แนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์ของสำนักคลาสิค : จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill)


จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill ค.ศ. ๑๘๐๖-๑๘๗๓) เป็นบุตรของ เจมส์ มิลล์ นักเศรษฐศาสตร์รุ่นหลัง ๆ บางคนยกย่องให้เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำเกือบเท่า ๆ กับอดัม สมิท มัลทัส และริคาร์โด ผลงานที่สำคัญของมิลล์คือหนังสือชื่อ Principles of Political Economy with some of their Applications to Social Philosophy ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. ๑๘๔๘ เขาได้ให้ทัศนะไว้ว่า สิ่งหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ก่อนหน้าสมัยสำนักคลาสสิคได้กระทำผิดพลาดไปก็คือ การให้ความสำคัญแก่การบริโภค และเพื่อที่จะลบล้างความคิดที่ผิด ๆ เช่นนี้ นักเศรษฐศาสตร์การเมืองในสมัยของเขาจึงมีความเห็นว่า การบริโภคเป็นสิ่งที่ไม่สมควรได้รับการสนับสนุนเพราะว่า การบริโภคย่อมจะเกิดขึ้นเองเป็นปริมาณที่เท่ากับการผลิตที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ประเทศควรให้ความสำคัญในการที่จะทำให้ประเทศเจริญมั่งคั่งก็คือการผลิตไม่ใช่การบริโภค และด้วยเหตุนี้เขาจึงเน้นความสำคัญในการที่จะก่อให้เกิดแรงจูงใจต่อปัจจัยการผลิตซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อการผลิต ในทัศนะเกี่ยวกับบทบาทของภาครัฐและภาษี มิลล์มีความเห็นคล้ายคลึงกับริคาร์โด แนวคิดที่สำคัญของมิลล์ในด้านต่าง ๆ ได้แก่

การผลิต 

           สำหรับการผลิตต้องอาศัยปัจจัยการผลิตที่สำคัญสองอย่าง  คือ  แรงงานและที่ดิน  แรงงานซึ่งใช้ในการผลิตนั้นแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ

              ๑.แรงงานที่มีประสิทธิภาพ คือ แรงงานซึ่งมีคุณสมบัติในการสร้างความมั่งคั่ง  เช่น แรงงานที่ใช้ในการผลิตวัตถุดิบที่จะนำไปใช้ในการผลิตอีกต่อหนึ่ง  ตัวอย่างเช่น กรรมกรที่ขุดถ่านหิน  เกษตรกรที่ปลูกฝ้าย แรงงานซึ่งใช้ผลิตเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตสินค้า แรงงานที่ใช้ในการสร้างวัตถุหรือวัสดุต่างๆ แรงงานที่ใช้สร้างโรงงาน นอกจากนั้นแรงงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการ    เพิ่มพูนความรู้ความสามารถ และแรงงานที่ใช้ในการปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน เช่น ครู ทนายความ   นายแพทย์  ย่อมถือได้ว่าเป็นแรงงานที่มีประสิทธิภาพด้วย

              ๒. แรงงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ คือ แรงงานที่มีประโยชน์แต่ไม่ได้ผลิตความมั่งคั่ง  ซึ่งหมายถึงแรงงานที่ผลิตบริการ

         ในเรื่องการผลิตภาคเกษตรนั้นมักเกิดกฎการลดน้อยถอยลงของผลได้ต่อการใช้  แรงงาน  เมื่อมีการขยายการผลิตออกไปยังที่ดินที่มีคุณภาพต่ำลงจะทำให้ได้ผลผลิตที่ไม่มีคุณภาพ  มิลล์เห็นว่าควรแก้ไขโดยสร้างความเจริญก้าวหน้าทางเทคนิค ความรู้ ความชำนาญ การประดิษฐ์   คิดค้นในการผลิตทางเกษตรด้วยการปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อให้ใช้ที่ดินได้ตลอดปี  การคมนาคมขนส่งที่ดี ตลอดจนการแก้ไขล้มเลิกนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับภาษีที่ดิน ภาษีสินค้าเข้าออก เช่น กฎหมายข้าว ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรสูงขึ้น  สิ่งเหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาการลดน้อยถอยลงของผลได้

         นอกจากนั้นตามความคิดของมิลล์เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศที่ได้กล่าวถึงภาวะ ชะงักงันว่าไม่ใช่สิ่งน่าประหลาดใจ  แต่ควรคำนึงถึงเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศทางด้านสวัสดิการ  และเมื่อประเทศได้บรรลุถึงความเจริญเติบโตทางด้านวัตถุระดับหนึ่งแล้วก็จะหันมาปรับปรุงทางด้านวัฒนธรรมและจิตใจ  ประเทศก็จะพัฒนาไปในที่สุด

 

           การบริโภค

           ตามความคิดของมิลล์ การบริโภคแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

              ๑. การบริโภคที่มีประสิทธิภาพ คือ การบริโภคที่ก่อให้เกิดการผลิต และแรงงานที่มีประสิทธิภาพก็จะเป็นผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพ  นั่นหมายความถึง การบริโภคเพื่อทำให้ร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี และมีความสามารถในการทำงาน

              ๒. การบริโภคที่ไม่มีประสิทธิภาพ หมายถึง การบริโภคสิ่งของฟุ่มเฟือย หรือการเสาะแสวงหาความสุขจากการบริโภคถือว่าเป็นการบริโภคที่มิได้มีเป้าหมายเพื่อการผลิต

 

           ทุน

           เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ทุน คือ ผลิตผลของแรงงานที่ผ่านมาและได้ถูกเก็บสะสมเอาไว้เพื่อนำไปใช้ในการผลิต เช่น ที่พักอาศัย อาหาร และอุปกรณ์การผลิต  เขากล่าวว่า เงินไม่ใช่ทุน เงินเป็นเพียงสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมิได้มีบทบาทสำคัญในการผลิตโดยตรงเหมือนทุน  มิลล์มีข้อคิดเห็นสำคัญเกี่ยวกับทุน ดังนี้

              ๑. อุตสาหกรรมถูกจำกัดโดยขนาดของทุน  การจ้างงานจะเพิ่มขึ้นก็ต่อเมื่อมีการสะสมทุนเพิ่มขึ้น

              ๒. ทุนมาจากการออม

              ๓. ทุนที่มาจากการออมถูกนำไปใช้เพื่อการลงทุนจนหมด

        โดยสรุป มิลล์เห็นว่าการจ้างงานขึ้นอยู่กับจำนวนการสะสมทุน ทุนนั้นมาจากการออม และผู้เป็นเจ้าของทุนจะมีบทบาทสำคัญที่จะตัดสินใจว่าจะใช้ทุนเป็นจำนวนเท่าใด  ในการจ้างงานอุปสงค์ต่อสินค้าไม่จำเป็นต้องมีบทบาทในการก่อให้เกิดการจ้างงานหรืออุปสงค์ต่อแรงงาน  ดังนั้นอุปสงค์ต่อสินค้าจะทำให้ส่วนที่เป็นเงินออมลดลงและจะทำให้อุปสงค์ต่อแรงงานลดลงไปด้วย  นอกจากนี้มิลล์ยังมองระบบเศรษฐกิจในสภาพที่มีการจ้างงานเต็มที่อยู่ตลอดเวลา  ซึ่งสามารถเขียนเป็นสมการ ดังนี้

                              Y    =  C + S

                        ถ้า  C   =  คือ การบริโภค

                              S    =  คือ การออม

                              Y    =  คือ รายได้ ณ ระดับการจ้างงานเต็มที่

         ดังนั้นถ้าการบริโภคมีมากขึ้นจะทำให้การออมลดลงและจะทำให้เงินทุนลดลงในที่สุดอุปสงค์ต่อแรงงานลดลงไปด้วย

 

          การกระจายรายได้

          มิลล์มีความคิดเห็นว่าระบบทุนนิยมในประเทศอังกฤษไม่ประสบความสำเร็จในการกระจายรายได้  กล่าวคือ ทำให้คนที่ร่ำรวยยิ่งร่ำรวยต่อไปอีก  และคนที่ยากจนก็จะยิ่งยากจนต่อไป  ดังนั้นควรมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะดังกล่าวเพื่อช่วยผ่อนปรนปัญหาการกระจายรายได้ด้วยวิธีการที่พวกสังคมนิยมเสนอ  คือ  การจัดตั้งสหกรณ์  ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน  และเพื่อป้องกันการ แข่งขันเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว  ซึ่งเป็นวิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะยาว  ตัวอย่างเช่น  ปัญหาการกระจายรายได้ในภาคเกษตรกรรม  โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรกรรมยังคงได้รับอิทธิพลจากจารีตประเพณีในระบบเจ้าขุนมูลนาย  มิลล์เห็นว่าควรที่จะต้องมีการปฏิรูปเสียใหม่

 

ทฤษฎีกำไร 

          กำไรเกิดจากการที่แรงงานผลิตมากกว่าส่วนที่จะนำมาใช้ในการเลี้ยงดูแรงงานผลกำไร คือ ส่วนของผลิตผลคงเหลือซึ่งตกอยู่กับนายทุนหลังจากที่ได้จ่ายค่าตอบแทนแก่แรงงานแล้ว อย่างไรก็ตามนายทุนจำเป็นต้องจ่ายค่าตอนแทนให้แก่แรงงาน รวมทั้งค่าวัตถุดิบ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต ซึ่งเป็นทุนที่จะนำมาใช้จ่ายและเพื่อหาผลประโยชน์ที่จะได้รับในอนาคต

        โดยสรุปกำไรจึงเป็นผลตอบแทนต่อผู้ประกอบการซึ่งมีองค์ประกอบ ๓ ส่วน คือ

            ๑. อัตราดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนต่อการใช้เงินทุนของผู้ประกอบการ  ซึ่งหมายถึง ผลตอบแทนต่อความเสียสละของผู้ประกอบการ

            ๒. ค่าตอบแทนต่อการจัดการในฐานะที่ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจ (Wage of Management)

             ๓. ผลตอนแทนต่อการเสี่ยง

      ปัจจัยกำหนดกำไรที่สำคัญมี ๓ ประการ คือ

             ๑.ประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงาน  ซึ่งก็คือ จำนวนผลิตผลที่ผลิตได้

             ๒.สัดส่วนของผลิตผลที่เป็นค่าจ้าง

             ๓.ต้นทุนของแรงงาน (Cost of Labor)

       อัตรากำไรมีแนวโน้มที่จะลดลงและจะลดลงจนถึงระดับต่ำสุด  ซึ่งอัตรากำไรต่ำสุดนี้จะชดเชยพอกับความเสียสละ  และค่าเสี่ยง  เหตุที่ทำให้อัตรากำไรลดลงก็คือ ช่องทางที่จะใช้เงินทุนนั้นค่อยๆ หมดไป  ช่องทางที่จะลงทุนถูกจำกัดโดยที่ดินในประเทศและตลาดต่างประเทศที่จะรับซื้อสินค้าหัตถกรรม  ดังนั้นถ้าที่ดินถูกใช้ประโยชน์และตลาดต่างประเทศไม่สามารถขยายออกไปพอที่จะใช้เงินที่ตนมีอยู่ได้เพียงพอก็จะทำให้อัตรากำไรลดลง

       วิธีการที่จะแก้ไขไม่ให้อัตรากำไรลดลงมีหลายวิธีการ ดังนี้

             ๑.การทำลาย เช่น สงครามจะทำให้อัตรากำไรค่อยกระเตื้องสูงขึ้น

             ๒.การปรับปรุงเทคนิคในการผลิตให้ดีขึ้นโดยเฉพาะเทคนิคในการผลิตสินค้าประเภทอาหาร

             ๓.การขยายการค้ากับต่างประเทศเพื่อจะได้สินค้าประเภทอาหารราคาถูกจากต่างประเทศ

             ๔.การส่งทุนออกไปนอกประเทศ

       ท้ายสุดมิลล์ได้กล่าวถึงดอกเบี้ยว่าเป็นส่วนหนึ่งของกำไรและเป็นผลตอบแทนโดยตรงต่อการเสียสละหรือการละเว้น (Abstain) เพื่อที่จะสร้างทุนขึ้นมา การเสียสละหรือการละเว้นมองได้ ๒ ทาง คือ

             ๑.การละเว้นการบริโภคในปัจจุบันเพื่อให้มีรายได้เหลือเพื่อการสะสมทุน

             ๒.การสละสิทธิ์ที่จะใช้เงินทุนดังกล่าวแล้วไปให้คนอื่นใช้แทน

        มิลล์ได้อธิบายว่าอัตราดอกเบี้ยถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทานของเงินที่จะให้กู้ยืม  กล่าวคือ อัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่จะทำให้อุปสงค์ของเงินที่กู้ยืมเท่ากับอุปทานของเงินที่จะให้กู้ยืม  เมื่อใดก็ตามที่เงินทุนมีมากกว่าความต้องการอัตราดอกเบี้ยจะลดลง และหากความต้องการเงินทุนมีมากกว่าปริมาณเงินให้กู้อัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้น

       อุปสงค์ต่อเงินทุนประกอบด้วยอุปสงค์เพื่อการลงทุน  อุปสงค์ต่อเงินทุนของรัฐบาล และเจ้าของที่ดินเพื่อการบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดการผลิต หรือการบริโภคที่ไม่มีประสิทธิภาพ และ    อุปทานของเงินทุนประกอบไปด้วยเงินออมเงินฝากในธนาคาร และธนบัตรที่ใช้หมุนเวียน

 

                ทฤษฎีค่าเช่า

          ค่าเช่า ในอดีตเป็นผลของการผูกขาด  เจ้าของที่ดินสามารถจะกำหนดราคาได้ตามใจชอบ  แต่ในเวลาต่อมาผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินมีจำนวนมาก และมีการแข่งขันกันจนกระทั่งไม่สามารถ รวมตัวและกำหนดค่าเช่าได้ตามใจชอบ ดังนั้นค่าเช่าจึงเกิดจากการที่จำนวนของที่ดินที่มีคุณภาพดีๆ ซึ่งมีอยู่จำกัดเมื่อเทียบกับความต้องการอาหาร อันเนื่องมาจากการที่ประชากรเพิ่มขึ้นตลอดเวลา นอกจากนี้มิลล์ยังกล่าวถึงว่า ถ้าที่ดินมีทางใช้ประโยชน์ได้หลายทาง  ค่าเช่าจึงถือได้ว่าเป็นต้นทุนการผลิต  ทั้งนี้เพราะถ้าที่ดินใช้ประโยชน์ได้หลายทาง ผู้ที่ต้องการใช้ที่ดินในการผลิตจะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เจ้าของที่ดินเพื่อจะได้ใช้ที่ดินดังกล่าว  ไม่เช่นนั้นเจ้าของที่ดินอาจนำที่ดินของเขาไปใช้ในทางอื่น  ในกรณีนี้ค่าตอบแทนที่จะจ่ายให้กับเจ้าของที่ดินย่อมเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิต

 

           ทฤษฎีมูลค่า

         มิลล์ได้อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างมูลค่า (Value) กับราคา (Price) โดยกล่าวว่า มูลค่านั้นหมายถึง อำนาจซื้อของสิ่งของ ส่วนราคานั้นเป็นมูลค่าในรูปของเงินเป็นจำนวนเงินซึ่ง สิ่งของนั้นสามารถแลกได้ มูลค่าของสิ่งของจะถูกกำหนดโดยต้นทุนการผลิต ซึ่งประกอบด้วยค่าจ้างแรงงานและกำไร และอาจรวมเอาภาษีเข้าไปด้วย ทั้งนี้เพราะการที่มูลค่าของสินค้าที่เปลี่ยนไปก็ต่อเมื่อภาษีที่เก็บนั้นมีอัตราภาษีต่างกัน

      ในการอธิบายทฤษฎีมูลค่าของมิลล์ ได้แบ่งสินค้าออกเป็น ๓ ประเภท คือ

           ๑.สินค้าที่มีจำนวนจำกัดและไม่สามารถจะผลิตเพิ่มขึ้นได้อีก มูลค่าของสิ่งของจะถูกกำหนดโดยความหามาได้ยากของมัน และความต้องการของคน เช่น รูปปั้นโบราณ ภาพเขียนของนักวาดเขียนเก่าแก่ เป็นต้น

           ๒.สินค้าที่สามารถผลิตได้เพิ่มขึ้นอย่างไม่จำกัด โดยการใช้ทุนและแรงงานในการผลิตเป็นจำนวนคงที่ ต้นทุนการผลิตสินค้าประเภทนี้คงที่ไม่ว่าจะผลิตเป็นจำนวนมากเท่าไรก็ตาม มูลค่าของสินค้าประเภทนี้จะถูกกำหนดโดยต้นทุนการผลิตและการปรับตัวในระยะยาวของผู้ผลิต

           ๓.สินค้าที่สามารถผลิตเพิ่มขึ้นได้โดยที่ต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้นนั้น  หมายถึง

การผลิตสินค้ามากขึ้นบนที่ดินแปลงเดิมนั้นจะต้องใช้ทุนแรงงานเพิ่มขึ้นจึงจะได้ผลิตผลเท่าเดิม และมูลค่าสินค้าประเภทนี้จะถูกกำหนดโดยต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตบนที่ดินที่มีคุณภาพ   ต่ำสุด  สินค้าประเภทนี้ได้แก่ สินค้าเกษตร

 

            บทบาทของรัฐบาล

            ตามความคิดของมิลล์ รัฐบาลควรมีหน้าที่ให้ความคุ้มครองจากการถูกคุกคามโดยการใช้กำลังและจากการถูกหลอกลวง  นอกจากนั้นแล้วทุกคนก็มีสิทธิจะทำอะไรได้โดยที่รัฐไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง เมื่อไม่ได้กระทำผิดกฎหมายใดๆ  ส่วนรัฐบาลนั้นควรกระทำหน้าที่บางอย่างเช่น  การออกกฎหมายเกี่ยวกับการรับมรดก  การรับรองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน  การออกเหรียญหรือเงินตราที่ใช้หมุนเวียนในประเทศ  การสร้างถนน เป็นต้น

          นอกจากนั้นแล้วอาจจะมีกิจกรรมหรือทำหน้าที่ที่รัฐบาลอาจจะต้องทำเพื่อประโยชน์แก่สังคมโดยส่วนรวม เช่น การเก็บภาษีจากที่ดิน  การควบคุมการผูกขาด  การออกกฎหมายเพื่อให้ความยุติธรรมแก่คนงานเกี่ยวกับเรื่องค่าจ้างและชั่วโมงการทำงาน  อนุญาตให้มีการรวมตัวกันระหว่างคนงานเป็นสหภาพแรงงาน

           สำหรับบทบาทในด้านการศึกษา  รัฐบาลควรจะส่งเสริมให้มีการศึกษาทางด้านศิลปวัฒนธรรม และการพักผ่อนหย่อนใจของคน เช่น  การสร้างพิพิธภัณฑ์  สวนสาธารณะ เป็นต้น

          ท้ายสุดสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ  รัฐจะเข้ามามีบทบาทเพื่อปรับปรุงแก้ไขความไม่เท่าเทียมกันและการเอารัดเอาเปรียบกันในสังคม  และเพื่อสวัสดิการของคนส่วนใหญ่ในสังคม

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 468900เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2011 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท