กำแพงกั้นฝันของ…บิ๊ก(ตอนจบ)


วันนี้แม้ว่ากฎหมายและนโยบายจะรับรองสิทธิทางการศึกษาให้กับคนทุกคนในประเทศไทย แล้ว แต่ยังมีกำแพงที่มองไม่เห็น จากทัศนคติที่คับแคบ ที่ปิดกั้นฝันของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ให้ไม่มีโอกาสแม้จะสร้างทุนรอนทางปัญญาในการพัฒนาคุณภาพชีวิต การปกป้องสิทธิทางการศึกษาของน้องบิ๊กเกิดขึ้นได้ในวันนี้นั้นจะเห็นได้ว่า มีภาคส่วนต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมากมาย ซึ่งเป็นสัญญาณว่าการละเมิดสิทธิเช่นนี้อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต และยังต้องการความร่วมมือร่วมใจจากหลายฝ่ายในการปรับทัศนคติและความเข้าใจ ต่อสถาบันการศึกษา ที่สำคัญที่สุดคือคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ต้องเข้าใจและยืนหยัดที่จะปกป้อง สิทธิของตนเองอย่างเข้มแข็ง สังคมจึงต้องช่วยกันติดตามตรวจสอบ และให้กำลังใจ ก่อนที่พวกเขาอ่อนแรงละจากทางฝันไปเสียก่อน

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ(SWIT)
วันที่ 19 มีนาคม 2554 

 

15 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมา แล้วความฝันเล็กๆของน้องบิ๊ก ก็ดูจะห่างไกลออกไป เมื่อโรงเรียนนวมินทราชินุทิศ หอวัง นนทบุรี ปฏิเสธใบสมัครทั้งโควตาความสามารถพิเศษ และการสอบตรงของน้องบิ๊ก 


(บิ๊กเป็น 1 ในเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ ในหนังสือดวงดาวที่ริมขอบแดน
และได้มาร่วมงาน "มหกรรมพลังเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 1" ในวันที่ 9-11 ตุลาคม 2552 จัดโดยมุลนิธิสยามกัมมาจล)

 

“บิ๊ก เป็นเด็กเก่งมาก นิสัยดี เรียนดี มีความสามารถหลายอย่าง ทั้งวาดเขียน เล่นดนตรี เล่นกีฬา อุปนิสัยค่อนข้างร่าเริง แล้วก็มีความรับผิดชอบสูง ตรงนี้เองที่ทำให้เพื่อนๆ ในศูนย์ฯ เพื่อนๆ ที่โรงเรียนค่อนข้างยอมรับเขา “ เรื่องราวของบิ๊กจากคุณพ่อบาทหลวง อาเดรีย อาโนล พระผู้เมตตารับอุปการะ

 

แม้จะอายุจะย่างเข้าวัย 16 ปี เป็นเด็กโตเกินเพื่อนในชั้นเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาใดๆ สำหรับการยอมรับในตัวบิ๊กของเพื่อนๆ

วัน อาทิตย์ที่ 15 มีนาคม บิ๊กและพี่น้อยได้เดินทางไปสานฝันเล็กๆของบิ๊ก โดยต้องการไปสมัครสอบโควต้าความสามารถพิเศษเพื่อเข้าเรียนในระดับชั้นม.1 โรงเรียนนวมินทราชินุทิศ หอวัง นนทบุรี บิ๊กเลือกที่จะใช้ความสามารถในการตีระนาดในการคัดเลือก และตั้งใจว่าหากพลาดหวังก็จะลองสมัครในการสอบตรงอีกครั้ง

แต่ความหวังต้องสะดุดลงเมื่อทางโรงเรียนชี้แจงว่า ไม่สามารถรับใบสมัครของบิ๊กได้

“ครู บอกว่าโรงเรียนเขามีชื่อเสียง มีการแข่งขันสูง หากรับสมัครเด็กที่เอกสารไม่ครบก็อาจจะถูกครหานินทา ถูกฟ้องร้องจากผู้ปกครองของคนสัญชาติไทยที่เขาเสียสิทธิในการสมัครเรียนได้ แล้วก็แนะนำให้ไปสมัครที่โรงเรียนขยายโอกาสที่อื่น” พี่น้อยเล่าถึงเหตุผลคำชี้แจงของทางโรงเรียน

เย็นนั้นเรื่องของน้องบิ๊กก็เดินทางเข้าสู่การพูดคุยหาทางออก ของคณะทำงานโครงการขยายความรู้จากแม่อายสู่อันดามันซึ่ง ติดตามให้ความช่วยเหลือเรื่องสถานะบุคคลของน้องบิ๊ก โดยมีรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่ปรึกษา

 

แล้ว วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พี่น้อยและน้องบิ๊กได้เดินทางไปยังโรงเรียนหอวังฯ อีกครั้ง ตามคำแนะนำของบงกช นภาอัมพร ผู้ประสานงานโครงการฯ เพื่อไปยืนยันสิทธิทางการศึกษาตามระเบียบฯ 2548 ที่เปิดกว้างให้กับคนทุกคนแม้ว่าจะไม่มีเอกสารใดๆก็ตาม

บงกช เล่าเหตุการณ์หลังจากตามไปสมทบกับพี่น้อยและบิ๊กว่า ทางโรงเรียนยังคงปฏิเสธที่จะรับใบสมัครของบิ๊ก และบอกว่ารับรู้ถึงระเบียบฯดังกล่าว แต่อ้างถึงประกาศของโรงเรียนที่ระบุว่าต้องมีสัญชาติไทยและมีสำเนาทะเบียน บ้านฉบับเจ้าบ้านเป็นเอกสารในการสมัคร แม้ว่าบงกชจะชี้แจงว่าระเบียบฯของกระทรวงศึกษาธิการนั้นจะเป็นกฎหมายที่มี ศักดิ์สูงกว่าก็ตามที และเมื่อตรวจสอบในประกาศของทางโรงเรียนแล้วก็ไม่พบว่าระบุถึงคุณสมบัติการมี สัญชาติไทยแต่อย่างใด แต่ทางโรงเรียนก้ยังยืนยันเช่นเดิม

“รอง ผอ.บอกว่ารู้เรื่องระเบียบฯกระทรวงศึกษาธิการ รู้ว่าใช้ทั่วประเทศ แต่เขาใช้กับพวกชาวเขา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด แต่โรงเรียนนี้ไม่มีชาวเขาเอาระเบียบมาใช้กับโรงเรียนไม่ได้ คนไทยใหญ่ที่สุด”

นอกจากคำชี้แจงแล้วยังมีคำถามต่อบงกชด้วยว่า

“เป็นคนไทยหรือเปล่า มีเหตุผลอะไร ทำไมเธอต้องไปทำเพื่อคนพวกนี้ไม่กี่คน”

แล้ววันนั้นก็มีความช่วยเหลือประสานงานจากหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นคำแนะนำจากยินดี ห้วยหงส์ทอง หรือ ครูนิด แห่งมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานให้ความช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาสถานะในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ประสานงานไปยัง อาจารย์รจนา สินที สำนัก พัฒนากิจการนักเรียนนักศึกษาและกิจการพิเศษ สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดัน เผยแพร่รวมทั้งติดตามทำความเข้าใจต่อระเบียบฯกับโรงเรียนต่างๆมาโดยตลอด เรื่องของน้องบิ๊กจึงเดินทางไปถึง คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)

นอกจากนั้นสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT) จึง ได้ให้คำแนะนำให้ทำ หนังสือการขอโต้แย้งการไม่รับสมัคร ด.ช.สมชาย อากาเป เข้ารับการศึกษา เพื่อยืนยันว่าน้องบิ๊กมีสิทธิดังกล่าว โดยชี้ให้โรงเรียนเห็นข้อเท้จจริงและข้อกฎหมาย อันจะนำไปสู่การโต้แย้งสิทธิในชั้นศาล โดยขอให้ศาลเข้ามาตรวจสอบคำสั่งและความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งของโรงเรียน ซึ่งน้องบิ๊กได้เพียงยื่นหนังสือโต้แย้งการไม่รับสมัครและเดินทางกลับไป

และ ในเย็นวันนั้นคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการ กพฐ.ได้มีการประสานงานไปยังโรงเรียนหอวังฯ จากนั้นทางโรงเรียนจึงได้แจ้งให้น้องบิ๊กเดินทางกลับไปยังโรงเรียนอีกครั้ง เพื่อสมัครสอบ และให้สอบความสามารถพิเศษไปพร้อมกัน

แต่ จากความเครียดที่ต้องเผชิญกับการปฎิเสธของโรงเรียนมาทั้งวันทำให้น้องบิ๊ก ไม่สามารถเล่นระนาดได้เต็มที่อย่างที่ตั้งใจไว้ และเช้าวันรุ่งขึ้นก็ไม่มีชื่อน้องบิ๊กในจำนวนโควตา 22 คนที่ผ่านการคัดเลือก

อย่างไรก็ตามพี่น้อยบอกว่าน้องบิ๊กจะลองไปสอบตรงอีกครั้ง แม้ว่าลึกๆแล้วยังมีความกังวลว่าหากได้มีโอกาสเข้าไปเรียนจริงๆแล้วน้องบิ๊ก อาจจะต้องเผชิญกับความกดดัน หรือเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในอนาคตจากทัศนคติของครูเช่นดังวัน ที่รับสมัคร


สิทธิ ในการศึกษาของบุคคลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลทุกคน ที่มาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้บัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวนี้ รวมถึงเป็นสิทธิมนุษยชนที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับรองไว้เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2548 โดยสิทธิในการศึกษาของบุคคล ย่อมไม่สามารถถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง (มาตรา 30 แห่งรัฐธรรมนูญฯ) ทั้งยังเป็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่จะถูกละเมิดมิได้ (มาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญฯ)

ในการเข้าถึงสิทธิการศึกษา หรือในทางตรงกันข้ามคือการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถานศึกษา การเรียกหลักฐานจากผู้สมัครนั้น ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้า เรียนในสถานศึกษา พ.ศ.2548 แม้ผู้สมัครเรียนไม่มีพยานเอกสารใดๆ โรงเรียนหอวังฯ ก็มีหน้าที่ต้องดำเนินการรับสมัคร โดยดำเนินการตาม“ข้อ 6 การรับนักเรียนนักศึกษาในกรณีที่ไม่เคยเข้าเรียนในสถานศึกษามาก่อน ให้สถานศึกษาเรียกหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งตามลำดับเพื่อนำมามาลงหลักฐานทาง การศึกษา  (5)  ในกรณีที่ไม่มีบุคคลหรือองค์กรเอกชนตาม (4) ให้ซักถามประวัติบุคคลผู้มาสมัครเรียน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำลงรายการบันทึกแจ้งประวัติบุคคลตามแบบแนบท้าย ระเบียบนี้ เป็นหลักฐานที่จะนำมาลงหลักฐานทางการศึกษา”

นอก จากนี้ สิทธิในการศึกษายังเป็นสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองโดย ข้อ 26 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งผูกพันประเทศไทยในฐานะกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ, ข้อ 13 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights- ICESCR) ทั้งยังขัดต่อหลักการและสิทธิทางการศึกษาที่ได้รับการรับรองไว้ตาม ข้อ 5 (ฉ) (5) แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคี

ที่สำคัญคือ ข้อ 26 แห่งกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและทางการเมือง   (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี และขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำรายงานประเทศ (Country Report) โดยการบันทึกถึงการปฏิบัติงานของภาคส่วนราชการ และรายงานฉบับนี้จะถูกรายงานต่อสหประชาชาติในปี 2552(1)

 

16 มีนาคม 2552 ขณะที่กำแพงกั้นฝันของบิ๊กชัดเจนขึ้นอีกครั้ง แต่อีกมุมหนึ่งของเมืองใหญ่ น้องวิษณุ (2) เด็ก ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ แห่งพระสมุทรเจดีย์ มีโอกาสได้บอกเล่าเรื่องราวของตนต่อท่านยกรัฐมนตรี และมีสื่อมวลชนหลายแห่งนำเสนอข่าว ในขณะที่เรื่องราวของน้องบิ๊ก เด็กไร้รัฐที่ถูกละเมิดสิทธินั้นดูจะเป็นเพียงเสียงที่เงียบงัน

วันนี้แม้ว่ากฎหมายและนโยบายจะรับรองสิทธิทางการศึกษาให้กับคนทุกคนในประเทศไทย แล้ว แต่ยังมีกำแพงที่มองไม่เห็น จากทัศนคติที่คับแคบ ที่ปิดกั้นฝันของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ให้ไม่มีโอกาสแม้จะสร้างทุนรอนทางปัญญาในการพัฒนาคุณภาพชีวิต การปกป้องสิทธิทางการศึกษาของน้องบิ๊กเกิดขึ้นได้ในวันนี้นั้นจะเห็นได้ว่า มีภาคส่วนต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมากมาย ซึ่งเป็นสัญญาณว่าการละเมิดสิทธิเช่นนี้อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต และยังต้องการความร่วมมือร่วมใจจากหลายฝ่ายในการปรับทัศนคติและความเข้าใจ ต่อสถาบันการศึกษา ที่สำคัญที่สุดคือคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ต้องเข้าใจและยืนหยัดที่จะปกป้อง สิทธิของตนเองอย่างเข้มแข็ง

สังคมจึงต้องช่วยกันติดตามตรวจสอบ และให้กำลังใจ ก่อนที่พวกเขาอ่อนแรงละจากทางฝันไปเสียก่อน

 

อ้างอิง 

(1)หนังสือของสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ(SWIT)ที่ ฝสร.10/2551วันที่ 8 ธันวาคม 2551 เรื่อง ความเห็นทางกฎหมาย (Legal Opinion) ต่อการดำเนินการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าศึกษาของสถาบันการศึกษาตามระเบียบ กระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถาน ศึกษา พ.ศ.2548

http://statelesswatch.wordpress.com/2008/12/12/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2-legal-opinion-%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD-6/

(2) http://statelesswatch.wordpress.com/2009/03/18/abhisit-urges-rights-awareness/

 

หมายเลขบันทึก: 463947เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2011 14:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท