บันทึกมวยไทยไชยา(๑)


ข้อมูลของมวยไทยไชยาที่ควรช่วยกันอนุรักษ์ไว้

มวยไชยา
             มวยไชยาเป็นศิลปะมวยไทยประจำถิ่นอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีชื่อเสียงมากสมัยรัชกาลที่ ๕ - ๖ จนมีนักมวยจากไชยาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หมื่นมวยมีชื่อ
ประวัติกำเนิดมวยไชยา
             มีวัดเก่าแก่อรัญญิกชื่อวัดทุ่งจับช้าง เป็นวัดรกร้างอยู่ในป่าริมทางด่านเดิมที่จะไปอำเภอไชยา วัดนี้มีชื่อเสียงเพราะสมภารซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “พ่อท่านมา”

 
ท่านเป็นชาวกรุงเทพฯได้ไปอยู่เมืองไชยาด้วยเรื่องใดไม่ปรากฏ “พ่อท่านมา”ได้ฝึกสอนวิชามวยไทยแก่ชาวไชยาจนขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองมวย แม้ทุกวันนี้นักมวยที่ปรารถนาความสวัสดีมีชัย ต้องร่ายรำมวยเป็นการถวายคารวะหน้าที่บรรจุศพก่อนที่จะผ่านไป เพราะฉะนั้นจึงไม่มีเหตุผลควรสงสัยว่าทำไมมวยสุราษฎร์ฯหรือมวยไชยา จึงมีชื่อเสียงกระเดื่องดังตลอดมา
.....มวยไทยไชยา จากหลักฐานและคำบอกเล่านั้นเริ่มต้นที่ พ่อท่านมา ไม่มีใครทราบว่าท่านมีชื่อจริงว่าอย่างไร ทราบแต่เพียงว่าท่านเป็น ครูมวยใหญ่ จากพระนคร บ้างก็ว่าท่านเป็น ขุนศึก แม่ทัพแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวเมืองจึงเรียกเพียงว่า พ่อท่านมา ท่านได้เดินทางมาที่เมืองไชยา และได้ถ่ายทอดวิชาการต่อสู้ไว้ให้แก่ชาวเมือง และศิษย์ที่ทำให้ มวยเมืองไชยา เป็นที่รู้จักมากที่สุดในยุค ร.๕ คือ พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย)

.....ปรมาจารย์ เขตร ศรียาภัย เคยกล่าวไว้ว่า ท่าย่างสามขุม ของหลวงวิศาลดรุณกร (อั้น สาริกบุตร) อาจารย์โรงเรียนสวนกุหลาบฯ พ.ศ. ๒๔๖๔ (ซึ่งเป็นศิษย์เอกของ ปรมาจารย์ พระไชยโชคชกชนะ (อ้น) เจ้ากรมทนายเลือกครูมวยและครูกระบี่กระบองผู้กระเดื่องนาม ในรัชสมัย ร.๕) และปรมาจารย์ ขุนยี่สานสรรพยากร (ครูแสงดาบ) ครูมวยและครูกระบี่กระบอง ลือชื่อ ในสมัย ร.๖ นั้นมีความกระชับรัดกุม ตรงตามแบบท่าย่างสามขุมของ ท่านมา (หลวงพ่อ) ครูมวยแห่งเมืองไชยา ท่านนับเป็นต้นสายของมวยไชยา มรดกอันล้ำค่าของคนไทย
ศาลาเก้าห้อง
            หลังจากที่กำเนิดมวยไชยาขึ้นแล้ว กิจการด้านนี้ก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับการชกมวยจึงเป็นกีฬาสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับเทศกาล,งานฉลองหรือสมโภชต่างๆ และมาเจริญสูงสุดครั้งหนึ่งคือ สมัยศาลาเก้าห้อง  ศาลาเก้าห้องนี้ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลพุมเรียง สร้างโดยพระยาวจีสัตยารักษ์ สร้างขึ้นเป็นสาธารณสมบัติศาลานี้สร้างขนานกับทางเดิน (ทางด่าน) มีเสาไม้ตำเสา ๓๐ ต้น เสาด้านหน้าเป็นเหลี่ยม แถวกลางและแถวหลังเป็นเสากลม ระหว่างเสาสองแถวหลังยกเป็นพื้นปูกระดานสูงจากพื้นประมาณ ๑ เมตร ส่วนระหว่างแถวหน้ากับแถวกลางเป็นพื้นดิน ยาวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ยาวประมาณ ๑๓ วา ๒ ศอก ส่วนกว้างประมาณ ๓ วา หลังคาลิลา มุงสังกะสี มีบ่อน้ำทางทิศตะวันตก ๑ บ่อ
              ปัจจุบันศาลาเก้าห้องเดิมได้ถูกรื้อถอนโดยนายจอน ศรียาภัย ลูกคนที่สามของพระยาวจีสัตยารักษ์ เมื่อออกจากราชการกรมราชทัณฑ์และกลับไปอยู่บ้านเดิมที่ไชยายังคงเหลือไว้แต่เพียงบ่อน้ำซึ่งแต่เดิมกรุด้วยไม้กระดาน และต่อมาราษฎรได้ช่วยกันสละทรัพย์หล่อซีเมนต์เสร็จ เมื่อปี ๒๔๗๑ และสร้างศาลาใหม่ขึ้นที่ด้านตะวันออกของศาลาเดิมแต่มีขนาดเล็กกว่ายังคงมีอยู่กระทั่งปัจจุบัน นอกจากจะใช้เป็นที่พักคนเดินทางแล้ว ศาลาเก้าห้องแห่งนี้ยังใช้เป็นที่สมโภชพระพุทธรูป เนื่องในงานแห่พระพุทธทางบกในเดือน ๑๑ ของทุกปีประจำเมืองไชยาอีกด้วย และในงานแห่พระพุทธรูปทางบกและงานสมโภชนี้ ที่ขาดไม่ได้คือการชกมวยเป็นการสมโภชเป็นประจำทุกปีด้วย
(คัดลอกจาก มวยไชยา บันทึกโดย วาโยรัตนะ 19/03/2009 กระดานสนทนาวัดท่าขนุน www.watthakhanun.com )

 

คำสำคัญ (Tags): #มวยไทยไชยา
หมายเลขบันทึก: 466943เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2011 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 00:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท