จดหมายบางกอกคลินิกฯ ถึง คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย -- กรณีคนไร้สัญชาติที่ประสบปัญหาจากการได้รับการบันทึกสถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎรที่ไม่เหมาะสมกับความเป็นจริง


จดหมาย จาก โครงการบางกอกคลินิกฯ ถึง ประธานเครือข่ายผู้เสียโอกาส กลุ่มชาติพันธุ์ และคนจนเมือง คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย เรื่อง การปรับสถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎรที่เหมาะสมให้แก่ นายยอด ปอง และ นางลี ปอง ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2554

๒๔  ตุลาคม  ๒๕๕๔

 

เรื่อง การปรับสถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎรที่เหมาะสมให้แก่ นายยอด ปอง และ นางลี ปอง

เรียน ประธานเครือข่ายผู้เสียโอกาส กลุ่มชาติพันธุ์ และคนจนเมือง คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย

อ้างถึง จดหมายโครงการบางกอกคลินิกฯ ถึง นายอำเภอแม่สาย ลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๔ เรื่อง “ขอพิจารณาปรับเปลี่ยนสถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎรที่เหมาะสมให้แก่ นายยอด ปอง และ นางลี ปอง”

สิ่งที่ส่งมาด้วย แบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราช อาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ใน ท.ร.๓๘/๑ ของ นายยอด ปอง และ นางลีปอง

 

ด้วย โครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิของบุคคล กองทุนศาสตราจารย์คนึง ฦาไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ก่อตั้งขึ้นจากความตั้งใจของนักศึกษาปริญญาโทและนักศึกษาปริญญาเอกที่อาสาทำงานให้ความช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิบุคคลที่เข้ามาร้องขอคำปรึกษากฎหมายจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีท่านรองศาสตราจารย์  ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เป็นที่ปรึกษาของโครงการฯ โครงการบางกอกคลินิกฯ มีหน้าที่ (๑) ให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิของบุคคลที่มีปัญหาดังกล่าวที่ร้องเข้ามาทาง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการทั่วไป (๒) ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในกรณีที่เร่งด่วน หรือ กรณีที่สามารถพัฒนาเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลอย่างเป็นระบบได้ และ (๓) ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายนโยบาย หรือ ปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายนโยบาย โดยใช้ข้อเท็จจริงของกรณีศึกษาเป็นพื้นฐานในการตรวจสอบความใช้ได้ของกฎหมายนโยบายรวมถึงการบังคับใช้กฎหมายนโยบายด้วย ทั้งนี้ หลักการในการดำเนินงานของโครงการฯ จะให้เจ้าของปัญหาเป็นผู้แก้ไขปัญหาด้วยตัวเองภายใต้การควบคุมดูแลของคณะทำงานของโครงการฯ

 

ในการนี้ กรณีของ “นายยอด ปอง” รวมถึง มารดา คือ “นางลี ปอง” ก็เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่อยู่ในความดูแลของโครงการฯ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๙ และจากข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า นายยอด ปอง และ มารดา เป็นบุคคลที่อพยพมาจากนอกประเทศแต่ก็เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานกว่า ๑๖ ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๘) จนกระทั่งมีความกลมกลืนกับสังคมไทย แต่เนื่องจากทั้งคู่ได้ย้ายลงมาทำงานที่สวนกล้วยไม้ในจังหวัดสมุทรสาครในช่วงเวลาที่อาจจะมีการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติในพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จึงทำให้ทั้งคู่ต้องตกหล่นจากการสำรวจดังกล่าว อีกทั้งทำให้นางลี ปอง ต้องขอขึ้นทะเบียนแรงงาน และ นายยอด ปอง จึงถูกขึ้นทะเบียนเป็นผู้ติดตามแรงงงาน ทั้งคู่ถูกบันทึกในแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ท.ร.๓๘/๑) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ เพื่อให้มีเอกสารพิสูจน์ตนที่ออกโดยรัฐไทย

 

จากการได้รับการบันทึกสถานะบุคคลที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวส่งผลกระทบเชิงลบด้านสิทธิหลายประการแก่ทั้งคู่มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบด้านสิทธิในการพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมายไทย หรือ สิทธิในหลักประกันสุขภาพซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานทางสาธารณสุขอย่างหนึ่ง เป็นต้น โดยเฉพาะ นายยอด ปอง ซึ่งเป็นเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาของไทย นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่านโยบายที่เอื้อต่อการพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศของบุตรและผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยก็ยังคงมีความคลุมเครือ จึงส่งผลให้ นายยอด ปอง และ เด็กเยาวชนที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทางได้เช่นเดียวกับบิดามารดาซึ่งมีสถานะเป็นแรงงาน นายยอด ปอง จึงตกอยู่ในสูญญากาศทางนโยบายระหว่างรัฐที่ยังไม่ชัดเจนจนกระทั่งปัจจุบัน 

 

ดังนั้น (๑) เพื่อเป็นการปรับสถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎรของทั้งคู่ให้เหมาะสม กล่าวคือ จากสถานะของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ใน ท.ร.๓๘/๑ มาเป็น บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ใน ท.ร.๓๘ ก ไม่ว่าจะเป็น บุคคลที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานในกรณีของ “นางลี ปอง” หรือ บุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาของประเทศไทยแต่ยังไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายในกรณีของ “นายยอด ปอง” (ซึ่งเป็นบุคคลกลุ่มที่ ๑ และ ๒ ตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตาม มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘ ตามลำดับ)  และ (๒) เพื่อเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) พ.ศ.๒๕๐๙ ว่าด้วยสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย (ข้อ ๑๖) เพื่อขจัดสภาวะสภาวะความไร้รัฐของบุคคลและให้บุคคลได้รับการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลที่เหมาะสมในที่สุด ทางคณะทำงานโครงการบางกอกคลินิกฯ จึงเรียนมาท่านโปรดเป็นสื่อกลางอันเป็นธรรมเพื่อการคุ้มครองสิทธิของ นายยอด ปอง และ มารดา รวมไปถึงบุคคลที่อาจจะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ต่อไป

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

 

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

นางสาวบงกช นภาอัมพร

คณะทำงานโครงการบางกอกคลินิก

เพื่อให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิของบุคคล

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

อ้างถึง: http://www.gotoknow.org/blogs/posts/465791

หมายเลขบันทึก: 465922เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2011 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 02:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท