คนกับควาย


เรื่องที่น่าตำหนิมากก็คือ ครั้งใดที่คนเราดุด่ากันในเรื่องการเปรียบเทียบความโง่ มักถูกเปรียบว่า"โง่เหมือนควาย"

                          คนกับควาย          

                                           เทวาลี          

         เมื่อพูดถึง ควาย  หลายคนอาจจะนึกถึงท้องนาอันเวิ้งว้าง  มีหนอง  บึง  ที่มีน้ำขังอยู่เต็ม  พร้อมทั้งมีฝูงควายลงไปนอนแช่น้ำ โคลนตมที่มีกลิ่นสาปควาย    เป็นที่สนุกสนาน หรือเห็นควายและเล็มหญ้ากลางท้องทุ่งนา มีนกเอี้ยงคอยดูแลจิกกินบรรดา เห็บ หมัด ที่มาคอยรบกวน  จนเรียกติดปากกันว่า “นกเอี้ยงเลี้ยงควายเฒ่า  ควายกินข้าว นกเอี้ยงหัวโต”  ดูเป็นภาพที่เป็นธรรมชาติมาก   บางคนอาจนึกถึงบรรยากาศตอนที่เป็นเด็กเลี้ยงควายดูสนุกสนาน   ปัจจุบันจะหาดูภาพเหล่านี้ได้ยาก    และจะมีสักกี่คนที่นึกถึงประโยชน์ของสัตว์ประเภทนี้   ที่มีมามายมหาศาลต่อมวลมนุษย์

ควาย  เป็นชื่อที่เรียกกันจนคุ้นหู        บางครั้งก็จะเรียกเป็นภาษาเขมรว่า กระบือ   หลายคนมักเรียกเจ้าถึก หรือถึกควายทุยก็มี    เรียกเจ้าทุยก็มี   หรือกาสร     แต่บางคนเรียกควายว่าเป็นทรพีก็มีซึ่งเป็นความหมายที่ไม่ดี     ควายเป็นสัตว์สี่เท้าที่มีรูปร่างใหญ่ล่ำสัน บึกบึน แข็งแรง  มีเขาที่แข็งแกร่งไว้ต่อสู้กับศัตรูที่มารุกราน  ควายบางตัวน้ำหนักเป็นตัน   เดิมอาศัยอยู่ในป่าเป็นฝูง    เรียกควายป่า  ต่อมาคนเห็นว่าควายน่าจะเป็นประโยชน์มากจึงนำมาเลี้ยงพร้อมกับสอนหรือฝึกให้เชื่อง    เพื่อช่วยคนทำงานหนัก   ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะช่วยไถนา  เทียมเกวียน  ลากจูง  ขับขี่  แม้กระทั่งนำมาเป็นอาหารของมนุษย์ในที่สุด

ควาย    เมื่อถูกนำมาฝึกหัดใช้งานจนเชื่องแล้ว   จะเห็นว่าเห็นว่าเป็นสัตว์ที่ฉลาด  เวลาเจ้าของใช้ให้ทำงานทุกอย่างก็ไม่เคยแสดงอาการขัดขืนแต่อย่างไร    น่าเสียดายที่คนจำนวนมากไม่รู้จักควายดีพอ  เรื่องที่น่าตำหนิมากก็คือ ครั้งใดที่คนเราดุด่ากัน   ในเรื่องการเปรียบเทียบความโง่   มักถูกเปรียบว่า โง่เหมือนควาย  หากควายพูดได้   คงบอกว่าคนนั่นแหละที่โง่กว่าควาย   เพราะคนกินขี้ควาย   (คนเหนือชอบนำขี้อ่อนหรือขี้เพี้ยของควายมาทำลาบเนื้อ)   แต่ยังมีคนอีกไม่น้อยที่ยังนึกถึงความดีและบุญคุณของควาย

       ควาย เป็นสัตว์ขิ้ร้อนทำงานกลางแดดนานๆไม่ได้ เมื่อชาวนาใช้ควายไถนาจะใช้เวลาตอนเช้าตรู่พอถึงสายก็หยุด   หลังจากนั้นจะพักให้ควายกินหญ้า   ดื่มน้ำ   พักผ่อน   หรือนอนตม   จนกระทั่งเย็นก็จะนำมาไถนาอีกครั้งหนึ่ง  ตกกลางคืนชาวนาจะต้องสุมกองไฟไว้ไล่ยุงให้ด้วย    เป็นอย่างนี้ทุกวันจนกว่าจะทำนาไถว่านข้าวเสร็จ  

        หลังจากนั้นจะรออีก 3 เดือน  จนถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว   ชาวนาจะเกี่ยวข้าว  ตากข้าว   นวดข้าว   จากนั้นจึงขนย้ายข้าวไปเก็บยังยุ้งฉางที่บ้าน   มาถึงตอนนี้ควายก็จะทำหน้าที่ของมันอีกครั้งหนึ่ง   คือลากจูงเกวียนที่บรรทุกข้าวประมาณ  20-30 ถัง  บรรทุกฟาง  หญ้าที่จะเก็บไว้เป็นอาหารของควายในหน้าแล้ง  ตลอดจนขนอุปกรณ์สำหรับทำนาเพื่อกลับบ้าน  เมื่อเสร็จสิ้นขบวนการทำนาแล้ว  จะเป็นพิธีขอบคุณควาย  โดยชาวนาจะทำพิธีสู่ขวัญควาย (บางแห่งที่ใช้วัวก็จะสู่ขวัญวัว)   มีหมอขวัญประจำหมู่บ้านเป็นผู้ทำพิธีเรียกขวัญ  มีกรวยข้าวตอกดอกไม้  ธูปเทียนเพื่อแสดงการคารวะ มีด้ายสายสิญจน์ใช้ผูกที่เขา  คล้ายผูกข้อมือคน   มีน้ำมนต์เป็นน้ำส้มป่อยรดลงบนหัวควาย   เพื่อเป็นสิริมงคล  พร้อมทั้งมีอาหารเป็นรางวัลคือฟางข้าว  หรือหญ้าสด ให้ควายได้กินอย่างอิ่มหนำสำราญ    เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีสู่ขวัญหรือขอบคุณควาย   ส่วนชาวนาก็จะทำอาหารพิเศษ เช่นลาบ  แกงอ่อม  สุราพื้นบ้าน  นำมาเลี้ยงขอบคุณเพื่อนบ้านและฉลองกันที่มาช่วยลงแขก จนงานเสร็จสิ้น 

        ควาย  จะทำหน้าที่ของมันเช่นนี้อีกหลายปีจนกระทั่งสังขารเริ่มโรยราหมดแรง   ไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิม  ชาวนาจึงจะขายต่อให้โรงฆ่าสัตว์   เพื่อนำไปชำแหละและทำเป็นอาหารของคนต่อไป  เข้าทำนองเสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล  ซึ่งดูแล้วก็เป็นเรื่องน่าเวทนา  น่าเศร้าใจเป็นอย่างยิ่ง      ที่คนเราตอบแทนบุญคุณของควายในวาระสุดท้ายด้วยความตาย  น่าจะมีทางออกอย่างอื่นที่ดีกว่านี้             

       อย่างไรก็ตามแม้ควายจะตายแล้วร่างกายของมันก็ยังเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ ตั้งแต่เขาของควายจะเอามาทำเป็นเครื่องตกแต่งบ้าน  เนื้อ  หนัง  ตับไตไส้พุง เอามาทำอาหาร  กระทั่ง กระดูกและอุจจาระของควายก็ยังใช้เป็นปุ๋ยธรรมชาติได้อีกด้วย          

        เราคงเห็นแล้วว่าควายมีประโยชน์ต่อมนุษย์มากตั้งแต่เกิดจนตาย  แม้กระทั่งการรบทัพจับศึกสมัยชาวบ้านบางระจัน ยังต้องอาศัยควาย      มันไม่เคยให้โทษต่อเราเลย  แต่ทำไมเราจึงตอบแทนบุญคุณของควายด้วยความตาย  หากควายล่วงรู้อนาคตของตนเองแล้ว   มันคงไม่อยากเกิดมาเป็นควายแน่    อนิจจา!

                                               เทวาลี

                                             เรียบเรียง

                                             16 มิ.ย.52

หมายเลขบันทึก: 464444เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2011 14:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท