ชาวสยามเอย... เราต้องอยู่กับน้ำให้เป็น


น้ำท่วมที่ราบลุ่มภาคกลางของสยามประเทศอันเป็นที่รักยิ่งของเราครานี้ยิ่งใหญ่ เสียหายเกินคาดเป็นประวัติการณ์ ความเดือดร้อนรำคาญและการกระทบกระทั่ง เกิดขึ้นจนเป็นข่าวครึกโครม ประสบการณ์แห่งความลำบากยากแค้นร่วมกันของพวกเราทั้งคนไทย จีน แขก ลาว ญวน พม่า ส่วย สา ที่อาศัยฝังรกปักรากในแผ่นดินสยามครั้งนี้น่าเห็นใจ และหลาย ๆ เหตุการณ์ดูแล้วก็ทำให้หดหู่ แต่พวกเราต้องผ่านมันไปให้ได้ และมันเป็นบททดสอบครั้งสำคัญของพวกเรา

สำหรับความครุ่นคิดในใจของผมเองก็คือว่า "ความรู้" ที่จะอยู่กับน้ำในยามน้ำหลากของพวกเราชาวสยามกลุ่มลุ่มเจ้าพระยามันหดหายสูญสิ้นไปไหนหมด จะว่าสังคมสยามนี้เปลี่ยนแปลงไปจนเราอยู่กับน้ำไม่เป็นแล้วก็ว่าได้ แต่ทว่าอะไรล่ะที่ทำให้ความรู้พวกนี้ของเราหายไป ทั้งที่สยามเจ้าพระยาอาจเรียกแบบชาวบ้านได้ว่าพวกเราเป็นลูกแม่น้ำ โอ...ก็นั่นมันเป็นเพราะเราหันหลังให้คลองแล้วเดินหน้าสร้างถนนกันอย่างอารยชนตะวันตก จนวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับน้ำกลายเป็นเรื่องเล่าประโลมโลกในสารคดีหรือนวนิยายเท่านั้น ประเพณีที่บ่งบอกถึงความผูกพันที่เรามีกับสายน้ำก็ถูกทำให้เป็นสินค้า สร้างให้เกิดมายาภาพ จนเหลือแต่เปลือกแต่กระพี้ ทั้งที่ในความจริง วิถีชีวิตที่ติดอยู่กับน้ำ เป็นความรู้ที่สั่งสมและสืบทอดให้พวกเราได้ทำตามมารุ่นต่อรุ่น เสริมต่อจนกลายเป็นพิธีการพิธีกรรม ประเพณีและการละเล่น

สำหรับผม ชีวิตที่เกิดและโตอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ในจังหวัดอยุธยา เรื่องน้ำท่วมน้ำมา และการขนของหนีน้ำ เป็นเหมือนวัฏจักรชีวิตที่ต้องเผชิญ ที่ต้องพานพบนับครั้งไม่ถ้วน แม่ของผมแม้วันนี้จะแก่เฒ่าลงไปขนาดไหน ภูมิปัญญาและสติที่ตั้งมั่นของท่านในการรับมือกับน้ำท่วมใต้ถุนบ้าน และการย้ายของขึ้นที่สูงหนีน้ำ กลับเป็นเรื่องง่าย ๆ สบาย ๆ สำหรับท่าน แม้ว่าท่านจะบ่นถึงความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าอยู่บ่อยครั้งเมื่อน้ำมา แต่ท่านก็ไม่เคยหวาดหวั่นว่ามันจะเป็นพิษเป็นภัยอะไรหนักหนา สำหรับการใช้ชีวิตในยามน้ำท่วม

ตาทวด ยายทวด ของผมท่านจะซื้อหาที่ดินผืนนี้มาจากใครผมก็ไม่อาจรู้ได้ แต่สิ่งที่ผมรู้อย่างหนึ่งก็คือ ผลหมากรากไม้ที่ท่านปลูกไว้ลุกหลานได้เก็บกิน ได้เอาไว้ค้าไว้ขายล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เลือกสรรค์มาอย่างดีแล้วว่าน้ำท่วมต้นไม้นั้นจะไม่ตาย กอไผ่หลังบ้านสองกอ ที่แม่เคยเล่าให้ฟังว่าปลูกมาแต่สมัยตาทวด ก็ดูเหมือนจะเป็นทั้งแนวรั้วตามธรรมชาติ และมีคุณสมบัติช่วยต้านลมหนาว อีกทั้งมีค่ามากหลายในยามน้ำท่วม เพราะผมเห็นแม่ใช้ไม้ไผ่สองกอที่เป็นมรดกล้ำค่าของตาทวดนี่แหละในการเอามาเป็นทั้งหลัก เสา คาน พื้น แพ และตอก สำหรับหนุน ค้ำ ปัก ผุกยัน ข้าวของให้พ้นจากระดับน้ำที่สูงขึ้น และสูงขึ้น

ลุงป้าน้าอาของผมทั้งหญิงทั้งชาย พอน้ำท่วมทีไร ก็เห็นง่วนอยุ่กับการหาผักหาปลา ที่มักจะมาในยามน้ำท่วม ทำให้เรากินกันอิ่มหมีพีมัน มากเสียกว่าตอนน้ำเป็นปกติ

อย่างว่าละครับถ้าน้ำมาแล้วอยู่ให้เป็น ก็เป็นสุขได้เหมือนในในอีกมุมหนึ่ง เพราะอยู่กับน้ำมาจนเจนชิน ผมจึงไม่ตกอกตกใจกับน้ำที่ไหน ๆ เพราะเรารู้ดีว่า ถ้าเก้บของทันก็เอาไว้เก็ยไม่ทันแล้วเสียหายก็ต้องซ่อมแซมหรือหาเอาใหม่ ผมคิดว่าสมัยอยุธยาศรีรามเทพนคร เป็นเมืองหลวง น้ำก็คงท่วมอย่างนี้แหละเพราะถ้าท่วมแค่เข่าแค่ตาตุ่ม พม่ารามัญที่ล้อมกรุงจะต้องเลิกทัพไปทำไม

แต่ที่หลายคนหลายท่านตกใจกับน้ำ เพราะเราถูกทำให้ความตระหนักในเรื่องน้ำลดน้อยถอยลง หรือลดทอนลงมาเป็นแค่ประปาที่มาตามท่อ และน้ำเสียที่ไหลลงท่ออีกทั้งพอน้ำจะท่วมทีไร เราก็ใช้วิะีการปิด กั้น กัน ถม เสียจนเพื่อนร่วมประเทสของผมอีกหลายคนไม่รู้ไม่ตระหนักว่า ภาคกลางของสยามน้ำมักจะท่วม

บางทีผมว่า ถ้านับจากนี้ต่อไป มีน้ำมาจากเหนือเมื่อไหร่ เราเลิกกัน เลิกกั้น เลิกเอาชนะน้ำ อาจเกิดการเรียนรู้และเกิดภูมิปัญญาชนิดใหม่ขึ้นในผู้คนของเรา จนทำให้พวกเราอยู่กับน้ำเป็นก็ได้นะครับ

คำสำคัญ (Tags): #น้ำท่วม
หมายเลขบันทึก: 465489เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2011 02:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 03:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

A wonderful story.

We have generations of Thai well-learned to live with water but our current generation only know how to live with mobile phones.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท