บนเส้นทางแห่งการเรียนรู้วิชชาจากพระพุทธเจ้า


สิ่งที่นึกไม่ถึงก็คือ หลังจากทำไปได้ ๓ อาทิตย์ จู่ ๆ ก็เห็นความคิด และรู้ทันความคิด โดยไม่ได้ตั้งใจ สติทำงานของเขาเอง พอรู้แล้วก็วางความคิดนั้นไปเอง ทำให้ความคิดนั้นทำอะไรจิตใจไม่ได้นาน แม้จะเผลอคิด ก็แค่แวบเดียว แล้วก็หาย ทำให้ใจสงบเงียบขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ประหลาดใจที่เกิดความสงบเช่นนี้เพราะแต่ก่อนนั้นจิตแทบจะไม่เคยว่างจากความ คิดเลย มันส่งเสียงดังระงมแทบจะตลอดเวลา
บนเส้นทางแห่งการเรียนรู้วิชชาจากพระพุทธเจ้า
พระไพศาล วิสาโล
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ซีเอ็ด
 

       ข้าพเจ้า เรียนวิชาศีลธรรมครั้งแรกเมื่ออยู่ชั้นป.๕ แม้เป็นเด็กที่ตั้งใจเรียน และสอบได้คะแนนดีจากวิชานี้มาโดยตลอด แต่ก็หาได้รู้สึกซาบซึ้งในพุทธศาสนาแต่อย่างใดไม่ แค่รู้ว่าพระพุทธองค์ทรงสอนให้คนเป็นคนดีและมีศีลธรรมเท่านั้น จนเมื่อได้อ่านเรื่อง กามนิต* ซึ่งเป็นหนังสือประกอบการเรียนวิชาภาษาไทยชั้นม.ศ.๓ (หรือม.๔ เวลานี้) จึงเกิดความประทับใจในพระปรีชาญาณของพระองค์ และมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้สนใจพุทธศาสนาอย่างจริงจัง

       ฉากที่ประทับใจมากที่สุด คือฉากสนทนาโต้ตอบระหว่างกามนิตกับพระพุทธองค์ กามนิตนั้นกำลังเดินทางไปหาพระพุทธองค์โดยหารู้ไม่ว่าสมณะที่ตนกำลังพูด คุยอยู่ด้วยนั้นเป็นพระบรมศาสดา กามนิตมีความกระหายอยากรู้เรื่องชาติหน้าหรือชีวิตหลังความตายว่าเป็นอย่าง ไร  ขณะที่พระพุทธองค์ทรงแนะให้กามนิตสนใจเรื่องทุกข์และการดับทุกข์ กามนิตเป็นคนฉลาดในการกล่าวแย้งพระพุทธองค์ แต่ในที่สุดก็จำนนเมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงยกอุปมาอุปไมยว่า หากไฟกำลังไหม้บ้าน และบ่าววิ่งมาเรียกเจ้านายให้ออกจากบ้านโดยเร็ว ควรหรือไม่ที่เจ้านายจะบอกบ่าวให้ไปดูก่อนว่าข้างนอกนั้นฝนตกหรือไม่ มีพายุหรือเปล่า ถ้าฝนไม่ตก ไม่มีพายุ ถึงจะออกจากบ้านไป

        ที่จริงพระพุทธองค์ทรงกล่าวอุปมาอีกหลายอย่าง ซึ่งสามารถหักล้างคำโต้แย้งของกามนิตได้หมดสิ้น และชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่ควรสนใจมากที่สุดก็คือดับทุกข์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ในขณะนี้ แทนที่จะมัวหาคำตอบเรื่องสวรรค์หรือนรก ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากสนองความอยากรู้อยากเห็นเท่านั้น ข้าพเจ้าอ่านกามนิตตอนนี้ด้วยความรู้สึกทึ่งในความเปรื่องปราดของพระ พุทธองค์ ซึ่งไม่เคยพบในหนังสือเรียนวิชาศีลธรรม จะว่าไปแล้วพระพุทธองค์ในกามนิตนั้นเป็นบุคคลที่มีชีวิตและเลือดเนื้อที่คน อ่านรู้สึกใกล้ชิด ผิดกับพระพุทธองค์ที่เคยรู้จักจากวิชาศีลธรรมซึ่งดูเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่อยู่ไกลจากความรับรู้ของเรา

        นั่นเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ที่ข้าพเจ้ามองเห็นพระพุทธองค์ในฐานะบุคคลซึ่งมี ปัญญาล้ำเลิศ ซึ่งไม่เพียงฉลาดในการโต้แย้งและจูงใจผู้คนเท่านั้น หากปัญญาที่พระองค์มีนั้นยังสามารถดับทุกข์ในชีวิตได้ด้วย ต่างจากปัญญาของนักวิทยาศาสตร์และผู้รู้ทั้งหลาย อันที่จริงเมื่อได้ศึกษาต่อมาก็พบว่าปัญญาของพระองค์นั้นยังสามารถเอามา ประยุกต์ใช้ในเรื่องอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น คำสอนเรื่องอริยสัจ๔ นั้น เป็นหลักการที่สามารถเอาใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตและสังคมได้ โดยเริ่มจากการหาต้นตอของปัญหา เช่นเดียวกับการดับทุกข์ก็ต้องเริ่มต้นที่การเข้าใจสมุทัยเสียก่อน

        เมื่อได้อ่านงานเขียนและงานบรรยายของท่านอาจารย์พุทธทาสหลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้เรียนรู้มากขึ้นว่า ปัญญาชนิดที่สามารถดับทุกข์ตามคำสอนของพระพุทธองค์นั้น ไม่ได้เกิดจากการอ่านการฟังเท่านั้น ที่สำคัญก็คือการปฏิบัติ ซึ่งมีความหมายมากกว่าการให้ทานและรักษาศีล แต่รวมถึงการทำสมาธิภาวนาด้วย ท่านอาจารย์พุทธทาสไม่เพียงสอนหรือพูดเท่านั้น หากยังทำให้เป็นแบบอย่าง โดยมีสวนโมกข์เป็นสถานที่ส่งเสริมสมาธิภาวนา

        ข้าพเจ้าเริ่มสนใจทำสมาธิภาวนามาตั้งแต่ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่ได้ทำจริงจัง แม้เข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ก็ยังทำแบบกระท่อนกระแท่น เพราะใจไม่ค่อยสงบ และขาดความมุ่งมั่น จำได้ว่าเคยไปปฏิบัติธรรมกับเพื่อน ๆ ที่ถ้ำพระโพธิสัตว์ จ.สระบุรี เป็นเวลา ๓ วัน รู้สึกว่าเป็นทุกข์มาก เพราะถูกกลุ้มรุมทั้งความเหงา ความว้าเหว่ และความฟุ้งซ่านกระสับกระส่าย เนื่องจากต่างคนต่างแยกไปปฏิบัติ เก็บวาจา แถมไม่มีหนังสือพิมพ์ให้อ่าน เมื่อถึงวันกลับ จึงรู้สึกดีใจมากและเข็ดขยาดการปฏิบัติธรรมแบบนี้ไปนานหลายปี

        เส้นทางสมาธิภาวนาของข้าพเจ้าคงลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไปอีกนาน หากไม่เป็นเพราะว่าชีวิตถูกความเครียดรุมเร้าจนเริ่มเสียศูนย์ นอนหลับยากขึ้น แถมทะเลาะกับคนรอบข้างเป็นอาจิณ ยามอยู่คนเดียวจะรู้สึกกระสับกระส่าย อยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆไม่ได้ ข้าพเจ้าเคยหาทางแก้หลายวิธี เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ไปเที่ยว แต่ก็ได้ผลชั่วคราว ความรู้ที่มีอยู่บ้างจากพระพุทธองค์บอกตนเองว่า ปัญหาที่แท้นั้นเกิดจากจิตใจของข้าพเจ้าเอง จะเปลี่ยนที่เที่ยวที่ผ่อนคลายแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่รู้จักทำใจให้สงบ

        นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ข้าพเจ้าตัดสินใจลางานออกบวช ๓ เดือน เพื่อหันมาทำสมาธิภาวนาอย่างจริงจัง เดิมตั้งใจไปบวชปฏิบัติอยู่กับหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ แห่งวัดป่าสุคะโต ที่จังหวัดชัยภูมิ แต่ท่านแนะนำให้ไปปฏิบัติกับอาจารย์ของท่าน คือหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ แห่งวัดสนามใน ซึ่งอยู่แค่จังหวัดนนทบุรี

        การสอนของหลวงพ่อเทียนนั้นเน้นการเจริญสติ การเจริญสตินั้นเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าพอรู้บ้างจากการอ่านหนังสือของครูบาอาจารย์หลายท่าน และทราบดีว่าสติปัฏฐานนั้นเป็นคำสอนสำคัญของพระพุทธองค์ ผู้รู้บางท่านถือว่าการเจริญสติเป็น “หัวใจกรรมฐาน” ของพุทธศาสนาเลย ที่จริงสมาธิภาวนาที่ข้าพเจ้าได้ลองทำมาบ้างก็อยู่ในแนวทางนี้ แต่ข้าพเจ้าก็ไม่เข้าใจชัดเจนจนได้มาปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียน

        หลวงพ่อเทียนเริ่มต้นด้วยการแนะนำให้รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของกาย ต่อมาก็แนะให้รู้เมื่อมีความรู้สึกนึกคิดเกิดขึ้น ท่านแนะนำเพียงแค่ให้ “รู้เฉย ๆ” โดยไม่ต้องไปทำอะไรกับความรู้สึกนึกคิดนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำเพียงแค่รู้เฉย ๆ เพราะใจอยากจะไปกดข่มหรือห้ามความคิดเพื่อให้หายฟุ้งซ่าน บ่อยครั้งก็จะคอยดักเฝ้าความคิดว่าเมื่อไหร่จะออกมา การทำเช่นนั้นทำให้เครียดได้ง่าย และในที่สุดก็ทำให้ท้อ เพราะความคิดไม่เคยหยุด กลับอาละวาดหนักขึ้น แต่เมื่อทำใจปล่อยวาง ไม่หวังผล การรู้เฉย ๆ ก็เกิดขึ้น

        สิ่งที่นึกไม่ถึงก็คือ หลังจากทำไปได้ ๓ อาทิตย์ จู่ ๆ ก็เห็นความคิด และรู้ทันความคิด โดยไม่ได้ตั้งใจ สติทำงานของเขาเอง พอรู้แล้วก็วางความคิดนั้นไปเอง ทำให้ความคิดนั้นทำอะไรจิตใจไม่ได้นาน แม้จะเผลอคิด ก็แค่แวบเดียว แล้วก็หาย ทำให้ใจสงบเงียบขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ประหลาดใจที่เกิดความสงบเช่นนี้เพราะแต่ก่อนนั้นจิตแทบจะไม่เคยว่างจากความ คิดเลย มันส่งเสียงดังระงมแทบจะตลอดเวลา

       ข้าพเจ้าไม่เคยนึกมาก่อนว่าตนเองจะสามารถ “เห็น” ความคิดได้ เห็นได้ชัดว่า ความคิดกับจิตนั้นไม่ใช่อันเดียวกัน จิตนั้นคือตัวรู้ จะนึกคิดอะไรก็ตาม ก็สามารถรู้ความคิดนั้นได้ นั่นมิใช่อะไรอื่น หากเป็นเพราะอานุภาพของสตินั่นเอง ข้าพเจ้าเคยอ่านหนังสือเรื่อง “พลังแห่งสติ” ของท่านญาณโปณิกมหาเถระมาก่อน ท่านนำคำสอนของพระพุทธองค์เรื่องสติปัฏฐานมาอธิบายได้อย่างน่าอ่านด้วยสำนวน ของคนร่วมสมัย อ่านแล้วก็รู้สึกว่าสติเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการดับทุกข์ แต่ก็เป็นแค่ความเข้าใจในระดับสัญญาเท่านั้น เพราะไม่เคยประจักษ์แก่ใจเอง จนเมื่อได้สัมผัสอานุภาพของสติด้วยตนเอง แม้จะเป็นแค่ส่วนเสี้ยวของอานุภาพนั้น ก็รู้สึกซาบซึ้งใจมาก พร้อมกันนั้นก็อดพิศวงไม่ได้ว่าว่าพระพุทธองค์ทรงค้นพบพลังแห่งสติได้อย่าง ไร ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ใครจะค้นพบกุญแจที่ไขให้ศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของสติได้ พรั่งพรูออกมาจนประจักษ์ได้

       สติทำให้เห็นชัดว่าคนเราทุกข์ เพราะใจโดยแท้ คนอื่นหรือสิ่งอื่นนั้นเป็นส่วนประกอบเท่านั้น คำพูดหรือการกระทำของคนอื่นที่ไม่ถูกใจเรานั้นเกิดขึ้นมาได้นานหลายวันแล้ว แต่เหตุใดเรายังแค้นเคืองอยู่หากไม่ใช่เป็นเพราะใจยังหวนคิดถึงคำพูดและการ กระทำนั้น ๆเหตุร้ายบางอย่างยังไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ แต่ทำไมเราจึงกังวลจนกินไม่ได้นอนไม่หลับหากไม่ใช่เป็นเพราะเราเอาแต่ หมกมุ่นครุ่นคิดถึงมัน

       ความรู้สึกนึกคิดนั้นเป็นสิ่งที่ใจปรุงแต่งขึ้นมา แต่แล้วใจก็ไปยึดติดกับสิ่งปรุงแต่ง และทึกทักว่าเป็นเรื่องจริงเรื่องจัง สุดท้ายก็ทุกข์ไปกับสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมาเอง หาไม่ก็ปล่อยให้มันครอบงำจิตใจ บงการให้โศกเศร้า ร่ำไห้ คร่ำครวญ กลัดกลุ้ม น้อยใจ ฯลฯ จนร่างกายผ่ายผอม สุขภาพย่ำแย่ หรือถึงกับคิดสั้นทำร้ายตนเอง

       เป็นเพราะเราไม่รู้ทันความคิดของตัวเอง จึงถูกความคิดนั้นทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้กระนั้นก็ยังอดไม่ได้ที่จะโทษคนอื่นว่าเป็นตัวการทำให้เราทุกข์ พระพุทธองค์ตรัสว่า “เมื่อมือไม่มีแผล แม้จับต้องยาพิษ ยาพิษนั้นก็ไม่สามารถทำอันตรายได้” ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้อื่นย่อมไม่สามารถทำให้เราทุกข์ได้ หากใจเราเป็นปกติ ไม่ถูกกิเลสหรือความคิดปรุงแต่งครอบงำทำร้าย

สติ ช่วยให้เราเห็นและรู้ทันความคิดได้ไว ทำให้มันไม่สามารถครอบงำทำร้ายจิตใจได้ เหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้ว หรือสิ่งที่ยังมาไม่ถึง จะไม่สามารถทำให้เราเป็นทุกข์ได้ หากมีสติรู้ทันความอาลัยในอดีตหรือกังวลกับอนาคต สติช่วยพาใจให้มาอยู่กับปัจจุบัน และมีความสุขในแต่ละขณะและในทุกอิริยาบถ แม้มีสิ่งไม่พึงประสงค์มากระทบ ก็รู้ทันใจที่กระเพื่อนและพาใจกลับมาสู่ความปกติได้ ทำให้ใจสงบได้แม้รอบตัวจะอึกทึกพลุกพล่าน ใจเย็นได้แม้อากาศจะรุ่มร้อนอบอ้าว

        สติไม่เพียงช่วยให้ใจสงบเย็นเท่านั้น หากยังเอื้อให้เกิดปัญญาด้วย เพราะสติช่วยให้เห็นกายและใจตามที่เป็นจริง เมื่อเดินก็รู้ว่าเดิน เมื่อคิดก็รู้ว่าคิด ย่อมเห็นต่อไปว่าที่เดินนั้นคือกายเดิน ที่คิดนั้นคือใจคิด ไม่ใช่ “ฉัน”เดิน หรือ “ฉัน”คิด สติเป็นปฏิปักษ์กับความยึดมั่นสำคัญหมายใน “ตัวกู ของกู” เมื่อมีสติ ตัวกูของกูก็หายไป มีแต่กายกับใจ นั่นหมายความว่า เวลาปวด ก็เห็นว่ามีแต่กายที่ปวด (หรือความปวดเกิดขึ้นที่กาย) แต่ไม่มี “ฉัน”ผู้ปวด เวลาโกรธ ก็เห็นว่ามีแต่ใจที่โกรธ (หรือความโกรธเกิดขึ้นที่ใจ) แต่ไม่มี “ฉัน” ผู้โกรธ การเห็นดังกล่าวนี้เองที่จะนำไปสู่ปัญญาจนเห็นความจริงต่อไปว่า กายและใจนี้นอกจากจะไม่เที่ยงและเป็นทุกข์แล้ว ยังไม่ใช่ “ตัวกู ของกู”ด้วย 

        ความยึดมั่นสำคัญหมายใน “ตัวกู ของกู”นั้นเป็นรากเหง้าแห่งความทุกข์ ตราบใดที่ยังละวางความยึดมั่นดังกล่าวไม่ได้ ก็ยังทุกข์อยู่ร่ำไป ต่อเมื่อละวางความยึดมั่นในตัวกูของกูได้ จึงจะพ้นทุกข์อย่างแท้จริง แต่ถึงแม้จะไม่สามารถละวางความยึดมั่นดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง แต่การมีสติอยู่เป็นนิจ ย่อมช่วยให้ความยึดมั่นดังกล่าวไม่สามารถครองใจได้ต่อเนื่องจนก่อความทุกข์ ไม่หยุดหย่อน

        สำหรับข้าพเจ้า นี้คือวิชชาสำคัญสูงสุดที่ได้จากพระพุทธองค์ เรียกอีกอย่างว่า วิชชาดับทุกข์ แม้ข้าพเจ้ายังไม่เจนจบในวิชชานี้ แต่ก็ได้รับอานิสงส์จากวิชชานี้มาก อดคิดไม่ได้ว่าหากไม่รู้วิชชานี้ จะเสียประโยชน์มากมายสักเพียงใดจากการเกิดมาเป็นมนุษย์ วิชชานี้ช่วยให้ชีวิตเป็นอิสระอย่างแท้จริง เพราะไม่ตกเป็นทาสของสิ่งต่าง ๆ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม แม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่าความสุข ซึ่งใคร ๆ ล้วนแสวงหา ก็เกี่ยวข้องได้โดยไม่สยบมัวเมาหรือเพลิดเพลินยินดี ส่วนความทุกข์นั้น แม้ต้องประสบ เพราะเป็นธรรมดาที่ไม่มีใครหนีพ้น (เช่น ความแก่ ความเจ็บ ความตาย และความพลัดพรากทั้งหลาย) ก็อยู่กับมันได้โดยไม่เป็นทุกข์
   

        วิชชานี้จึงช่วยให้อยู่ในโลกได้ โดยเป็นอิสระเหนือโลก เช่นเดียวกับดอกบัวที่เกิดในน้ำแต่อยู่พ้นน้ำ อิสรภาพดังกล่าวมิเพียงหมายถึงความสงบเย็นในจิตใจเท่านั้น หากยังช่วยให้สามารถบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่โลกได้อย่างเต็มที่เพราะ ปราศจากความเห็นแก่ตัว ดังมีพระพุทธองค์ทรงเป็นแบบอย่าง เพราะเมื่อไม่มีตัวตนให้หวงแหนหรือนึกถึง จิตใจย่อมเปิดกว้างอย่างไม่มีประมาณ เกิดเมตตากรุณาอันยิ่งใหญ่ ที่มุ่งเกื้อกูลสรรพสัตว์อย่างไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ทำให้ชีวิตนี้เป็นชีวิตที่ “สงบเย็นและเป็นประโยชน์” ดังคำของท่านอาจารย์พุทธทาสอย่างแท้จริง

        แม้ยังไม่ทราบว่าจะเรียนจบวิชชานี้เมื่อใด แต่ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ ข้าพเจ้าก็จะขอร่ำเรียนวิชชานี้ต่อไปไม่เลิกรา

* กามนิต เป็นนิยายอิงพุทธประวัติ แต่งโดยคาร์ล อดอล์ฟ เจลลิรูป แปลโดย เสฐียรโกเศศ และ นาคะประทีป ส่วนที่นำมาเป็นหนังสือประกอบการเรียน ตัดทอนมาเพียงครึ่งเดียว คือ “ภาคบนดิน” และเปลี่ยนชื่อเป็น วาสิฏฐี

********** 
กิ่งพันธุ์จาก http://www.visalo.org
หมายเลขบันทึก: 465337เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2011 11:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 21:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท