การเรียนรู้แบบมุฑิตาจิต


“ฮักเมืองน่าน” ใช้กระบวนการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือมาเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองและองค์กรเครือข่ายมาตั้งแต่ก่อนเริ่มตั้งเป็นกลุ่มฮักเมืองน่าน เริ่มจากการเกาะเกี่ยวคนดี ที่ทำความดีในการสร้างสำนึกรักแผ่นดินถิ่นเกิด เช่น ดูแลรักษาป่า ดูแลรักษาแม่น้ำ ดูแลการเกษตรแบบพอเพียง ดูแลรักษาสุขภาพเพื่อนบ้าน ดูแลผู้สูงอายุ ดูแลผู้ติดเชื้อเอดส์ ดูแลปัญหายาเสพติด ดูแลเยาวชน และอีกหลายเรื่อง นำเอาเรื่องความดี คนดีเหล่านั้นมาแสดงความชื่นชมยกย่อง ชักชวนให้ช่วยกันขยายความดี คนดีออกไปมากขึ้น จนสามารถเกาะเกี่ยวคนดี ความดี มาเป็น “กลุ่มฮักเมืองน่าน” และขยายพื้นที่ ขยายเครือข่ายออกไปต่อเนื่องจนมาเป็นมูลนิธิฮักเมืองน่านและเครือข่ายทุกวันนี้ ก็ใช้ยุทธศาสตร์หลักคือ “มุฑิตาจิต” นั่นคือ เห็นคนทำความดีก็นำมาบอกกล่าวและชักชวนกันไปดูไปเรียนรู้และขยายผลออกไป ไม่ตีกรอบความคิด รูปแบบ หากแต่ดึงเอาศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นให้ลุกขึ้นมาจัดการตนเอง

คำว่า “มุทิตาจิต” ก็คือ ความชื่นชมยินดีเบิกบานกับสิ่งที่ดีของคนอื่น เอาความดี สิ่งดีดีของคนเขามายกย่องเชิดชู แล้วนำไปต่อยอด สร้างพลังการเรียนรู้จากต้นแบบที่ดี นำไปสู่การจัดการที่กว้างมากขึ้น ใหญ่ขึ้น หรือที่เรียกกันว่า “กระบวนการสืบค้นหาความดี” คือ การตั้งสติ คิด ทบทวน คุย แลกเปลี่ยน เพื่อค้นหาความดีที่เกิดขึ้นในชุมชน ที่มีอยู่ในพื้นที่ (ทุนทางสังคม) ใครมีดีด้านใด ก็ไปศึกษาเรียนรู้กับเขา ไปให้กำลังใจเขา ชื่นชมเขา แล้วถอดเอาตัวอย่างบทเรียนจากเขา แล้วนำบอกต่อ นำมาทดลองทำ นำมาต่อยอด เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดีให้ขยายกิ่งก้าน สาขาออกไป

กระบวนการเรียนรู้แบบมุฑิตาจิต ประกอบด้วย 4 กระบวนการหลัก คือ

๑) การค้นหาความดีงาม คือ การค้นหาสิ่งดีดีที่ชุมชนตนเองมีอยู่ มีอะไรที่เป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจร่วมกันของชุมชน แล้วมีอะไรที่เป็นสิ่งที่โดดเด่นแตกต่างไปจากชุมชนอื่นๆ กระบวนการก็จะใช้การพูดคุยแลกเปลี่ยน ระดมความคิดเห็นที่หลากหลาย เป็นการค้นหาทุนทางสังคมที่มีอยู่

๒) การชื่นชมความดีงาม คือ การนำเอาสิ่งดีดีที่ได้จากการแลกเปลี่ยนระดมความคิดเห็นนำมาจัดหมวดหมู่ ชี้ให้เห็นคุณค่า ความหมาย และการดำรงอยู่ของสิ่งเหล่านี้ แล้วชวนคิดต่อว่าถ้านำเอาความดีเหล่านี้มาหลอมรวมกัน แล้วนำไปขยายผลต่อจะเกิดการเรียนรู้ที่มีพลังมาก

๓) พลังจินตนาการ คือ การจินตนาการวางเป้าหมายของชุมชนร่วมกันว่าอยากเห็นชุมชนเป็นอย่างไร เป็นการกำหนดผลลัพธ์สุดท้ายของกระบวนการพัฒนาในระยะ ๓-๕ ปีข้างหน้าว่าชุมชนจะมีลักษณะเป็นอย่างไร

๔) การหาแนวทางขยายความดีงาม คือ การนำเอาต้นแบบที่ดีที่มีอยู่มาเป็นแบบอย่างบวกกับพลังจินตนาการในการขยายความดี เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายที่อยากให้เป็น

กระบวนการจัดการเรียนรู้แบบฉบับฮักเมืองน่าน ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว กระบวนการดังกล่าวข้างต้น เป็นเพียงหลักกว้างๆ ของการจัดกระบวนการเรียนรู้ แต่รายละเอียดและวิธีปฏิบัตินั้นก็จะจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับบริบท ประเด็นการเรียนรู้ วัตถุประสงค์การเรียนรู้ กลุ่มเป้าหมาย ระยะเวลา และสถานที่ แต่คงหลักการสำคัญคือ เน้นการมีส่วนร่วม ดึงเอาศักยภาพ/ต้นทุนที่มีอยู่ เสริมพลังการเรียนรู้เชิงบวก และเรียบง่ายเป็นกันเอง นำเอาคนมาปฏิสัมพันธ์กับคน ใช้ใจเชื่อมใจ นำไปสู่ปฏิบัติการจริงในพื้นที่

หมายเลขบันทึก: 465103เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2011 12:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2015 15:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท