ฉะมื่อ : หญิงผู้เป็นมารดาของคนสัญชาติไทย


ความเป็นคนสัญชาติไทยของหญิงที่สมรสกับชายไทยและมีบุตรเป็นบุคคลสัญชาติไทยเช่นเดียวกับ ฉะมื่อดูลางเลือนเสียเหลือเกิน ทุกวันนี้เธอหวังเพียงว่าในอนาคตจะเกิดการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ให้เธอสามารถเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยเหมือนกับสามีและบุตรสาวของเธอ

ผู้เขียนพบฉะมื่อหรือนางมณีวรรณครั้งแรก ตอนเดินทางร่วมกับทีมคุณนาตยา แวววีรคุปต์ ไปถ่ายทำสกู๊ปของนายแพทย์วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ที่บ้านของนางชิชะพอ ผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายซึ่งไม่มีสิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนใด ๆ เพราะนางชิชะพอกำลังอยู่ระหว่างการสำรวจสถานะบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน

จากการสอบข้อเท็จจริงโดยคุณนันทัชพร กันทะวัง พบว่า ฉะมื่อ เป็นบุตรสาวคนที่สอง ของนายป่วยโค๊ะกับนางชิชะพอ มีพี่น้องร่วมบิดา 4 คน และพี่น้องร่วมมารดา(บุตรนายสะดี สามีคนปัจจุบันของนางชิชะพอ) 2 คน ฉะมื่อเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2526 เธอให้ปากคำว่าเกิดที่บ้านเปิ่งเคลิ่ง หมู่ 9 ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก แต่ไม่มีพยานยืนยันการเกิดของเธอ ฉะมื่อเคยเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ที่โรงเรียนบ้านจะแก จ.กาญจนบุรี ตอนติดตามพี่ชายคนโตคือ นายเชษฐาที่ย้ายไปทำมาหากินที่บ้านจะแก

            ปี 2552 ฉะมื่อได้รับการสำรวจและจัดทำบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เลขประจำตัว 0-6308-xxxx-xx-x บ้านเลขที่ 11 หมู่ 6 ต.อุ้มผาง อ.อุ้มผาง จ.ตาก ฉะมื่ออยู่กินฉันท์สามีภรรยาแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส กับนายปณิธาน(ชื่อเดิม ก้องฟ้า) คำจันทร์ ชายสัญชาติไทย ในราวปี 2542 มีบุตรสาว 1 คน คือ ด.ญ.กมลชนก(อุ๊งอิ๊ง) คำจันทร์ เกิดวันที่ 1 ธันวาคม 2546 ที่โรงพยาบาลอุ้มผาง โดยอุ๊งอิ๊งมีสัญชาติไทยตามบิดา

          1 มีนาคม 2554 ผู้เขียนได้บันทึกชื่อของ ฉะมื่อหรือนางมณีวรรณให้ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลจากกองทุนบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิของกระทรวงสาธารณสุข ฉะมื่อจึงไม่มีปัญหาในการเข้ารับบริการด้านสาธารณสุข

            เมื่อทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดของฉะมื่อ ผู้เขียนจึงแนะนำให้คนทั้งคู่ไปขอจดทะเบียนสมรสที่อำเภออุ้มผาง และได้รับใบสำคัญการสมรส เลขทะเบียนที่ 983/3345 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2554 เพื่อให้ฉะมื่อสามารถยื่นขอสัญชาติไทยตามสามีได้

ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 9 ระบุว่า “หญิงซึ่งเป็นคนต่างด้าวและได้สมรสกับผู้มีสัญชาติไทย ถ้าประสงค์จะได้สัญชาติไทย ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และมีหลักเกณฑ์เสริมตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท.0308.4/5819 ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2551 ซึ่งกำหนดแนวทางการพิจารณาตามคำขอของรัฐมนตรีไว้ ดังนี้

  1. ผู้ยื่นคำขอต้องมีภูมิลำเนาในประเทศไทย และมีชื่อในทะเบียนบ้าน
  2. ผู้ยื่นคำข้อต้องจดทะเบียนสมรสกับชายไทยถูกต้องตามกฎหมายมาไม่น้อยกว่า 3 ปี นับแต่วันยื่นคำขอ ส่วนกรณีมีบัตรกับคู่สมรสซึ่งเป็นชายไทย จะต้องจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายมาไม่น้อยกว่า 1 ปี
  3. สามีผู้ยื่นคำขอต้องมีอาชีพเป็นหลักฐานและมีรายได้พอเลี้ยงครอบครัว กล่าวคือ โดยหลัก หากเป็นบุคคลธรรมดาต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน โดยต้องมีใบรับรองเงินเดือนหรือหลักฐานการเสียภาษีเงินได้ในรอบปีมาแสดง แต่หากเป็นข้าราชการต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน โดยมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานมาแสดง
  4. ผู้ยื่นคำขอต้องผ่านการตรวจสอบสถานภาพสมรสและประวัติจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  5. ผู้ยื่นคำขอต้องผ่านการสัมภาษณ์ เพื่อสอบถามเจตนารมณ์และสังเกตพฤติการณ์ของคู่สมรสจากคณะกรรมการระดับจังหวัด

ซึ่งหากพิจารณาจากหลักเกณฑ์ที่กล่าวมาแล้ว การยื่นขอสัญชาติตามสามีของฉะมื่อ ในข้อแรก ข้อสี่และข้อห้าไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนในข้อสองก็ต้องใช้เวลารอไปก่อนอีก 1 ปี 

หลักเกณฑ์ที่ฉะมื่อและสามีคงไม่สามารถผ่านเกณฑ์ได้ คือข้อสามที่ว่าด้วยเรื่องรายได้ เนื่องจากสามีของฉะมื่อทำอาชีพรับจ้างทั่วไป ตัวฉะมื่อเองก็ทำไร่และรับจ้างทั่วไป รายได้ทั้งสองคนรวมกันยังไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้

ความเป็นคนสัญชาติไทยของหญิงที่สมรสกับชายไทยและมีบุตรเป็นบุคคลสัญชาติไทยเช่นเดียวกับ ฉะมื่อดูลางเลือนเสียเหลือเกิน ทุกวันนี้เธอหวังเพียงว่าในอนาคตจะเกิดการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ให้เธอสามารถเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยเหมือนกับสามีและบุตรสาวของเธอ

หมายเลขบันทึก: 465441เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2011 14:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท