สมบัติของ "พ่อ" : ๗. ความสามัคคีเป็นเรื่องสำคัญ


Large_treasure19

  

     พระพุทธเจ้าเป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง เป็นผู้ที่เมตตา เป็นผู้สั่งสอนหมู่เทวดาและมนุษย์ให้ดำเนินตามอย่างถูกต้อง แม่เป็นครูคนแรกของลูก คุณครูเป็นครูคนที่สองของนักเรียนนักศึกษา ผู้เป็นพ่อแม่ก็ต้องประพฤติปฏิบัติเป็นคนดี เป็นตัวอย่างของลูก ลูกก็จะได้ยอมรับ จะได้เคารพศรัทธา คนเราที่ไม่มีศรัทธายากที่จะเชื่อฟังยากที่จะปฏิบัติตาม เพราะการพูดร้อยครั้งยังไม่เท่าทำให้ดูครั้งเดียว ความสุขของครอบครัวที่จะเริ่มต้นให้ดีได้ก็มาจากพ่อจากแม่ พ่อแม่เคารพรักกัน เมื่อพ่อแม่ดีลูกก็มีความศรัทธา ความเชื่อมั่น มีความอบอุ่น พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของลูก

     ครูคนต่อไปก็ได้แก่คุณครู ครูบาอาจารย์ซึ่งไม่ได้เป็นพ่อแม่ที่แท้จริง เราจะปฏิบัติยังไงที่จะให้นักเรียนนักศึกษาเคารพนับถือ ประการแรกก็คงไม่พ้นความรักความเมตตา เราต้องมีความเมตตามาก ๆ ต่อเด็ก แสดงออกทางกาย ทางวาจา ทางจิตใจ เราต้องเอาหัวใจของเด็กให้ได้ก่อน เพราะเด็กกำลังต้องการที่พึ่ง พึ่งทั้งกาย พึ่งทั้งวาจา และจิตใจ เราจำเป็นต้องฝึกเมตตาฝึกสงสารให้มาก ๆ ให้ถือว่าลูกเขาก็คือลูกเรา เพราะว่าเป็นลูกศิษย์เรา เมื่อเด็กมันเคารพศรัทธาแล้วการบอการสอนมันก็ง่าย เด็กช่วง ๗-๑๖ ปีเป็นเด็กที่กำลังบังคับได้ฝึกได้ เราพยายามสอนให้เขาทำความดี ทั้งพระเดชทั้งพระคุณ มีความดีเท่าไหร่เอาไปยัดให้ มีสิ่งไม่ดีก็ให้บอกให้สอน ช่วงหนึ่งของเด็กคุณครูยังประมาทไปเด็กบางคนจบ ป.๕ ป.๖ ยังอ่านหนังสือไม่ได้เลย เราพยายามอยู่กับเด็ก สอนเขา อยู่แบบเพื่อน อย่าไปพูดเหน็บแนม พูดหยาบ เดี๋ยวเด็กมันจะไม่เข้าห้องเรียน เราต้องมีวิธีสอนเด็กมีอุบายสอนเขา

“ผู้เป็นพ่อแม่ก็ต้องประพฤติปฏิบัติเป็นคนดี เป็นตัวอย่างของลูก ลูกก็จะได้ยอมรับ จะได้เคารพศรัทธา คนเราที่ไม่มีศรัทธายากที่จะเชื่อฟังยากที่จะปฏิบัติตาม เพราะการพูดร้อยครั้งยังไม่เท่าทำให้ดูครั้งเดียว...”

     ข้อที่สำคัญที่ทุกคนควรรู้ไว้ สิ่งที่จะนำความเจริญมาสู่ครอบครัวต่อสถาบันคือ “ความสามัคคี” ความสามัคคีนี้ก็สำคัญมาก ที่ตัวเรามันไม่เจริญ ครอบครัวมันไม่เจริญ สถาบันมันไม่เจริญ พระพุทธเจ้าท่านถือว่าการไม่สามัคคีกัน เป็นการแตกแยก เป็นกรรม เป็นอนันตริยกรรม เป็นกรรมหนักที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ประชาชน ทะเลาะกัน เพราะเดินขบวนประท้วงมันมาจากการไม่สามัคคีกัน พระภิกษุทะเลาะกันพระพุทธเจ้ายังห้ามไม่ให้ทะเลาะกัน แม้แต่พระภิกษุต้องขาดจากความเป็นพระ

Large_treasure20

 

     คนที่เขาไม่รักเราไม่ชอบเรา เราต้องเป็นคนให้เขา คนที่รักเราอยู่แล้ว เราก็ให้เขา ถ้าเราไม่ให้เขามันก็จะนำความแตกแยก เขาจะผิดบ้างถูกบ้าง เราก็รู้จัก “ช่างหัวมัน” พระพุทธเจ้าถึงห้ามไปฟังความข้างหนึ่งและก็มาพูดให้อีกข้างหนึ่ง ถ้าเราฟังแล้วก็แล้วไป คนเราถ้าพูดแล้วเพื่อใส่ไฟคนอื่นเผาคนอื่น เราอย่าเป็นคนหูเบา เราอย่าไปพูดตรง พูดขวานผ่าซาก เดี๋ยวจะหาเรื่องหาราวให้เขาเกลียด เราอย่าไปทำตามความสะใจ ความรุนแรง เพราะว่าความรักความสามัคคีเป็นเรื่องใหญ่

     เราต้องรู้จักรักษาน้ำใจผู้อื่น ไม่เกลียดผู้อื่น ถึงเป็นผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาหรือคนยากจนเขาก็มีหัวใจเหมือนกัน คนเรามันก็อยากจะเป็นเจ้านาย เป็นคนมีอำนาจวาสนาทุกคน แต่ถ้ามันกำลังจะแตกแยกกันแล้ว ก็หาวิธีให้มันกลับมาเหมือนเดิม ที่มันกำลังจะแตกแยกให้หยุดไว้ก่อน ทุกคนในโลกนี้ก็อยากให้เขาทำตามตัวเองทั้งหมดแหละ “เมื่อเราเป็นคนดีแท้ เป็นคนมีคุณธรรมแท้ เขาถึงจะเคารพ เราอย่าไปเอาอำนาจบาตรใหญ่ไปใช้ เราอยากเป็นคนใหญ่คนโตเราต้องไม่ใช้อำนาจ ความดี ความเสียสละ ความไม่เห็นแก่ตัวมันจะนำทุกอย่างเข้าสู่ความร่มเย็น”

     ผัวเมีย ๒ คน อยากเป็นใหญ่ก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ เราอย่าทำตัวเป็นเสือ ถ้าเสือหลายตัวอยู่ด้วยกันไม่ได้ในถ้ำเดียวกัน มันต้องเป็นราชสีห์ เป็นราชสีห์ที่มีเมตตา เราต้องให้กำลังใจกับทุก ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นคนดีคนไม่ดี ต้องให้กำลังใจให้ความรักความเมตตากับเขาหมด “เราต้องฝึกฟังคนอื่น เพราะทุกคนความชำนาญไม่เหมือนกัน ถ้าเราไม่รู้จักฟังคนอื่นก็จะไม่ได้ใจเขา จะได้แต่กายเขา”

Large_treasure21

 

     ความกตัญญูกตเวทีนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ต้องรู้จักบุญคุณของพ่อแม่ของครูบาอาจารย์ วัตถุข้าวของเงินทอง เสื้อผ้า อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ถ้าเราไม่รู้จักคุณค่าของพ่อแม่ของครูบาอาจารย์ ข้าวของเงินทอง ต้นไม้ ดินฟ้าอากาศ เราจะเป็นคนไร้ค่า เช่น ของที่ใช้แล้วไม่เก็บรักษา กินข้าวไม่ล้างจาน มีผัวก็ด่าผัว ขี่รถก็ไม่ดูแลรถ พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ไปตากแดด ไม่ให้ตกแตก ท่านเป็นคนที่มีความกตัญญูกตเวทีถึงได้เป็นพระพุทธเจ้า ท่านไม่ยกตัวเสมอครูบาอาจารย์ พ่อแม่ ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง เราจะได้ดีก็ต้องมาจากพ่อแม่ ครูบาอาจารย์

ชินวโร ภิกขุ
(บันทึก)
วันพุทธที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔

 


 

 

สมบัติของพ่อ

หมายเลขบันทึก: 468816เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2011 16:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2012 09:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท