การบรรจุ การเก็บรักษาขนมไทยไว้ได้นานและถูกสุขลักษณะ


การบรรจุ การเก็บรักษาขนมไทยไว้ได้นาน และถูกสุขลักษณะ
การบรรจุ  การเก็บรักษาขนมไทยไว้ได้นาน  และถูกสุขลักษณะ 
                   1.   ความหมาย  ความสำคัญการบรรจุขนมไทย
                                1.1 การบรรจุในที่นี้หมายถึง  การบรรจุขนมไทยเพื่อจำหน่าย      เพราะเป็นสิ่งที่สามารถดึงดูดสายตาผู้ที่พบเห็นให้หันมาพิจารณาให้ความสนใจ  และอยากเป็นเจ้าของขนมนั้น ๆ 
ดังนั้นขนมไทยที่มีการบรรจุที่สวยงาม  แปลกใหม่ย่อมสามารถจำหน่ายได้ดีกว่า  แม้ว่าขนมนั้นจะมีรสชาติธรรมดา  หรือปานกลาง  ทั้งนี้เพราะความพอใจของผู้บริโภค  อยู่ที่การบรรจุแบบหลากหลายทันสมัย
                             1.2  ความสำคัญของวัสดุเครื่องใช้ในการบรรจุและตกแต่ง
                                 1.2.1 ทำหน้าที่บรรจุใส่ เช่น ใส่หรือห่อขนม
1.2.2 ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครอง เช่น ป้องกันไม่ให้ขนมเสียรูปทรง แตกหัก ไหลซึม
1.2.3 ทำหน้าที่รักษาคุณภาพขนม เช่น ป้องกันความชื้นจากภายนอก
1.2.4 ทำหน้าที่รักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้วัสดุที่ให้ปริมาณขยะน้อย ย่อยสลาย
                                         ได้ง่าย
1.2.5 ทำหน้าที่ส่งเสริมการขาย เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบสวยงามสามารถใช้
                                          เป็นสื่อโฆษณาได้ด้วยตนเอง
         2.   ชนิดของวัสดุเครื่องใช้ในการบรรจุและตกแต่ง
2.1  ใบตองสด ใช้ห่อขนมสด ขนมนึ่ง ขนมต้ม ชนิดต่าง ๆ ขนมไทยส่วนใหญ่ ใช้ใบตองสดในการบรรจุและตกแต่ง ให้ดูสวยงาม เช่น ขนมตาล ขนมกล้วย ข้าวต้มมัด ขนมสอดไส้เป็นต้น      
2.2  ใบตองแห้ง สมัยโบราณใช้ใบตองอ่อน  นำมาตากแดดแล้วรีดจนเรียบ  ใช้กรรไกรตัดเป็นรูปร่างเรียงเก็บไว้สำหรับห่อขนม เช่น ขนมกะละแมเสวย ขนมเทียนสลัดงา และขนมเข่ง  
 2.3  ใบเตย ใช้สำหรับทำกระทงขนมตะโก้
2.4 กระดาษแก้ว ใช้ห่อขนมให้ดูสวยงาม สะอาด น่ารับประทาน และเก็บไว้ได้นาน
พอสมควร เช่น ทอฟฟี่ กล้วยกวน สับปะรดกวน พุทรากวน เป็นต้น
2.5 ถ้วยพลาสติกใส ปัจจุบันนิยมใช้วัสดุอื่นๆมาใช้บรรจุขนมแทนใบตองอย่างสมัยก่อน ถ้วยพลาสติกที่นิยมในปัจจุบันมี่รูปร่างหลายแบบ เช่น รูปหัวใจ รูปกลม และรูปสี่เหลี่ยม นิยมนำมาบรรจุขนมประเภทวุ้นหน้าต่าง ๆ ขนมชั้นกุหลาบ หรือขนมที่ตกแต่งเป็นชิ้น หรือพอดีคำเพื่อสะดวกในการบรรจุและจำหน่าย ทั้งยังสวยงามน่ารับประทาน
2.6 กล่องกระดาษ      นอกจากการห่อแล้ว    การบรรจุขนมต่าง ๆ   ลงในกล่องก็จะทำให้สะดวกในการซื้อนำกลับบ้าน ซึ่งในปัจจุบันนิยมกันมากนั้น      ขนาดของกล่องกระดาษจะขึ้นอยู่กับชนิดของขนมที่อัดบรรจุ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีขนาดที่พอเหมาะ   สวยงาม   สะดวกในการนำติดตัวและช่วยให้ขนมสะอาดน่ารับประทาน  กล่องกระดาษสามารถดัดแปลงรูปร่างได้หลายแบบตามความคิดสร้างสรรค์ของผู้จำหน่าย ซึ่งจะทำให้ขบวนการบรรจุไม่เหมือนใคร        
               2.7 ถาดโฟม เป็นที่นิยมใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน เพราะสะดวก หาซื้อได้ง่าย  ราคาถูก การจัดบรรจุขนมไทย ลงบนถาดโฟม และปิดทับด้วยกระดาษพลาสติกได้ จะทำให้มองเห็นขนมที่อยู่ภายใน   ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้ผู้ซื้อสนใจ ขนมที่อยู่ภายในได้
        3.   วิธีการห่อ  การตกแต่งและการบรรจุขนมไทยด้วยวัสดุชนิดต่าง ๆ 
3.1 วิธีการห่อ และการบรรจุด้วยใบตองสด
                        3.1.1   การห่อสวม เป็นการห่อของเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบชั่วคราว และห่อขนมจำนวนไม่มาก  มีวิธีการห่อดังนี้
*  ตัดใบตองเป็นรูปรี ใช้ใบตอง 2 แผ่น แผ่นใหญ่อยู่ข้างนอก ขนาดตามต้องการ หงายด้านนวลขึ้น  แผ่นเล็กอยู่ด้านใน คว่ำด้านนวลลงไปประกบกับแผ่นใหญ่
*  นำขนมที่จะห่อวางบนใบตองแผ่นเล็ก จับเส้นกลางทั้งสองข้างโอบขึ้นมาด้วยมือทั้งสองข้าง  ให้ด้านซ้ายอยู่ข้างใน  ด้านขวาหุ้มทับด้านซ้ายสวมกันจนมุมล่าง และปลายใบตอง  เรียงแหลมประกบกันสนิท กลัดไม้กลัดตรงขึ้นไปทางยอดแหลม
3.1.2   การห่อทรงเตี้ย ใช้ห่อขนม เช่น ข้าวเหนียวสังขยาหน้าต่าง ๆ ขนมหม้อแกง ห่อขนมถาดเพื่อจำหน่ายได้ทุกประเภท มีวิธีการห่อดังนี้
*  เลือกใบตองให้ได้ขนาดตามต้องการและเช็ดใบตองให้สะอาด   ตัดเป็นรูปรีปลายแหลม   ลักษณะเช่นเดียวกับการห่อสวม แต่มีขนาดกว้างมากกว่าการห่อสวมประมาณ 1 นิ้ว ใช้ใบตอง 2 แผ่น  มีแผ่นเล็กกับแผ่นใหญ่ โดยให้แผ่นเล็กอยู่ด้านใน คว่ำด้านนวลทับลงบนแผ่นใหญ่
*  นำขนมมาห่อ โดยใช้มือซ้ายจับชายใบตอง ด้านซ้ายยกขึ้นไปสวมกับ
ใบตองด้านขวา ให้ชายใบตองด้านขวาทับด้านซ้ายแล้วกลัดด้วยไม้กลัด
                                3.1.3    การห่อทรงสูง
*  เลือกใช้ใบตองตรงส่วนกลางใบ ช่วงยาวพอประมาณ ฉีกใบตองขนาดกว้างตามต้องการ เลือกทางมะพร้าวที่มีความยาวพอดีไว้สำหรับรัด
* ตัดใบตองเรียงหัวและท้ายใช้ 2 ขนาด แผ่นเล็กอยู่ด้านใน แผ่นใหญ่อยู่ด้านนอก นำมาโดยนำเอาด้านมีนวลประกบกัน

* ตักขนมมาใส่ตรงกลาง ห่อเช่นเดียวกับการห่อทรงเตี้ย นำทางมะพร้าวที่เตรียมไว้มารัดตรงกลาง เรียกว่า เตี่ยวแล้วกลัดด้วยไม้กลัด ตัดปลายเตี่ยวให้สวยงาม
ภาพที่ 5.1   ขนมสอดไส้การห่อทรงสูง  : ขวัญเรือนฉบับงานฝีมือ : 6
3.1.4           การห่อขนมเทียน คนไทยโบราณจนถึงปัจจุบันทำกันโดยนำขนมเทียนใช้
ทำบุญตักบาตรเนื่องในวันสงกรานต์  มีวิธีการห่อดังนี้
*  ตัดใบตองเป็นใบกลมทั้งสองชิ้น ชิ้นในมีขนาดเล็กและอ่อนกว่า
ทาน้ำมันเพื่อกันขนมติดใบตอง
*พับใบตองเป็นรูปกรวยทำมุมแหลมตรงกึ่งกลางใบตอง
*  ใส่ขนมห่อโดยการพับใบตองที่มีรอยจีบปิดทับขนม แล้วพับริมทั้งสองข้างทบกลับเข้ามา สอดปลายใบตองเก็บให้เรียบร้อย นำไปวางคว่ำลงกับลังถึงเตรียมนึ่ง
 
ภาพที่ 5.2 การห่อขนมเทียน  : ขวัญเรือนฉบับงานฝีมือ : 18
3.1.5    การห่อข้าวต้มผัด  ข้าวต้มผัด ทำด้วยข้าวเหนียว ผัดกับกะทิ ปรุงรสด้วยเกลือ และน้ำตาลทรายมีกล้วยสุกงอม และเผือกเป็นไส้  มีวิธีการห่อดังนี้
*  ฉีกใบตองตามต้องการ ใช้ 2 ขนาดเล็กและใหญ่ วางใบตองประกบกัน
*  ใส่ข้าวต้มผัด พับชายใบตองตามยาวม้วนเข้าให้แน่น
*  มือซ้ายจับไว้ มือขวาจับจีบทีละด้าน แล้วพับชายใบตองทับลงด้านล่าง

ทำอย่างเดียวกันอีก 1 ข้าง แล้วนำมาวางซ้อนกัน มัดด้วยตอกให้แน่นนำไปนึ่ง ภาพที่ 5.3 ภาพที่ 5.4 ภาพที่ 5.5

ภาพที่ 5.6 ภาพที่ 5.7 ภาพที่ 5.8
ภาพที่  5.3 –5.8 ขั้นตอนการห่อข้าวต้มมัด : ขวัญเรือนฉบับงานฝีมือ : 21
3.1.6  การห่อข้าวเหนียวปิ้ง  มีวิธีการห่อดังนี้
*  เช็ดใบตองให้สะอาด ฉีกใบตอง ตามต้องการ พับทบใบตองขึ้นมาเกือบเป็นมุมฉาก แล้วม้วนเป็นกรวยไปจนสุดใบตอง   ทำเป็นกรวยสามเหลี่ยม 

* ใส่ข้าวเหนียวที่มูนแล้วพร้อมไส้ พับปากกรวยด้านยาวเข้าไป ทั้งซ้าย ขวาพับทบชายที่เหลือลงมากลัดด้วยไม้กลัด
ภาพที่  5.9 การห่อข้าวเหนียวปิ้ง: ขวัญเรือนฉบับงานฝีมือ : 25
3.1.7   การทำกระทงใบตองสด
1)  กระทงมุมเดียวดุนก้น ใช้ใส่ขนมเพื่อให้ดูเหมือนมีขนมมากขึ้น และช่วยให้วางกระทงได้สะดวกไม่ล้ม ใช้ใส่ข้าวเหนียวหน้าต่าง ๆ ฉีกใบตองกว้างขนาดตามต้องการ 2  แผ่น เช็ดให้สะอาด  นำทางด้านอ่อนและด้านแข็งมาวางขวางกันตัดให้เป็นรูปวงกลมจับใบตองทำมุมตรงกลาง   แล้วใช้นิ้วมือดุนก้นขึ้นมาให้เป็นร่องวงกลม
                                  2)  กระทงสองมุม ใช้บรรจุขนมกล้วย ขนมตาล โรยมะพร้าวขูดฝอยนึ่ง กระทงจะช่วยให้มองเห็นขนมสวยน่ารับประทาน  มีวิธีการทำดังนี้
      - ฉีกใบตอง 2 แผ่น   ขนาดตามต้องการ    นำด้านอ่อนกับด้านแข็งวางสลับทางประกบด้านนวลเข้าหากันตัดใบตองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
                                        - จับมุมใบตองทีละด้านให้ทั้งสองข้างได้ระดับเดียวกัน  กลัดด้วยไม้กลัดตรงขึ้นไปตามมุมแหลม   จับมุมอีกด้านเช่นเดียวกันกลัดไม้กลัด จัดให้สองด้านมีมุมตรงกัน กระทงจะไม่เบี้ยว
                                   3)  กระทงสี่มุม     นิยมใช้ใส่ขนมตะโก้ ขนมเข่ง มีวิธีการทำดังนี้
                                          - ฉีกใบตองตามต้องการ 2 แผ่น  เช็ดให้สะอาดนำทางด้านอ่อนและ
ด้านแข็งมาวางขวางทางกัน    ตัดให้เป็นรูปวงกลม
       - จับจีบเข้ามุมที่ 1 ให้มีความสูงพอเหมาะเพื่อใส่ขนมได้ตามต้องการแล้วจับมุมที่ 2    ตรงข้ามกับมุมที่ 1
       - จับจีบที่ 3 ระหว่างกลางมุมที่ 1 และมุมที่ 2   และจับจีบที่ 4 ตรงข้ามกับจีบที่3   ในขณะที่จับจีบมุมใบตอง  พยายามทำก้นกระทงให้สวยงามอย่าให้สอบมากเกินไป  เพราะจะตั้งไม่มั่นคง    แล้วจึงกลัดด้วยไม้กลัด  ปัจจุบันเพื่อความสะดวกอาจใช้ลวดเย็บแทนไม้กลัด  แต่มีข้อควรระวังคือ  ต้องให้ให้ตัวเย็บอยู่ด้านนอกเสมอ
 
ภาพที่  5.10  ตะโก้ที่บรรจุกระทงสี่มุมใบตอง : ขวัญเรือนฉบับงานฝีมือ : 10
              3.2   การทำกระทงใบเตย  นิยมบรรจุขนมตะโก้ ทำให้ดูสวยงามน่ารับประทานและช่วยให้มีกลิ่นหอม  มีวิธีการทำดังนี้
                     *  เลือกใบเตยใบสวย ๆ  มีความยาวพับทบได้ 4 รอบ   ความกว้างของกระทง ให้ได้ขนาดเท่าความกว้างของใบเตย
                     * ขลิบใบเตยให้ชนสันกลางใบ ให้ได้ 5 ช่อง
*  เริ่มพับทบช่องขวาสุด   หักมุมให้เส้นที่ 2 ทับเส้นที่ 1 หักมุมต่อไป ให้เส้นที่ 3 ทับเส้นที่ 2 และให้เส้นที่ 4 ทับเส้นที่ 3 และให้เส้นที่ 1 ทับเส้นที่ 4 เส้นที่ 5      จับขัดและสอดเข้า
มาอยู่ใน 
กระทงกลัดด้วยไม้กลัดหรือใช้ลวดเย็บแทน เพื่อให้แผ่นหนายิ่งขึ้น
 
             ภาพที่  5.11  กระทงใบเตย : ขวัญเรือนฉบับงานฝีมือ : 32
              3.3   การห่อด้วยใบตองแห้ง   มีวิธีการห่อดังนี้
                      *  ทำใบตองแบบห่อของทรงเตี้ย เอียงหัวท้าย ความกว้าง ยาว กะให้พอดีกับขนมชิ้นเล็ก ๆ ใช้วิธีห่อแบบทรงเตี้ย กลัดด้วยไม้กลัด การห่อด้วยใบตองแห้ง ช่วยให้เก็บได้นาน ป้องกันการขึ้นรา   และขนมมีกลิ่นหอม  ส่วนใหญ่นิยมใช้ห่อขนมกะละแมเสวย      แต่ปัจจุบันมักจะพบอยู่บางแห่งเท่านั้น  เพราะการห่อด้วยถุงพลาสติกที่นำมาตัดเป็นแผ่น ๆ  จะสะดวกและรวดเร็วกว่า
       3.4   การห่อด้วยกระดาษแก้ว  มีวิธีการห่อดังนี้
                          *  ตัดกระดาษเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส       วางขนมลงตรงกลางจับมุมทบเข้าหาขนมที่ละมุม แล้วติดด้วยเทปใส
  *  ตัดกระดาษแก้ว เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางขนมตามยาวม้วนกระดาษแก้วเข้าด้วยกัน  รวบปลายหมุนให้เป็นเกลียว ใช้ห่อขนมจำพวกทอฟฟี่ถั่ว  ผลไม้กวน
         3.5   การบรรจุขนมในถ้วยพลาสติก  มีวิธีการบรรจุดังนี้
                        *  ขนมวุ้นต่าง ๆ เคี่ยววุ้นกับส่วนผสมต่าง ๆ จนได้ที่ จึงตักหยอดในถ้วยพลาสติกใส่รูปแบบต่าง ๆ  ทิ้งไว้จนเย็นและแข็งตัว จึงนำมาใส่กล่อง หรือถาดโฟม ปิดทับด้วยพลาสติกใส
                         * ขนมชั้น ตัดเป็นชิ้นขนาดพอดีคำ  บรรจุลงในถ้วยพลาสติกใส  หรือพับขนมชั้นเป็นรูปดอกกุหลาบบรรจุลงในถ้วยพลาสติกใสรูปทรงกลมหรือหัวใจ
    * ทองหยิบ  หยิบเป็นดอกเสร็จเรียบร้อยแล้วบรรจุลงถ้วยพลาสติกใสเพื่อให้คงรูปทำให้ดูสวยงาม  สะดวกในการบรรจุลงกล่องหรือจัดเสิร์ฟ
    *  ขนมลืมกลืน   กวนขนมจนได้ที่ตักหยอดลงในถ้วยพลาสติกรูปหัวใจหรือทรงกลม 
3.6   การบรรจุขนมลงในกล่อง
ขนมนอกจากการห่อแล้ว ยังมีการนำขนมมาบรรจุลงกล่องอีกครั้ง เพื่อให้ขนมดู มีค่าหรือมีราคามากยิ่งขึ้น ซึ่งขนาดของกล่อง แล้วแต่ความต้องการ มีทั้งสี่เหลี่ยมจัตุรัส
สี่เหลี่ยมผืนผ้า และแบบกลม  กล่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส ชนิดมีฝาในตัว เจาะตรงกลางฝาปิดกระดาษแก้ว เพื่อทำให้มองเห็นขนมได้ชัดเจน
 
 
ภาพที่  5.12  การบรรจุขนมลงในถาดโฟม และกล่อง : www.jeducation.com
4.    ประเภทการบรรจุขนมไทย
การบรรจุขนมไทยแบ่งเป็น  2  ประเภท  คือ
4.1    การบรรจุขนมไทยสำหรับผู้บริโภค  หรือการบรรจุภายใน  
  การบรรจุขนมไทยสำหรับผู้บริโภค  หรือการบรรจุภายใน  เป็นการบรรจุเพื่อให้ขนมมีเอกลักษณ์ดึงดูดใจผู้ซื้อ  มีรูปร่างลักษณะสีสัน  แตกต่างกันออกไป  มีเอกลักษณ์   เฉพาะตัวทันสมัยอยู่ตลอดเวลา  ซึ่งวัสดุที่นำมาใช้บรรจุต้องมีคุณภาพ  หรือมาตรฐานดังนี้
 1)  สะอาดไม่เคยใช้ใส่อาหาร  หรือวัตถุอื่นใดมาก่อน  เว้นแต่วัสดุจำพวกแก้ว
                              2)  เป็นวัสดุที่ไม่มีสารออกมาปนเปื้อนกับอาหารที่บรรจุ
                                  3)  หากเป็นพลาสติกจะต้องเป็นชนิด   Polyvinyl  Chloride หรือ PVC  (พรพล  รมย์นุกุล :182 )  นิยมใช้ในการบรรจุอาหารทั้งรูปแบบภาชนะคงรูปและภาชนะอ่อนตัว คุณสมบัติเด่น PVC  คือความใสและสามารถป้องกันการซึมผ่านของไขมันได้ดี  ราคาถูก มีหลายรูปแบบได้แก่
                                      - ฟิล์ม PVC  นิยมใช้ผลิตฟิล์มชนิดยืดได้สำหรับการห่ออาหารสด  เช่น  เนื้อ ผักและผลไม้  และอาหารพร้อมปรุง  เนื่องจากความใส  ความสามารถในการยืดตัวได้มาก  และสามารถเกาะติดได้ของฟิล์ม   ทำให้ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อื่น ๆ  ช่วยยืดติด    นอกจากนี้ยังนิยมใช้ผลิตฟิล์มชนิดหดรัดได้  เพื่อทำให้การห่อแบบสนิทกับผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะสวยงามกว่าการห่อด้วยฟิล์มธรรมดา  ใช้รวบรวมผลิตภัณฑ์หลาย ๆ หน่วยให้เป็นหน่วยใหญ่ด้วยกัน
                                     -  ขวด PVC  นิยมใช้ในการบรรจุน้ำมันพืชสำหรับปรุงอาหาร  น้ำสลัด  ซอสและ ขนมทอดหรืออบชนิดต่าง ๆ ที่มีไขมันมาก อย่างไรก็ตาม  การใช้ พลาสติก PVC  บรรจุอาหารจะต้อง
ระมัดระวังเรื่องวัตถุเจือปนที่ใช้แต่งเติมใน  PVC  เช่น  สารแต่งเติมเพื่อให้ PVC  มีความยืดหยุ่นและอ่อนตัวได้มากขึ้น  สารแต่งเติมเพื่อความเสถียรต่อความร้อนที่ใช้ในกระบวนการขึ้นรูป  เป็นต้น  นอกจากนี้   PVC  ยังสามารถแตกตัวได้ง่ายที่อุณหภูมิประมาณ  70-90 องศาเซลเซียส  ซึ่งจะก่อให้เกิด VCM (vinyl  chloride  monomer)  ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค  
                            4) ไม่มีสีใด ๆ เจือปน  เว้นแต่วัสดุบรรจุ  ไม่สัมผัสโดยตรงกับอาหาร
                                 5) ไม่มีเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค
                                       4.2   การบรรจุเพื่อการขนส่ง หรือการบรรจุภายนอก  
                  การบรรจุเพื่อการขนส่ง หรือการบรรจุภายนอก  การบรรจุประเภทนี้มี
จุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความสะดวก  ปลอดภัย  แข็งแรงในการขนส่งมากกว่าการดึงดูดใจผู้ซื้อ  ฉะนั้นการบรรจุภายนอกจะหุ้มห่อสำหรับผู้บริโภคจำนวนมากๆ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการขนส่ง
5.   การเก็บรักษาขนมไทยไว้ได้นาน  และถูกสุขลักษณะ
การเก็บรักษาขนมไทยให้ได้นาน  และถูกสุขลักษณะ  ควรปฏิบัติดังนี้
       5.1    ขนมที่เสียง่าย  
                                   ขนมที่เสียง่าย  ส่วนใหญ่จะมีมะพร้าวเป็นส่วนประกอบ  โดยเฉพาะขนมที่ใช้มะพร้าวสำหรับคลุก  เช่น  ขนมต้มแดง  ขนมถั่วแปบ  ขนมด้วงสด  ขนมเปียกปูน  ขนมขี้หนู ฯลฯ  หากต้องการยืดระยะเวลา   ควรนำมะพร้าวที่ใช้สำหรับคลุกไปนึ่งในน้ำเดือดอย่างน้อย  20  นาที  ส่วนขนมที่ใช้กะทิสด  เช่น  ขนมลอดช่องไทย  ขนมเรไร  ขนมรวมมิตร  ฯลฯ       การคั้นกะทิควรใช้น้ำสุกอุ่นคั้น  หรือนำกะทิไปตั้งไฟพอเดือด  คนกะทิบ่อยๆ  เพื่อไม่ให้กะทิจับตัวกัน
เป็นก้อน  หากรับประทานแล้ว    ยังมีกะทิเหลือ  ควรเก็บในตู้เย็น  เมื่อจะนำมารับประทาน  ควรนำไปอุ่นให้ร้อนด้วยการนึ่ง  หรืออุ่นด้วยเตาอบไมโครเวฟ
        5.2    ขนมที่เสียยาก  
    ขนมที่เสียยาก  ส่วนใหญ่เป็นขนมที่มีความชื้นน้อย  เช่น  ขนมข้าวตู  ขนมข้าวตอกตั้ง  ขนมอาลัว  ขนมทองเอก  ฯลฯ  หรืออาจจะเป็นขนมที่มีความเข้มข้นของน้ำตาลสูง  เช่น  ขนมทองหยิบ  ขนมทองหยอด  ขนมข้าวเหนียวแก้ว  ฯลฯ  ควรเก็บไว้ในที่แห้งและเย็น  หรืออาจจะเก็บไว้ในตู้เย็นก็จะช่วยให้ขนมเหล่านี้สามารถยืดระยะเวลาในการเก็บ ทำให้คุ้มค่ากับราคามากยิ่งขึ้น
                       5.3    ขนมที่ใช้สารบางอย่างเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงทางเคมี
                                   การใช้สารบางอย่างเหล่านี้มีกฎหมายควบคุมและมีปริมาณที่ให้ใช้ตามอัตราส่วนที่กำหนด  สารดังกล่าวที่อนุญาตให้ใช้มีดังนี้
                                                5.3.1 โซเดียมเบนโซเอต  ใช้กับอาหารทุกชนิดไม่เกิน  1กรัม ต่อ 1 กิโลกรัม
                                                5.3.2   กรดซอร์บิคหรือแคลเซียมซอร์เบท  ใช้กับอาหารทุกชนิดไม่เกิน  1กรัม ต่อ 1 กิโลกรัม
                                                5.3.3 กรดแอสคอร์บิค  เป็นตัวป้องกันกลิ่นหืนใช้กับอาหารทุกชนิดไม่เกิน  1 กรัม ต่อ 1 กิโลกรัม  ตามความจำเป็น
                                สารเคมีที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  หากผู้ประกอบการทำขนมจำหน่ายไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด  อาจจะเกิดกับผู้บริโภคได้   หากหลีกเลี่ยงได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก
                  
                      ข้อควรปฏิบัติในการเก็บรักษาขนมไว้ให้ได้นานและถูกสุขลักษณะ 
                ขนมที่ปรุงเสร็จแล้วไม่ว่าจะเป็นขนมที่เสียง่ายหรือเสียยาก ควรเก็บในที่มิดชิด  หรือใช้ภาชนะที่มีฝาปิด  มีฝาชีครอบ  เก็บในตู้ลวดตาข่ายหรือตู้กระจก  เพื่อป้องกันแมลงวันตอม  และฝุ่นละออง  แต่มีข้อควรระวังโดยเฉพาะตู้กระจกไม่ควรเก็บขนมขณะยังร้อนเพราะทำให้กระจกฝ้าเกิดหยดน้ำต้องเสียเวลาในการเช็ดกระจก  อีกทั้งอาจทำให้ขนมบูดเสียเร็วขึ้น
หมายเลขบันทึก: 468544เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2011 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุนมากกกกกกกกกกกๆๆๆๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท