เรียนรู้ ดูเป็น...ในช่วงมหาอุทกภัย ๒๕๕๔ ตอนที่ ๓


ที่สำคัญผู้เขียนได้คิดและปรับวิถีการดำรงชีวิตของตนเองตลอด ๑ เดือนมานี้หลายประการเช่นกัน

ตอนที่ ๒

      สำหรับผู้เขียน การเป็นผู้ประสบภัยและไม่ได้ออกจากบ้านมาเป็นเวลา ๑ เดือน ทำให้ได้เรียนรู้ อะไรมากมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ (แม้จะไม่ได้รู้ลึกซึ้ง) เส้นทางการไหลของน้ำ แผนที่แผนผังพื้นที่ ถนนซอกซอยต่างๆ การกั้นหรือชลอน้ำ การพร่องน้ำ การหาพื้นที่รับน้ำ การกำหนดพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อไม่ให้ขวางทางน้ำ ฯลฯ

          ที่สำคัญผู้เขียนได้คิดและปรับวิถีการดำรงชีวิตของตนเองตลอด ๑ เดือนมานี้หลายประการเช่นกัน

          บ้าน ต้องหามาตรการในการป้องกันน้ำท่วมเข้าบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการนำถุงดำ แผ่นพลาสติกมาปิดตรงประตูหน้าบ้านและหลังบ้าน พร้อมทั้งกั้นด้วยกระสอบทรายอีกครั้งหนึ่ง การอุดท่อน้ำต่างๆ ภายในบ้าน การซ่อมแซมร่อง รู รอยปริ แตกต่างๆ ของหน้าต่าง ประตู และผนังบ้านที่น้ำสามารถจะเล็ดลอดเข้ามาได้ การเก็บหรือยกของใช้ขึ้นไว้ที่สูงหรือชั้นบนแทน อะไรที่จะลอยน้ำได้ก็ต้องหาวิธีการไม่ให้ลอยไปกับน้ำ เช่น ถัง โอ่งก็ใส่น้ำหรือสิ่งของหนักๆ เข้าไป หรือหาเชือกผูกไว้กับหลักหรือเสาที่แข็งแรง

          เดิมทีบ้านผู้เขียนเป็นบ้านชั้นเดียวยกพื้นสูง เพราะอยู่ริมคลอง แต่เมื่อผู้เขียนมาอยู่ และต้องการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชั้นล่างอย่างเต็มที่ จึงต่อเติมชั้นล่างเพิ่มเติม และใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่ชั้นล่าง ชั้นบนจะเป็นแค่ที่สำหรับนอนเท่านั้น และทุกปีก็ใช้ชีวิตเช่นนี้มาโดยตลอด แม้ฤดูน้ำหลากก็ไม่เดือดร้อน เพราะน้ำท่วมแต่ไม่เข้าถึงภายในบ้าน แต่สำหรับปีนี้ ที่น้ำท่วมสูงมากๆ จนน้ำเข้ามาภายในตัวบ้านชั้นล่าง ซึ่งเมื่อจบวิกฤตินี้แล้ว นอกจากผู้เขียนต้องคิดที่จะปรับปรุงซ่อมแซมบ้านจากความเสียหาย รวมทั้งหามาตรการป้องกันน้ำท่วมเข้าตัวบ้านในฤดูน้ำหลากปีต่อไปแล้ว การใช้ชีวิตก็ต้องมีการปรับใหม่เช่นเดียวกัน โดยจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชั้นล่างให้น้อยลงและใช้พื้นที่ชั้นบนให้มากขึ้น โดยเฉพาะในฤดูน้ำหลาก ซึ่งที่ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่า ปีต่อๆ ไป จะเกิดเหตุการณ์เช่นปีนี้อีกหรือไม่

          รถ ทรัพย์สมบัติ หรือสิ่งฟุ่มเฟือยอื่นๆ ยิ่งมีสิ่งของหรือทรัพย์สินที่เสียหายได้หรือต้องดูแลเป็นพิเศษมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เราเกิดความทุกข์มากขึ้นเท่านั้น แม้บ้านผู้เขียนไม่ได้มีทรัพย์สินมีค่าอะไรมากมาย แต่ก็ยังรู้สึกทุกข์ใจกับการจัดการทรัพย์สินบางอย่าง เพื่อให้ปลอดภัยและรอดพ้นความเสียหายจากน้ำ ผู้เขียนจึงได้คิดว่า หากเราจะสร้างทรัพย์สินสิ่งฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นต่างๆ จะต้องคิดไตร่ตรองให้มากว่าเราจะบริหารจัดการทรัพย์สินเหล่านั้นอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียได้ หากจัดการไม่ได้ก็ต้องตัดใจที่จะไม่เพิ่มภาระและความทุกข์ให้กับตัวเอง

          สำหรับผู้เขียน คิดหามาตรการในการปกป้องทรัพย์สินไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นรถหรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ นอกจากยกขึ้นที่สูงแล้วยังนำถุงพลาสติกมาห่อหุ้มไว้ แต่สำหรับรถ ได้นำรถไปจอดไว้ที่อื่นที่คาดว่า น่าจะปลอดภัยจากน้ำมากกว่าบริเวณที่จอดรถเดิม และเตรียมพลาสติกมาหุ้มห่อรถเพื่อกันน้ำไว้ แต่ได้รับถุงพลาสติกห่อรถช้าเกินไป เลยไม่ได้นำมาหุ้มห่อรถไว้ จึงแก้ปัญหาด้วยการใช้แม่แรงยกรถขึ้นและหนุนด้วยอิฐให้สูงขึ้นมาจากพื้นอีก ๕๐ เซ็นติเมตร ซึ่งก็ทำให้รถปลอดภัยจากน้ำได้

          อาหารการกิน ต้องมีการตระเตรียมเสบียงอาหารการกินให้พร้อมที่อยู่ได้อย่างน้อยๆ ๑ เดือน ซึ่งผู้เขียนได้เตรียมอาหารการกินสำรองไว้อยู่เป็นประจำแล้ว เนื่องจากบ้านผู้เขียนอยู่ไกลตลาด ไม่ได้เพิ่งตื่นตูมและกักตุนสินค้าในช่วงวิกฤติการขาดแคลนอาหาร และปรับวิถีการกินใหม่ คือ เดิมอยู่เพื่อกิน  เพราะชอบสรรหาของอร่อยกิน เปลี่ยนมาเป็นกินเพื่ออยู่ มีอะไรก็กินแบบนั้น แม้จะไม่อดอยาก หรือขาดแคลนอาหารการกิน แต่ก็ต้องอดทนที่จะกินอาหารซ้ำเดิม อาหารที่พอหาได้ หรือมีอยู่แล้วในบ้าน และวนเวียนอยู่เพียงไม่กี่เมนู ต้องพยายามที่จะไม่คิดถึงอาหารที่ชอบ แม้แต่รายการโทรทัศน์ที่เป็นรายการทำอาหารหรือเกี่ยวข้องกับอาหาร เมื่อดูแล้ว ยังต้องรีบสลัดความอยากกินออกไปโดยทันที ด้วยการเปลี่ยนช่องไปยังช่องอื่นแทน และบอกกับตัวเองว่า หากเข้าสู่สถานการณ์ปกติ จะไม่ทำกับข้าวกินเองเป็นเวลา ๑ เดือน แต่จะขอไปกินอาหารนอกบ้านแทน โดยใช้ข้ออ้างแบบหรูๆ ว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานของประเทศ

         (ติดตามตอนต่อไป)

หญิง สคส.

๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

คำสำคัญ (Tags): #น้ำท่วม
หมายเลขบันทึก: 467561เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2011 09:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มกราคม 2021 17:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชอบมากๆ อ่านแล้วเหมือนอยู่ในเหตุการณ์เลยครับ

  • สวัสดีค่ะ

อ่านแล้วได้ข้อคิดมากเลยค่ะ

".....แต่ก็ยังรู้สึกทุกข์ใจกับการจัดการทรัพย์สินบางอย่าง เพื่อให้ปลอดภัยและรอดพ้นความเสียหายจากน้ำ ผู้เขียนจึงได้คิดว่า หากเราจะสร้างทรัพย์สินสิ่งฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นต่างๆ จะต้องคิดไตร่ตรองให้มากว่าเราจะบริหารจัดการทรัพย์สินเหล่านั้นอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียได้ หากจัดการไม่ได้ก็ต้องตัดใจที่จะไม่เพิ่มภาระและความทุกข์ให้กับตัวเอง...."

ขอบคุณมากค่ะ

 

คุณคนบ้านไกล น้ำท่วมเหมือนกันหรือค่ะ เป็นกำลังใจ สู้ๆๆๆ กันต่อไปนะค่ะ

ขอบคุณพี่ลำดวน ที่แวะมาเยี่ยมเยียนในบล็อกนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท