รู้ทันกิเลส


รู้ทันกิเลส
วารสารธรรมมาตา
โดย พระไพศาล วิสาโล

     
   ใจ นี้เป็นใหญ่ แต่หากว่าเราเปิดช่องให้กิเลสครองใจ กิเลสก็กลายเป็นใหญ่แทน ถึงตอนนั้นแล้วใจก็ต้องคล้อยตามกิเลส ธรรมชาติของใจ โดยเฉพาะใจที่ไม่มีการอบรม มักคล้อยตามกิเลส ยิ่งอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้น ยั่วยุ ปลุกเร้า ก็จะทำให้คนเราหลงตามกิเลสไปไม่มีที่สิ้นสุด กิเลสมันก็ฉลาดเสียด้วย สามารถปรุงแต่งเหตุผลจนแม้แต่คนที่มีการศึกษา หรือคนที่มีความรู้ก็ยังคล้อยตามกิเลสได้ เช่น เห็นคนกำลังเดือดร้อน กำลังลำบากอยู่ต่อหน้าต่อตา แทนที่จะเข้าไปช่วยเหลือเขา กิเลสก็อาจจะสรรหาเหตุผลมาอ้าง ว่าเป็นกรรมของสัตว์บ้าง หรือว่าช่วยเขาแล้วเราได้อะไร เมื่อมีข้ออ้างอย่างนี้แล้ว ก็สามารถเมินหน้าหนีได้อย่างสะดวกใจ บางทีมันก็หาอุบายสนองความเห็นแก่ตัว เช่น กำลังนั่งรถเมล์หรือไฟฟ้า เผอิญมีคนแก่ เด็ก หรือคนท้องมายืนอยู่ใกล้ ๆ ก็แกล้งทำเป็นไม่เห็น แกล้งหลับบ้าง จะได้ไม่ต้องลุกให้เขานั่ง อย่างนี้เรียกว่าตามใจกิเลส เดี๋ยวนี้มีแบบนี้เยอะ การตามกิเลส หรือถูกกิเลสจูงไป ไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความโกรธ หรือความหลง
        ด้วยเหตุนี้การปฏิบัติในพุทธศาสนาจึงเริ่มต้นด้วยการต้านกิเลส ไม่ใช่ตามกิเลส เริ่มตั้งแต่ทาน การให้ทานเป็นการต้านกิเลสโดยตรงเลย ปกติคนเราย่อมมีความหวงแหนเงินทอง อยากเก็บสะสมให้มาก ไม่อยากแบ่งปัน พระพุทธศาสนาจึงสอนเรื่องการให้ทาน เพื่อทำให้กิเลส ส่วนที่เป็นความตระหนี่บรรเทาเบาบาง เป็นการทวนกระแสกิเลส อยากย้ำว่า เราไม่ได้ให้ทานเพียงเพราะว่าเรามีจิตเมตตาเท่านั้น แม้จะไม่มีจิตเมตตาเลย แต่รู้อยู่ว่ามีกิเลส มีความโลภ มีความเห็นแก่ตัวอยู่ ผู้ฉลาดย่อมพยายามสละออกไป ด้วยการให้ทาน การให้ทานคือการต้านกิเลสฝ่ายโลภะโดยตรง แต่ว่าระยะหลังเราให้ทานกันไม่ถูกต้อง คือให้ทานแล้วกลับเพิ่มพูนกิเลส เช่น บริจาคหรือทำบุญ ๑๐ บาท ก็ขอให้ถูกล็อตเตอรี่เป็นล้าน ให้ทานแต่ละอย่าง ทำบุญแต่ละอย่างก็หวังรวย หวังมั่งมี อันนี้ไม่ใช่เป็นการต้านกิเลสแต่กลายเป็นตามกิเลส การทำบุญอย่างนี้จะได้ผลน้อย การให้ทานแบบนี้จะไม่ช่วยทำให้จิตใจโปร่งเบา เพราะว่าเป็นการพอกพูนกิเลส แต่ถ้าทำอย่างถูกต้องแล้ว คือให้เพื่อช่วยเหลือเขาจริง ๆ ไม่หวังประโยชน์เข้าตัว ก็จะช่วยบรรเทาอำนาจของกิเลสทีละน้อย ๆ
        นอกจากทานแล้ว ศีลก็เหมือนกัน โดยเฉพาะศีล ๕ ชัดเจนมาก เป็นการต้านกิเลสส่วนที่เป็นโลภะ โทสะ โมหะ โทสะ คือความโกรธ อยากจะทำร้าย อยากจะเบียดเบียน อยากจะเอาชีวิตเขา ก็มีศีลข้อที่ ๑มาคอยกั้นเอาไว้ ส่วนศีลข้อที่ ๒ ก็เป็นการต้านโลภะ คือ ความอยากขโมย อยากช่วงชิงทรัพย์สินของเขา ศีลข้อที่ ๓ ก็เหมือนกัน เป็นการต้านราคะ คือความอยากจะแย่งชิงคนรักของเขา หรือลูกสาวของเขา ศีลข้อที่ ๔ ต้านโทสะที่อยากทำร้ายเขาด้วยการโกหกพูดเท็จ ศีลข้อที่ ๔ ต้านโมหะคือความหลงอันเกิดจากการเสพสุรายาเมา ศีล ๘ หรือศีล ๑๐ ก็มีจุดหมายทำนองเดียวกันคือเพื่อต้านกิเลส ได้แก่ความอยากเสพความสุขทางกาม เช่น การกินอาหารปรนเปรอตน การประดับประดาด้วยเครื่องหอม เสพสิ่งบันเทิงเริงรมย์ การละเล่นสนุกสนาน หรือการเพลินในการนอน เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นการต้านกิเลสทั้งนั้น
        จากศีลแล้วก็มาถึงภาวนา ภาวนามี ๒ ส่วน เรียกว่า สมถภาวนา กับวิปัสสนาภาวนา หรือว่าสมถกรรมฐานกับวิปัสนากรรมฐาน สมถกรรมฐานยังเป็นการต้านกิเลสอยู่ แต่เป็นการต้านที่แยบคายกว่า เช่น เมื่อมีโทสะก็เอาเมตตา หรือกรุณามาบรรเทาความโกรธ เวลาเราโกรธ จิตใจจะร้อนรุ่ม แต่พอเราตั้งจิตปรารถนาดี หรือแผ่เมตตาให้เขา ใจก็จะเยือกเย็น เหมือนกับว่าเอาน้ำมาดับไฟ หรือเวลาเกิดตัณหา ราคะขึ้นมา วิธีการแบบสมถะก็คือ พิจารณาอสุภกรรมฐาน นึกถึงซากศพหรือความไม่งามของร่างกาย ก็จะทำให้ราคะฝ่อลง เพราะเจอธรรมะคู่ปรปักษ์ ราคะต้องเจอกับอสุภะ นี้ก็เป็นการต้านกิเลสแบบหนึ่ง เป็นการทวนกิเลส จะเรียกว่าเป็นการ “ย้อนศรกิเลส” ก็ได้ เวลาหลงใหล มัวเมา เพลิดเพลินในความสุข ก็นึกถึงความตาย คือพิจารณามรณสติ ทำให้เกิดความสังเวช เกิดความตื่นตระหนก หรือเกิดความกลัวขึ้นมา ทำให้ความหลงใหลเพลิดเพลิน
       ในความสุขฝ่อลง ถ้าจิตฟุ้งซ่านล่ะ ก็ใช้วิธีบังคับหรือ กำหนดจิตให้อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ลมหายใจบ้าง ท้องพองยุบบ้าง ความฟุ้งซ่านก็สงบลงไปได้ ทั้งหมดนี้เรียกรวม ๆ ว่าเป็นการต้านกิเลสเหมือนกัน แต่ว่าเป็นการต้านด้วยการบังคับควบคุมจิต ไม่ใช่การบังคับควบคุมกายหรือวาจา เหมือนกับทานและศีล
       แต่ถามว่าเท่านี้พอไหม แทนที่จะตามกิเลส ก็ต้านกิเลส แค่นี้ยังไม่พอนะ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมี วิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานไม่ใช่การต้านกิเลส แต่เปลี่ยนมาเป็นการรู้ทันกิเลส ตรงนี้คนที่ถนัดกับการต้านกิเลส อาจรู้สึกว่าทำยาก เพราะว่าถูกฝึกมาให้ต้านกิเลสอย่างเดียว โดยเฉพาะคนที่ใฝ่ธรรมะ เราถูกสอนมาว่าต้องต้านกิเลสอย่างเดียว ทานก็ดี ศีลก็ดี หรือการกดข่มอารมณ์ ที่เป็นอกุศล ล้วนเป็นไปเพื่อต้านกิเลสทั้งนั้น ดังนั้นพอมาทำวิปัสสนา หรือเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นบาทฐานของวิปัสสนา ก็ยังอดไม่ได้ที่จะต้านกิเลส เวลามีความโกรธ ความหงุดหงิดเกิดขึ้น หรือแค่ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ก็จะเข้าไปจัดการกับมัน ด้วยการกดข่ม เวลามีนิวรณ์เกิดขึ้น เช่น ความง่วงเหงา หาวนอน (ถีนมิทธะ) ความฟุ้งซ่าน (อุธัจจกุกกุจจะ) ความลังเลสงสัย (วิจิกิจฉา) ความปรุงแต่งทางกาม (กามฉันทะ) หรือความหงุดหงิดขุ่นเคืองใจ (พยาบาท) นักปฏิบัติจะมองว่านิวรณ์เหล่านี้เป็นกิเลสที่จะต้องกด ต้องข่ม ต้องจัดการ แต่ใช้วิธีนี้อย่างเดียวไม่พอแล้ว จะตามกิเลสก็ไม่ใช่ จะต้านกิเลสตะพึดตะพือก็ไม่ถูก โดยเฉพาะในขั้นของการบำเพ็ญทางจิต ที่เรียกว่า วิปัสสนา หรือสติปัฏฐาน ถึงขั้นนี้ ต้องยกระดับมาสู่การรู้กิเลสหรือรู้ทันกิเลสแทน อันนี้จะเรียกว่าเป็นทางสายกลางก็ได้
       พอปฏิบัติมาถึงจุดหนึ่ง ตามกิเลสก็สุดโต่ง ต้านกิเลสก็สุดโต่ง ถ้ามาถึงขั้นเป็นวิปัสสนาแล้ว เราจะต้องยกจิตมาสู่ทางสายกลาง คือรู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับใจ รู้ความเปลี่ยนแปลงของใจ ที่จริงก็รวมไปถึงกายด้วย ไม่ว่าทุกขเวทนาหรือสุขเวทนาก็ตาม พอมาถึงขั้นที่เป็นการเจริญสติ หรือวิปัสนาแล้ว จะไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง ในขั้นสมถกรรมฐาน เรายังเอาเมตตามาข่มโทสะ เอาอสุภะมาข่มราคะ แต่พอถึงจุดที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน เพื่อเป็นบาทฐานสู่วิปัสสนา เราต้องเปลี่ยนวิธีการ คือหันมาเรียนรู้ที่จะดูใจของตนอย่างเป็นกลาง อะไรเกิดขึ้นก็สักแต่ว่ารู้ ไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน รู้เฉย ๆ โกรธก็รู้ ดีใจก็รู้ ชอบก็รู้ ชังก็รู้ ยินดีก็รู้ ยินร้ายก็รู้ ตรงนี้ดูเหมือนง่าย เพราะว่าไม่ต้องทำอะไรนอกจากรู้ แต่ว่าความเคยชินเดิม ๆ ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะเผลอใช้วิธีการเดิม ๆ ก็คือไปกด ไปข่ม ไปต้านกิเลส
       เราต้องลองปรับใจเสียใหม่ เพราะว่าการปฏิบัติธรรมก็มีวิธีการเฉพาะตัวในแต่ละขั้นแต่ละตอน ในทางพุทธศาสนาเราจะมีคำว่าธรรมานุธรรมปฏิบัติ คือปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ทานและศีลเราทำมามากแล้ว ก็ควรทำต่อไป แต่พอมาถึงเรื่องของการบำเพ็ญทางจิต โดยเฉพาะการเจริญสติ และปัญญา เราต้องเรียนรู้วิธีที่จะรู้ทันกิเลสบ้างละ ไม่จำเป็นต้องไปกดข่มหรือต้านกิเลส ทางสายที่ ๓ สำคัญมาก เพราะว่าการรู้ทันกิเลส เพียงแต่ดู หรือเห็นมันเฉย ๆ เท่านี้ก็มีอานุภาพมาก การจะสู้กับกิเลส บางทีก็ไม่ได้ทำด้วยการต้านมัน หรือเล่นงานมัน เพียงแต่รู้ เพียงแต่เห็นเฉย ๆ มันก็ล่าถอยไปได้ โดยที่เราไม่ต้องไปทำอะไรกิเลสเลย เวลาโกรธ เราเห็นความโกรธเกิดขึ้น มันก็ดับไป ที่จริงจะว่าดับมันก็ไม่ถูก เพราะถึงเราไม่ดูมัน ไม่มีสติดูมัน มันก็ดับอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือมันดับ แล้วก็เกิดใหม่อีก เพราะว่าธรรมชาติของอารมณ์ทั้งหลาย ทั้งรูปธรรม และนามธรรม มันเกิดแล้วดับ พอเกิดปุ๊บ ก็ดับปั๊บ แต่พอมีสติรู้ปุ๊บ มาขวางกลาง มันก็ไม่เกิดขึ้น มันดับอยู่แล้วนะ แต่พอมีสติรู้ มันก็ไม่เกิด ทำไมมันถึงไม่เกิด เพราะว่าสติเป็นกุศล พอมีกุศลเกิดขึ้น อกุศลก็เกิดขึ้นไม่ได้ แต่ว่าเราไม่ถนัด ไม่คุ้นกับการทำอย่างนี้ เราจึงพยายามเข้าไปต้านมัน พยายามผลักไสมัน แต่เราลืมไปว่า ถ้าเราทำอย่างนั้น ก็ง่ายที่จะถลำเข้าไปอยู่ในอำนาจของมัน อารมณ์พวกนี้เหมือนกับมีกาวติดอยู่ พอเราเอามือผลักมัน ปรากฏว่ามือเราติดมันเลย เกิดการยึดติดขึ้น แล้วมันก็ลากเราไปตามอำนาจของมัน
        เปรียบเทียบให้เห็นชัดเจน สมมติว่า มีรถคันหนึ่งหรือซุงท่อนหนึ่งขวางหน้าบ้าน เราอยากจะเข็นหรือดันให้มันไปไกล ๆ แต่ว่ายิ่งเข็นยิ่งดัน ตัวเราก็ยิ่งแนบชิดสนิทกับรถหรือท่อนซุงใช่ไหม อยากผลักให้มันไปห่าง ๆ แต่เรากับมันกลับยิ่งใกล้ชิดกัน ทำนองเดียวกัน พอเราพยายามผลักไสความคิดฟุ้งซ่าน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ยิ่งผลักไสมันก็ยิ่งโผล่ยิ่งผุด เหมือนยิ่งห้ามก็ยิ่งยุ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะใจที่อยากผลักออกไปนั้นเป็นใจที่เจือด้วยกิเลส คือความโลภ ความอยาก มันเป็นอกุศล อกุศล เมื่อเจอกับอกุศลก็เสริมกันพอดีพอดี ทำให้มันมีกำลังเพิ่มขึ้น แต่ถ้าหากเรามีสติ คือเห็นมันเฉย ๆ เห็นมันด้วยใจเป็นกลาง ไม่มีความรังเกียจ หรือความอยากผลักไสเจือปน ก็จะเป็นกุศลล้วน ๆ เมื่อเป็นกุศลล้วน ๆ ก็ไม่เปิดโอกาสให้อกุศลเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเราอยากจะผลักมันออกไป อยากจะกดข่มมันให้หายไป ขณะจิตนั้นเจือด้วยอกุศล จึงกลายเป็นเชื้อให้กับอารมณ์อกุศลที่เราอยากจะผลัก เท่ากับไปเติมเชื้อให้มัน เหมือนกับเราอยากจะดับไฟ แต่เราเอาน้ำที่ผสมน้ำมันเทลงไป แทนที่ไฟจะดับ มันก็ลุกโพลงเพิ่มขึ้น
       ด้วยเหตุนี้ การจัดการหรือเกี่ยวข้องกับกิเลส เราต้องเรียนรู้วิธีการอีกขั้นหนึ่งด้วย ก็คือการรู้ทันกิเลส โดยรู้เฉย ๆ วิธีนี้มีอานุภาพ พระพุทธเจ้า หรือพระสาวก เวลาถูกมาร ไม่ว่า กิเลสมาร หรือเทวปุตตมาร มารังควาน วิธีหนึ่งที่ท่านใช้บ่อยก็คือ การรู้ทัน หรือการบอกให้มารนั้นรู้ว่า ท่านรู้ทันมาร มารมีอุบายหลายอย่าง ที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติเลิกทำความเพียร ในพระไตรปิฎก หมวดที่ชื่อมารสังยุตต์ พูดถึงอุบายหลากหลายของมาร เช่น หลอกให้กลัว โดยปลอมมาเป็นพญาช้างบ้าง เป็นงูยักษ์บ้าง ทำให้เกิดแผ่นดินไหวบ้าง หรือไม่ก็มาล่อหลอกให้เขว คราวหนึ่งขณะที่พระพุทธเจ้ายังทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ หลังจากทรงละทุกรกิริยาแล้ว มารก็มาชวนให้พระองค์กลับเข้าหาทุกรกิริยา โดยบอกว่าทางนี้ถูกแน่ แต่พระองค์ก็ปฏิเสธ เพราะรู้ว่านี่เป็นอุบายของมาร บางครั้งพระองค์กำลังบำเพ็ญเพียรอยู่ มารบอกว่า ท่านสะสมบุญมากแล้ว ท่านจะบำเพ็ญเพียรอีกทำไม มารมาหลอกอย่างนี้ พระพุทธเจ้าซึ่งตอนนั้นยังไม่ตรัสรู้ ก็บอกว่าเราไม่ได้มีความต้องการบุญแม้แต่น้อย ท่านควรไปบอกแก่ผู้ต้องการบุญดีกว่า มาถึงตรงนี้พระองค์ไม่ต้องการบุญแล้ว พระองค์ปฏิบัติเพื่อมุ่งพ้นทุกข์ คือเหนือบุญ เหนือบาป แม้เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว มารก็ยังมาชวนให้พระองค์กลับไปครองราชย์ มารจะปรากฏตัวในรูปลักษณ์ต่าง ๆ กัน เช่นเป็นพราหมณ์บ้าง เป็นดาบสบ้าง
       พระสาวกก็โดนมารหลอกหรือรังควานเช่นกัน บางครั้งมารก็มาชักชวนภิกษุณีว่าไปสวรรค์ดีกว่า อย่าไปนิพพานเลย สวรรค์มีสิ่งงดงามมากมาย แต่ท่านก็ปฏิเสธไป บางทีมารก็ใช้ฤทธิ์ เช่นมาเข้าท้อง พระโมคคัลลานะ ท่านบอกให้ออกไป มารไม่ยอมออก ท่านจึงพูดกับมารว่า “เรารู้จักท่าน ท่านอย่าคิดว่าเราไม่รู้จักท่าน” แค่นี้แหละ มารก็ออกจากร่างพระโมคคัลลานะ ด้วยความเสียใจที่ถูกรู้ทัน อีกคราวหนึ่งมารเข้าสิงพระพรหมเพื่อให้กล่าวตำหนิพระพุทธองค์ พระองค์รู้ว่านี่เป็นฝีมือของมาร จึงตรัสว่า “มารผู้มีบาป เรารู้จักท่าน ท่านอย่าเข้าใจว่าเราไม่รู้จักท่าน” เพียงเท่านี้มารก็หยุด สิ่งหนึ่งที่มารกลัวก็คือ กลัวว่าคนอื่นจะรู้ทันอุบายของมาร มีหลายครั้งที่เมื่อพระพุทธเจ้าหรือพระสาวกรู้ทัน มารก็ล่าถอยไปด้วยความเสียใจ พร้อมกับรำพึงว่า “พระพุทธเจ้าทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา” คราวหนึ่งมารแกล้งพระสมิทธิ ด้วยการทำให้เกิดแผ่นดินไหว พระสมิทธิตกใจ เลิกทำความเพียร ไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์ทราบว่าเป็นอุบายของมาร จึงตรัสให้พระสมิทธิรู้ พระสมิทธิกลับไปบำเพ็ญเพียรใหม่ พอเกิดแผ่นดินไหวอีก พระสมิทธิก็บอกให้มารรู้ว่าท่านรู้แล้วว่าเป็นอุบายของมาร มารพอได้ยินก็เสียใจ หยุดรังควาน พร้อมกับรำพึงว่า “พระสมิทธิรู้จักเรา”
       การรู้หรือเห็นกิเลสมารเฉย ๆ รู้ว่ามันเกิดขึ้นในใจ จึงมีพลังมาก สามารถทำให้มารล่าถอยไปได้ โดยที่ไม่ต้องใช้อิทธิฤทธิ์เลย ถามว่า รู้ทันมารด้วยอะไร ก็รู้ด้วยสติ หรือความระลึกได้ ที่แล้วมาเวลาเราเกิดอารมณ์อกุศลขึ้นมา เรามักจะต้าน จะต่อสู้ แล้วก็พันตูมัน อันนั้นก็ดีอยู่ แต่ว่ายังไม่พอ เราต้องเรียนรู้อีกวิธีหนึ่งซึ่งใช้ในการบำเพ็ญวิปัสสนา คือรู้หรือดูมันเฉย ๆ วิธีนี้ไม่ใช่ของยาก เพราะว่าเรามีความสามารถที่จะดูหรือรู้ใจอยู่แล้ว เราทุกคนมีสติ สามารถรู้ความเป็นไปภายในใจได้อยู่แล้ว
      อย่าว่าแต่พวกเราซึ่งเป็นนักปฏิบัติเลย แม้แต่เด็กๆก็มีความสามารถเช่นนี้อยู่ มีแม่คนหนึ่งเล่าให้ฟัง ว่าวันหนึ่งลูกซึ่งอายุแค่ ๔ ขวบ ไม่พอใจย่ามาก ที่เอาดอกไม้กระดาษของตัวเองมาผสมกัน แทนที่จะแยกคนละสี แม่อาสาว่าจะช่วยแยกให้ แต่ลูกก็ไม่ยอม ยืนยันจะให้ย่าทำให้เหมือนเดิม ปกติคนเป็นแม่ ถ้ารู้ว่าลูกโกรธย่า แม่ก็จะบอกว่า อย่าโกรธย่านะลูก มันไม่ดี แต่แม่คนนี้ไม่ทำอย่างนั้น แม่ถามว่า “ลูกโกรธย่ามากใช่ไหมที่มาทำของลูกเสีย ไหนลูกบอกแม่ซิ ว่าลูกโกรธย่าแค่ไหน เท่านี้หรือ” แล้วแม่ก็กางมือออกเล็กน้อย เด็กยังเงียบ แม่จึงกางมือใหญ่กว้างแบบเท่าฟ้า คราวนี้ลูกกางมือออกเท่าฟ้าเหมือนแม่ แสดงว่าลูกโกรธย่าเท่าฟ้า แถมยังบอกแม่ให้ไปบอกย่าด้วยว่าลูกโกรธย่าตั้งเท่านี้ ถ้าเป็นแม่ทั่วไปก็ต้องตกใจที่ลูกโกรธย่าเท่าฟ้า แต่แม่ไม่ตระหนก แม่บอกลูกว่า ได้เลยลูก แม่จะไปบอกย่าให้ พูดแค่นี้ ลูกก็เดินจากไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
       แม่ไม่ได้สอนลูกให้ต้านกิเลส หรือให้กดข่มความโกรธ แต่แม่ทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนให้ลูกเห็น ว่าตัวเองมีความโกรธแค่ไหน พอเด็กเห็นปุ๊บ สติเกิดขึ้น ความโกรธก็ค่อย ๆ หายไป
       แม่คนหนึ่งก็เล่าคล้าย ๆ กัน ลูกชื่อน้องเพลง อายุแค่ ๓ ขวบครึ่ง เสียใจเพราะกบตาย ร้องไห้ไม่หยุด ทีแรกแม่ก็ใช้วิธีปลอบใจ แต่พูดอย่างไรก็ไม่ได้ผล แม่เลยเปลี่ยนวิธีใหม่ โดยทำหน้าที่สะท้อนความรู้สึกของลูก แม่พูดกับลูกว่า น้องเพลงเสียใจที่กบตายใช่ไหม น้องเพลงก็พยักหน้า เสร็จแล้วแม่ก็นั่งอยู่ข้าง ๆ กับลูกเงียบ ๆ ไม่ได้บอกลูกเลย ว่าอย่าเสียใจนะลูก มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าพูดอย่างนั้นเด็กไม่รู้เรื่องนะ แม่เพียงแต่ให้เด็กรับรู้ความรู้สึกของเขาโดยที่แม่เป็นตัวสะท้อน พอแม่พูดอย่างนี้ เด็กก็เห็นความรู้สึกของตัวว่ากำลังเสียใจที่กบตาย ความรู้สึกตัวก็เกิดขึ้น พอความรู้สึกตัวเกิดขึ้น ความเสียใจก็ค่อย ๆ หายไป แม่กำลังสอนลูกให้รู้ทันกิเลส ให้รู้ทัน อารมณ์อกุศล นี่ก็เป็นวิธีการแบบพุทธ ส่วนใหญ่เราจะใช้วิธีการสอนให้เด็กต้านกิเลส ซึ่งก็ดีอยู่ แต่ว่ามันไม่ใช่เป็นวิธีเดียวที่ใช้ได้ ยังมีวิธีอื่นคือการทำให้เด็กรู้ตัว
      วิธีการนี้ใช้ได้ไม่ว่าเด็กเล็กหรือเด็กโต เพื่อนคนหนึ่งเล่าให้ฟัง ลูกสาวอายุ ๑๒ มาขอเงินแม่เพื่อซื้อของเล่น เป็นไมโครโฟน พอกดปุ่มจะมีเสียงเพลงออกมา เหมือนกับว่าเราร้องเพลงได้ แม่ถามว่าเท่าไหร่ เด็กตอบว่า ๔๐๐ บาท แม่ตกใจ บอกว่าแพงนะ ๔๐๐ บาท แต่ลูกก็รบเร้าจะเอาให้ได้ แม่ก็ไม่ค้านลูกนะ แต่ต่อรองกับลูกว่า แม่จะให้เงินลูกนะ แต่มีเงื่อนไข ๒ ข้อ หนึ่งแม่จะหักเงินค่าขนมลูกวันละครึ่งหนึ่งจนครบ ๔๐๐ บาท สอง ทุกเย็นก่อนกลับบ้านแม่อยากให้ลูกดูไมโครโฟนอันนั้น แล้วก็ดูใจของลูกที่อยากได้ไมโครโฟนด้วย ผ่านไปได้ ๔ วัน ลูกก็มาบอกแม่ว่า ไม่เอาละ แม่ถามว่า ทำไมล่ะ ลูกอยากได้ไม่ใช่เหรอ เด็กบอกว่าเบื่อแล้ว เอาค่าขนมเอาไปทำอย่างอื่นดีกว่า เสียดายเงิน
        ลูกดูใจตามที่แม่บอก พอมาดูความอยาก ก็เห็นว่าความอยากค่อย ๆ คลายไป เพราะ ความอยากมันไม่เที่ยง วันแรกก็อยากได้มาก พอวันที่ ๒ ความอยากก็ลดลง พอถึงวันที่ ๔ ความอยากก็แทบจะเป็นศูนย์ แล้วเด็กก็ได้คิดว่าเงิน ๔๐๐ บาทแพงไป เอาเงินไปทำอย่างอื่นดีกว่า
       ปกติเวลาแม่เจอลูกรบเร้าอยากได้ของเล่น วิธีการที่แม่ทั่วไปใช้ก็คือตัดรำคาญ ให้เงินลูกไปเลย อันนี้เรียกว่าตามกิเลส แม่บางคนก็ใช้วิธีต้านกิเลส ห้ามลูกว่าอย่าซื้อเลย มันแพง แต่แม่คนนี้มีอุบายดีกว่านั้น ลูกจะซื้อก็ซื้อได้ แต่ว่าให้ลูกไปดูของแล้วก็ดูใจด้วย เป็นธรรมชาติของจิตอยู่แล้ว พอมีสติดูใจ ก็จะเห็นเลยว่าความอยากมันไม่เที่ยง ถึงแม้ไม่ดู ความอยากก็ไม่เที่ยงอยู่แล้ว แต่พอดูใจ ก็จะให้เห็นชัดยิ่งขึ้นว่าความอยากค่อย ๆ หายไป อีกอย่าง พอมีสติดูใจ เห็นความอยาก ความอยากก็คลายไป หรือปล่อยวางได้ นี้เป็นวิธีที่ใช้ได้ แม้กระทั่งกับเด็ก ก็สามารถฝึกให้เด็กมีสติได้
        มีวิธีการหลายอย่างที่พ่อแม่สามารถใช้กับลูกได้ เช่น ลูกโกรธ แม่ก็ถามว่าลูกโกรธใช่ไหม ลูกตอบว่าใช่ แม่ถามว่า โกรธแค่ไหน เสร็จแล้วก็เอาสีมาระบาย โกรธแค่นี้ใช่ไหม เอาสีระบายลงไปในกระดาษ โกรธแค่นี้ใช่ไหม ลูกบอกไม่ใช่ มันโกรธมากกว่านี้ ลูกก็เอาสีละเลงเข้าไปใหญ่ ในแง่หนึ่ง ก็เป็นการระบายความโกรธ แต่ในแง่หนึ่งก็ทำให้เด็กเห็นความโกรธของตัวเอง เป็นรูปธรรมเลย พอทำเสร็จเด็กก็รู้ตัว พอรู้ตัวเด็กก็สงบลงได้
       เราเป็นผู้ใหญ่ก็สามารถทำอย่างนี้ได้ และสามารถทำได้ดีด้วยแต่ปัญหาของผู้ใหญ่ก็คือผู้ใหญ่มีความคิดซับซ้อน ชอบหาเหตุผลมาสนับสนุนอารมณ์ของตัว เช่นเรามักมีเหตุผลมายืนยันว่า ที่เราโกรธนั้นถูกแล้ว ส่วนเด็กมีความคิดที่ไม่ซับซ้อน พอรู้ทันความโกรธ ความโกรธก็เพลาลงเลย แต่ผู้ใหญ่จะไม่ยอมให้ความโกรธทุเลา มักสรรหาเหตุผลเป็นข้ออ้างว่า สมควรแล้วที่โกรธ ต้องโกรธให้มาก ๆ เพราะไอ้นี่มันเลว มันชั่ว เราจะสรรหาเหตุผลมา เพื่อสนับสนุนความโกรธ หรือหาเหตุผลมาสนับสนุนความอยากของเรา แทนที่มันจะเพลาลงเมื่อมีสติรู้ทันกิเลส มันกลับพุ่งโพล่งขึ้นมาใหม่ เพราะเราไปปรุงแต่ง ยิ่งคนที่มีการศึกษา ก็จะยิ่งมีความฉลาด ในการสรรหาเหตุผลมาปรุงแต่งหรือรองรับสนับสนุนกิเลสของตัวเอง
       เพื่อนคนหนึ่งมีคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค เพิ่งซื้อมาได้ปีเดียว พอเจอโน้ตบุ๊คตัวใหม่ อยากได้ขึ้นมาก็จะหาเหตุผลให้ตัวเองว่า โน้ตบุ๊ครุ่นนี้ดีนะ มันเบา ความเร็วสูง แถมเก็บไฟได้นาน เหมาะกับการเอาไปทำงานต่างจังหวัด คือทั้ง ๆ ที่รู้ว่าตัวเองอยาก แต่พอมีเหตุผลอย่างนี้เข้ามา สติก็กระเจิงเลย เพราะความอยากมีกำลังมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ทันเหตุผลที่ถูกปรุงแต่งมาเป็นข้ออ้างด้วย รู้ทันลงไปว่าเหตุผลทั้งหมดนี้เป็นข้ออ้างของกิเลสทั้งนั้น กิเลสมันก็มีเหตุผลของเหมือนกันนะ อย่าไปคิดว่าเหตุผลนั้นเกิดจากปัญญาบริสุทธิ์อย่างเดียว ยิ่งฉลาด ยิ่งจบปริญญาสูง ก็ยิ่งฉลาดในการสรรหาเหตุผลมาสนับสนุน รองรับความต้องการของมัน ถ้าเราไม่รู้ทันกิเลส เราก็จะถูกมันหลอกไปเรื่อย ๆ
       ดังนั้นการรู้ทันจิตใจของตัวเอง นอกจากเราจะต้องรู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว เราต้องไวพอที่จะสาวลงไปจนเห็นตัวการที่อยู่เบื้องหลังอารมณ์หรือความคิด การเจริญสติมีความสำคัญมาก ประการแรกคือ ช่วยให้กิเลสเข้ามาครองจิตครองใจไม่ได้ ไม่ใช่เพราะผลักไส ไม่ใช่เพราะรังเกียจ แต่เพราะรู้ รู้แล้วไม่หลงเชื่อ พอมันหายไป ความสงบก็มาแทนที่ เราไม่จำเป็นต้องกดข่ม เราเพียงแต่เห็น ใจก็จะสงบ เป็นความสงบโดยไม่จำเป็นต้องหลบลี้หนีหน้าผู้คน หรือหนีสิ่งเย้ายวนยั่วยุ คนเราเวลาอยากจะสงบใจก็ต้องหนี มาอยู่วัด จะได้ไม่ต้องดูโทรทัศน์ ไม่ต้องฟังวิทยุ ไม่ต้องดูหนังสือพิมพ์ ไม่มีข่าวที่จะมากระตุ้นโทสะ ไม่มีละครที่จะมากระตุ้น โลภะ หรือราคะ ไม่มีโฆษณาที่จะมากระตุ้นความอยาก มาอยู่ในบรรยากาศแบบนี้เราก็สงบได้ แต่สงบอย่างนี้ เป็นความสงบที่ต้องพึ่งพาสิ่งแวดล้อม อาศัยสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ดังนั้นถึงไม่ปฏิบัติธรรมก็สงบได้ แต่ถ้าเรามาอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นยั่วยุ สติจะมีความสำคัญมาก แม้ว่ามีสิ่งมากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก แต่มันไม่กระเทือนถึงใจ เพราะพอมีความอยากเกิดขึ้น มีความหงุดหงิดเกิดขึ้น ทันทีที่มีสติรู้ ก็วางมันลงได้ ทำให้เกิดความสงบใจ แม้จะอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่วุ่นวาย หรือสิ่งที่ยั่วยุเย้ายวน หรืออยู่ท่ามกลางผู้คน ซึ่งมีนิสัยไม่ตรงกับเรา แต่ไม่ว่าอะไรมากระทบ หรือรับรู้ทางตา จมูก หู ลิ้น กาย เราก็มีสติรู้ทัน ทำให้เกิดความสงบได้
        อย่างที่บอกไว้แล้ว วิปัสสนากรรมฐาน ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายแค่ให้เกิดความสงบ แต่ยังช่วยให้เราเห็นความจริงของใจจากการเห็นอารมณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น เมื่อเรามีสติ เราก็จะเห็นมันเกิดดับ การเห็นบ่อย ๆ ไม่ว่าจะอารมณ์บวก หรืออารมณ์ลบ อิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ กุศลหรืออกุศล ชอบหรือชัง ยินดีหรือยินร้าย ทั้งหมดนี้ถือเป็นของดีทั้งนั้น คือเป็นวัตถุดิบเพื่อให้เราได้เห็นธรรมชาติของจิต เห็นธรรมชาติของนามธรรม เห็นธรรมชาติของทุกสิ่ง รวมทั้งรูปธรรมด้วย เห็นความเกิด ความดับของมัน เห็นว่ามันไม่เที่ยง ไม่จีรัง ไม่ว่ากุศล หรืออกุศล ในแง่นี้จึงมีคุณค่าเสมอกัน ต่างก็ไม่เที่ยงทั้งคู่ แล้วก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ในที่นี้หมายความว่า ไม่สามารถทนอยู่ในภาวะใด ภาวะหนึ่งได้นาน ลองสังเกตดู เวลาเราดีใจ หรือว่าเวลาเรามีความสุข ความสุขมันก็อยู่ไม่นาน ความสุขมันไม่สามารถจะทนอยู่ในสภาพเดิมของมันได้ มันต้องแปรเปลี่ยนไป ความทุกข์ก็เหมือนกัน ความโกรธก็เหมือนกัน ความเบื่อก็เหมือนกัน ไม่สามารถจะคงทนอยู่ได้นาน เรียกว่าเป็นทุกข์ ทุกขัง ก็คือทนอยู่ในภาวะใดภาวะหนึ่งไม่ได้นาน เป็นความไม่เที่ยงอีกแบบหนึ่ง
       ยิ่งเห็นต่อไปว่า มันเป็นอนัตตา คือกายและใจ รวมทั้งอารมณ์ต่าง ๆ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา การเจริญสติ ถ้าเราเป็นผู้ดูเฉย ๆ ก็จะเห็นเลยว่า ที่เดินนี่ เป็นกายที่เดิน ไม่ใช่เราเดิน ที่คิดนี่ เป็นใจที่คิด ไม่ใช่เราคิด ที่โกรธนี้ ใจโกรธไม่ใช่เราโกรธ แต่ถ้าไม่มีสติ ก็จะสำคัญมั่นหมายว่ามีเราเป็นผู้เดิน เป็นผู้โกรธ แต่พอมีสติก็จะเห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ จนความเป็นเราไม่มีที่ตั้ง เพราะมันเป็นการปรุงแต่งขึ้นมา
        ความจริงเหล่านี้เห็นได้จากการที่เราดูใจอยู่บ่อย ๆ เรียกง่าย ๆ ว่ามองตน มองตนทีแรกก็เห็นนิสัยของตัวเอง เห็นความถนัด ความชอบของตัวเอง แต่มองไปลึก ๆ กลายเป็นว่าไม่เห็นตนแล้วนะ มองตนจนไม่เห็นตนเลย มันมีแต่รูปและนาม มีแต่กายและใจ ที่เคลื่อนขยับ กายเคลื่อนไหว ใจคิดนึก มองตนดี ๆ มองไปลึก ๆ ไม่เห็นตนแล้วนะ แต่ว่าใหม่ ๆ ก็ไม่เห็นตนแค่ชั่วขณะ พอเผลอ พอไม่มีสติ หรือพอลืมตัว ความหลงก็มาแทนที่ พอความหลงมาก็ปรุงตัวกู ของกูขึ้นมา แต่ถ้าเราเห็นบ่อย ๆ ก็จะเห็นความจริงของรูป และนาม ของกาย และใจ ก็จะเกิดปัญญา เพราะปัญญาในพระพุทธศาสนา ไม่ได้เกิดจากการคิดเอา แต่เกิดจากการเห็นของจริง เราจะเห็นของจริงได้ ก็ต้องเปิดใจยอมรับ เปิดกว้างทุกอย่าง ด้วยใจเป็นกลาง ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ว่ากุศล หรืออกุศล ไม่ว่าดีใจ เสียใจ ไม่ว่าชัง หรือชอบ เปิดรับเสมอกัน ไม่รังเกียจ ไม่ผลักไส แต่ก่อนนี้เราผลักไส แต่ตอนนี้เราเรียนรู้ที่จะไม่ผลักไส หัดมองด้วยใจเป็นกลาง ๆ
       คนที่ติดดีมักจะไม่ชอบความโกรธ ไม่ชอบความเกลียด เพราะเป็นอารมณ์ที่ไม่ดี ท่านติช นัท ฮันห์ จึงสอนว่า ให้ลองโอบกอดความโกรธดูบ้าง โอบกอดด้วยสติ อันนี้เป็นสำนวนเพื่อให้เราไม่ผลักไส ตามความเคยชิน ตามนิสัยติดดีของเรา คนที่ติดดีมักเห็นว่า โกรธไม่ดี เกลียดไม่ดี นักปฏิบัติโกรธไม่ได้ เกลียดไม่ได้ แต่พอเราเจริญวิปัสสนาเรายอมรับตัวเองตามที่เป็นจริง ก็จะเห็นเลยว่าไม่ใช่เราโกรธ ไม่ใช่เราเกลียด มันเป็นใจที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา เวลาใครมาตำหนิ ถ้าไม่มีสติก็โกรธ แต่ถ้ามีสติก็รู้ว่า ความโกรธเกิดขึ้น เวลามีความรู้สึกเสียหน้าเกิดขึ้น ก็เห็นว่าไม่ใช่เราเสียหน้า แต่ถ้ายังมองไปถึงตรงนี้ไม่ได้อย่างน้อยก็มองให้เห็นว่ากิเลสมันทุกข์ ไม่ใช่เราทุกข์ เวลาทำอะไรเสียหน้า ก็ให้รู้ว่า กิเลสมันเสียหน้า กิเลสมันทุกข์ ไม่ใช่เราทุกข์
        ถ้าเรามีสติ เห็นอยู่เรื่อย ๆ ด้วยใจเป็นกลาง จนกระทั่งเห็นว่า ไม่มีเรา ไม่มีของเรา มีแต่รูป และนาม เมื่อมีความทุกข์เกิดขึ้นก็ยกให้เป็นความทุกข์ของรูปและนามไป เช่นตอนนี้รู้สึกเมื่อยขึ้นมา ถ้าไม่มีสติก็รู้สึกว่าฉันเมื่อย กูเมื่
คำสำคัญ (Tags): #รู้ทันกิเลส
หมายเลขบันทึก: 468286เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2011 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท