เจอวิกฤตจะเลือกวิวัฒน์ หรือจะเอาวิบัติ (๒)


เจอวิกฤตจะเลือกวิวัฒน์ หรือจะเอาวิบัติ
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) 

    


        แต่เอาละ ในด้านหนึ่งนั้นเรานิยมความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและในทางวัตถุของเขา และความเจริญทางเศรษฐกิจนั้นเราก็ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่จำเป็น แต่เป็นเพียงว่าอย่าไปหลงเพลินมัวเมา และก็อย่าเอามาเป็นตัวตัดสินความเจริญทั้งหมด 
         เบื้องหลังประเทศที่พัฒนา คือประวัติการฟันฝ่าทุกข์ภัย
        จุดที่ควรสนใจก็คือ พวกประเทศพัฒนาเหล่านี้เจริญมาได้อย่างไร อย่างที่กล่าวเมื่อกี้นี้ ความเจริญนั้นมาจากภูมิหลังของเขา พูดภาษาพระว่าเป็นผลกรรมของเขานั่นเอง เวลาเรามองสังคมอื่นเรามักจะมองที่ผลโดยไม่มองดูเหตุ การมองผลก็คือมองสภาพที่เขาเป็นอยู่ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ปัจจุบันว่าเขากินอยู่กันอย่างไร มีกินมีใช้พรั่งพร้อมอย่างไร และนี่ก็คือสภาพความเจริญ แต่ไม่ได้มองว่าตัวเหตุปัจจัยที่ทำให้เขาเจริญอย่างนั้นเป็นมาอย่างไร

       ขอให้ดูตัวอย่างสังคมอเมริกันว่าที่เจริญมาได้อย่างนี้ เขามีภูมิหลังมาเป็นร้อย ๆ ปี ต่อเนื่องมาจากยุโรปอย่างไร อารยธรรมตะวันตกมีภูมิหลังอย่างไรจึงมาเป็นอย่างนี้ ปัจจัยสำคัญคือแรงบีบคั้นทุกข์ภัย ทำให้ประเทศเหล่านี้ดิ้นรนขวนขวายแค่ไหน

        ไม่ต้องเอามาก แค่มาอเมริกาแล้วเท่านั้นแหละ ไม่ต้องพูดถึงในยุโรปที่แกก็ดิ้นแทบตายมาก่อนแล้ว ถูกภัยคุกคาม มีการฆ่าฟันเข่นฆ่ากันทางการเมืองที่เนื่องจากศาสนา อยู่ประเทศมีหวังตาย ๙๐ หรือ ๙๙ เปอร์เซ็นต์ ต้องลงเรือหนีภัยหนีตาย แม้จะต้องข้ามน้ำข้ามทะเลที่เสี่ยงภัยอันตรายในท้องทะเลอย่างยิ่ง แต่ยังมีทางรอดมากกว่า เพราะฉะนั้น ทั้งๆ ที่การเดินทางนั้นแสนจะทุกข์ยาก มองไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ก็ขอไปตายดาบหน้า แล้วก็หนีมา จนขึ้นฝั่งอเมริกา ที่นิวยอร์ค บอสตัน บัลติมอร์ อะไรพวกนี้

        ขึ้นฝั่งอเมริกามาแล้ว มองไปข้างหน้า มีแต่ป่าดงพงไพร แถมยังไปเจออินเดียนแดงที่พวกตนนึกว่าป่าเถื่อน ที่จริงอินเดียนแดงเขาก็มีวัฒนธรรมของเขามากเหมือนกัน พวกผิวขาวก็ไปบุกรุกดินแดนของเขา เมื่อมองไปข้างหน้ามีแต่ดินแดนที่ยังไม่รู้อะไรทั้งนั้น หันไปมองข้างหลังก็เป็นทะเล ถอยไม่ได้ ต้องไปข้างหน้าอย่างเดียว ข้างหน้าก็คือทิศตะวันตก ถิ่นที่อยู่ก็เป็น frontier คือเป็นพรมแดน เลยไปก็เป็นเขตที่ยังไม่ได้บุกเบิก ความหวังอยู่ที่ต้องมุ่งไปข้างหน้า บุกฝ่าไปเรื่อยๆ ตลอดเวลาร้อยๆ ปีต่อจากนั้น จึงเป็นระยะเวลาแห่งการมุ่งหน้าไปตะวันตกอย่างเดียว จนมีคำพูดแบบอเมริกันว่า “Go West, young man !” เจ้าหนุ่ม จงมุ่งหน้าไปตะวันตก คตินี้เรียกว่า Frontier

        Frontier แปลว่า พรมแดน ซึ่งในที่นี้มีความหมายพิเศษ เนื่องด้วยภูมิหลังของสังคมอเมริกัน หมายถึง คติบุกฝ่าพรมแดน คือการที่ต้องมุ่งไปข้างหน้า บุกเบิกฟันฝ่าก้าวข้ามพรมแดนออกไป ไปหาทรัพยากรและความอุดมสมบูรณ์ข้างหน้าอย่างเปี่ยมด้วยความหวัง พร้อมกันนั้นก็เสี่ยงภัยอันตรายที่ทำให้ต้องตื่นตัวตลอดเวลา และต้องขยันขันแข็ง นี่คือภาวะที่ถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ที่ทำให้คนตื่นตัว และมุ่งมองไปข้างหน้า พยายามก้าวต่อไป เพราะฉะนั้น คติ frontier นี้จึงอยู่เบื้องหลังความเจริญของอเมริกันที่คนชาตินี้ภูมิใจยิ่งนัก

        คติ frontier นี้น่าทำวิทยานิพนธ์ นักประวัติศาสตร์อเมริกันเองก็ทำมาแล้ว นาย Turner เป็นคนชี้ความสำคัญของคติ frontier ให้เห็นว่า อารยธรรมอเมริกันเจริญขึ้นมาจากคติ frontier นี้ ที่เขาต้องบุกตะวันตกเรื่อยไป และต้องเผชิญกับภยันตราย สู้รบทั้งกับพวกหาอาณานิคมด้วยกันเอง ทั้งฝรั่งเศส ทั้งเสปน แล้วยังต้องเจอกับอินเดียนแดงซึ่งรบกันตลอดมา

        ภัยอันตรายนี้ ทำให้คนเข้มแข็ง ความทุกข์ทำให้คนต้องตื่นตัว ต้องพยายามแก้ปัญหา เมื่อเจอทุกข์เจอปัญหาก็เป็นธรรมดาที่จะต้องพยายามคิดแก้ไขและต้องใช้ปัญญา ปัญญาก็เจริญงอกงาม ความสามารถก็เกิดมีขึ้น


        ชีวิตจะรุ่งเรือง สังคมจะเลิศล้ำ ต้องหมั่นทำแบบฝึกหัดไม่ว่างเว้น
        คนเรานี้จะเจริญขึ้นมาเฉยๆ ได้อย่างไร คนที่อยู่ท่ามกลางความสุขนั้นพัฒนายาก ความสามารถเกิดได้ยาก คนโดยมากพัฒนาจากความทุกข์และปัญหา ปัญหาทำให้คนพัฒนา เราพูดได้ว่า ปัญหาคือเวทีพัฒนาปัญญา คนที่เก่งก็คือคนที่สามารถพลิกปัญหาให้เป็นปัญญา ถ้าเราเปลี่ยนปัญหาเป็นปัญญาได้ ก็คือความสำเร็จ และปัญหาก็จะจบสิ้นหายไปเมื่อเราเกิดปัญญา

         ปัญหากับปัญญานี้เป็นคู่ตรงข้ามกัน เราจะต้องเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา แต่เราจะได้ปัญญาเราต้องเจอปัญหา เพราะฉะนั้น ชีวิตและสังคมที่เจอปัญหาจึงนับว่ามีโชคดีในแง่หนึ่ง

        ชีวิตก็ตาม สังคมก็ตาม จะเจริญได้ดี ต้องมีแบบฝึกหัด คนที่มีแต่ความสุขนั้น ชีวิตไม่มีแบบฝึกหัด เมื่อชีวิตไม่มีแบบฝึกหัดก็ไม่ได้ฝึกตนเอง จึงเจริญได้ยาก เพราะฉะนั้นจึงขอให้เราภูมิใจเถิด สังคมไทยตอนนี้อย่าท้อแท้ เจอทุกข์เจอภัยแล้วต้องเข้มแข็ง และมองให้ถูก คือมองอย่างที่ว่าเมื่อกี้ว่า เราเจอแบบฝึกหัดแล้ว ถ้าเราไม่เจอแบบฝึกหัดเราจะไม่เข้มแข็ง แต่จะอ่อนแอเหมือนก่อนนี้ที่เป็นมา เพราะที่ผ่านมาแต่ก่อนนี้เราอ่อนแอและไม่รู้จักสร้างสรรค์ เพราะเราไม่เจอแบบฝึกหัด ตอนนี้ดีแล้วที่เราได้แบบฝึกหัด ขอให้เรามาช่วยกันทำแบบฝึกหัด โดยตั้งท่าทีต่อสถานการณ์ให้ถูกต้อง เมื่อตั้งท่าทีถูกต้องแล้วจะเกิดกำลังใจ

        คนที่มีทุกข์บีบคั้นมีภัยคุกคามนั้น อย่างที่บอกแล้วว่า โดยธรรมชาติก็ควรจะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวายอยู่แล้ว แต่การที่จะไม่ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวายย่อมเป็นด้วยเหตุ ๒ อย่าง

        อย่างที่หนึ่ง คือ ยากล่อม พอจะลุกขึ้นดิ้นสักหน่อย เจอยากล่อมเข้าก็เลยสบาย เพลิน รอความหวัง รอโชค รอการดลบันดาล หรือไม่ก็

        อย่างที่สอง คือ มัวแต่ระทดระทวยออดอ้อนคร่ำครวญ ซ้ำเติมตัวเองเสีย เพราะคนที่สุขมานานจนเคยชินกับความสุขนั้น พอเจอทุกข์เข้า บางทีปรับใจไม่ทัน แทนที่จะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวายก็มัวแต่โอดโอยกอดเข่าเจ่าจุกเสีย

        ยิ่งในสภาพวิกฤตอย่างนี้ ทุกข์หรือปัญหาจะมาแบบเงียบและลึก ไม่เห็นชัดเจนตื่นเต้นเหมือนการรบพุ่งสงครามแบบใช้อาวุธที่เรียกว่า hot war ไม่ใช่สงครามร้อน ก็เลยทำให้เรายิ่งนอนใจ ภัยลึกๆ ภัยเงียบๆ ของภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ ไม่ได้รบราใช้อาวุธ จึงทำให้ประมาทได้ง่าย และเมื่อมัวเพลินอยู่ ก็ไม่รู้ตัว

         ถ้าเป็นภัยอันตรายแบบสงครามร้อนจะรู้สึกตื่นตระหนกคับขันจวนตัว ถ้ามันมาถึงตัวเราจะต้องตายหรือบาดเจ็บ เมื่อเรากลัวตายก็ต้องลุกขึ้นสู้หรือหนีอย่างแน่นอน แต่ภัยเย็นแบบนี้ บางทีก็เลยเย็นตายไปเลย เพราะฉะนั้นตอนนี้จึงถึงเวลาที่จะต้องปลุกใจคนไทยขึ้นมา และจุดแก้ปัญหาก็อยู่ที่คุณภาพมนุษย์นี่แหละ

        อยากจะให้สนใจเรื่องวิกฤตคุณภาพมนุษย์ ซึ่งสำคัญกว่าวิกฤตเศรษฐกิจ บางทีเราอาจจะเพลินกับการที่จะแก้วิกฤตเศรษฐกิจโดยหวังความช่วยเหลือจากผู้ อื่น แล้วก็ยิ่งลืมตัวหนักเข้าไปอีก การแก้ปัญหาอย่างนั้นไม่ใช่การสร้างสรรค์ที่แท้จริง ที่เป็นแก่นสารและยั่งยืน การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต้องเกิดจากการสร้างสรรค์ความเจริญด้วยฝีมือของเราเอง ในสังคมของเรา ซึ่งหนีไม่พ้นจากการที่จะต้องเป็นนักผลิตนักสร้างสรรค์

        การที่จะเป็นนักผลิตนักสร้างสรรค์ได้ จะต้องมีความเข้มแข็งและทำจริงทำจัง ด้วยความเพียรพยายามอย่างมั่นคงอดทนระยะยาว ไม่ใช่ทำวูบๆ วาบๆ และมิใช่ว่าได้มาเพียงด้วยความฝัน หรือรอการหยิบยื่นให้ น่าสังเกตว่าเวลานี้สังคมไทยมีนักรอการหยิบยื่นให้มากมายเหลือเกิน 
       เรื่องเก่าที่พูดบ่อยๆ เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องย้ำก็คือ สังคมไทยเวลานี้ถึงจุดสำคัญแล้วที่จะเริ่มสร้างสรรค์ และเป็นกาลเวลาซึ่งมีแง่มองที่ดีหลายอย่าง ดังที่ว่าเมื่อกี้ ระยะที่แล้วมาเป็นช่วงเวลาแห่งการทำลาย ต่อไปนี้จะต้องถึงเวลาแห่งการสร้างสรรค์ แล้วสังคมไทยยุคนี้จะเป็นยุคของการสร้างชาติ ซึ่งจะเป็นการสร้างสรรค์ระยะยาว คนไทยจะต้องมีความเข็มแข็ง

        ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราสะสมแต่ความอ่อนแอ ความเป็นนักบริโภคที่ชอบหาความสุขสำราญก็แสดงลักษณะของความอ่อนแออยู่ในตัว แล้ว ความเป็นนักรอผลดลบันดาลยิ่งซ้ำความอ่อนแอนั้นให้หนักลงไปอีก ทั้งคู่นี้ไม่เป็นนักทำ ถึงตอนนี้จะต้องเปลี่ยนทั้งหมด แต่จะเปลี่ยนไหวหรือเปล่า

        ลัทธิรอผลดลบันดาลเวลานี้ครอบคลุมสังคมไทยไปทั่ว และบริโภคนิยมก็ครอบงำไปหมด ขอให้ช่วยกันคิดว่าเราจะแก้ไหวไหม ขนาดมีวิกฤตเศรษฐกิจอย่างนี้ ซึ่งบังคับให้ต้องประหยัด เราก็ประหยัดเพราะจำเป็นจำใจ แทนที่จะประหยัดโดยเป็นนิสัยหรือด้วยปัญญาที่เข้าใจเหตุผล

        มีญาติโยมมาเล่าให้ฟังว่า อย่างแถวประชานิเวศน์ ตอนนี้สิ่งบริโภคอะไรต่างๆ ราคาแพง คนต้องทำอาหารกินเองกันมากขึ้น ซื้อของราคาถูกลง ร้านอาหารก็ปิดไปมาก ดูคล้ายๆ ว่าคนเราประหยัดขึ้น โดยทำอาหารเองหรือกินของถูกลง แต่พอมองให้ชัดอีกหน่าย ปรากฏว่า “ผับ” ผุดขึ้นมามาก ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจนี่แหละผับเกิดขึ้นเยอะแยะ กลับเพิ่มมากกว่าเก่า กลายเป็นอย่างนั้นไป ความเป็นบริโภคนิยมไม่ได้ลดลงไปกับวิกฤตเศรษฐกิจนี้ แสดงว่า ทุกข์ภัยยังไม่เป็นแบบฝึกหัดสำหรับพวกเราเลย

        ถ้าจะแก้ปัญหากันจริง เราจะต้องเอาทุกข์ภัยในวิกฤตมาเป็นแบบฝึกหัดให้ได้ เพื่อฝึกพวกเราให้เก่ง ให้สามารถ ให้พัฒนาตัวเอง ให้มีสติปัญญาความแกล้วกล้าเข้มแข็งเพิ่มขึ้น 

         การประหยัด คือแบบฝึกหัดแรกที่รอพิสูจน์คนไทย  
        แม้แต่การประหยัดก็ต้องมีแง่ความหมายว่า การประหยัดที่แท้คืออย่างไร ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปของการประหยัดคือการกินน้อยใช้น้อย ให้สิ้นเปลืองน้อยๆ ซึ่งก็ดีในระดับหนึ่ง แต่อาจจะแคบไป และอาจจะมาพร้อมด้วยการเสียสุขภาพจิตก็เป็นได้

        ตัวอย่างเช่น พ่อแม่อาจจะบอกลูกว่า เงินทองเราน้อยลง ต่อไปนี้ลูกจะต้องใช้เงินน้อยๆ หน่อย ลูกบางคนก็อาจจะเห็นเหตุผลและร่วมมือ แต่หลายคนก็อาจจะไม่สบายใจ เคยใช้จ่ายง่ายสะดวก ก็ต้องมายับยั้งตัวเอง คือต้องถูกบีบคั้นนั่นเอง จะกินใช้อะไรก็รู้สึกบีบคั้นไปหมด ใช้เงินใช้ทองก็ไม่ค่อยจะได้ ก็ทุกข์สิ สุขภาพจิตก็เสีย

        ฉะนั้นเราจะต้องมีวิธีการประหยัดที่ถูกต้อง คือประหยัดแบบฝึกฝนพัฒนาคน หมายความว่าจะต้องเอาการประหยัดมาเป็นเครื่องฝึกคน

        ถ้ามองในแง่การฝึก การประหยัดก็คือการพัฒนาความสามารถ พัฒนาอย่างไร เรามาดูความหมายของการประหยัดกันใหม่

        การประหยัดคืออะไร คือการใช้ของน้อยที่สุดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด หนูมีเงินเท่านี้หนูจะสามารถใช้มันให้ได้ประโยชน์มากที่สุดอย่างไร มันจะเป็นเครื่องทดสอบความสามารถของหนูนะ เอ้า ลองคิดดูซิว่า ถ้าเรามีเงิน ๑๐๐ บาท เราจะทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุดได้อย่างไร

        การประหยัดแบบฝึกนี้ ได้ผลถึง ๓ อย่างพร้อมกัน คือ  
        (๑) ใช้จ่ายน้อย ไม่สิ้นเปลือง  
        (๒) พัฒนาความสามารถของเด็ก ทำให้เด็กต้องคิดว่าเราจะใช้เงินอย่างไร ให้เงินน้อยที่สุดได้ประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะจะพัฒนาด้วยการรู้จักใช้ความคิด รู้จักใช้โยนิโสมนสิการ ฝึกปัญญาในการวางแผน  
        (๓) สุขภาพจิตดี มีความสุข เพราะเด็กจะภูมิใจว่าเราใช้เงินแค่นี้สามารถทำประโยชน์ได้มาก และภูมิใจที่มีความสามารถนั้น แกก็ดีใจและมีความสุขว่าตัวได้และทำได้ ไม่ใช่เสีย แทนที่จะเสียใจมีความทุกข์เพราะต้องถูกบีบถูกคั้นให้ใช้เงินน้อย ก็กลับตรงข้าม กลายเป็นดีไป

        นี่เป็นตัวอย่างของการที่จะใช้วิกฤตเป็นโอกาส และประหยัดให้เป็นประโยชน์ วิกฤตจะฝึกมนุษย์ได้มากมายถ้าเราใช้เป็น แต่ถ้าใช้ไม่เป็นก็มัวแต่มาทุกข์ระทมตรอมตรมซบเซาจับเจ่า หรือไม่ก็รอผลดลบันดาล อย่างที่ว่าแล้ว

        นี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า เรื่องต่างๆ มีแง่มองให้เป็นประโยชน์ได้ทั้งนั้น แต่เรื่องประหยัดนั้นตรงกับสถานการณ์ขณะนี้ เพราะฉะนั้นจึงขอให้เปลี่ยนความหมายของการประหยัด ที่ว่าเป็นการจำเป็นจำใจใช้น้อยบีบคั้นตัวเอง ต้องลำบากในการใช้เงิน ไม่ได้ของที่อยากได้อะไรต่างๆ ซึ่งเป็นความทุกข์นี้ เปลี่ยนให้มาเป็นการฝึกความสามารถในการใช้ทรัพยากรที่เป็นการพัฒนามนุษย์

        โดยเฉพาะก็คือ เด็กหรือเยาวชนนั้น จะต้องเน้นให้มาก ฝึกให้ดีเลย ว่าหนูจะใช้ของน้อยนี้อย่างไรให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เด็กก็จะใช้น้อยอย่างมีความสุข พร้อมไปกับการฝึกฝนพัฒนาตัวเอง คือพัฒนาความสามารถ โดยเฉพาะในทางปัญญา เช่นเด็กจะรู้จักวางแผน และมีวินัยในทางความคิด

        ขอให้รู้ทันว่าความทุกข์มากมายที่ฝรั่งเจอมาทำให้เขาเป็นนักวางแผน ไม่ใช่ว่าฝรั่งเก่งอะไรพิเศษ แต่เป็นเรื่องของคนเมื่อเจอทุกข์ ประสบปัญหา มีทั้งภัยจากมนุษย์ด้วยกัน และภัยจากธรรมชาติ ล้วนเป็นบทเรียนและแบบฝึกหัดจากชีวิตจริงที่ประสบการณ์มาสอน ทำให้ต้องคิดแก้ปัญหา การแก้ปัญหานั้น ก็มีทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาระยะยาว ทำให้ต้องคิดวางแผน ทั้งวางแผนก็เก่งขึ้น และยอมทำการหนักเหนื่อยที่เป็นเรื่องระยะยาวได้ด้วยความอดทน

        คนไทยไม่ค่อยมีอย่างนี้ เราทำอะไรก็ทำกันระยะสั้นๆ แม้แต่จะวางโครงการอะไรสักอย่าง เราก็ไม่ค่อยคิดทำระยะยาว ฝรั่งกว่าจะจัดสัมมนาทีบางทีคิดสองปี วางแผนกันนาน คนไทยเราไปเห็นก็นึกว่าแปลก ทำไมฝรั่งคิดกันนานนัก เขาเคยถูกบีบคั้นมานาน ทุกข์ภัยทำให้เขาต้องหาทางแก้ปัญหา แม้แต่สภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ต่างกันมากในฤดูกาลต่างๆ ของแต่ละปี ซึ่งเป็นเรื่องของความเป็นความตาย หรือความทุกข์ความเดือดร้อนอย่างมาก ก็สอนให้เขาต้องเตรียมการกันอย่างจริงจัง การวางแผนก็เกิดขึ้น

        ถ้าเด็กประสบภาวะอย่างนี้แล้วเรามีแบบฝึกหัดให้ทำ แกจะเริ่มรู้จักวางแผน การวางแผนจะมาพร้อมด้วยการใช้ปัญญา และมนุษย์จะพัฒนาในการแก้ปัญหา ตัวอย่างก็คือการประหยัดนี่แหละที่บอกว่า เอ้า..... ใช้เงินน้อย ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด แล้วเด็กก็คิดวางแผนการใช้เงิน พัฒนาความสามารถและสติปัญญา พร้อมกับมีสุขภาพจิตดีไปด้วย 


  

*******

กิ่งธรรมจาก http://www.dhammajak.net

คำสำคัญ (Tags): #วิกฤติคุณภาพคน
หมายเลขบันทึก: 468541เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2011 14:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท