ศิลปะกับเด็กปฐมวัย


ศิลปะ

ศิลปะสำหรับเด็กปฐมวัย

การจัดกิจกรรมศิลปะสำหรับเด็กปฐมวัยในแต่ละวัน นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเด็กปฐมวัย  นอกจากจะได้พัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเล็กและการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับสายตาแล้ว กิจกรรศิลปะยังสอดคล้องกับแบบแผนการเรียนรู้ของสมอง หรือที่เรียกว่า Brain Base Learning (BBL) อีกด้วย เด็กจะได้ฝึกปฏิบัติจริง มีประสบการณ์ตรง เรียนรู้ผ่านการสังเกตและฝึกกิจกรรมอย่างหลากหลาย เพื่อพัฒนาจุดเชื่อมต่อของใยประสาท ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลาย มีอิสระทางความคิด

กิจกรรมศิลปะเป็นกิจกรรมที่สามารถพัฒนากล้ามเนื้อเล็กได้เป็นอย่างดี และยังเชื่อมโยงพัฒนาการของอวัยวะหลายส่วน ทำให้เกิดจุดเชื่อมต่อของใยประสาทที่สามารถพัฒนาไปสู่แบบแผนการเรียนรู้ของสมอง ในการจัดกิจกรรศิลปะหรือกิจกรรมสร้างสรรค์ ครูควรจัดกิจกรรมให้เด็กมีประสบการณ์ตรงและฝึกปฏิบัติอย่างหลากหลาย หากย้อนอดีต สะท้อนประสบการณ์เดิมด้านการเรียนการสอนศิลปะ คุณครูจะให้นักเรียนวาดภาพทิวทัศน์ในกระดาษวาดเขียน แนวคิดเดิม ๆ คือ ภาพทิวทัศน์จะมีดวงอาทิตย์อยู่ตรงกลางระหว่างภูเขา มีก้อนเมฆ มีต้นมะพร้าวหรือต้นไม้อื่น มีน้ำทะเล มีเรือใบ มีนกบิน ฯลฯ แต่ยุคปัจจุบันการสอนศิลปะเด็กปฐมวัย จะต้องจัดกิจกรรมให้เด็กอย่างหลากหลายรูปแบบนะครับ เช่น

- กิจกรรมวาดภาพระบายสี

- กิจกรรมเล่นกับสีน้ำ เช่น เป่าสี หยดสี พับสี ระบายสีด้วยนิ้วมือ ฝ่ามือ

- กิจกรรมการพิมพ์ภาพด้วยส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและวัสดุต่าง ๆ

- กิจกรรมการปั้น ขยำดินเหนียว ดินน้ำมัน แป้งโด กระดาษ ฯลฯ

- กิจกรรมการพับ ฉีก ตัด ปะ

- กิจกรรมการร้อย สาน และการออกแบบ

- กิจกรรมการฝนสีด้วยกระดาษทราย ฯ ล ฯ

การจัดกิจกรรมดังกล่าว ครูสามารถส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ที่เพิ่มจุดเชื่อมต่อของใยประสาท โดยส่งเสริมให้เด็กสังเกตรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ พัฒนาการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับสายตา

การพัฒนาระบบกายสัมผัสโดยให้เด็กมีโอกาสสัมผัสรับรู้วัสดุที่มีผิวสัมผัสต่างกันในระหว่างทำกิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น ผ้ากระสอบ ผ้าสักหลาด กำมะหยี่ กระดาษทราย กระดาษที่มีผิวสัมผัสต่างกัน ฯลฯ ระหว่างทำกิจกรรมศิลปะ ครูต้องจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น แสงสว่างพอเหมาะ มีเสียงดนตรีเบา ๆ บรรยากาศผ่อนคลาย ทำให้เกิดการเชื่อมโยงสมองส่วนประสาทสัมผัสกับสมองส่วนที่คุมกล้ามเนื้อพร้อม ๆ กัน การเชื่อมโยงสมองซีกซ้ายเข้ากับซีกขวาที่เป็นด้านจินตนาการ ดังนั้น งานศิลปะจึงไม่ควรเป็นการลอกเลียนแบบหรือต้องทำให้เหมือนจริง รวมทั้งไม่เน้นความถูกต้องของสัดส่วน แต่ส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ สังคม และความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เด็กสนุกสนาน ซึมซับความงามของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว มีความมั่นใจ ภาคภูมิใจในผลงานของตน ควบคู่กับความสามารถถ่ายทอดการรับรู้ภายในด้านมิติ รูปทรง ขนาด ระยะ ฯลฯ ตามจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์เด็ก

บทบาทและหน้าที่ของครูปฐมวัยในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก

1. ส่งเสริมให้เด็กถามและสนใจต่อคำถามและควรเป็นคำถามที่ไม่มุ่งคำตอบแบบคำตอบเดียว

          2. ตั้งใจฟังและเอาใจใส่ต่อความคิดแปลก ๆ ของเด็ก

                3. แสดงและเน้นให้เด็กเห็นว่าความคิดของเขามีคุณค่า

                4. กระตุ้นและส่งเสริมให้เด็กแสดงความคิดหลาย ๆ ด้าน ตลอดจนการแสดงออกทางอารมณ์

                5. จัดบรรยากาศของห้องเรียนให้เด็กได้มีการเรียนรู้และค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดหาวัสดุและอุปกรณ์ ตลอดจนสื่อที่แปลก ๆ และใหม่ ๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก

                6. พึงระลึกเสมอว่าการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ต้องใช้เวลาในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องค่อยเป็นค่อยไป

                7. ส่งเสริมให้เด็กใช้จินตนาการของตัวเอง และยอมรับการแสดงออกของเด็กด้วยความจริงใจ

                8. อย่าพยายามหล่อหลอมหรือกำหนดแบบให้เด็กมีความคิดและบุคลิกภาพเหมือนกันทุกคน

                9. กระตุ้นให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์โดยการ

                                9.1 ส่งเสริมให้อยากรู้อยากเห็น

                                9.2 ส่งเสริมให้เด็กได้แสดงกิจกรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ

                                9.3 ส่งเสริมความเชื่อมั่นและให้เด็กรู้สึกปลอดภัย

 

 

 

 

 

 

 

กิจกรรมวาดเส้นตามแบบ (มือ)

จุดมุ่งหมาย

  1. ฝึกการวาดเส้นแบบง่าย ๆ
  2. ฝึกความฉับไวในการเห็น
  3. ปลูกฝังการรับรู้เบื้องต้น

วัสดุอุปกรณ์

  1. กระดาษโรเนียวสีขาว หรือกระดาษวาดเขียน
  2. สีเทียน หรือสีดินสอ

 

กิจกรรมการขูดสีเทียน

จุดมุ่งหมาย

  1. เพื่อฝึกกล้ามเนื้อมือให้แข็งแรงยิ่งขึ้น
  2. เพื่อให้เด็กรู้จักวิธีการขูดสีเทียน
  3. เพื่อให้เด็กได้ฝึกนิสัยการรักสวยรักงามในงานที่ประดิษฐ์

วัดสุอุปกรณ์

  1. กระดาษวาดเขียน
  2. ดินสอ ไม้บรรทัด
  3. สีเทียน
  4. ไม้สำหรับขูดสี/เข็ม/ตะปู (ปลายแหลม)

วิธีทำ

                ตีกรอบสี่เหลี่ยมลงบนกระดาษวาดเขียน โดยให้ห่างจากขอบกระดาษ 2 นิ้วทุกด้าน ใช้สีเทียนที่ต้องการระบายลงบนกระดาษวาดเขียนที่ตีกรอบไว้  ระบายให้หนาพอสมควรจะระบายกี่สีก็ได้ เมื่อระบายสีเทียนจนเต็มกรอบแล้ว ใช้เข็มขูดเป็นรูปต่าง ๆ ตามต้องการ

ข้อเสนอแนะ

                ภาพจะชัดเจนเมื่อเส้นที่ขีดขูดปรากฏชัดเจน และควรสร้างภาพให้เต็มแบบจะสวยงามและเด่น

 

กิจกรรมพับสี

จุดมุ่งหมาย

  1. ฝึกให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์
  2. ให้เกิดความชื่นชมยินดีในการปฏิบัติงาน

 

วัสดุอุปกรณ์

  1. สีน้ำ หรือสีโปสเตอร์หลายสี เช่น เขียว แดง น้ำเงิน เหลือง
  2. กระดาษวาดเขียน

วิธีทำ

                นำสีน้ำหรือสีโปสเตอร์มาหยดลงเป็นจุด ๆ ให้เนื้อสีกองเป็นก้อน ๆ 4-5 จุด เช่น แดง เหลือง ขาว น้ำเงิน ดำ แล้วพับกระดาษเข้าหากัน ใกล้ ๆ กับบริเวณที่มีสีหยดอยู่แล้วรีดกระดาษที่พับเข้าหากันให้เรียบแบน ๆ แล้วเปิดกระดาษที่พับออก จะได้ภาพที่สดใสสวยงาม

ข้อเสนอแนะ

                ให้เด็กจินตนาการ หรือต่อเติมภาพที่ปรากฏจากการพบสี ให้ชื่อภาพหรือต่อเติม อาจจะจินตนาการเป็นภาพต่าง ๆ ได้ ตามความคิดของเด็ก

 

กิจกรรมการเทสี

จุดมุ่งหมาย

  1. มุ่งพัฒนาการเล่นสีที่มี่เทคนิคแปลก
  2. มุ่งให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
  3. ฝึกการแสดงออกอย่างมั่นใจ
  4. ฝึกจินตนาการด้านอารมณ์

วัสดุอุปกรณ์

  1. สีน้ำ จานสี พู่กัน
  2. กระดาษวาดเขียน

วิธีทำ

                ให้เด็กตัดสีลงในจานหลาย ๆ สี เป็นสีแท้ที่บีออกจากหลอด แล้วใช้พู่กันจุ่มน้ำหยอดลงในสี ผสมกันให้เนื้อสีกับน้ำใสพอประมาณแล้วล้างพู่กันให้สะอาด หลังจากผสมสีเตรียมไว้แล้วเช็ดพู่กันที่สะอาดจุ่มสีที่ผสมไว้ หยดลงไปในกระดาษเป็นหยด ๆ ใกล้กันแล้วเอียงกระดาษไปมาซ้ายขวา สีจะไหลไปตามที่เราเอียงกระดาษ เด็กจะเกิดความสนุกสนานตื่นเต้น เมื่อสีไหลไปชนกันและกัน ซึมเข้าหากัน จะได้ภาพที่แปลก

ข้อเสนอแนะ

                ถ้าสีข้นเกินไป สีจะไม่หยดจากพู่กันและจะไม่ไหลเข้าหากัน แล้วให้เด็กตั้งชื่อภาพที่ได้ตามจินตนาการของเด็ก

 

 

 

กิจกรรมการเป่าสี

จุดมุ่งหมาย

  1. ให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน
  2. เสริมสร้างความเฉียบไวในการรับรู้
  3. สามารถแสดงออกอย่างมั่นใจ

วัสดุอุปกรณ์

  1. สีน้ำ จากสี พู่กัน แก้วน้ำ
  2. หลอดกาแฟ หรือก้านมะละกอ
  3. กระดาษวาดเขียน

วิธีทำ

                ผสมสีหลาย ๆ สีด้วยน้ำลงในจากสีเป็นช่อง ๆ แล้วนำพู่กันจุ่มสีหยดลงหลาย ๆ หยดในบริเวณใกล้ ๆ กัน ในกระดาษวาดเขียนนำหลดกาแฟมาให้เด็กเป่าลมปากผ่านหลอดกาแฟไปที่หยดสี สีจะพุ่งกระจายแตกแยกไปตามทิศทางลมจนกว่าจะแห้งไปเอง จะได้ภาพที่แปลก และฝึกให้เด็กจินตนาการ หรือให้ชื่อภาพที่มีแนวโน้มคล้ายภาพอะไร ตามจินตนาการ

ข้อเสนอแนะ

                สีที่ผสมไว้ในจานควรผสมให้ใสพอประมาณ สัดส่วน น้ำ ส่วน ภาพที่หยดสีจับกันหลาย ๆ สีจะสวยงามกว่าเป่าด้วยสีสีเดียว

 

การเขียนภาพด้วยขมิ้น

จุดมุ่งหมาย

  1. ฝึกการรับรู้เกี่ยวกับสีธรรมชาติ
  2. มุ่งแสดงออกทิศทางของเส้นโดยการเขียน
  3. ฝึกการขีดเขี่ยเบื้องต้น

วัสดุอุปกรณ์

  1. ขมิ้น ไพล ดอกบานบุรี อย่างใดอย่างหนึ่ง (คุณสมบัติมีสีเหลืองเหมือนกัน)
  2. กระดาษวาดเขียน ขนาด 8 x 12 นิ้ว

วิธีทำ

                นำขมิ้น ไพล ปอกเปลือก ทำเป็นแท่งคล้ายสีเทียน นำมาวาดลงบนกระดาษที่เตรียมไว้ รูปอะไรก็ได้ ให้เด็กได้เขียนให้มากที่สุด

ขอเสนอแนะ

                ควรเขียนให้เต็มกระดาษจะสวยงาม และสังเกตการณ์แสดงออกของเส้นที่ลาก

 

หมายเลขบันทึก: 466800เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2011 10:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท