Night Terror ร้องไห้แบบไม่ธรรมดา


“เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีเรื่องที่ไม่สมบูรณ์แบบบ้าง ฉะนั้นจงอย่าโทษตัวเอง แต่กลับต้องให้กำลังตนเองเป็นสำคัญ”

เป็นข้อความที่วนเวียนอยู่ในสมองแม่ตลอดเวลาที่นึกถึงอาการตกใจตื่นร้องไห้กลางดึกของเฏ และอาการหลับยากของเฏมาโดยตลอด

อาการ night Terror ไม่ใช่การร้องไห้โคลิกแบบที่ทารกแรกเกิดถึงประมาณสามเดือนเป็น และไม่ใช่อาการฝันร้าย (Nightmare) แต่เป็นอาการตื่นตกใจร้องไห้ในช่วงแรกของวงจรการหลับของเด็ก (ประมาณ 1-3 ชั่วโมงแรก)

เฏเริ่มมีอาการนี้ได้ประมาณสองสัปดาห์ โดยจะตื่นมาร้องไห้อย่างหนัก ร้องแบบกรีดร้อง และแทบหยุดหายใจ ในเวลาประมาณตีสองของทุกคืน โดยช่วงคืนแรก ๆ เกิดขึ้นในช่วงที่หยุดนมกลางคืน เป็นประมาณหนึ่งสัปดาห์ก็หายไป หลังจากนั้นประมาณหนึ่งเดือน คือช่วงเดือนพฤศจิกายนที่เราย้ายเข้า peace village ทำให้เราเปลี่ยนสถานที่นอนสลับกันไประหว่างบ้านกับ peace village อาการดังกล่าวเกิดขึ้นอีก ผนวกกับการร้องขอนมกลางคืน และกลายเป็น night terror เต็มขั้น แบบไม่ต้องการนม แต่จะร้องอยู่ประมาณ 10 -30 นาที (บางคืนถึงหนึ่งชั่วโมง หากมียายร่วมห้องด้วย เพราะยายไม่เข้าใจว่าเฏเป็นอะไร และกังวล ทำให้เป็นการปลุกเฏตื่น ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก)

ปัญหาการนอนของเฏนั้นเริ่มต้นประมาณเมื่อเฏอายุได้ 6 เดือน ซึ่งแม่คิดทบทวนประมวลผลแล้วว่าเกิดจาก

ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 1 ขวบ คุณยายบอกว่า เมื่อใดเด็กตื่นขึ้นมาร้องให้เอาขวดนมใส่ปากให้เด็กดูดต่อเด็กก็จะหยุดร้อง โดยช่วงเดือนแรก ๆ แม่ปั๊มนมใส่ขวด ทำเช่นนั้น แต่ช่วงหลัง ไม่ได้ปั๊มนมเก็บไว้ ทุกครั้งที่เฏสะดุ้งตื่น แม่จึงมานอนให้นมเฏจนเฏหลับต่อ กลายเป็นเฏติดนมแม่ และไม่สามารถหลับต่อได้เอง

การกระทำเช่นนี้ถือว่าผิดมาก เพราะการที่เด็กหลับต่อเพราะนมแม่นั้น แน่นอนว่าจะเป็นผลดีต่อผู้เลี้ยง เพราะจะมีเวลาในการพักผ่อนหรือทำงานอย่างอื่น แต่เด็กต้องสามารถนอนหลับได้ด้วยตนเอง หากเขาสะดุ้งตื่น โดยเด็กหรือผู้ใหญ่ทุกคนจะมีช่วง rapid eyes movement สลับกันไปประมาณ 20 นาทีต่อครั้ง (จะเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ) ช่วงระหว่างรอยต่อของ rapid eyes movement เข้าสู่การนอนหลับอย่างสนิท เด็กอาจสะดุ้งตื่นได้ ดังนั้น จึงควรให้เด็กสามารถหลับต่อได้ด้วยตนเอง ไม่ควรให้นมเด็กดูดเป็นอันขาด เพราะนอกจากจะเป็นการฝึกนิสัยการนอนที่ผิดแล้ว ยังทำให้ฟันผุได้ง่ายมากอีกด้วย (ซึ่งเฏก็มีปัญหานี้ตามมา แม่จะเขียนในเรื่องของฟันต่อไป)

มีคำถามต่อไปว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กร้อง เพราะกินนมไม่อิ่มหรือไม่ คุณแม่จะรู้ดีที่สุดว่าก่อนนอนนั้นลูกได้ดื่มนมหรือทานอาหารอิ่มพอแล้วหรือยัง หากสงสัยว่าลูกหิว ให้ลูกดื่มน้ำ หรือตื่นเช้าก็ให้ลูกดูดนมหรือทานอาหารเบา ๆ เร็วขึ้น

ฟันผุ

เฏนั้นมีฟันน้ำนมขึ้นเร็ว คือฟันน้ำนมล่างสองซี่แรกขึ้นเมื่อเฏอายุได้ประมาณสี่เดือน ดังนั้นสุขอนามัยของฟันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ เมื่อเฏติดนิสัยกินนมกลางดึกจนกระทั่งหนึ่งขวบ และการละเลยการแปรงฟันแบบไม่สม่ำเสมอ เพราะลูกร้องโยเยทุกครั้ง ทำให้การพบหมอฟันครั้งแรก เมื่อเฏอายุประมาณ 1 ขวบ ได้ความว่า เฏมีภาวะฟันผุในระยะเริ่มต้น กล่าวคือ สีขาวที่แม่เห็นเป็นคราบบนฟัน ที่แม่คิดว่าเป็นหินปูนนั้น แท้จริงแล้วคือสภาพการเปลี่ยนสีของผิวเคลือบฟันที่ถูกคราบน้ำนมเกาะอยู่เป็นเวลานานในแต่ละคืน (คราบสีขาวนี้จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ดังเช่นที่เราเห็นเด็กฟันผุทั่ว ๆ ไป และจะค่อย ๆ กัดกร่อนฟันไปเรื่อย ๆ จนหมด เหมือนที่เราเห็นเด็กบางคนฟันหรอ เพราะฟันผุจนหมดซี่)  และการไม่สม่ำเสมอในการแปรงฟัน แต่ภาวะนี้ยังไม่ถือว่าสายเกินไป โชคดีที่มาพบหมอฟันทันเวลา คุณหมอเคลือบให้เฏลักษณะพิเศษ ที่ผิวเคลือบฟลูออไรด์จะติดแน่นที่ตัวฟันทันที และห้ามรรับประทานอาหารภายใน 15 นาที ห้ามแปรงฟันภายใน 12 ชั่วโมง เพื่อฟลูออไรด์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคุณหมอได้สอนท่าทางการจับลูกแปรงฟันอย่างถูกวิธี ซึ่งสำคัญมาก (สามารถค้นหาได้จากกระทรวงสาธารณะสุข) เพราะจะมีผลต่อสุขภาพฟันของเฏในอนาคตอย่างมาก

คุณแม่หลายคนมักจะยอมหยุดแปรงฟันเมื่อลูกร้องโยเยขณะแปรง แต่ท่าทางการแปรงฟันที่ถูกต้อง และความมั่นใจจากคุณหมอ จะทำให้คุณแม่ทุกคนสามารถผ่านพ้นช่วงเวลากรีดร้องอย่างแสนสาหัสของลูกเมื่อแปรงฟันไปได้ และพบกับผลลัพธ์ที่ดีกว่ายอมหยุดแปรงเมื่อลูกร้อง โดยในระยะแรกอาจจะต้องปวดใจอยู่บ้าง แต่ขอให้อดทน และคิดเสียว่า เป็นเช่นเดียวกับเมื่อถึงเวลาเปลี่ยนผ้าอ้อม ที่เด็กก็ต้องโยเยทุกครั้ง แต่อย่างไรก็ต้องเปลี่ยน “เพราะถึงอย่างไรก็ต้องแปรง”

ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดได้หรือไม่

ได้ในกรณีที่ฟันของลูกยังมีไม่เกิน 4 ซี่ โดยเช็ดทั้งฟันลูก เหงือก และลิ้น

ต้องใช้ยาสีฟันด้วยหรือไม่ ได้ข่าวว่าเด็กที่ได้รับฟลูออไรด์มากเกินไป จะทำให้ฟันแท้เปลี่ยนสีได้

ก่อนหน้านี้คุณหมอแนะนำว่า เด็กอายุ 0 - 2 ขวบไม่ต้องใช้ยาสีฟัน เพราะเด็กยังบ้วนปากไม่เป็น และอาจกลืนยาสีฟัน แต่จากการประชุมวินิจฉัยล่าสุด เพราะพบว่าเด็กไทยมีภาวะฟันผุจำนวนมาก จึงลงมติให้ใช้ยาสีฟันในเด็กวัยนี้ในปริมาณเท่าเม็ดถั่วเขียว ซึ่งถือว่าปลอดภัยต่อการกลืนกิน 

อันที่จริงเราสามารถฝึกลูกให้บ้วนปากได้ โดยแม่นั้นฝึกเฏโดยใช้น้ำต้มสุกที่ดื่มเป็นประจำ ทำท่าบ้วนปากให้เฏดู และฝึกให้เฏทำตาม ให้เวลาฝึกไม่เกินสามวัน รับรองลูกน้อยจะสามารถบ้วนปากได้อย่างคล่องแคล่ว

สุขภาพฟันของเฏตอนนี้ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ และเฏเริ่มเคยชินกับการแปรงฟัน เพียงแต่คุณแม่อย่าแปรงแรงเกินไปจนทำให้ลูกเจ็บเท่านั้น มีเทคนิคมากมายในการช่วยเบี่ยงเบนความสนใจให้กับลูก เช่น ชวนลูกนับ 1- 10 ระหว่างแปรง และหยุดแปรงทันทีเมื่อถึงสิบ (อาจเริ่มต้นนับใหม่อีกรอบ หากรู้สึกว่ายังไม่สะอาดนัก) หรือจะชวนคุยเรื่องที่ลูกสนใจ หรือให้ลูกถือของเล่นชิ้นโปรดขณะแปรง เป็นต้น

กลับมาที่เรื่องของ night terror

ลักษณะอาการของ night terror ได้แก่

ตื่นร้องกลางดึกอย่างหนัก อาจมีอาการกรีดร้อง หรือหยุดหายใจบางช่วง อาการเกร็งของกล้ามเนื้อระหว่างร้องไห้ เหงื่อออก ดิ้น เด็กจะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ส่วนใหญ่ยังหลับอยู่ และไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่ผ่านมาเมื่อคืนได้เมื่อตื่น หายใจเร็ว อาการจะเป็นอยู่ประมาณ 10 – 30 นาที เด็กก็จะหลับต่อได้เอง

สาเหตุ

  1. ป่วยไข้
  2. นอนหลับไม่เพียงพอ
  3. ความเครียด ภาวะกดดันในช่วงกลางวัน ครอบครัว ไม่ควรใช้อารมณ์ในการเลี้ยงลูก หรือทะเลาะกันให้ลูกเห็น

การรักษา

ผ่อนคลายกับเด็ก และเลี้ยงลูกอย่างมีความสุขในช่วงเวลากลางวัน และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหมือนน้องเฏดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นทั้งหมด

หากมีอาการหนัก บ่อยเกินไป จนน่าเป็นห่วง ควรปรึกษาแพทย์

อ้างอิง

http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/000809.htm

http://www.nightterrors.org/stages.htm

หมายเลขบันทึก: 469466เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2011 22:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Disorders of Initiating and Maintaining Sleep (DIMS) DIMS เป็นปัญหาการนอนที่พบบ่อยมากที่สุดในทารกและเด็กก่อนวัยเรียน ประมาณร้อยละ 10 - 40 ลักษณะสำคัญคือไม่ยอมนอนเมื่อถึงเวลานอน (bedtime resistance) หลับยาก ตื่นบ่อย และไม่สามารถหลับต่อได้เอง (protodyssomnias) เกิดจากสาเหตุหลายประการทั้งระดับการพัฒนาของสมอง temperament พัฒนาการด้านจิตใจ เนื่องจากเป็นวัยที่ยังมีความกังวลต่อการพลัดพราก โดยเฉพาะในเด็กที่มีอารมณ์ผูกพันต่อพ่อแม่แบบ insecure attachment และเป็นวัยที่กำลังพัฒนา autonomy จึงอาจมีพฤติกรรมต่อต้านในเรื่องการนอน หากพ่อแม่ไม่ได้สนับสนุนให้พัฒนา autonomy ได้อย่างเหมาะสม วิธีการเลี้ยงดูอย่างควบคุมเข้มงวดเกินไป ตามใจมากเกินไปจนขาดการฝึกวินัยรวมทั้งเรื่องการนอน และความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ในการเลี้ยงดูและจัดการกับปัญหาพฤติกรรม มักเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาการนอนและปัญหาพฤติกรรมอย่างอื่นของเด็กก่อนวัยเรียน คุณภาพความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกที่บกพร่องอันเนื่องมาจากตัวเด็กเอง สุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตของพ่อแม่ เช่น อารมณ์ซึมเศร้า หรือวิตกกังวล และเวลาในการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดและอบอุ่น ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการนอนของเด็กอย่างชัดเจน หรืออาจเกิดจากปัจจัยสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการนอนหลับ สภาพแวดล้อมที่ขัดขวางต่อการพัฒนา circadian cycle ปกติ เช่น การนอนไม่เป็นเวลา สภาพแวดล้อมที่มีแสงสว่างไม่สอดคล้องกับกลางวันกลางคืนตามธรรมชาติ และพ่อแม่ไม่ได้ฝึกให้มีสุขอนามัยการนอนที่ดีอย่างสม่ำเสมอหรือไม่สามารถกำหนดกฎเกณฑ์และควบคุมให้เด็กปฏิบัติตามได้เหมาะสม หรือเกิดจากความเคยชินกับการทำกิจกรรมหรือสถานการณ์บางอย่างก่อนนอนจึงหลับต่อได้ เช่น การดูดขวดนม การมีพ่อแม่นอนอยู่ด้วย เป็นต้น การนอนไม่เพียงพอเองก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กตื่นบ่อยด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังต้องวินิจฉัยแยกโรคทางกายที่อาจเป็นสาเหตุของปัญหาการนอน เช่น cow’s milk allergy, gastroesophageal reflux, otitis media, และโรคอื่นที่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดหรือไม่สบายบางอย่าง หรือเป็นผลจากการใช้ยาและสารบางอย่าง(1-3,5-7)

D การรักษา วิธีการช่วยเหลือคือแนะนำให้พ่อแม่กำหนดเวลานอนที่แน่นอน มีกิจวัตรก่อนนอนที่เป็นขั้นตอนอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยในการเชื่อมโยงไปสู่การนอนหลับ เช่น แปรงฟัน ฟังเพลงหรือนิทาน สวดมนต์ เป็นต้น งดกิจกรรมที่เร้าอารมณ์มากเกินไปก่อนเวลานอน ให้พ่อแม่ควบคุมการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอด้วยท่าทีอ่อนโยนแต่หนักแน่นจริงจัง หลีกเลี่ยงการต่อรองหรือการโต้เถียงโดยไม่จำเป็น และงดการดุว่าหรือการลงโทษก่อนเวลานอน ควรสร้างบรรยากาศก่อนนอนให้มีความสุขและผ่อนคลายด้วยการร่วมกิจกรรมบางอย่างที่เพลิดเพลินร่วมกับลูกและการมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกอย่างอื่น ลดการนอนกลางวันที่ใกล้เวลานอนกลางคืนมากเกินไป และแนะนำให้เลิกการให้นมก่อนนอนและตอนตื่นกลางคืนสำหรับเด็กอายุมากกว่า 6 เดือนด้วย ให้ใช้เทคนิคการเพิกเฉย (extinction) ต่อปฏิกริยาต่อต้านการนอนหลับด้วยตนเอง การเพิกเฉยอย่างสิ้นเชิงเป็นวิธีการที่ได้ผลดีที่สุดแต่พ่อแม่มักยอมรับได้ยากเพราะไม่สามารถทนต่อเสียงร้องได้ และอาจตอบสนองด้วยอารมณ์รุนแรงในที่สุดซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการนอนมากกว่าเดิม ในทางปฏิบัติจึงแนะนำให้ใช้วิธี graduated extinction คือให้ตอบสนองต่อการตื่นกลางคืนลดลงทีละน้อยเพื่อให้เด็กฝึกการหลับด้วยตนเองมากที่สุด ส่วนใหญ่จะได้ผลภายใน 1 – 2 สัปดาห์ และต้องแนะนำให้พ่อแม่เตรียมตัวรับมือพฤติกรรมต่อต้านที่อาจมากขึ้นในวันแรกๆด้วยความอดทน และต้องเข้าใจว่าหลักสำคัญในการแก้ไขพฤติกรรมที่ได้ผลคือการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ พบว่า graduated extinction เฉพาะเวลาเข้านอนอย่างเดียวก็สามารถลดการตื่นกลางคืนได้ นอกจากนี้ยังต้องให้คำแนะนำวิธีการเลี้ยงดูเด็กอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการ เพื่อพัฒนาคุณภาพความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่ด้วย รวมทั้งการให้แรงเสริมทางบวกด้วยการให้รางวัลรูปแบบต่างๆสำหรับการมีพฤติกรรมเหมาะสม การใช้ transitional object สามารถช่วยให้เด็กนอนหลับเองได้ง่ายขึ้น ในกรณีที่อาการรุนแรงอาจพิจารณาให้ diphenhydramine hydrochloride 1 mg/kg หรือ choral hydrate 25 – 50 mg/kg ก่อนนอนเป็นเวลาสั้นๆได้ อย่างไรก็ตามการให้คำแนะนำเพื่อช่วยเหลือเด็กแต่ละคนต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับเด็กและสภาพแวดล้อมในครอบครัวด้วย(1-3,5-7,9)

http://www.rcpsycht.org/cap/detail_articledr.php?news_id=53

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท