เรื่องเล่าจากน้ำท่วม ตอน ลั่นกลองรบ


แล้วทุกคนก็เริ่มทำงานแข่งกับเวลา... โดยไม่รอ “คำสั่ง” จากทางราชการ

ลั่นกลองรบ      

 

         ล่วงเข้าเดือนกันยายน ฝนฟ้ายังตกกระหน่ำ  พลันมวลน้ำก้อนใหญ่ก็รุกคืบและถาโถมเข้าสู่หลายพื้นที่ในจังหวัดอุทัยธานี นครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรีมาจนถึงอยุธยา  สื่อทุกสื่อต่างเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด  ข่าวน้ำท่วมกลายเป็นประเด็นร้อน

         การป้องกันผืนแผ่นดินทำกิน เรือกสวนไร่นากับผลผลิตที่กำลังออกรวงและให้ดอกออกผลเป็นไปอย่างฉุกละหุกและจ้าละหวั่น แม้จะเอาชีวิตและทรัพย์สินที่มีอยู่เป็นเดิมพัน ก็ไม่อาจปิดกั้นความเกรี้ยวกราดของสายน้ำ  และเมื่อสิ้นสุดเวลาแห่งการยื้อยุดฉุดรั้ง   ความตระหนกปนคราบน้ำตาของคนตัวเล็กๆ พร้อมเสียงร่ำไห้และเรื่องเล่าของคนที่ไม่เคยมีปากมีเสียงก็ได้ถูกกล่าวขานเป็นรายงานไม่เว้นแต่ละวัน    ความล่มสลายในภาคเกษตรกรรมยังไม่ทันจางหาย ความวอดวายของนิคมอุตสาหกรรมก็ตามติด

          ภาพเหล่านี้ เป็นดั่งสัญญาณแห่งการ “ลั่นกลองรบเป็นสัญญาใจที่ไม่อาจฝึกฝืนให้แต่ละค่ำคืนผ่านไปอย่างง่ายดาย   การรณรงค์รับบริจาคเงินและข้าวของเครื่องใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลาเก้าคืนที่บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ ผุดแวบขึ้นมาเป็นระยะๆ  ในครั้งนั้นเราได้รับธารน้ำใจจากพ่อแม่พี่น้องชาวนครปฐมและนักท่องเที่ยวเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคจำนวนมากพร้อมเงินกว่าสี่แสนบาท  เพื่อนำมาจัดทำถุงยังชีพส่งให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยทั้งในจังหวัดนครปฐม ราชบุรีและสุพรรณบุรี   ทว่าในครานี้ ด้วยบริบทและเงื่อนไขที่แตกต่าง ในฐานะขององค์กรที่ประกาศตัวอยู่เคียงคู่กับท้องถิ่น และในฐานะของปัจเจกบุคคลที่ตระหนักว่าทุกชีวิตต่างก็เป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น  เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแบ่งเบาความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมชาติ  

          แผนระยะสั้นที่จะต้องทำทันที มีสองภารกิจหลัก

          ภารกิจหนึ่ง   การเตรียมป้องกันมวลน้ำที่จะไหลบ่าเข้ามาในมหาวิทยาลัย และการเตรียมความพร้อมด้านอาคารสถานที่ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์พักพิงให้แก่ผู้เดือดร้อน  การขุดลอกโคลนเลนในสระมรกตตลอดจนการปกป้องจุดเสี่ยงต่างๆ  ดำเนินไปด้วยความเร่งรีบพร้อมๆ กับการประเมินสถานการณ์ชนิดวันต่อวัน  

          ณ วันนั้นเราไม่อาจทราบได้ว่านครปฐมโดยเฉพาะในเขตเมืองจะถูกโจมตีโดยกองทัพน้ำหรือไม่ ด้วยขนาดกองกำลังเท่าใด ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ของนักวิชาการซึ่งนำเสนอผ่านสำนักข่าวต่างๆ กับข้อมูลที่ได้จากรัฐบาลดูจะย้อนแย้งกันชนิดหน้ามือกับหลังมือ ยิ่งผนวกกับ “วาทกรรมชาวบ้าน” ที่ผ่านประสบการณ์น้ำท่วมใหญ่ ครั้ง 2485, 2538 และ 2549  ต่างฟันธง น้ำจะไม่ท่วมแน่นอน    ในขณะที่อีกวาทกรรมหนึ่งก็ว่า น้ำท่วมปีนี้ไม่อาจใช้กระบวนทัศน์หรือวิธีคิดแบบเดิมๆ ได้ เพราะความผิดแผกอันเกิดจากการทำลายธรรมชาติอย่างสะสม  และความผิดแผกอันเนื่องมาจาก “การเมือง”  ณ วันนั้น จึงไม่อาจทำอะไรได้ดีไปกว่าการเตรียมตัวและการป้องกันให้ดีที่สุด

          อีกภารกิจหนึ่ง คือ การประสานงานกับเครือข่ายภายนอกเพื่อระดมสรรพกำลัง รณรงค์รับบริจาคและวางแผนงานด้านเตรียมเสบียงในการกระจายความช่วยเหลือเบื้องต้นส่งต่อให้กับผู้นำชุมชนและท้องถิ่น ซึ่งแม้จะรู้ว่ามันอาจจะไม่ทั่วถึงทุกกลุ่มคนและทุกชุมชนกลางน้ำ   ทั้งอาจจะไม่ครอบคลุมทุกความจำเป็น แต่เราก็ต้องทำ พร้อมๆ กับการพยายาม “ปักหมุด” ลงบนแผนที่โดยเชื่อมต่อกับข้อมูลของทุกภาคส่วนเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มการกระจายให้ได้มากที่สุด

          แล้วทุกคนก็เริ่มทำงานแข่งกับเวลา... โดยไม่รอ “คำสั่ง” จากทางราชการ


หมายเลขบันทึก: 469309เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2011 11:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 22:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท