดความเชื่อต่างๆ เป็นต้น และการเข้าหาความรู้ก็ใช้วิธีการศึกษาที่หลากหลายทั้ง ศึกษาจากเอกสาร สัมภาษณ์ สังเกต เข้าร่วมกิจกรรมกับชุมชนหรือหน่วยที่ศึกษา สิ่งต่างๆเหล่านี้ก็เพียงเพื่อการ ”เข้าใจ”ในสิ่งที่เราต้องการศึกษาให้ได้รอบด้านและลึกซึ้ง และสามารถที่จะผสมกลมกลืนความรู้จากสาขาต่างๆให้เป็นเนื้อเดียวกันในบริบทที่เหมาะสมกับกรอบความต้องการของการศึกษาไทยศึกษาในปัจจุบันและในอนาคตต่อไป เมื่อนั้น”ไทยศึกษา”ตามแนวคิดนี้ก็จะกลายเป็น”ศาสตร์”ที่มีความเป็น”สหวิทยาการ”ที่สมบูรณ์

                 มโนทัศน์”ไทยศึกษา”ในปัจจุบันจะเห็นว่า วิธีการที่ใช้สร้าง”ความรู้”หรือหา”ความจริง”นั้นมี ๒ วิธีการ ซึ่งมาจาก”ฐานคิด”ที่ต่างกันคือ ๑.วิธีการนิรนัย(Deduction)หรือ อนุมาน วิธีการนี้ใช้กับการวิจัยเชิงปริมาณ(ปฎิฐานนิยม(Positivism))เป็นการศึกษาที่เริ่มต้นแสวงหาความรู้จากการใช้ทฤษฎี แล้วนำเอาทฤษฎีไปอธิบายเรื่องที่สนใจ เน้นการทำนาย การทดสอบด้วยการเลือกวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของตัวแปร โดยวิธีการทางสถิติเพื่อสรุปเป็นหลักการทั่วไป(Generalization) และ๒.วิธีการแบบอุปนัย(Induction)หรือ อุปมาน วิธีการนี้ใช้กับการวิจัยเชิงคุณภาพ(ประสบการณ์นิยม(Phenomenology)) จะสนใจความคิดที่อยู่เบื้องหลังภาพที่ปรากฏ ซึ่งเป็นการแสวงหาความจริงในสภาพที่เป็นธรรมชาติ ภายใต้คำถามทำไม อย่างไรและภายใต้สิ่งแวดล้อม ปัจจัยเงื่อนไขใดจึงทำให้สิ่งนั้นจึงเกิดขึ้นโดยเน้นที่ความคิดเชิงซ้อน”ที่เป็นการหลุดพ้นจากกรอบที่ตายตัวในลักษณะ”คู่ตรงข้าม”[1]

        จากมโนทัศน์”ไทยศึกษา” จะเห็นว่าทุกส่วนของมโนทัศน์มีภาพ”เงา”ของแต่ละส่วนทาบทับกันอยู่ เราจะต้อง”ค้นหา”และ”ตีความ”ว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้างที่เป็นเงาทาบทับกันอยู่ และส่วนต่างๆเหล่านั้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับคน สิ่งแวดล้อม และสิ่งเหนือธรรมชาติอย่างไร ทั้งในเรื่องความเป็นมา การคงอยู่และการเปลี่ยนแปลง และมีผลกระทบต่อกันอย่างไร อันจะนำไปสู่ การอนุรักษ์ การฟื้นฟู  การประยุกต์  การสร้างใหม่ การเข้าใจในปรากฏการณ์และกระบวนการเหล่านี้ถึงจะเป็นการวิเคราะห์ตีความที่เรียกว่า”องค์รวม[2] และการวิเคราะห์ตีความที่มีการใช้”ศาสตร์”ที่หลากหลาย จึงจะเรียกว่าเป็น”สหวิทยาการ”( Interdisciplinary)ที่สมบูรณ์

             สุดท้ายแล้ว มโนทัศน์”ไทยศึกษา”ที่มีฐานคิดในแบบ สหวิทยาการหรือแบบองค์รวมบนฐานของ Area Study นั้น จะต้องเป็นการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับความเป็นพลวัตของปรากฎการณ์และบริบท (เงื่อนไขของสภาพแวดล้อม)ที่ศึกษา เพราะผู้คนไม่ได้คิดเหมือนกันทั้งหมด แต่มีการ “ตีความ” อยู่ตลอดเวลา เช่น การตีความประวัติศาสตร์ ต้องเรียนรู้ว่าในเอกสารเต็มไปด้วยสัญลักษณ์/ ต้องอ่านให้ครอบคลุมว่าเขียนในบริบทใด/ ต้องโยงกับเอกสารอื่น เช่น ตำนานที่พระเขียน ไม่ได้เขียนให้คนอ่านอย่างเดียว แต่เขียนเป็นพุทธบูชา ซึ่งข้อความในตำนานเอกสาร ไม่ได้มีความหมายเดียว เช่นเดียวกับคติในท้องถิ่นหนึ่ง ไม่ได้มีความหมายตายตัว แต่ต้องมีการตีความจากเงื่อนไข (ผู้เขียน/ เอกสาร)เป็นการบ่งบอกให้รู้ถึงว่าความคิดมีชีวิต ไม่ใช่สิ่งตายตัว หรือตายเร็ว ความคิดจะเป็นความรู้ ต้องไม่ตายตัว ส่วนความรู้ที่ตายตัว จะเปลี่ยนจาก “ปัญญา” เป็น “มายาคติ” ดังเช่น Friedrich Nietzsche ได้ เขียนหนังสือชื่อ God is dead ว่า “เลิกเชื่อเถอะว่า สิ่งเหล่านี้เป็นจริงตลอดกาล”



[1] ศึกษารายละเอียดวิธีคิดเชิงซ้อนเพิ่มเติมใน อานันท์ กาญจนพันธุ์ ,๒๕๕๔,วิธีคิดเชิงซ้อนในการวิจัยชุมชน:พลวัตและศักยภาพของชุมชนในการพัฒนา,สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

[2] ชาย โพธิสิตา,๒๕๕๒,ศาสตร์และศิลป์แห่งการวิจัยเชิงคุณภาพ(ปรับปรุง พิมพ์ครั้งที่ ๔),กรุงเทพฯ,อัมรินทร์พริ้นติ้งฯ.

คำสำคัญ (Tags): #แนวคิดไทยศึกษา
หมายเลขบันทึก: 469927เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2011 10:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 11:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท