เตือนประชาชนและอาสาสมัครช่วยเหลือสุนัข หากถูกกัดให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทันที


โรคพิษสุนัขบ้า

นายแพทย์พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 ว่า จากการส่งเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการป้องกันควบคุมโรคระบาดในศูนย์พักพิง และจากการเฝ้าระวังโรค พบว่ามีอาสาสมัคร และประชาชนที่ช่วยเหลือสุนัขและแมวถูกกัดเป็นจำนวนมาก   กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทันที   โดยขอรับบริการได้ที่โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน  หรือที่สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค อำเภอเมือง  จังหวัดนนทบุรี  ซึ่งได้เตรียมวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไว้บริการในภาวะน้ำท่วม  จำนวน 2,000 โด๊ส ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่สถานเสาวภา  สภากาชาดไทยในเวลาราชการ 

            โรคพิษสุนัขบ้า  เป็นแล้วผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย  จากรายงานพบว่า ปี 2553  พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าทั่วประเทศ 15 ราย  และในปี 2554 (มกราคม - กันยายน)  พบผู้เสียชีวิต 5 ราย  อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ถูกสุนัขกัดปีละกว่า 1  ล้านคน  แต่มารับการฉีดวัคซีนป้องกันปีละประมาณ  5  แสนคน ดังนั้นในภาวะน้ำท่วมนี้สุนัขมีโอกาสกัดประชาชนมากขึ้น  เนื่องจากความเครียด การอดอาหาร และไม่คุ้นเคยกับบุคคลแปลกหน้า     กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและการป้องกันการถูกสุนัขกัดดังนี้

1. การเคลื่อนย้ายสัตว์จากที่อยู่อาศัยในขณะเกิดอุทกภัยต้องใช้ความระมัดระวัง  ควรให้เจ้าของเป็นผู้จับหรืออุ้มก่อนที่ผู้ป่วยเหลือจะจับสัตว์นั้น   เพราะในขณะเกิดเหตุสัตว์จะมีความตื่นตกใจและหวาดระแวงและกัดได้

            2. ระมัดระวังสัตว์ที่นำมากับผู้พักพิง มิให้ทำร้ายผู้พักพิงอื่น หรือระหว่างสัตว์กันเอง

            3. สัตว์ที่ดุร้ายควรกักขัง หรือใส่ตะกร้อปาก หรือผูกล่ามในสถานที่เหมาะสมห่างจากผู้พักพิงอื่น ๆ โดยเฉพาะเด็ก และเด็กเล็ก

            4. ให้อาหารสัตว์ตามความเหมาะสม ไม่ให้สัตว์มีความหิวเพราะสัตว์จะมีอารมณ์หงุดหงิดได้

            5. สังเกตอาการทั่วไปของสัตว์เลี้ยง หากมีอาการผิดปกติ เช่น ซึม ไม่กินอาหาร อาเจียน เป็นต้น ให้แจ้งต่อผู้ดูแลสถานที่พักพิงเพื่อแจ้งต่อสัตวแพทย์ต่อไป และควรแยกกักกันสัตว์และผู้พักพิง เพราะอาจเป็นโรคติดต่อสู่คนได้  เช่น โรคพิษสุนัขบ้า โรคเล็ปโตสไปโรซีส (ฉี่หนู)

6. การให้อาหารสุนัขที่อยู่รวมกันหลายตัว อย่าวางอาหารใกล้ชิดกับสุนัขเกินไป เพราะสุนัขจะกรูเข้าแย่งอาหารและกัดกัน ซึ่งจะพลาดถูกกัดได้เมื่อถูกกัดต้องรีบล้างบาดแผลด้วยสบู่ และน้ำสะอาดทันที และพบแพทย์พร้อมสังเกตอาการสุนัขที่กัดอย่างน้อย 10 วัน

            สำหรับอาสาสมัครที่ช่วยเหลือสุนัข   กลุ่มนี้มีโอกาสถูกสุนัขกัดมากกว่ากลุ่มอื่น  ก่อนลงมือปฏิบัติการช่วยเหลือสุนัข  โปรดพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า  จำนวน  3  โด๊ส  ห่างกันตามที่แพทย์นัดหมาย เพื่อเป็นการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าล่วงหน้า    ส่วนผู้ใดถูกสุนัขหรือแมวกัดต้องรีบล้างแผล   ใส่ยาฆ่าเชื้อโรค   เช่น   เบตาดีน  และรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทันที และถ้าทำได้ควรติดตามดูอาการสุนัข  10  วัน  หากยังปกติอยู่รีบแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อหยุดฉีดวัคซีนได้   นายแพทย์พรเทพ กล่าว


 ข้อความหลัก " ถูกกัดต้องล้างแผล  ใส่ยา  กักหมา  หาหมอ  ฉีดต่อจนครบ ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ”

กรมควบคุมโรค  ห่วงใย  อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/tv/2554_11_02_rabies.html

 

คำสำคัญ (Tags): #โรคพิษสุนัขบ้า
หมายเลขบันทึก: 467078เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2011 14:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท