ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว


ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว

ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว[1] 

Geographic Information System for Tourism

ภาณุ ศิริรักษ์ และคณะ2]

ประเทศไทยได้มีการพัฒนารูปแบบในการวางแผนนโยบาย การบริหารจัดการ โดยใช้ระบบภูมิสารสนเทศศาสตร์มากขึ้นในปัจจุบันนี้ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่มีความทันสมัย ทันเหตุการณ์  และถูกต้องใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ที่จะนำไปใช้ในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศหรือพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน (Sustainable Community Development) ระบบภูมิสารสนเทศศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) จึงได้มีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเพื่อนำมาสนับสนุนการบริหารจัดการ การวางแผนนโยบายและตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น (สุเพชร จิรขจรกุล, 2551)

การท่องเที่ยวนับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งอีกประการหนึ่งในการดำรงชีวิตของมนุษย์ จากภาวะความเร่งรีบการต่อสู้ดิ้นรน ทำให้มนุษย์จำเป็นต้องแสวงหาโอกาสในการผ่อนคลายความตึงเครียดของร่างกายและจิตใจด้วยการท่องเที่ยวเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้กิจกรรมการท่องเที่ยวจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้คนในยุคโลกาภิวัฒน์ (ชัยพันธ์ สุทธาวาส, 2550) แต่ทั้งนี้ธุรกิจการท่องเที่ยวมีลักษณะเฉพาะที่ต้องอาศัยการตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ดังนั้นการจัดการการท่องเที่ยวให้ได้ผลดีต้องอาศัยระบบการบริการที่ดีมีประสิทธิภาพและมีความคล่องตัวสูง ระบบสารสนเทศจึงเป็นคำตอบที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่ควรจะเข้ามามีบทบาทในการอำนวยความสะดวกในการให้บริการการท่องเที่ยว

ระบบสนเทศภูมิศาสตร์ เป็นเทคโนโลยีที่รู้จักกันมากสำหรับหน่วยงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ ติดตามทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น บางครั้งการติดตามทรัพยากรบนโลกที่เกิดขึ้นใหม่หรือการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ มีความต้องการระบบสารสนเทศนำมาใช้บริหารจัดการฐานข้อมูล โดยนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ในรูปแบบเชิงพื้นที่ตามเงื่อนไขที่มนุษย์จะเป็นผู้ดำเนินการ และแสดงผลการวิเคราะห์ตามเงื่อนไขที่กำหนดได้ในรูปแบบสองมิติและสามมิติ (สุเพชร จิรขจรกุล, 2551)

จากการศึกษาของ วุฒิพงศ์ น้อยหัวหาด (2545) เรื่องระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการจัดการอุทยานแห่งชาติ หมู่เกาะช้าง จังหวัดตราดพบว่าองค์ประกอบโดยรวมของระบบสารสนเทศอยู่ในเกณฑ์ดี มีความสะดวกในการใช้งาน รวบรวมข้อมูลของอุทยาน ฯ ได้อย่างเป็นหมวดหมู่และ สุรางค์รัตน์ เชาว์โคกสูง (2554) ศึกษาโครงการวิจัยการพัฒนาระบบบริการข้อมูลการท่องเที่ยวและแนะนำกำหนดการท่องเที่ยวด้วยการแสดงผลในลักษณะระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ พบว่า สามารถติดต่อกับนักท่องเที่ยวโดยตรงในรูปแบบ Real Time เพื่อบริการข้อมูลที่น่าสนใจ นักท่องเที่ยวสามารถวางแผนการเดินทางได้หลายทางเลือกครบวงจรสะดวกรวดเร็วและทั่วถึง จากความสามารถของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนาการท่องเที่ยว จึงต้องการศึกษาแนวคิดและหลักการของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ รวมถึงแนวทางในการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว โดยหวังว่าจะเป็นแนวทางที่ดีในการพัฒนาต่อยอดนำระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์มาประยุกต์ใช้พัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เจริญเติบโต ก่อให้เกิดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนต่อไปในอนาคต

สรุป

ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เป็นเครื่องมือที่สำคัญ สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการท่องเที่ยว ทำให้การใช้งานระบบการท่องเที่ยวเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันเนื่องด้วยคุณสมบัติของระบบ GIS ที่สามารถรวบรวม วิเคราะห์ และแสดงผลข้อมูล ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงพื้นที่ได้ดี อ้างอิงถึงตำแหน่งที่มีอยู่จริงอยู่บนพื้นผิวโลก ได้แม่นยำและรวดเร็ว

เห็นได้ว่าระบบ GIS มีความสำคัญที่ทำให้ระบบการท่องเที่ยวเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถประยุกต์ในการท่องเที่ยวได้ดังนี้คือ สามารถระบุตำแหน่งการเดินทาง ค้นหาสถานที่บอกเส้นทาง ไปยังจุดหมายที่ต้องการได้แม่นยำและรวดเร็ว ช่วยวางแผนการเดินทางและหาที่พัก ช่วยเป็นเข็มทิศในการเดินป่า แสดงข้อมูลแบบทันการณ์ การติดตามตัวก็สามารถบอกพิกัดได้อย่างแม่นยำ เส้นรอยทาง (Track) การจัดการภาวะฉุกเฉินและภัยพิบัติ นำมาจัดการกับทรัพยากรการท่องเที่ยว รวมถึงการเฝ้าระวัง การบำรุงรักษา การวิเคราะห์ในการหาทรัพยากรการท่องเที่ยว รวมไปถึงการแบ่งปันภาพการเดินทางผ่านด้วย Social Network เป็นต้นเพื่อการเดินทางที่มีประสิทธิภาพ พร้อมกับความรวดเร็วและความสะดวกในการเดินทาง โดยหวังว่าจะเป็นแนวทางที่ดีในการพัฒนาต่อยอดนำระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์มาประยุกต์ใช้พัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เจริญเติบโตก่อให้เกิดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนต่อไปในอนาคต


หมายเลขบันทึก: 466908เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2011 00:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คำสำคัญ อยากให้มีคำว่า tourism (เฉย ๆ) หรือคำว่า การท่องเที่ยว ด้วยครับ

ครับ ของคุณมากครับ พอดีรีบๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท