ป้องกันเด็กเล็กจากไฟฟ้าดูดช่วงน้ำท่วม


เด็กเล็กมักโดนไฟฟ้าดูดได้ง่ายช่วงน้ำท่วม

ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน แต่ถ้าเราใช้ไฟฟ้าอย่างไม่ระมัดระวังอาจทำให้เกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์น้ำท่วมแบบนี้หลายพื้นที่อยู่ในสภาพน้ำท่วมขัง เพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกไฟดูดมากยิ่งขึ้น
พญ. พิมพ์ภัค ประชาศิลป์ชัย ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า "จากการวิจัยพบว่าช่วงอายุที่เสี่ยงต่อการโดนไฟดูดคือกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบเพราะเด็กในวัยดังกล่าว มักจะซุกซน อยากรู้อยากเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัว และยังไม่รู้ถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น เช่น ใช้นิ้วมือ หรือวัตถุใกล้มือแหย่เข้าไปในปลั๊กไฟ การกัดเคี้ยวสายไฟ และการดึงปลั๊กไฟที่กำลังเสียบอยู่ และอีกช่วงอายุคือกลุ่มเด็กโต อายุ 10-14 ปี สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เด็กวัยนี้ถูกไฟดูดก็คือ การพยายามสอยว่าวหรือลูกโป่งที่ไปติดอยู่บนสายไฟแรงสูง และความประมาทเลินเล่อในการใช้ไฟฟ้า"ดังนั้นการป้องกันก่อนที่จะเกิดเหตุจึงสำคัญมากที่สุด และที่สำคัญรองลงมาคือการช่วยเหลือและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดเหตุไฟดูดขึ้น 

สำหรับวิธีป้องกันอุบัติภัยจากไฟฟ้าในเด็ก มีดังนี้
1. คุณพ่อคุณแม่ควรจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดภัย โดยติดตั้งปลั๊กไฟให้สูงจากระดับพื้นประมาณ 1.5 เมตร หากติดตั้งปลั๊กไฟในระดับต่ำที่เด็กเอื้อมมือถึง ควรใช้ที่ครอบปลั๊กไฟ ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านค้า หรือแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อป้องกันเด็กเอานิ้วแหย่ปลั๊กไฟ
2. ไม่วางสายไฟหรือรางปลั๊กไฟกีดขวางทางเดินหรือผนังในจุดที่เด็กสามารถหยิบจับได้ เพราะเด็กอาจนำสายไฟหรือรางปลั๊กไฟมาเล่นจนถูกไฟฟ้าดูดได้
3. ติดตั้งสายดินหรือเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติเพื่อป้องกันการถูกไฟดูด นอกจากนี้ยังควรต้องศึกษาคู่มือการใช้ให้ดี จะช่วยให้ปลอดภัยทั้งจากไฟดูดและอัคคีภัย
4. จัดวางเครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม หลังจากใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสร็จแล้ว ให้ถอดปลั๊กเครื่องไฟฟ้าและจัดเก็บให้พ้นมือเด็ก สำรวจอยู่เสมอว่ามีสายไฟจากเครื่องใช้ไฟฟ้าห้อยลงมาจากโต๊ะ พร้อมที่จะให้เด็กเล็กดึงสายไฟเล่นจนเกิดไฟช็อต หรือดึงสายไฟจนเครื่องใช้ไฟฟ้าตกลงมาใส่ตัว
5. ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน โดยเฉพาะอุปกรณ์ไฟฟ้าภายนอกบ้านที่ตั้งอยู่ในบริเวณเปียกชื้น หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีน้ำเกี่ยวข้องกับระบบการทำงาน เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว เป็นต้น นอกจากนี้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เปียกน้ำ ควรเช็ดให้แห้งก่อนใช้งาน
6. ควรดูแลเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังบริเวณที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้า
7. สอนให้เด็กเรียนรู้ถึงอันตรายของไฟฟ้าและการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างถูกวิธี เช่น
· อย่าแตะ สวิทช์ไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กำลังเสียบปลั๊กอยู่ โดยเฉพาะในขณะที่ร่างกายเปียกชื้นหรือกำลังยืนอยู่บนพื้นเปียก
· หากพบเห็นเสาไฟฟ้าล้ม สายไฟฟ้าแรงสูงขาดหรือหย่อนลงใกล้พื้น ไม่ควรเข้าใกล้เพราะอาจเกิดอันตรายได้ และควรรีบแจ้งให้ผู้ใหญ่ทราบเพื่อแจ้งแก่การไฟฟ้าทราบและแก้ไขต่อไป
· อย่าเสียดายว่าวหรือลูกโป่งที่ติดตามสายไฟ เพราะสายไฟฟ้าแรงสูงนั้นแค่เพียงเข้าใกล้จนเกินไป ก็อาจถูกไฟช็อตอย่างรุนแรงได้

“ในสถานการณ์น้ำท่วม มีข้อแนะนำเพิ่มเติมคือควรยกคัทเอาท์ลงทันที เมื่อน้ำท่วมเข้าบ้าน เนื่องจากการยกคัทเอาท์ลง ไฟจะตัดทันที ถ้าบ้านไหนมีการแยกคัทเอาท์ไว้เป็นชั้นก็จะทำให้สะดวกมากยิ่งขึ้น และอย่าแตะสวิทช์ไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กำลังเสียบปลั๊กอยู่ในขณะที่ร่างกายเปียกชื้นหรือกำลังยืนอยู่บนพื้นเปียก”

 

 

แหล่งที่มาของข่าว

ผู้จัดการออนไลน์

 

หมายเลขบันทึก: 466084เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2011 17:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มกราคม 2014 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ..ช่างไฟสาว.

อ่านแล้วได้ความรู้ดีแม้ว่า..ที่บ้านน้ำยังไม่ท่วมก็ตาม..ชอบข้อ ๗ครับ เพราะเคยสอนลูกชายตั้งแต่ตัวยังเล็กว่า นี่ปลั๊กไฟห้ามเอามือแหย่น๊ะ ถ้าแหย่ป๋าตี..เขาจะพักหน้ารับรู้ เราก็คอยดูเขาห่างๆ พอว่างก็เรียกมาถามว่าถ้าเอามือแหย่ปลั๊กไฟเป็นยังไง ? ลูกชายก็จะตอบว่า..ป๋าตี..ป๋าตี..ตั้งแต่นั้นมา..ลูกชายไม่เคยเล่นปลั๊กไฟเลยจนตัวเขาเองกำลังจะมีลูกเองแล้ว ทีนี้คงต้องจับตาดูว่าเขาเลี้ยงลูกเขาเหมือนกับที่เราเลี้ยงเขาหรือไม่ ? ถ้าดื้อผมตั้งใจไว้แล้วว่า..จะเอาไฟช๊อตเขา..

สวัสดีอีกครั้ง.

โตนี่ - ฟาง.

๒๕ ต.ค. ๕๔

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท