9 สิ่งที่คุณทำได้ เมื่อคนใกล้ตัวมีความทุกข์


เมื่อเราพบเห็นหรือทราบว่าคนที่อยู่ใกล้ตัวเรากำลังเป็นทุกข์ ไม่ว่าจะการแสดงออกทางพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป การพูดคุย การระบายอารมณ์ หรือการขอความช่วยเหลือ เราควรให้ความสนใจให้ความช่วยเหลือเขาเป็นพิเศษ ช่วยเหลือเรื่องสิ่งของ เงินทองไม่ได้ ก็มีวิธีช่วยเหลืออื่นๆ ที่ทำให้เขาสบายใจ โดยมีเทคนิคดังนี้
1. เป็นผู้ฟังที่ดี การเป็นผู้ฟังที่ดี ต้องตั้งใจฟังคนพูดอย่างแน่วแน่จริงจัง มองหน้าคนที่คุยกับเราด้วยสายตาที่พร้อมจะรับฟัง ไม่ว่าปัญหาของเขาจะยุ่งยากลำบากแค่ไหน ทั้งเรื่องดีและไม่ดี ที่เกี่ยวข้องกับปัญหา เพื่ออีกฝ่ายได้ระบาย และปลดปล่อยอารมณ์คับแค้นออกมา แสดงท่าทีและใช้คำพูดปลอบโยน ให้อารมณ์สงบลง สัมผัสอย่างอ่อนโยนด้วยความเข้าใจ จะช่วยให้จิตใจของผู้เล่าดีขึ้นบ้าง เช่น “ใจเย็นๆ นะ ทุกปัญหามีทางออกเสมอ” ใช้คำพูดในทางบวกเพื่อลดอคติ เช่น ถ้าเขาทะเลาะกับแฟน เราก็ควรพูดว่า “เขาคงไม่เจตนาทำแบบนั้น” “เขาพูดล้อเล่นหรือเปล่า” ชี้แนวทางแก้ปัญหาด้วยความจริง เช่น การพูดปรับความเข้าใจกัน “ลืมมันเสียแล้วเริ่มต้นใหม่” ถ้าปฏิบัติได้ดังกล่าวมานี้ ก็จะเป็นผู้ที่สามารถรับฟังปัญหาของผู้อื่นและชี้แนะแนวทางแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมแก่เขาเหล่านั้นได้
2. มีคำปลอบโยนให้ หากคนใกล้ตัวเราเจอกับเหตุการณ์วิกฤติการพูดปลอบโยนให้กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดที่จะช่วยให้เขาสร้างกำลังใจให้กับตัวเอง เป็นการเติมเต็มกลังใจให้เขา แค่คำปลอบโยน ประโยคสั้นๆ หรือแม้แต่แค่สบตากัน ส่งผ่านความรู้สึกผ่านแววตาให้เขารู้ว่าเราเข้าใจเขาและพร้อมที่จะอยู่ข้างๆ เขาเสมอไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่อย่าทำให้เขารู้สึกว่าตนเองไม่เก่ง ไม่ดี หรือไม่มีที่พึ่งลองช่วยกันคิดหาทางออก และแสดงให้รู้ว่ายังมีคนที่ห่วงใยเขาอยู่เสมอ
3. คอยอยู่เป็นเพื่อนข้างๆ กัน บางครั้งคนรักหรือเพื่อนของเราก็มีทางออกของปัญหาหรือเรื่องไม่สบายใจอยู่แล้ว แต่ที่เขาก็ยังต้องการความมั่นใจและเพื่อนที่จะคอยอยู่เคียงข้างเขา คอยให้คำปรึกษา ปลอบใจบ้างหากเขาต้องการ เขาจะรู้สึกว่าเขาไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว ยังมีใครสักคนอยู่เคียงข้างเขาเสมอ มีคนไว้ให้เขามองเห็น มีคนไว้ให้เขาจับมือรับความอบอุ่นใจ มีคนยิ้มให้กำลังใจ แค่นี้ก็ทำให้เขาก็รู้สึกดีขึ้นแล้ว
4. แสดงความเห็นอกเห็นใจ คนที่ต้องเจอกับเหตุการณ์วิกฤตนั้นจิตใจของเขาย่อมไม่ปกติเป็นธรรมดา เราต้องแสดงความเห็นอกเห็นใจเขาอย่างจริงใจ อ่อนโยน และที่สำคัญต้องรู้ว่าขณะนั้นเขาอยู่อารมณ์ใด เช่น เขาแสดงอาการตกใจกลัว หรือมีอาการลุกลี้ลุกลน หมายถึง เขากำลังมีความวิตกกังวลอยู่เป็นต้น
การแสดงความเห็นอกเห็นใจจะทำได้ง่ายยิ่งขึ้นถ้ามีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เพราะจะไม่เกิดความเข้าใจผิดต่อกัน ถ้าคุณไม่เข้าใจว่าทำไมบางคนจึงมีอาการประหลาดๆ กับคุณ จนคุณคิดว่าตนเองมีอะไรผิดปกติหรือเปล่า ถ้าคุณได้รู้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวมีสาเหตุมาจากอารมณ์ของเขาไม่ใช่มาจากการกระทำของคุณ จะทำให้เป็นคนที่ไวกับความต้องการของคนอื่นมากขึ้น ความเห็นอกเห็นใจเปรียบเสมือนการที่คุณรับรู้และเข้าใจถึงความรู้สึกภายในที่แฝงอยู่ในคำพูดและการกระทำของเพื่อน ถ้าคุณมีความเห็นอกเห็นใจ คุณรู้ว่าควรจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเพื่อนหรือไม่
5. พาไปเที่ยวพักสมอง การท่องเที่ยวเป็นวิธีพักสมองที่ดีวิธีหนึ่ง สถานที่ๆ เลือกจะไปผ่อนคลายเครียดควรเป็นสถานที่สบายๆ สดชื่น เทคนิคการเลือกสถานที่ง่ายๆ คือ ถ้าเขามีปัญหากับเพื่อนหรือขัดแย้งกับผู้คน ควรเลือกสถานที่เงียบสงบ ไม่มีผู้คนพลุกพล่าน แต่ถ้าเขารู้สึกว่าตนเองกำลังเหงา ควรเลือกสถานที่ๆ จะทำให้เขาได้พบเพื่อนใหม่ๆ
6. การแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวที่คล้ายคลึงกัน คนเราบางครั้งก็คิดว่าตนเองเจอเรื่องร้ายๆ กว่าคนอื่น คิดว่าฉันเป็นคนที่แย่ เป็นคนที่ไม่มีความสามารถ เป็นคนโชคร้าย ทำให้ยิ่งรู้สึกท้อแท้มากขึ้นแต่ถ้ามีคนที่มีประสบการณ์ในอดีตคล้ายคลึงกับเขา ก็จะช่วยให้เขาคลายความทุกข์ใจ คลายความกังวลใจ และสามารถมองสิ่งต่างๆ เช่น เรื่องเกี่ยวกับความกลัว ความล้มเหลว หรือความผิดพลาด ที่เกิดขึ้นในอดีต รวมถึงเล่าว่าเราผ่านมันมาได้อย่างไร เพื่อเป็นแนวทางให้เขาแก้ปัญหาได้ไม่น้อยก็มาก
7. ส่งผ่านกำลังใจ การให้กำลังใจเป็นพลังอำนาจอย่างแท้จริง เพราะว่า ทำให้ผู้รับเข้มแข็งขึ้นโดยการให้ความมั่นใจแก่เขา ช่วยให้คนเข้าถึงศักยภาพของตนเอง ช่วยก่อให้เกิดมุมมองหรือทัศนคติที่มั่นใจยิ่งขึ้นเพื่อให้พร้อมแก่การท้าทายช่วยส่งเสริมความรู้สึกเชิงคุณภาพเฉพาะตัว และให้ค่าต่อความพยายาม กำลังใจช่วยปลุกเร้าส่งเสริม คนเราทุกคนล้วนต้องการกำลังใจและเราเองสามารถมอบสิ่งนั้นแก่ผู้อื่นได้ เพราะการให้กำลังใจ เป็นพลังที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนหลายคนได้
8. ช่วยเหลือด้วยความจริงใจ เมื่อคนใกล้ตัวเราเดือดร้อน เราก็ควรให้ความช่วยเหลือเขาในสิ่งที่เราสามารถช่วยได้ อย่างจริงใจ แสดงให้เขาเห็นว่าเราเต็มใจจะช่วยเหลือเขาเสมอเท่าที่ความสามารถของเราจะทำได้ เท่านี้เขาก็จะซาบซึ้งในน้ำใจของเราแล้ว
9. ส่งเพลงบอกความรู้สึกดีๆ การส่งเพลงบอกความรู้สึก ให้เป็นตัวแทนของเรา นับว่าเป็นวิธีที่ได้ผลและทำง่ายมาก การเลือกเพลงโดนใจสักเพลงที่เข้ากับสถานการณ์ในขณะนั้นแล้วส่งไปให้เขาฟังผ่านทางมือถือ ไม่ว่าจะเป็นเพลงรัก คิดถึง ห่วงใย สนุกสนาน หรือเพลงที่ให้กำลังใจ
หากคุณสามารถทำได้ใน 9 วิธีดังกล่าวคุณจะรู้สึกว่าตัวเองมีความสุขที่สุดที่ได้ช่วยเหลือคนใกล้ตัวให้พ้นจากความทุกข์ได้...
คำสำคัญ (Tags): #kmanw
หมายเลขบันทึก: 468918เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2011 15:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 10:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท