สมบัติของ "พ่อ" : ๕. จบที่ใจเรา


 

Large_treasure11

ฝึกให้ใจสงบ ให้ใจอยู่กับกาย ฝึกปล่อยวางเรื่องที่เป็นอดีต ปล่อยวางที่วิตกกังวลในเรื่องอนาคต พยายามให้ใจสงบอยู่กับปัจจุบัน ความสงบนี้มีความจำเป็นมาก เพราะว่าความสงบเป็นที่อยู่อาศัยของใจ ถ้าใจเราไม่สงบมันเสียศูนย์ไปหมด สมดั่งพุทธภาษิตว่า “ความสุข ความดับทุกข์อันไหนก็สู้ความสงบไม่ได้ ไม่มี...”

เราฝึกหายใจเข้าสบายออกสบายทุก ๆ อิริยาบถ ใจของเราจะได้อยู่กับปัจจุบัน พระพุทธเจ้าท่านตรัสพุทธภาษิตในโอวาทปาติโมกข์ไว้ว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง คนเราต้องทำความดีตั้งแต่เช้าจนหลับ ตื่นขึ้นก็ทำความดีต่อ เสียสละต่อการปฏิบัติอย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นคนรักษาศีล เป็นผู้ปฏิบัติธรรม มีสมาธิอยู่กับการรักษาศีล

“คนเราต้องทำความดีตั้งแต่เช้าจนหลับ ตื่นขึ้นก็ทำความดีต่อ เสียสละต่อการปฏิบัติอย่างนี้ เขาเรียกว่าเป็นคนรักษาศีล เป็นผู้ปฏิบัติธรรม มีสมาธิอยู่กับการรักษาศีล...”

สมาธิก็แปลว่าความสงบ ความสุข ความดับทุกข์ ความเย็นใจ ความสบายใจ ศีลกับสมาธิมันก็ต้องไปด้วยกัน ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในมีความสุข ใจเย็น ใจสบาย ปัญญาคือความฉลาด ความเฉลียว รอบคอบ คิดได้ดีคิดได้เก่ง เป็นคนมีเหตุมีผล แต่ปัญญานี้ยังใช้งานไม่ได้ถ้าไม่มีศีลถ้าไม่มีสมาธิ ปัญญาเราจะไม่ได้ผล ไม่สามารถที่จะละกิเลส ละตัวละตนได้ ต้องอาศัยศีลคือความประพฤติดีปฏิบัติชอบ ต้องอาศัยสมาธิคือความตั้งมั่น หนักแน่น ไม่หวั่นไหว ไม่ง่อนแง่น ไม่โยกคลอน ทนต่อการท้าทาย ต่อการพิสูจน์ จิตใจที่สงบเป็นจิตใจที่ความปรุงแต่งเข้ามาก่อกวนไม่ได้ เราถึงจำเป็นต้องฝึกสมาธิให้เป็นธรรมชาติในชีวิตประจำวัน ให้ใจมันมีความสุข ให้ใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ให้จิตใจมันหลงโลก หลงอารมณ์ หลงสิ่งแวดล้อม เป็นจิตใจที่ไม่ถูกอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม ไม่ว่ารูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ ในชีวิตประจำวันมันมาครอบงำ

Large_treasure12

 

 

     ถ้าเรามีสมาธิแล้วมันจะแยกกันไปคนละเรื่อง สิ่งภายนอกมันก็เป็นภายนอก กายมันก็เป็นกาย ใจมันก็เป็นใจ มันจะสงบอยู่ เป็นสุขอยู่ ดับทุกข์อยู่ เราต้องทำไปอย่างนี้ ทำไปเรื่อย ๆ ทำไปทุกวัน “เราทำงานก็ให้ใจเรามีความสุขกับการทำงาน เราทำกิจวัตรก็ให้ใจเรามีความสุขกับการทำกิจวัตรประจำวัน เราอย่าไปแยกว่าการปฏิบัติธรรมก็อย่างหนึ่ง การทำงานก็อย่างหนึ่ง ที่แท้มันเป็นอันเดียวกัน มันจะแยกกันไม่ได้” เหมือนกับเรามีลมหายใจ เราอยู่ที่ไหนเราต้องหายใจ ถ้าเราปฏิบัติอยู่อย่างนี้อินทรีย์ของเราก็จะแก่กล้า เราก็จะได้รู้ว่าเขาทำอย่างนี้เอง เขาปฏิบัติอย่างนี้เองคือการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมคือการเสียสละละตัวละตน การทำงานก็คือการเสียสละละตัวละตน ละความขี้เกียจขี้คร้าน ละความติดสุขติดสบาย ผลที่ได้รับก็คือเราจะเป็นผู้ที่มีความสุข ร่ำรวยด้วยโภคทรัพย์และก็ร่ำรวยด้วยคุณธรรม

     ทำไปเรื่อย ๆ อย่าไปใจร้อน คนเรามันใจร้อน ทำอะไรนิดหน่อยก็อยากได้มาก ปฏิบัตินิดหน่อยก็อยากบรรลุ กิเลสมันเผาตัวเองมันเผาทั้งที่ยังไม่ตาย เรียกว่ามันตกนรกทั้งเป็นทั้งที่ยังไม่ตาย มันเผาตนเองยังไม่พอ มันเผาคนอื่นเผาพี่เผาน้อง สารพัดที่มันจะเผา เราไม่ต้องอยาก เราสร้างเหตุสร้างปัจจัยให้พร้อมให้เต็มที่ ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ที่จริงเราก็ไม่อยากประมาท แต่บางที่ธาตุขันธ์ของเราไม่อำนวย เลยกลายเป็นคนประมาท เราเป็นคนใจอ่อน จิตใจไม่เข้มแข็ง ไม่ตั้งมั่น ใจไม่มีสมาธิ มันเลยไม่มีกำลัง “เราก็ต้องเข้มแข็ง ต้องหนักแน่น ต้องกล้าหาญ ต้องกล้าตัด กล้าละ กล้าวาง เราต้องตายคือตายจากความคิดอย่างนี้ อารมณ์อย่างนี้ ตายจากความยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้ ถ้าเราไม่ตาย เราก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองไปทางที่ดี”

     ส่วนมากมันติด มันอาลัยอาวรณ์ มันไม่อยากทิ้ง เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันสร้างบารมีมาด้วยกันนานแล้ว มันไม่อยากพลัดพรากจากกัน เราจำเป็นต้องตัด ต้องละ ต้องวาง เราต้องตัดสังโยชน์ตัดสังสารวัฏด้วยความจำเป็น เพราะการเกิดทุกข์คราวเป็นทุกข์ร่ำไป การแก่ทุกคราวเป็นทุกข์ร่ำไป การเจ็บทุกคราวเป็นทุกข์ร่ำไป การตายทุกคราวเป็นทุกข์ร่ำไป มันเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ มันไม่มีอะไรนอกจากทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นดับไป

Large_treasure13

การที่เรามาสงบระงับสังขารทั้งหลายจะเป็นสุขอย่างยิ่ง เรามีสมาธิมีความตั้งมั่น “พระพุทธเจ้าท่านถึงหายใจเข้าก็สบาย ออกสบาย มีปีติ สุข เอกัคตา ไม่วิ่งไปตามอารมณ์ ตามสังขาร ชื่อว่าความปรุงแต่งมันเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ให้เรากลับมาที่ใจเรา มันเป็นของง่าย ปัญหาต่าง ๆ ในโลกนี้มันมาจบที่ใจเรา เรื่องภายนอกมันไม่จบ” 

Large_treasure15

 

เรามาทำปริญญาทำเรื่องดับทุกข์ภายในจิตใจให้กับตัวเอง นี่แหละเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง ถูกตรง สมควรและเป็นบุคคลที่น่ากราบน่าไหว้ เป็นบุคคลที่เกิดมามีประโยชน์ไม่สูญเปล่า เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น บุคคลเช่นนี้น่าจะมีมาก ๆ จะได้นำความสงบ ความสุข ความร่มเย็นแก่ชาวโลกทุก ๆ คนที่เกิดโลกเดียวกันกับเรา เราต้องเปลี่ยนแปลงตนเองด้วยการมีศีล สมาธิ ปัญญา จะได้เป็นผู้มีความสุข ความดับทุกข์สู่ตนเองที่ถาวร...

Large_tt98

 

จิรวฑฺฒโน ภิกขุ
(บันทึก)
วันเสาร์ที่ ๒๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔


 

 สมบัติของพ่อ

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 468525เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2011 12:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท