ไขความลับ อยู่สบาย…ตายสงบ


ไขความลับ อยู่สบาย…ตายสงบ

สัมภาษณ์พระไพศาล วิสาโล
โดย นิตยสารชีวจิต
คอลัมน์ health idol
ฉบับ 312 1 ตุลาคม 2554 

 **********

 

       จากอดีตนักศึกษา คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่เคยมีส่วนร่วมในแนวทางอหิงสา ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กระทั่งตัดสินใจก้าวเข้าสู่ ร่มเงาแห่งพระพุทธศาสนา ในปี 2526 

        พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ยังคงเป็นนักคิด นักเขียน นักประวัติศาสตร์ นักวิพากษ์สังคม นักพัฒนา และอีกหลายบทบาทที่คอยกระตุ้นเตือนสังคม อย่างไม่ลดละ 

        ตัวอักษรที่เรียงร้อยเป็นงานเขียน ข้อคิดจากการบรรยายธรรมที่ท่านพร่ำสอน ตอกย้ำว่า ธรรมะนั้น ช่วยให้ชีวิตได้อยู่สบาย...ตายสงบ ได้จริง

 ***********

ปัจจุบันสุขภาพของพระอาจารย์เป็นอย่างไร และมีวิธีดูแลตัวเองอย่างไร

       ทุกวันนี้ การกิน การนอน การตื่น อาตมาพยายามทำให้เป็นเวลา โดยเฉพาะการนอน การเป็นพระมีข้อดี คือ นอนดึกไม่ได้ เพราะต้องตื่นเช้ามาทำวัตร  อาตมาตื่นเช้ามาทำวัตร ตั้งแต่  ตี 3 ครึ่ง  จึงเป็นการบังคับกลาย ๆ ให้ต้องนอนแต่หัวค่ำ และที่วัดก็ไม่มีโทรทัศน์ดู จึงนอนได้ตั้งแต่หัวค่ำ คือ 3 ทุ่ม หรือ 3 ทุ่มครึ่ง 

       การบิณฑบาต คือ การออกกำลังกายของอาตมา ต้องสะพายบาตรหนัก ๆ ออกเดินบิณฑบาตจากญาติโยมวันละ 2 ชม. จะทำทุกวันถ้าอยู่วัด

      ส่วนการเขียนหนังสือ แต่ก่อนเคยทำได้ตั้งแต่เช้าจรดเย็น แต่เดี๋ยวนี้อาตมาไม่สามารถทำงานเหมือนก่อนได้ มีเวลาเขียนน้อยลง แต่จะบริหารเวลาให้ดี ทำให้มีเวลาคิด ทำวันละนิด แต่ทำทุกวัน จึงไม่กลัวว่าจะทำไม่ทันเส้นตาย อาตมาจะเริ่มเขียนหนังสือ ตั้งแต่หลังเที่ยง เขียนถึงประมาณ 4 โมงเย็น ก็จะเลิก ทำอย่างสม่ำเสมออย่างนี้ตลอด
        สุขภาพของอาตมา ยอมรับว่าร่วงโรยไปตามวัย โดยเฉพาะตา เมื่อก่อนอ่านหนังสือตัวเล็ก ๆ ได้โดยไม่ต้องใช้แว่น แต่เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้แล้ว

        และถ้าวันไหนฝนตก อากาศชื้นก็จะเพลียง่าย ตกค่ำจะเพลีย ตื่นขึ้นมาจะไม่ค่อยกระชุ่มกระชวยเหมือนเมื่อก่อน ถ้าแดดหมด พลังงานก็จะค่อย ๆ หมดไปด้วย

ธรรมจะช่วยดูแลสุขภาพ ได้อย่างไร

       อาตมามองว่า การกินเพื่อสุขภาพเป็นเรื่องของปัญญา คือรู้ว่าอะไรควรกิน ไม่ควรกิน และกินเท่าใดควรจะพอ นอกจากนั้นยังต้องมีสติ ช่วยให้เรารู้จักประมาณในการกิน ถ้าระหว่างการกินอาหารจิตใจไม่คิดโน่นพะวงนี่ วางงานการไว้ก่อนในระหว่างที่กิน ก็จะทำให้การย่อยดีขึ้น 

       ส่วนธรรมะอีกข้อหนึ่งที่ช่วยให้มีสุขภาพดี ก็คือเรื่องสันโดษ หรือการอยู่อย่างเรียบง่าย รู้จักพอดี รวมถึงการใช้ชีวิตที่ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่เอาแต่เที่ยวเตร่ เพราะจะทำให้สุขภาพย่ำแย่ เช่น การเที่ยวกลางคืนจนดึกดื่น หรือการใช้เวลาไปกับเรื่องทางเพศมากจนเกินไป ก็จะเป็นการบั่นทอนสุขภาพ 

      นอกจากนั้นการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย อยู่ง่าย กินง่าย ก็ทำให้ไม่ต้องทุ่มเทเวลาทั้งหมดของชีวิตไปกับการทำงานเพื่อหาเงิน หรือรายได้แต่เพียงอย่างเดียว จึงมีเวลาเหลือสำหรับการพักผ่อน มีเวลาสำหรับการทำสมาธิ มีเวลาสำหรับการอ่านหนังสือ และมีเวลาให้ครอบครัว สิ่งเหล่านี้ย่อมทำให้สุขภาพดีขึ้น 

       ปัญหาโรคเครียด ซึ่งนำไปสู่โรคเรื้อรังอย่างความดันโลหิตสูงก็จะลดลง ถือเป็นอานิสงส์อย่างหนึ่งของธรรมะ ที่ช่วยบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ 

ปัญหาสุขภาพของคนในสังคมปัจจุบัน มีสาเหตุจากอะไร

       อาตมาคิดว่า ปัญหาสุขภาพของคนในยุคนี้ คือขาดความพอดี ไม่มากไปก็น้อยไป มากไปก็เช่นการกินอาหาร หรือการแสวงหาความเพลิดเพลิน

       ที่น้อยไปก็คือ เรื่องการออกกำลังกาย การทำสมาธิภาวนา

       อาตมาขอยกตัวอย่าง เหตุการณ์ที่ประเทศเกาหลี เมื่อ 2 ปีก่อน มีคนเล่นเกมส์ออนไลน์ติดต่อกันทั้งวันทั้งคืนจนทำให้ช็อค หัวใจวายตายเพราะเครียดและอดนอน 

        เหตุการณ์ที่ยกตัวอย่างนี้แสดงถึงการไม่มีสติ ไม่รู้จักความพอดี สติเป็นตัวเตือนว่าถึงเวลาพักก็ต้องพัก ถึงเวลาทำงานก็ทำงานไม่ใช่เอาแต่ขลุกอยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์

       วิถี ของคนปัจจุบัน โดยเฉพาะคนเมือง เราขาดสติกันมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการเสพ การใช้เทคโนโลยี อาตมาสังเกตว่าเดี๋ยวนี้เราเสียเวลาไปกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะเกมส์ออนไลน์ ซึ่งอาตมาเรียกว่าอบายมุขแบบใหม่กันเยอะมาก 

       เด็กใช้เวลาไปกับเกมส์ออนไลน์ ผู้ใหญ่ใช้เวลาไปกับเฟสบุ๊ค หลายชั่วโมงต่อวัน ทำให้เสียสุขภาพ ถ้าไม่ออกกำลังกายเลยก็ถึงตายได้นะ

 การมีสุขภาพดี เป็นสุขเบื้องต้นในทางพุทธศาสนา หมายความว่าอย่างไร

        สำหรับอาตมา มองว่าความสุขไม่ได้อยู่ไกลตัวเลย หากมองเป็นก็จะเห็นความสุขอยู่รอบตัว การที่ได้กินอิ่มนอนอุ่น มีสุขภาพดีนับเป็นความสุขของชีวิต แต่คนมักไม่ตระหนักในความจริงเรื่องนี้จนกว่าจะสูญเสียไป ต่อเมื่อล้มป่วย จึงอาจคิดได้ว่า ตอนที่ไม่เจ็บป่วยนั้นเป็นสุขอย่างยิ่งแล้ว  

       พุทธศาสนามองว่า การมีสุขภาพดีเป็นประโยชน์เบื้องต้นซึ่งทำให้เรามีกำลังที่จะทำประโยชน์ขั้น สูง เช่นช่วยเหลือส่วนร่วม ทำสมาธิภาวนา ฝึกฝนพัฒนาจิตใจ ถ้าสุขภาพไม่ดีเราก็ช่วยเหลือคนอื่นได้ยาก หรือถ้าสุขภาพไม่ดีเราก็ไม่มีแรง ไม่มีความพร้อมในการทำสมาธิภาวนา

        นอกจากการมีสุขภาพดีแล้ว ประโยชน์เบื้องต้น ยังประกอบด้วยการมีทรัพย์ การมีครอบครัวดี และการมีอาชีพการงานดีด้วย 

การรู้จักปล่อยวางอารมณ์ มีความสำคัญกับชีวิตอย่างไร

        ในชีวิตประจำวัน อาตมาคิดว่า พลังงานของคนเราส่วนใหญ่ในแต่ละวันหมดไปกับงานที่ไม่ใช่เป็นแรงกาย แต่เป็นเรื่องของการใช้ความคิดและความเหน็ดเหนื่อยทางอารมณ์ อารมณ์ที่กระเพื่อมขึ้นลงบ่อย ๆ เป็นตัวบั่นทอนพลังงานในร่างกายมาก และนำมาซึ่งความเครียด

       คนสมัยนี้คิดเก่งแต่หยุดความคิดไม่ได้ ก็เลยกินไม่ได้ นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย

ทุกข์ เกิดจากใจ จนเกิดทุกข์กายตามมา แต่ถ้าเราหยุดคิดเป็น และปล่อยวางอารมณ์ได้ คือรู้ทันเมื่ออารมณ์เกิดขึ้นและปล่อยวางมัน มันก็จะบั่นทอนพลังงานในร่างกายน้อยลง สติจะมีความสำคัญมากในเรื่องนี้

        สติช่วยให้มีความรู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น เช่นเวลาเครียด เราก็รู้ว่าเครียด แล้วปล่อยวาง

เวลาโกรธ เราก็รู้ว่าโกรธ แล้วปล่อยวาง... หรือว่าฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่าน ก็ทำให้เสียพลังงานไปมาก ถ้าเรารู้ทันความฟุ้งซ่าน เราก็วางมันลงได้ไม่ยาก

       นั่นคือเมื่อจิตกระเพื่อม ต้องมีสติรู้แล้ววางทันที อย่าปล่อยให้ความโกรธแผดเผาใจไปเป็นชั่วโมงแล้วค่อยมารู้ตัว อย่างนี้ช้าไม่ทันการ เหมือนไฟ ถ้าลามไหม้ทั้งป่าแล้วจะดับยากมาก แต่ถ้ามันเกิดไม่นานก็ดับง่าย

       เพราะฉะนั้นการมีสติ จึงช่วยให้รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่มันยังไม่ลุกลามมาก การปล่อยวางจึงย่อมทำได้ง่ายขึ้น 

พระอาจารย์มีภารกิจมาก มีวิธีบริหารเวลา เพื่อทำงานแต่ละอย่างให้เสร็จลุล่วงอย่างไร

       อาตมายึดหลักว่าทำอะไร ก็จะทำเป็นอย่าง ๆ เช่น เวลาอาบน้ำ แปรงฟัน ใจก็อยู่กับการอาบน้ำ การแปรงฟัน

       เวลาฉันอาหารอาตมาก็ไม่เอาเรื่องอื่นมาคิด เวลาอาตมานั่งบนรถ อาตมาก็จะเจริญสติ ด้วยการคลึงนิ้ว คลึงนิ้วอย่างมีสติ รู้ว่ากำลังคลึงนิ้วอยู่ หรือเวลาเดินใจอาตมาก็อยู่กับการเดินไม่ใช่เดินไปคิดไป ทำให้ไม่คิดพร่ำเพรื่อ ไม่คิดกระจัดกระจาย คิดเป็นเวลา 

       อาตมาพยายาม ทำอะไรเป็นอย่างๆ ซึ่งแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ ที่มักชอบทำหลายเรื่องพร้อมกันก็เลยเครียดและฟุ้งง่าย หรือเรียกว่ากลางคืนฝัน กลางวันฟุ้ง

อาตมา ขอยกตัวอย่างให้ฟังว่า ในขณะทำงานแต่ใจพาลไปคิดถึงเรื่องอื่น ๆ เช่นคิดถึงหนี้สิน คิดถึงเรื่องลูก ครอบครัว หรือปัญหาสุขภาพ พร้อมกันแบบนี้จะทำให้เครียด

       หรือว่างานที่ต้องรับผิดชอบมีอยู่ 10 อย่างก็ให้ทำเป็นอย่าง ๆ ไป ทำงานไหนจิตใจก็ควรจดจ่อกับงานนั้น ส่วนอีก 9 งาน ควรวางไว้ก่อนจะทำให้รู้สึกว่าไม่เครียด ไม่กลุ้ม

        ความคิดเหมือนกับลิ้นชัก มีหลายชั้น เวลาจะใช้งานก็ควรเปิดทีละชั้นเท่านั้น อย่าเปิดทุกชั้นพร้อมกัน จะทำได้ไม่ดีสักอย่าง

พระอาจารย์เคยพูดว่า ทุกชีวิตย่อมเดินเข้าหาความตาย และความตายก็เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก แต่ทำอย่างไร จะกลัวตายน้อยลง

        สุภาษิตทิเบตพูดไว้ว่า ไม่มีใครรู้หรอกว่าระหว่างพรุ่งนี้กับชาติหน้าอะไรจะมาก่อน อย่าไปเชื่อว่าจะต้องมีพรุ่งนี้ และชาติหน้ายังอยู่อีกไกล บางทีชาติหน้าอาจมาถึงคืนนี้ หรือก่อนถึงวันพรุ่งนี้ด้วยซ้ำ พ้นจากวันนี้ไปก็ชาติหน้าเลย

       นี่คือความจริงที่เราต้องตระหนักว่าเราต้องตายอย่างแน่นอน แต่จะตายเมื่อไหร่ไม่มีใครล่วงรู้                 

        เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ต้องถามต่อไปว่าถ้าความตายมาถึงเราคืนนี้ พรุ่งนี้ เราพร้อมหรือยัง เราทำความดีมาครบถ้วนหรือยัง ชีวิตเรามีคุณค่าพอที่จะตายหรือยัง ภารกิจหน้าที่ ที่สมควรทำเราทำเสร็จสิ้นหรือยัง รวมถึงว่าเราพร้อมจะปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อความตายมาถึงหรือยัง 

        เมื่อรู้จักพิจารณ   าความตายที่จะเกิดขึ้นกับตัว แล้วย้อนกลับมาถามตัวเองว่าเราพร้อมไหม มันจะช่วยทำให้เราได้คิดว่า ถ้าเราไม่พร้อมแล้วทำอย่างไรถึงจะพร้อม 

        นั่นก็คือต้องหมั่นทำความดีสร้างบุญกุศล ต้องทำภารกิจการงานที่รับผิดชอบ ต้องทำหน้าที่ต่อคนรัก ผู้มีพระคุณ รวมทั้งการฝึกใจปล่อยวางอยู่เสมอ ถ้าเราทำสิ่งเหล่านี้ได้ดี ได้ครบถ้วน ก็จะพร้อมตายได้มากขึ้น และกลัวตายน้อยลง ไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง เพราะได้ใช้ชีวิตมาอย่างคุ้มค่า อย่างมีคุณค่าแล้ว

 

การเตรียมตัวตาย สามารถทำได้อย่างไร และมีประโยชน์อย่างไร

        เหมือนคนกลัวที่มืด ให้เข้าไปอยู่ในที่มืดบ่อย ๆ ก็จะกลัวความมืดน้อยลง ฉันใดก็ฉันนั้นการตายก็เช่นเดียวกัน ถ้าซ้อมตายอยู่บ่อย ๆ ก็ย่อมทำให้กลัวความตายน้อยลง และเป็นการฝึกปล่อยวาง

        ก่อนนอน ให้นึกว่าถ้าคืนนี้เป็นคืนสุดท้ายในชีวิตของเรา ถ้าต้องจากพ่อแม่ จากสามีภรรยา จากลูก จากงานการที่ทำอย่างไม่มีวันหวนกลับ เราพร้อมจะปล่อยวางคนเหล่านี้และงานการทั้งหลายไหม 

       หากคืนนี้ยังไม่ตาย เมื่อตื่นมาในวันรุ่งขึ้น ก็ต้องตระหนักว่าต่อไปนี้จะประมาทไม่ได้แล้วนะ ควรต้องใช้ชีวิตให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า เช่น ถ้าตอนที่ซ้อมตายเกิดรู้สึกเป็นห่วงลูก ปล่อยวางลูกไม่ได้ ก็ต้องพยายามทำดีกับลูก ให้เวลากับลูกมากขึ้น 

       หรือถ้าตอนที่ซ้อมตายยังมีความเป็นห่วงแม่ ห่วงพ่ออยู่ เพราะยังไมได้ตอบแทนบุญคุณเลย เมื่อตื่นขึ้นมาในวันรุ่งขึ้นก็ควรขวนขวายกลับไปดูแลท่านบ้าง

        คนเดี๋ยวนี้มักจะผัดผ่อน อ้างว่าไม่มีเวลาไปหาแม่ ไม่มีเวลาไปดูแลพ่อ เพราะต้องทำงานก่อน เพราะคิดว่ายังมีเวลาดูแลท่านเดือนหน้าปีหน้าก็ได้ อันนี้คือความประมาท เพราะความตายเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การซ้อมตายจึงช่วยทำให้เราขวนขวาย ในเรื่องสำคัญที่เคยผัดผ่อน

        เวลาเดินทางไปทำงาน หรือเดินทางไกล ให้นึกว่านี่อาจเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของเรา แล้วถามใจตนเองว่าพร้อมจะปล่อยวางไหมถ้าหากไปแล้วไม่ได้กลับมาอีก หรือว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะทำใจอย่างไรในวินาทีสุดท้าย เป็นการใช้การเดินทางในชีวิตประจำวันเป็นเครื่องเตือนใจให้เกิดมรณานุสติ

       เวลาไปงานศพ ไปเยี่ยมคนไข้ ก็อย่าคิดว่านี่เป็นแค่งานสังคม ลองคิดว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องเป็นอย่างเขา คือต้องเจ็บ ต้องป่วย ต้องตาย ก็ต้องถามใจตนเองว่าพร้อมหรือยังหากวันนั้นมาถึง

        ถ้าใจบอกว่ายังไม่พร้อม...ก็ไม่เป็นไร เป็นเรื่องธรรมดามาก แต่ให้ทำอย่างนี้ทุกวัน ๆ ใจจะพร้อมปล่อยวาง และพร้อมรับความตายมากขึ้น และช่วยให้ความตายน่ากลัวน้อยลงเพราะ ชีวิตเริ่มชินกับความตาย

ความตายมีข้อดีอย่างไร

        ความตายทำให้ตระหนักว่าเรามีเวลาอยู่ในโลกนี้จำกัด เพราะฉะนั้นไม่ควรปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไปอย่างไร้ประโยชน์

       ความตายเตือนให้เราพยายามทำดีกับทุกคน เพราะถ้าไม่ทำเสียแต่วันนี้เราอาจเสียใจเพราะไม่มีโอกาสได้ทำ

       ความตายฝึกให้เรารู้จักปล่อยวาง เพราะเมื่อตายแล้วย่อมเอาอะไรไปไม่ได้สักอย่าง จึงอย่าไปยึดติดถือมั่นกับทรัพย์สมบัติ กับชื่อเสียงเกียรติยศ กับอำนาจบารมี แม้กระทั่งกับคนรัก

       ความตายเตือนให้รู้จักฝึกจิตใจ ให้พร้อมรับมือกับความพลัดพราก สูญเสียที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นความตายถ้าเรามองให้ดี มองให้เป็น ก็เห็นประโยชน์ 

 บางคนไม่อยากพูดถึงความตาย จะทำอย่างไร

        ถ้าเรามองว่าอนิจจังเป็นธรรมดาของชีวิต ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเรา ก็ทำให้เราเป็นทุกข์ไม่ได้ แม้สิ่งนั้นจะเป็นความตายก็ตาม

       คนเราไม่สามารถหนีความจริงได้ ถ้าเราไม่ยอมพูดถึงความตาย หรือคิดถึงความตายเลย เราก็ไม่ต่างจากนกกระจอกเทศที่เวลาเจอ อันตรายแทนที่จะวิ่งหนี กลับเอาหัวซุกไว้ในดิน เพื่อไม่ให้เห็นอันตราย แล้วเกิดอะไรขึ้น ก็โดนเสือหรือสิงโตขย้ำเอา

        เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราจะต้องเจอ อย่างเหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นความตาย แทนที่จะหนีก็ควรเตรียมตัวเพื่อเผชิญกับมัน หรือให้ดีกว่านั้น คือทำให้มันเป็นมิตร 

       เรากลัวความตาย เพราะเราเห็นความตายเป็นศัตรู แต่เมื่อใดก็ตามที่เรามองว่าความตายเป็นมิตร ความตายก็กลายเป็นคุณ เป็นสิ่งมีประโยชน์ เคราะห์จะกลายเป็นโชคได้ 

       อยู่สบาย ตายสงบ เริ่มต้นที่ตัวเองได้ตั้งแต่บัดนี้

******* 

กิ่งธรรมจาก http://www.visalo.org

หมายเลขบันทึก: 466370เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2011 14:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 11:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท