เรื่องเล่าจากผู้รับผิดชอบโครงการเสริมสร้างศักยภาพสู่การเรียนวิชาชีพทันตแพทย์และ โครงการเสริมสร้างศักยภาพนิสิตทันตแพทย์ก่อนการปฏิบัติงานวิชาชีพในคลินิก


เขียนโดย อาจารย์ทันตแพทย์ ดร.อนุพันธ์ สิทธิโชคชัยวุฒิ

       ผมได้มีโอกาสเข้าฟังการนำเสนอผลงานของนิสิตทันตแพทย์นเรศวรชั้นปีที่ 3 เกี่ยวกับการทำงานส่งเสริมสุขภาพในชั้นปี พบว่าปัญหาร่วมกันของนิสิตทันตแพทย์ชั้นปีนี้คือ การทำงานแลปทันตกรรม และการแบ่งเวลาในการเรียน ทั้งยังขาดทักษะและการฝึกฝนอย่างเพียงพอ ในขณะที่ทุกคนในชั้นปีทราบเป็นอย่างดีว่าปัญหาคืออะไร แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างในการเรียนซึ่งต้องใช้ความรู้ภาคทฤษฎีและทักษะการลงมือปฏิบัติจริง รวมถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของนิสิต และอาจารย์ จึงทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปได้ยาก ซึ่งการเรียนในคณะทันตแพทยศาสตร์นั้น นอกจากนิสิตจะต้องเพิ่มพูนความรู้ความสามารถทางวิชาการ ยังจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาทักษะทั้งในทางศาสตร์และศิลป์ของตนเองอย่างสม่ำเสมออีกด้วย นิสิตทันตแพทย์ส่วนใหญ่สามารถพัฒนาทักษะในด้านความรู้ภาคทฤษฎีได้ด้วยตนเอง แต่ในภาคปฏิบัตินิสิตจำเป็นจะต้องมีการฝึกฝนอย่างมากร่วมกับการได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้องจากผู้มีประสบการณ์เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีในการทำงาน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วนิสิตแต่ละคนมีความสามารถ ทักษะ และความเข้าใจในภาคปฏิบัติไม่เท่ากัน จึงใช้เวลาเพื่อฝึกฝนและผลิตงานที่มีคุณภาพดีได้ไม่เท่ากัน แต่เนื่องมาจากระยะเวลาที่จำกัดในระหว่างภาคการศึกษา ประกอบกับงานที่ต้องมีปริมาณและคุณภาพดีตามที่หลักสูตรกำหนด นอกจากภาคปฏิบัติการก่อนขึ้นคลินิกในชั้นปีที่ 3 แล้ว เมื่อนิสิตผ่านไปเรียนในชั้นปีที่ 4 ที่กำลังจะเริ่มปฏิบัติงานคลินิค นิสิตไม่เคยสัมผัสและทำงานจริงกับผู้ป่วยมาก่อน จึงทำให้เกิดความกลัว กังวล กดดัน ความเครียด และความเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกายและจิตใจในการเรียนอย่างมาก ไม่เฉพาะแต่นิสิตทันตแพทย์แต่ยังรวมถึงความเครียดต่ออาจารย์ผู้สอน ซึ่งสามารถส่งผลด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมในการเรียนการสอน นอกจากปัญหาความเครียด และสิ่งแวดล้อมในการเรียนแล้ว การที่นิสิตทุ่มเทเวลาที่มากเกินไปกับการฝึกฝนทักษะเพื่อพยายามให้งานผ่านตามเกณฑ์ที่หลักสูตรกำหนดมักจะส่งผลในการแบ่งเวลาเพื่อศึกษาวิชาเรียนอื่น ๆ ในระหว่างภาคการศึกษาได้น้อยลง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเรียนส่วนอื่น ต่อไป ทั้งนี้ยังมีผลต่อสุขภาพโดยรวมของทั้งนิสิตและอาจารย์ ดังนั้นผมและอาจารย์หลาย ๆ ท่านคิดว่าเรื่องของการฝึกฝนทักษะก่อนเรียน การบริหารจัดการตนเอง และการสื่อสารกับอาจารย์ คนไข้ รวมถึงการสื่อสารอย่างเข้าใจระหว่างบุคคลากรทางการแพทย์ ถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ และถ้าได้รับการฝึกทักษะที่ดีจะเป็นกลวิธีหนึ่งที่จะช่วยทำให้บรรยากาศการทำงานเป็นไปได้โดยราบรื่น และเกิดความเข้าใจระหว่างบุคคลช่วยให้ปัญหาต่าง ๆ คลี่คลายไปในทางที่ดีได้

       ในฐานะที่คณะทันตแพทยศาสตร์เป็นหน่วยงานที่ให้การศึกษาทางด้านวิชาการ และการฝึกปฏิบัติงานของนิสิตทันตแพทย์เพื่อการผลิตทันตแพทย์ที่มีคุณภาพ ผมจึงได้พยายามริเริ่มและพัฒนาโครงการเสริมสร้างศักยภาพสู่การเรียนวิชาชีพทันตแพทย์ และโครงการเสริมสร้างศักยภาพนิสิตทันตแพทย์ก่อนการปฏิบัติงานวิชาชีพในคลินิกขึ้นมาโดยมีความหวังว่าจะช่วยแก้ไข หรืออย่างน้อยก็ช่วยลดปัญหาเหล่านี้ให้น้อยลงโดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีความสุขของนิสิตระดับก่อนคลินิกให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลมากที่สุด โดยจัดให้มีการฝึกฝนทักษะในการทำงานภาคปฏิบัติเบื้องต้นก่อนการเรียนรู้จริงในชั้นเรียน เช่นการให้ความรู้ในงานศิลปะ การพัฒนาทักษะการใช้มือและสายตา นอกจากนี้ยังจัดให้มีการพัฒนาทักษะการสื่อสาร การบริหารตนเอง และบริหารเวลาในการเรียนวิชาชีพทันตแพทย์ เพื่อลดความตึงเครียดและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีที่เอื้อต่อการเรียนการสอนอย่างมีความสุขร่วมกันของนิสิตและอาจารย์  อีกทั้งเพื่อส่งเสริมทัศนคติที่ดีต่อการเรียนของนิสิตพร้อมปลูกฝังความรู้สึกภาคภูมิใจและรักในวิชาชีพ และมีความมุ่งหวังในระยะยาวเพื่อผลิตทันตแพทย์ที่มีคุณภาพสู่สังคมต่อไป

          ผลจากโครงการเสริมสร้างศักยภาพสู่การเรียนวิชาชีพทันตแพทย์ในชั้นพรีคลินิกซึ่งเป็นโครงการแรกที่เริ่มทำพบว่า โครงการนี้เป็นเพียงการพัฒนาทักษะพื้นฐานและแนะนำแนวทางในการพัฒนาตนเองเบื้องต้นซึ่งให้ประโยชน์มากต่อนิสิตที่ไม่เคยมีทักษะหรือไม่มีพรสวรรค์ในงานทันตกรรม แต่สำหรับนิสิตที่มีพรสวรรค์หรือเคยสัมผัสงานพื้นฐานเหล่านี้มาก่อนจะรู้สึกว่าไม่ได้ช่วยพัฒนามากขึ้นเท่าไหร่ นิสิตเหล่านี้อาจมีความต้องการในการฝึกทักษะระดับที่ยากขึ้นหรือใกล้เคียงกับการทำงานจริงในวิชาชีพ เช่นการฝึกทำแลปทันตกรรม จริง นอกจากนี้นิสิตมีความคาดหวังสูงว่าหลังจากเสร็จสิ้นโครงการแล้วจะมีทักษะที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนิสิตทุกคนไม่สามารถพัฒนาทักษะให้ดีขึ้นหรือเท่าเทียมกันได้ในเวลาที่จำกัด จึงต้องมีการเน้นย้ำแนวทางที่นิสิตจะสามารถฝึกฝนพัฒนาด้วยตัวเองต่อไป ทั้งนี้นิสิตบางส่วนมีความตั้งใจที่จะพัฒนาทักษะของตนหลังจากเสร็จสิ้นโครงการ แต่นิสิตรู้สึกว่าเรียนหนักและมีความเครียดอย่างมากในระหว่างปีการศึกษาทำให้ความอยากที่จะพัฒนาทักษะของตนเองลดน้อยลงเพราะต้องให้ความสำคัญกับงานหลักด้วย การมีกิจกรรมระหว่างภาคการศึกษาหลังจากเริ่มเรียนไปสักระยะเพื่อกระตุ้นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ร่วมช่วยกันแก้ไขปัญหาระหว่างนิสิตในชั้นปีเดียวกัน นิสิตกับรุ่นพี่ นิสิตกับอาจารย์เป็นกิจกรรมที่ได้ผลดีและมีประโยชน์ นอกจากนี้นิสิตมีการให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่าอาจารย์ควรเข้าร่วมกิจกรรมและรับรู้ปัญหาในการทำงานและการเรียนของนิสิตมากยิ่งขึ้น

       สิ่งที่นิสิตได้เรียนรู้จากโครงการแรกคือ เรื่องของการบริหารเวลาซึ่งนิสิตได้ให้ข้อสังเกตุว่าอาจทำไม่ได้ในบางสถานการณ์จริง แต่นิสิตได้ความรู้เรื่องการจับเครื่องมือ และใช้เครื่องมือพื้นฐานทางทันตกรรม นิสิตได้เตรียมตัวเตรียมใจ ลดความเครียดในการเริ่มต้นทำแลปจริง นอกจากนี้นิสิตส่วนใหญ่คิดว่ากิจกรรมรุ่นพี่แนะนำรุ่นน้องดีมากและควรจะให้ความสำคัญและเวลาเพิ่มเติมในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น นิสิตส่วนใหญ่คิดว่าการได้เริ่มทำอะไรในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนช่วยเป็นแรงกระตุ้นให้พื้นฐานและทักษะที่มีอยู่ในตัวเองให้แสดงออกมาได้อย่างดี เวลาที่นิสิตย้อนกลับไปมอง ณ จุดเริ่มต้นจะได้รู้ว่าเราก้าวไปได้ไกลมากเท่าใดแล้ว อย่างไรก็ตามมีนิสิตบางคนคิดว่าไม่ได้เพิ่มพูนทักษะมากขึ้น และอาจจะไม่ได้ทำให้การดำเนินชีวิตในการเรียนมีความสุขมากขึ้น แต่นิสิตจะมีความสุขและมีกำลังใจที่ได้นึกถึงจุดเริ่มต้นที่ประทับใจ นอกจากนี้ส่วนหนึ่งคิดว่าทักษะเพิ่มมากขึ้นเพียงนิดเดียว เพราะการเข้าค่ายในครั้งนี้เป็นการควบคุมปัจจัยภายในของแต่ละบุคคล แต่อย่างไรปัจจัยภายนอกยังคงมีอิทธิพลมากกว่ามาก แต่ถึงอย่างไรแล้ว การมีค่ายพัฒนาทักษะขึ้นมาก็ยังคงดีกว่าไม่มี อย่างไรก็ตามนิสิตรู้สึกเหมือนเป็นการเตรียมความพร้อมเตรียมตัว เตรียมใจมากกว่า ส่วนเรื่องทักษะขึ้นอยู่กับการประยุกต์ของแต่ละคนมากกว่า

 

 

        ในส่วนโครงการที่สองคือ โครงการเสริมสร้างศักยภาพนิสิตทันตแพทย์ก่อนการปฏิบัติงานวิชาชีพในคลินิกนั้น มีข้อเสนอแนะว่าการมีกิจกรรมระหว่างภาคการศึกษาหลังจากเริ่มเรียนไปสักระยะเพื่อกระตุ้นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ร่วมช่วยกันแก้ไขปัญหาระหว่างนิสิตในชั้นปีเดียวกัน นิสิตกับรุ่นพี่ นิสิตกับอาจารย์เป็นกิจกรรมที่ได้ผลดีและมีประโยชน์ นอกจากนั้นอาจารย์ควรเข้าร่วมกิจกรรมและรับรู้ปัญหาในการทำงานและการเรียนของนิสิตมากยิ่งขึ้น

       สิ่งที่นิสิตได้เรียนรู้จากโครงการที่สองคือ นิสิตมีความเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น ได้ใช้ทักษะการสื่อสารจริงกับคนไข้ แต่ทักษะการสื่อสารที่ได้รับมาใช้กับอาจารย์บางท่านไม่ค่อยได้ เพราะยังกลัวอาจารย์อยู่เหมือนเดิม มีการเสนอแนะว่าน่าจะมีการจัดกิจกรรมให้อาจารย์บ้างจะได้เข้าใจนิสิตมากขึ้น นอกจากนี้นิสิตรู้สึกได้กลับมาสนิทกับเพื่อนๆ อีกครั้ง  หลังจากที่ไม่ค่อยมีเวลาได้คุย เปิดใจ พูดคุยกัน ใกล้ชิดกับเพื่อนมากขึ้น ได้เห็นมุมที่เราไม่เคยได้เห็น เข้าใจกันมากขึ้น ได้รู้ว่าเราไม่ได้มีปัญหาคนเดียว ได้กำลังใจ มีข้อเสนอแนะจากนิสิตว่าหลังจากขึ้นคลินิกอยากให้อาจารย์ได้พบนิสิตมาพูดคุยปัญหา และสิ่งที่เกิดขึ้น

 

 

        นอกจากนี้จากการที่ผมได้ไปพูดคุยกับนิสิตพบว่ายังมีสิ่งที่นิสิตคิดว่าจะช่วยพัฒนาทักษะของตนเองและเพื่อน ๆ ให้เพิ่มขึ้นอื่น ๆ ได้อีก เช่น ใน ปี 1 ควรจัดกิจกรรมให้รุ่นน้องรู้จริงว่าการเรียนคณะทันตแพทย์ เป็นอย่างไร จะเจออะไรบ้างใน 6 ปี ควรจัดกิจกรรมฝึกความเข้มแข็งด้านจิตใจ เพื่อให้มีความพร้อมที่จะต้องเผชิญต่อไปในคลินิก รวมถึงการฝึกทักษะการพูด และน่าจะมีการเล่าเรื่องทักษะ การปรับตัว ใช้ชีวิตในคลินิกโดยเน้นเรื่องการใช้ได้จริงในคลินิก จากอาจารย์และรุ่นพี่ นอกจากนั้นควรเปิดโอกาสให้ทดลองฝึกเป็นผู้ช่วยของรุ่นพี่ก่อนที่จะปฏิบัติจริงในคลินิก นิสิตกลุ่มหนึ่งอยากให้มีกิจกรรมจากรุ่นพี่ ถึงรุ่นน้องให้รุ่นพี่บอกแนวทางต่างๆ ในการเรียน การเตรียมตัว และการใช้ชีวิตในคลินิก ส่วนในปี 6 ควรจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมที่จะไปเป็นทันตแพทย์ที่ดีต่อไป และน่าจะมี case study ถ้าให้รุ่นพี่ที่เจอปัญหาต่างๆ เราฝึกการแก้ไขแยกเป็นกลุ่มย่อย ๆ จะได้ทั่วถึง ให้รุ่นพี่เป็นคนไข้ให้เราเป็นหมอ สร้างเหตุการณ์สมมติ นอกจากนี้นิสิตอยากให้จัดกิจกรรมปฏิบัติธรรมให้ทั้งอาจารย์และนิสิตร่วมกันส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกัน และอยากให้จัดกิจกรรมสำหรับไปดูงานของม.อื่น ดูว่าเค้าเรียนกันอย่างไร เค้ามีการเรียนการสอนยังไงเพื่อจะได้นำสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์มาปรับใช้ และอาจจะทำกิจกรรม Dent love ระหว่างนิสิตกับอาจารย์ เจ้าหน้าที่ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี หรือกิจกรรมจัดทำหนังสือคลินิกที่รัก นิสิตอยากให้มีกิจกรรมโฮมรูมเหมือนตอนมัธยม อาจารย์กับนิสิตจะได้คุยกันมากขึ้นเดือนละครั้งก็ได้ ซึ่งอาจารย์บางท่านจำนิสิตที่ปรึกษาไม่ได้เลย อยากให้มีกิจกรรมที่แบบเปิดใจระหว่างอาจารย์กับนิสิตกันตรง ๆ รวมถึงจัดกิจกรรมให้รุ่นพี่ที่เรียนจบแล้ว มาเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังเรียนจบ จะได้ทำให้น้อง ๆ มีกำลังใจและคิดว่าในอนาคต จะมีสิ่งดี ๆ รออยู่

        สุดท้ายนี้ผมอยากขอบคุณ Staffs ทุกคนที่สละแรงกาย แรงใจ และเวลาจากงานประจำของตัวเองเพื่อมาใช้เวลากับการดำเนินโครงการในครั้งนี้ และขอขอบพระคุณ ผศ.ทพ.ดร.จรินทร์ ปภังกรกิจ และ ผศ.ทญ.สุวดี เอื้ออรัญโชติ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ รศ.ทญ.อรพินท์ เติมวิชชากร จากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่สละเวลามาร่วมทำให้โครงการนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาและช่วยกันปรับปรุงโครงการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่นิสิตทันตแพทย์ของทั้ง 3 มหาวิทยาลัย โดยสองโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในเครือข่ายโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุข (ทพ.สส.)

คำสำคัญ (Tags): #เรื่องเล่า
หมายเลขบันทึก: 467165เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2011 10:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 12:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท