ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ (กาญจนบุรี)
ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ (กาญจนบุรี) ศมม.กจ. กจ.

การใช้หม่อนป่าเลี้ยงไหม


การปฏิบัติของเกษตรกรในการนำหม่อนป่ามาเลี้ยงไหม

การใช้หม่อนป่าเลี้ยงไหม

                โดยทั่วไปการเลี้ยงไหมของเกษตรกรในอดีตจะใช้ใบหม่อนพันธุ์พื้นเมือง  เช่น  หม่อนไผ่ หม่อนน้อย คุณไพ  หม่อนสร้อยมีลักษณะใบบาง ผลผลิตต่ำ เลี้ยงไหมโดยใช้พันธุ์ไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน ต่อพันธุ์เองเก็บพันธุ์เอง ผลผลิตต่ำ ทำการเลี้ยงโดยการสืบทอดจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่นเรื่อยมา  ต่อมามีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์หม่อนได้พันธุ์หม่อนพันธุ์ส่งเสริมหลายพันธุ์ที่มีคุณภาพดีมีผลผลิตใบหม่อนสูงใบหม่อนมีคุณค่าทางอาหารเหมาะสมที่จะนำมาเลี้ยงไหมแต่ละวัย  เช่น  ทนแล้งได้ดี  ต้านทานโรคราสนิมฯ ใช้พันธุ์ไหมจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ (กาญจนบุรี)  ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ได้รับการพัฒนาปรับปรุงให้แข็งแรง  ผลผลิตดีมีการแนะนำการเลี้ยงที่เหมาะสม

                เกษตรกรที่จะเลี้ยงไหมต้องมีการเตรียมแปลงหม่อนมีการจัดการแปลงหม่อนให้พร้อมและเพียงพอก่อนที่จะนำไข่ไหมมาเลี้ยงเกษตรกรของจังหวัดกาญจนบุรี ส่วนใหญ่ประสบปัญหาใบหม่อนไม่เพียงพอกับการเลี้ยงไหมในช่วงวัย 4 และวัย 5 (วัยแก่)  ซึ่งเป็นช่วงที่หนอนไหมมีความต้องการกินใบหม่อนในปริมาณมากเนื่องจากช่วงฤดูแล้งต้นหม่อนขาดน้ำทำให้ใบหม่อนเหลืองร่วงหล่นไม่เพียงพอในการนำมาใช้เลี้ยงไหม ส่วนในฤดูฝนเกษตรกรจะประสบปัญหาหม่อนเกิดโรครากเน่าซึ่งยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในพื้นที่ที่เคยเกิดโรครากเน่ามักจะเกิดปัญหาซ้ำอีกเมื่อนำหม่อนไปปลูกในพื้นที่เคยเกิดโรครากเน่า  ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรขาดแคลนใบหม่อนในการเลี้ยงไหม

                เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านทุ่งนางครวญ  หมู่ 6  ตำบลชะแล  อำเภอทองผาภูมิ  จังหวัดกาญจนบุรี  ประสบกับปัญหาดังกล่าวเช่นกัน  นางไสว  ถาวงค์กลาง  และนายทองลวด  แหงไธสง เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในกลุ่มนี้  มีสมาชิกประมาณ  6 - 10  ราย  ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพเสริม เลี้ยงไหมปีละ  5 - 8  รุ่น  ส่งเส้นไหมให้กับโครงการศูนย์ศิลปาชีพฯ

                นางไสว  ถาวงศ์กลาง  และนายทองลวด  แหงไธสง  ตลอดจนสมาชิกในกลุ่มแก้ไขปัญหาการขาดแคลนใบหม่อนโดยการใช้ใบหม่อนป่าซึ่งมีในป่าบนภูเขาใกล้หมู่บ้านมาเลี้ยงไหม  บางรายนำหม่อนป่ามาปลูกบริเวณข้างบ้านเพื่อเก็บใบหม่อนเลี้ยงไหมช่วงไหมวัย 4  และวัย 5 ในช่วงที่ใบหม่อนปกติที่ปลูกไว้ไม่เพียงพอ

                จากการติดตามผลการเลี้ยงไหมของเกษตรกรและการให้ข้อมูลของเกษตรกรพบว่ามีการใช้ใบหม่อนป่ามาเลี้ยงไหมในช่วงวัย 4  และวัย 5 เพื่อแก้ไขปัญหาใบหม่อนไม่เพียงพอในการเลี้ยงไหมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.  2543 โดยผลผลิตรังไหม เส้นไหมที่ได้ไม่แตกต่างจากการเลี้ยงโดยใบหม่อนปกติมากนัก  ซึ่งวิธีการในการเก็บ  ใบหม่อนป่าเกษตรกรปฏิบัติเช่นเดียวกับหม่อนปกติโดยการตัดกิ่งรูดใบหม่อนใช้ผ้าชุบน้ำคลุมเพื่อรักษาคุณภาพของใบหม่อนขณะขนส่งและรอนำไปเลี้ยงไหม

     

ลำต้นหม่อนป่าในสภาพธรรมชาติ

ลักษณะใบหม่อนป่าชนิดใบแฉก



ลักษณะใบหม่อนป่าชนิดใบโพธิ์/หลังตกแต่ง

 

 การปฏิบัติของเกษตรกรในการนำหม่อนป่ามาเลี้ยงไหม 

1. การเลี้ยงไหมวัยอ่อนวัย  1 – วัย 3  ใช้เวลาในการเลี้ยง   12   วัน

 เลี้ยงโดยให้กินใบหม่อนปกติ พันธุ์ส่งเสริม

  

ภาพการใช้ใบหม่อนป่าที่นำมาทดสอบเลี้ยงไหมวัยอ่อนถึงวัย 5 ดำเนินการในศูนย์ฯ

 

2. การเลี้ยงไหมวัยแก่วัย 4 และวัย 5 ใช้เวลาในการเลี้ยง    13   วัน

ไหมสุกทำรังใช้เวลา    5   วัน 

เลี้ยงโดยให้กินใบหม่อนป่าไม่มีใบอ่อนยอดอ่อนติดมา

 

ภาพการทดสอบใช้หม่อนป่าเลี้ยงไหมวัย4 - วัย5 ดำเนินการในศูนย์ฯ

 

 

3.ผลผลิตรังไหมที่ได้

นำรังไหมมาสาวได้เส้นไหมได้รังไหม  12  กิโลกรัม สาวได้เส้นไหม   1  กิโลกรัม

 

รังไหมที่เลี้ยงโดยใช้ใบหม่อนปกติพันธุ์ส่งเสริม

รังไหมที่เลี้ยงโดยใช้ใบหม่อนป่าตั้งแต่วัย1 - วัย5

               

         จากข้อมูลดังกล่าวที่ได้รับจากเกษตรกรพบว่าเกษตรกรไม่เคยนำใบหม่อนป่าเลี้ยงไหมวัยอ่อน   ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ (กาญจนบุรี)  จึงได้ทดสอบนำใบหม่อนป่ามาเลี้ยงไหมวัยอ่อนตั้งแต่แรกฟักจนถึงวัย 3  และเลี้ยงต่อไปจนถึงวัย  5 ผลก็คือหม่อนป่าสามารถใช้เลี้ยงไหมได้ทั้งวัยอ่อนและวัยแก่จนถึงไหมสุกทำรังซึ่งการนำใบหม่อนป่ามาเลี้ยงวัยอ่อนจะทำให้ตัวหนอนไหมได้ช้ากว่าปกติประมาณ 1.5 – 2 วัน  เปลือกรังบาง รังเล็กกว่าการเลี้ยงด้วยใบหม่อนปกติ  การเจริญเติบโตของหนอนไหมในช่วงวัยอ่อนจะโตช้ากว่า (นอนช้ากว่า) หนอนไหมที่กินใบหม่อนปกติ  1.5 – 2  วัน

 

หมายเหตุ  หม่อนป่าสามารถนำมาปลูกในแปลงปลูกหม่อนปกติได้ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ (กาญจนบุรี)  กำลังจะดำเนินการศึกษาทดสอบเพื่อพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้นี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านหม่อนและทำให้เกิดการพัฒนาด้านอื่นๆ  ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและวงการหม่อนไหมต่อไป

 

 

 

ที่มา   ผู้ให้ข้อมูล  นางไสว  ถาวงศ์กลาง  บ้านเลขที่ 57  หมู่  6  บ้านทุ่งนางครวญ ตำบลชะแล  อำเภอทองผาภูมิ  จังหวัดกาญจนบุรี

 

   นางไสว  ถาวงศ์กลาง  ผู้ให้ข้อมูล 

 

ผู้รวบรวมและเผยแพร่นางพรไสว ชุ่มบุญชู ตำแหน่ง นักวิชาการเกษตรชำนาญการ  

ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ (กาญจนบุรี)  โทร.  034-552237  มือถือ  081-8806727

 

 

หมายเลขบันทึก: 468637เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2011 15:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สงสัยว่าจะกินเพื่อความอยู่รอด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท