อาวุธลับของสตีฟ จ๊อบส์


วิธีคิดแบบเซน, ข้อคิดการทำงาน, นับถือพุทธ

ผมประทับใจและต้องการเดินแนวคิดวิถีชีวิตอย่างสตีฟ จอบส์ ตั้งแต่ครั้งที่ได้อ่านหนังสือ เรื่อง มึงสู้จริงหรือเปล่า เป็นครั้งแรกที่รู้จักคนชื่อ สตีฟ จอบส์ เป็นคนที่น่านับถือในความอดทน ใจสู้ และผมได้ยกย่องให้สตีฟเป็นบุคคลต้นแบบ เป็นไอดอลที่สำคัญ ยกให้เป็นครูของผมท่านหนึ่ง

สตีฟ จอบส์  ใช้แนวคิดของพุทธนิกายเซน เป็นแนวทางในการบริหารงานแอปเปิล ทำให้นำหน้าคู่แข่งเสมอๆ นั่นคือ วิธีคิดแบบเซน

สตีฟพูดว่า มีแต่คนศึกษาพุทธศาสนาเท่านั้นที่จะเข้าใจความคิดของเขาอย่างแท้จริง ความคิดแบบพุทธนิกายเซนของเขาสะท้อนให้เห็นในผลิตภัณฑ์แอปเปิลอย่าน่าสนใจ คือ

1. จิตตื่นรู้  เซนให้ความสำคัญกับการมองเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้สตีฟมองเห็นความเป็นไปได้ก่อนที่จะเห็นข้อจำกัด ในส่วนของวิธีบริหารงานนั้น  แม้ว่าสตีฟจะเป็นซีอีโอที่เผด็จการ  แต่เขาไม่มีอคติ ลูกน้องที่เขาเคยด่าอาจกลายเป็นลูกรักในวันรุ่งขึ้นก็ได้ เขาไม่รังเกียจการโต้แย้งและสามารถเปลี่ยนความคิดได้หากอีกฝ่ายมีเหตุผลที่ดีกว่าจริงๆ

2. น้อยแต่มาก  วิถีชีวิตแบบเซนเป็นวิถีชีวิตที่ต้องการความสำรวมอย่างย่ิง  สำรวมของเซนไม่ได้หมายถึงพอดีๆ เท่านั้น แต่ยังหมายถึง ยิ่งน้อยยิ่งดี เพราะคำว่าพอดีของแต่ละคนไม่เท่ากัน และโดยมากต้องมีมากเกินจำเป็นก่อน คนจึงยอมรับว่าพอดี แต่สตีฟเชื่อว่ายิ่งน้อยเท่าไร ยิ่งเรียบง่ายเท่าไรก็ยิ่งดีต่อชีวิตมากเท่านั้น เขาจึงยืนกรานที่จะให้ไอโฟนมีเพียงปุ่มเดียว ต่างจากโทรศัพท์มือถือทั่วไปในท้องตลาด  ซึ่งแม้ว่าจะทำได้ยาก  แต่ในที่สุดแอปเปิลก็สามารถพัฒนาโทรศัพท์มือถือแบบทัชสกรีนซึ่งใครๆ ก็ทำตามในที่สุด

3. ไม่แบ่งแยก  เซนให้คุณค่ากับส่ิงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ใบหญ้า ภูเขาลำธารเสมอกันกับตัวเอง ไม่มีการแบ่งแยก เขาไม่ได้สร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นเพียงเพื่อรับใช้มนุษย์เท่านั้น แต่เขามองว่าผลิตภัณฑ์ของเขาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ และเขาก็พยายามทำให้คนมองเห็นความเชื่อมโยงนั้น

     นอกจากนี้ถ้าเราเดินเข้าไปในร้านแอปเปิลสโตร์ในนิวยอร์ก เราจะเห็นพนักงานหลากหลายเชื้อชาติและมีพนักงานที่เป็นคนพิการด้วย ในแง่หนึ่งอาจเป็นเพราะเขาต้องการรับพนักงานหลายๆ แบบ เพื่อให้บริการลูกค้าได้ตรงใจที่สุด หรือเป็นไปได้ว่าสตีฟเห็นว่าทุกคนมีความสำคัญ และมนุษย์เราต้องพึ่งพาอาศัยกัน จะว่าไปแล้วแอปเปิลเป็นเพียงบริษัทเพียงไม่กี่แห่งที่พนักงานมีความรู้สึกว่าได้รับการดูแลอย่างแท้จริงและตระหนักว่าความสำเร็จของบริษัทคือความสำเร็จของพยักงานทุกคน

4. ทำหน้าที่ มีผู้ถามหลวงจีนมูลูซึ่งเป็นปรมาจารย์เซนท่านหนึ่งว่า "เราต้องนุ่งห่มเสื้อผ้าทุกวัน กินอาหารทุกวัน ทำอย่างไรจึงจะหลีกหนีการกระทำเช่นนี้ได้" อาจารย์ตอบว่า "เราก็นุ่งห่มเสื้อผ้าและกินอาหาร" เมื่อผู้ถามไม่เข้าใจ ท่านก็ยังยืนยันคำตอบเดิม

     ความหมายที่แท้จริงของเรื่องนี้คือ เซนเชื่อว่าการทำหน้าที่คือเส้นทางแห่งการบรรลุธรรมของมนุษย์ ส่วนทำแล้วจะบรรลุธรรมจริงหรือไม่ เซนไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก ซึ่งดูเหมือนว่าชีวิตของสตีฟก็ได้ดำเนินตามนั้น เขาเพียงแต่ทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดและอยากให้คนอื่นทำหน้าที่ของตนเองให้ดีเช่นกัน ซึ่งคนทั่วไปอาจมองว่าเขาย่อหย่อนเรื่องการกุศลไปบ้าง แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสตีฟเป็นตัวอย่างของนักสู้ที่เป็นผู้ชนะโดยพึ่งพาตนเองอย่างแท้จริง

จากเรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ผมหันมาศึกษาคำสอนของเซน

ขอขอบคุณ

ที่มา:นิตยสารซีเคร็ต ฉบับที่ 4 ปีที่ 81 10 พ.ย. 2554 หน้า 24-29

หมายเลขบันทึก: 468280เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2011 13:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 11:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท