บันทึกมวยไทยไชยา(๔)


ร่องรอย ของการสืบทอด มวยไชยา..ก่อนที่จะสูญหายไป..ตามกาลเวลา..

รางวัล
                ในการชกสมัยนั้น เป็นการชกเพื่อสมโภชพระที่แห่ทางบกเป็นประจำทุกปี แต่ฝ่ายผู้จัดให้มีมวยในครั้งนั้นซึ่งทุกคนจะกล่าวเช่นเดียวกันว่าเงินรางวัลที่ได้จะได้จากพระยาไชยา เพราะในสมัยนั้นการชกมวยไม่มีการเก็บเงิน ดังนั้นรางวัลที่ได้จะมีไม่มากนัก คนละบาทสองบาทหรือมากกว่านั้นก็ต้องแล้วแต่ฝีมือหรือการต่อสู้แต่ละคู่หรือความพอใจของเจ้านาย แต่ส่วนใหญ่จะได้เท่ากัน ครั้นเมืองไชยาถูกรวมกับเมืองกาญจนดิษฐ์และย้ายศาลากลางไปไว้ที่บ้านดอน พระยาไชยาได้รับการโปรดเกล้าให้เป็นเจ้าเมืองที่บ้านดอน เมืองไชยาจึงไม่มีเจ้าเมืองตั้งแต่นั้นมาการชกมวยที่ศาลาเก้าห้องก็ต้องมีอันล้มเลิกไป แต่เนื่องจากไชยาเป็นเมืองมวย ก็ย่อมจะมีการชกมวยเกิดขึ้นที่แห่งใหม่และสถานที่แห่งนั้นได้แก่สนามมวยวัดพระบรมธาตุไชยา
กองมวย
               ตั้งแต่ที่มีการชกมวยที่ศาลาเก้าห้องแล้วนั้นเมืองไชยาได้เกิดมีกองมวยที่สำคัญเกิดขึ้น 4 กอง คือกองมวยบ้านเวียง กองมวยปากท่อ กองมวยบ้านทุ่ง กองมวยพุ่มเรียง แต่ละกองจะมีนายกอง 1 คน ถ้าเป็นปัจจุบันก็ได้แก่หัวหน้าคณะมวย และนายกองมีหน้าที่รับผิดชอบนักมวยในกอง เพราะนักมวยในกองจะได้รับสิทธิ์พิเศษต่างๆตามความสำคัญ ดังนี้
                 เฉพาะกองมวยของหมื่นมวยมีชื่อ(ปล่อง จำนงทอง)ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีรัชชูฯ จำนวน 25 คน ส่วนที่เหลือต้องเสียภาษีนี้คนละ 4 บาท เหมือนบุคลอื่นทั่วไป
                 การใช้กำลังโยธา(การเกณฑ์ใช้แรงงาน) กล่าวคือในสมัยนั้นมีการเกณฑ์ใช้แรงงานเพื่อสร้างทางหรือสาธารณะสมบัติอื่นๆ ทุกคนในเมืองไชยาย่อมถูกเกณฑ์แรงงานไปใช้โดยไม่มีค่าตอบแทนเป็นเงินทองหรือสิ่งของทุกคนจะต้องไปทำงานตามการเกณฑ์นั้น ยกเว้นบุคคลที่อยู่ใน “กองมวย” ซึ่งจะไม่ถูกเกณฑ์แรงงานเหมือนคนทั่วๆไป
                   บุคคลในกองมวย มีหน้าที่ฟิตซ้อมมวย และเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อที่จะเดินทางไปชกทุกแห่งตามที่ทางราชการต้องการ อย่างเช่นงานเฉลิมฯที่บ้านดอน งานรับเสด็จรัชกาลที่ 6 ที่บนควนท่าข้าม(พุนพิน) นายกองมวยจะต้องนำนักมวยของแต่ละกองไปชก แต่การไปนั้นได้รับการยืนยันว่า นักมวยที่ไปจะได้รับเบี้ยเลี้ยง ตามลำดับดังนี้ คือ 3 บาท 2 บาท 1บาท และ 50 สตางค์ เช่นหมื่นมวยมีชื่อจะได้วันละ 3 บาท นายกองอื่น 2บาท นักมวยสำคัญคนละ 1 บาท ส่วนนักมวยสำรองหรือลูกน้องจะได้คนละ 50 สตางค์ และจะได้รับเบี้ยเลี้ยงจนกว่างานนั้นจะเลิกหรือถึงวันกลับ
                  จะเห็นได้ว่านักมวยมีค่าและมีความหมายมากในสมัยนั้น เป็นบุคคลที่มีเกียรติ ดังนั้นในการเข้ากองมวย นายกองจะเป็นผู้พิจารณาจากรูปร่างของผู้ที่มาสมัครว่าพอจะเป็นนักมวยได้หรือไม่ และก็มีมากเหมือนกันที่เข้ากองมวยโดยหวังสิทธิ์พิเศษ แต่มีข้อแม้ที่น่าสังเกตคือบุคคลที่จะเข้ากองมวยได้ต้องซ้อมจริง ใครหลบหลีกนายกองมีสิทธิ์คัดชื่อออกทันที การคัดชื่อออกทำให้เสียสิทธิ์ที่กล่าวมาแล้วนั้นด้วย
ค่ายมวยที่สำคัญของไชยาและนักมวยเอกของค่าย

ค่าย ศ.ปักษี เป็นค่ายมวยที่เก่าแก่มาก ผู้ให้กำเนิดค่ายนี้ได้แก่ นายนิล ปักษี นักมวยฝีมือเยี่ยมลูกศิษย์พระยาไชยา นักมวยเอกของค่ายนี้ได้แก่ นายเนียม ปักษี ลูกชายนายนิล ปักษี , นายพรหม ราชอักษร , ผู้เคยปะทะนักมวยฝีมือเยี่ยมจากเมืองกรุง เช่น สวย จุฑาเพชร , ไสว แสงจันทร์ , เลื่อน ภู่ประเสริฐ และ ทองอยู่ ทวีสิน ปัจจุบันยังมีคนลูกหลานของสกุลปักษีบวชเป็นเจ้าอาวาสวัดพุมเรียง
ค่ายชัยภิรมย์ ผู้ก่อตั้งค่ายมวยนี้ได้แก่ นายนุ้ย อักษรชื่น สาเหตุที่ตั้งค่ายมวยเพราะเห็นว่าขาดครูมวยทีจะฝึกหัดเด็กหนุ่มๆในหมู่บ้านและเห็นว่าวิชามวยจะสูญหายไป จึงตัดสินใจตั้งค่ายมวย โดยเฉพาะนายนุ้ยเองเป็นศิษย์คนหนึ่งซึ่งเคยฝึกมวยมาจากหมื่นมวยมีชื่อและสาเหตุที่ตั้งชื่อค่ายว่า “ชัยภิรมย์” ก็เพราะเป็นฉายาของนายนุ้ยที่ได้มาจากจังหวัดภูเก็ตคราวชกกับนายเปลื้อง นักชกจากกรุงเทพฯและได้รับชัยชนะเพราะเป็นคนใจเย็นชกด้วยความสุขุมรอบคอบ สำหรับนักมวยเอกของค่ายนี้ก็มีหลายคนเช่น นายหนูเคลือบ พันธุมาศ ผู้ใช้ชื่อในการชกมวยว่า สมจิต และเคยเดินทางเข้าชกในกรุงเทพฯ โดยใช้ชื่อสมจิต ฉวีวงค์ (เท่ง) ปัจจุบันท่านผู้นี้บวชอยู่ ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา (บวชที่วัดหน้าเมืองปัจจุบันเป็นวัดร้าง)
ค่าย วงค์ไชยา ผู้ตั้งค่าย วงค์ไชยา คือ นายจ้อย เหล็กแท้ เป็นศิษย์คนหนึ่งของนายนิล ปักษี เหตุที่ตั้งชื่อวงค์ไชยา เพราะตอนเดิน ทางเข้าชกมวยที่กรุงเทพฯ “แม่คุณ” (เป็นคำเรียกคุณนายชื่น ศรียาภัย ของนายจ้อย) เป็นผู้ตั้งชื่อชกมวยให้ว่า “เนียม วงค์ไชยา” และที่ให้ชื่อเช่นนั้นก็เพื่อให้เป็นที่ระลึกของบ้านเกิดของแม่คุณคือไชยา จึงถือเอา “วงค์ไชยา” เป็นมงคลนามมาตั้งเป็นค่ายเพื่อฝึกหัดศิษย์ ครูมวยของค่ายนี้นอกจากนายจ้อยเองแล้ว ยังมีผู้ช่วยอีกคน คือนายบุญ แห่งบ้านขนอน แต่ใช้ชื่อคณะว่า “ศ.วงค์ไชยา” นักมวยที่มีชื่อเสียงมากคือ นายปรีชา แห่งบ้านขนอน ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา สำหรับคณะมวย “ศ.วงค์ไชยา” ตั้งอยู่ที่บ้านขนอน
ค่ายบำรุงหิรัญ คณะบำรุงหิรัญตั้งค่ายอยู่ที่บ้านท่าโพธิ์ หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา ผู้ตั้งคณะมวยนี้คือนายจ้วน หิรัญกาญจน์ นักมวยเสื้อสามารถเวทีวัดพระบรมธาตุ โดยฝึกมวยมาจากนายน้าว ซึ่งเคยเข้าชกโชว์ฝีมือในเมืองกรุงมาแล้วสมัยหนึ่ง และเคยรับพระราชทานหน้าเสือมาแล้ว สาเหตุที่ต้องตั้งค่ายมวย ก็เพื่อฝึกเด็กรุ่นหนุ่มบ้านท่าโพธิ์ และอีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะเวทีมวยวัดพระบรมธาตุได้ห้ามไม่ให้นักมวยที่ไม่มีชื่อคณะขึ้นชก นักมวยเอกของค่ายนี้มี
ทักษิณ บำรุงหิรัญ (เพชรสุวรรณ) เสียชีวิตแล้ว
เช่ บำรุงหิรัญ (อินทจักร) เสียชีวิตเล้ว
ยี้ บำรุงหิรัญ (อินทจักร) ปัจจุบันมีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เที่ยง บำรุงหิรัญ (อินทจักร) ปัจจุบันมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดตรัง
ปลอด บำรุงหิรัญ (มณีรัตน์) เจ้าของฉายาไอ้มนุษย์รถถัง ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 3 ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา
วัชระ บำรุงหิรัญ (สินธวาชีวะ) ปัจจุบันอยู่บ้านปากท่อ ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา
ประยงค์ บำรุงหิรัญ (ศรีสุวรรณ) ไอ้จอมทรหดของค่าย ปัจจุบันอยู่ที่บ้านทุ่ง ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา
คณะ ณ.ศรีวิชัย ผู้ก่อตั้งค่ายนี้ คือนายบุญส่ง เทพพิมล โดยเริ่มหัดมวยจากคุณตา อดีตนายกองมวยบ้านเวียง คือคุณตาเริก ส่วนคุณปู่ก็เป็นนักชกฝีมือเยี่ยม คือ ปู่นุช เหตุที่ตั้งค่ายมวยก็เหมือนกับค่ายบำรุงหิรัญ แต่ที่ตั้งชื่อเช่นนั้นเพราะบ้านเวียงเป็นที่ตั้งเมืองเก่าสมัยศรีวิชัย และลานฝึกซ้อมก็อยู่ในบริเวณกำแพงเมืองสำหรับนักมวยเอกของค่ายมี
วีระ ณ ศรีวิชัย (ให้ บุญเหมือน) นักชกหมัดหนักของค่าย และยังเป็นคู่ต่อสู้ที่ประชาชนยังพูดถึงความสนุกสนานและดุเดือดทุกครั้งที่ชกกับ สุวรรณ (ริม) ศ.ยอดใจเพชรนักชกจอมทรหดของบ้านพุมเรียงโดยเฉพาะนักชกคนนี้เคยปะทะกับบุญธรรม วิถีชัย มาแล้ว ปัจจุบันตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านเวียง อำเภอไชยา
ชิงชัย ณ ศรีวิชัย (เขียน คงทอง) ผู้เคยประหมัดกับ ศักดิ์ชัย นาคพยัคฆ์ ปัจจุบันรับราชการเป็นตำรวจอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต
คล่อง ณ ศรีวิชัย (คล่อง เชื้อกลับ) ดาราศอกกลับเคยชกกับชาญ เลือดเมืองใต้ ปัจจุบันตั้งบ้านเรือนอยู่หน้าวัดธารน้ำไหล อ.ไชยา
ยก , เทวิน (ไว้),ชาย(ให้) ณ ศรีวิชัย สามพี่น้องตระกูลเผือกสวัสดิ์
นายนาค , ปรีดา ณ ศรีวิชัย (ศักดิ์เพชร) สองพี่น้องลูกชายคนหนึ่งของยอดมวยเมืองไชยา คือ นายสอน ศักดิ์เพชรโดยนายนาค มี ฉายา “ไอ้เป๋” เพราะขาพิการแต่ด้วยเลือดของมวยไชยาโดยแท้ จึงขึ้นเวที่ชกทั้งขาเป๋ และได้รับชัยชนะเป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้องชายคือนายปรีดา เป็นนักชกจอมมุทะลุ ปัจจุบันนายนาคเสียชีวิตแล้ว นายปรีดา ดำเนินธุรกิจส่วนตัว ดำเนินธุรกิจส่วนตัวอยู่ที่บ้านสะพานจันทร์ หมู่ที่ 3 ตำบลเวียง อำเภอไชยา นายนุกูล ณ ศรีวิชัย (บุญรักษา) ไอ้เสือหมัดซ้ายผู้เคยต่อสู้กับสมใจ ลูกสุรินทร์
คณะชัยสิทธิ์ ผู้ตั้งค่ายมวยแห่งนี้คือ นายกิมชุ้น ชัยสิทธิ์ ผู้ซึ่งได้รับการฝึกหัดวิชามวยมาจากอาจารย์แสง และนายนุ้ย อักษรชื่น ปัจจุบันเสียชีวิตแล้วที่จังหวัดชุมพร ค่ายนี้มีสาขาแยกออกไป ทั้งตำบลทุ่งและตำบลป่าเว นักมวยเอกของค่ายนี้ที่พอจะรู้ได้ก็มี
นายมา ใสสะอาด กำนันตำบลป่าเวในปัจจุบัน
นายแพ ชัยอินทร์ กำนันตำบลตลาดไชยา
นายพร้อม ไวทยินทร์ ปัจจุบันตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านปากด่าน ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา คณะ ศ.สิงห์ชัย เป็นคณะมวยที่เกิดขึ้นภายหลัง แต่ก็มีนักชกที่มีชื่อเสียง เช่น
นายนับ ศ.สิงห์ชัย (ทองสาลี) จอมศอกหน้าหยกปัจจุบันตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านดอนโด ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา
เบี้ยว ศ.สิงห์ชัย ไอ้กำแพงเมืองจีนของไชยา ผู้เป็นตัวยืนคนหนึ่งที่คอยรับมือนักชกจากต่างถิ่น โดยเฉพาะที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว
                   นอกจากคณะที่กล่าวมาแล้วก็มีคณะมวยอื่นอีก เช่น ชัยประดิษฐ์ ศ.ยอดใจเพชร แต่ในปัจจุบันนี้นักมวยที่ขึ้นชกที่เป็นนักมวยไชยาแล้วจะใช้คณะอื่นเกือบทั้งหมด เพราะในช่วงนี้ใครที่เคยชกมวยชนะสักครั้งหรือสองครั้งก็สามารถตั้งคณะมวยได้ ซึ่งเป็นการยากที่จะค้นคว้า จึงขอกล่าวแต่เฉพาะค่ายมวยที่มีมาแต่เดิม และมีชื่อเสียงมาก่อน มวยไชยายุคปัจจุบัน
                   หลังจากเวทีที่มวยวัดพระบรมธาตุสิ้นสุดลง วงการมวยไชยาก็เริ่มเสื่อมลงจนถึงทุกวันนี้ เกือบจะพูดได้เลยว่า มวยดังของไชยากำลังจะหมดไป เพราะขาดผู้สนับสนุนที่แท้จริง ทั้งๆที่คนไชยายังคงมีสายเลือดนักสู้อยู่เต็มตัว ความเป็นเมืองมวยกำลังสูญไปเพราะขาดผู้นำที่จริงจัง รวมทั้งปัญหาที่สำคัญที่ทำให้วงการมวยเสื่อมลงทุกวันนี้ที่เห็นได้เด่นชัดคือการพนันการต่อสู้ผลปรากฏจะอยู่ที่การพนันเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้อยู่ที่ฝีมือนักมวย มวยไชยาจึงเสื่อมลงและเสื่อมลง จึงน่าที่จะปลุกวิญญาณของความเป็นนักสู้ของเมืองมวยในอดีตออกมาโชว์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์อีกสักครั้ง ผู้จัดทำเรื่อง “มวยไชยา” จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คงอีกไม่นานเกินไปนักที่นักชกจากเมืองมวย จะได้นำชื่อเสียงมาสู่เมืองมวยอีกสักครั้ง เหมือนที่ “หมื่นมวยมีชื่อ”เคยทำไว้ในอดีต
อดีตมวยฝีมือเยี่ยมเมืองไชยา

อดีตมวยฝีมือเยี่ยมเมืองไชยา ที่เป็นที่รู้จักกันดีได้แก่
หมื่นมวยมีชื่อ(นายปล่อง จำนงทอง)
นายสอน ศักดิ์เพชร
นายนิล ปักษี นักชกผู้พิการ
นายเนียม ปักษี
บุญส่ง เทพพิมล
คล่อง กัณหา
เต็ม กัณหา
พร้อม อินทร์อักษร
อินทร์ ศักดิ์เดช
นายนุ้ย อักษรชื่น (ชัยภิรมย์)
นายหมิก นิลจันทร์ ผู้ลบรอยแค้นให้นายสอน ศักดิ์เพชร เมื่อนายสอน ศักดิ์เพชร ต้องประสบความพ่ายแพ้ให้แก่ “หมัดลูกวัว”แห่งเมืองสงขลาจนถึงถิ่น นายสอนได้พกพาความแค้นกลับไชยา โดยหวังที่จะกลับไปแก้มือให้ได้ แต่เมื่อข่าวการพ่ายแพ้ของนายสอน รู้ถึงนายหมิก เพื่อนผู้เคยตะลุยเมืองกรุง และเป็นศิษย์ฝีมือเยี่ยมของหมื่นมวยมีชื่อ นายหมิกก็รีบเดินทางไปเมืองสงขลา และขอต่อสู้กับ “หมัดลูกวัว” ในการต่อสู้ครั้งนั้น นายหมิกได้รับชัยชนะอย่างง่ายดาย เมื่อได้รับชัยชนะก็กลายเป็นขวัญใจของผู้ชม และการชกครั้งนั้นเป็นการชกครั้งสุดท้ายของนายหมิก เพราะจากการเที่ยวเมืองสงขลาครั้งนี้เอง นายหมิกก็ได้รับโรคร้ายจนไม่สามารถขึ้นชกมวยได้อีกจนตลอดชีวิต
นายจ้อย เหล็กแท้ นักชกผู้ไม่ต้องการรางวัล
            นอกจากนักชกที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีนักมวยฝีมือเยี่ยมและได้รับการกล่าวขวัญถึงอีกหลายคน เช่น
นายเวช จำนงทอง น้องชายหมื่นมวยมีชื่อ
นายสงค์ ศักดิ์เพชร พี่ชายนายสอน ศักดิ์เพชร
นายน้อย บุณยเกตุ หลานชายหมื่นมวยมีชื่อ ผู้เคยเข้าชกมวยคราวหาเงินซื้อปืนให้กองเสือป่า และได้รับ “หน้าเสือ”เป็นเครื่องเชิดชูเกียรติ
             นอกจากนั้นยังมี นายเนิ่น คุ้มรักษ์ , นายเวียง , นายนิตย์ , นายจอน , นายจัน , นายทอง , นายกล่ำ, คนตำบลบ้านเลม็ด ลูกศิษย์หมื่นมวยมีชื่อ นายเหื้อย, นายหยอย, มวยตำบลบ้านเวียง ลูกศิษย์ นายนุช เทพพิมล และนักมวยที่กล่าวถึงนี้เป็นนักมวยที่เคยเดินทางเข้าเมืองกรุงเพื่อเก็บเงินซื้อปืนให้กองเสือป่าและถ้าใครได้รับชัยชนะก็จะได้ “หน้าเสือ” เป็นเครื่องหมายเชิดชูเกียรติทุกคน
             ปัจจุบันมีนักชกที่มีสายเลือด “กัณหา” เต็มตัวได้แก่ จรรยา ลูกกัณหา ซึ่งเป็นหลานชาย นายคล่องและนายเต็ม และได้กลายมาเป็นนักมวยมีชื่อเสียงของพุมเรียงมาระยะหนึ่ง
(คัดลอกจาก มวยไชยา บันทึกโดย วาโยรัตนะ 19/03/2009 กระดานสนทนาวัดท่าขนุน www.watthakhanun.com )

คำสำคัญ (Tags): #มวยไชยา
หมายเลขบันทึก: 467181เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2011 11:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 18:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

อ่านบันทึกของลุงรักชาติราชบุรี แล้วให้รำลึกถึง ครูทอง เชื้อไชยา บรมครูที่อยู่ในดวงใจครูปอค่ะ

ขอบคุณครับ คุณครูปอ..คนแบบคุณครูกำลังเหลือน้อยลงแล้วนะครับ..ต้องช่วยกันส่งต่อให้แก่ลูกหลานเพื่อมิให้สิ่งดีดีสูญหายไปจนไม่เหลือร่องรอย ครับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท