กำแพงกั้นฝันของ…บิ๊ก(ตอน 1)


เรื่องราวบนเส้นทางแห่งความฝันเล็กๆ ของเด็กไร้สัญชาติ

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ(SWIT)
วันที่ 19 มีนาคม 2552 
 

“บ่อย ครั้งที่มักแอบบอกตัวเองเหมือนกับเป็นความฝันเล็กๆ ว่าอยากสอบเข้าเรียนต่อชั้น ม.1 ซึ่งที่ที่บิ๊กอยากเรียนคือโรงเรียนหอวัง       บิ๊กยิ้มเล็กๆพร้อมกับเผยความสามารถตัวเองว่า ได้คะแนนการเรียนสูงเป็นที่ 3 ของห้อง ทำให้มั่นใจว่าถ้าได้ไปเรียนก็น่าจะสู้เขาได้ บิ๊กเชื่ออย่างนั้น” ความฝันเล็กๆของน้องบิ๊ก

กว่า 6 ปี แล้ว ที่เด็กชายสมชาย อากาเป หรือน้องบิ๊ก เดินทางไกลจากอ้อมอกของพ่อที่เลี้ยงดูลูกน้อยเพียงลำพัง มายังเมืองใหญ่ ด้วยคิดหวังถึงชีวิตที่ดีกว่าภายใต้ร่มเงาของ “บ้านแห่งความหวัง” ณ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

บิ๊ก เกิดวันที่ 24 พฤศจิกายน 2537 ที่โรงพยาบาลตะกั่วป่า อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พ่อและแม่เป็นชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในพม่า ที่หลบหนีภัยสงครามอพยพมาเป็นแรงงานต่างด้าว/ข้ามชาติ โดยขึ้นทะเบียนแรงงานและทำงานรับจ้างที่จังหวัดพังงา กว่า 20 ปีมาแล้ว ด้วยความไม่ทราบขั้นตอน กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย และยังหวาดกลัวด้วยสถานะของคนต่างด้าว ทำให้แม่ของบิ๊กไม่ได้เรียกร้องหนังสือรับรองการเกิด(ท.ร.1/1) จากนางพยาบาล และโรงพยาบาลเองก็ไม่ได้กระตือรือร้นจะออกให้ในตอนนั้น

เมื่อ อายุได้ราว 6 ขวบ แม่ก็ได้ทิ้งบิ๊กไว้กับพ่อตามลำพังและไปแต่งงานอยู่กินกับสามีใหม่ นับแต่นั้นมาบิ๊กก็มีเพียงพ่อที่รับภาระดูแลเลี้ยงดู และพยายามที่จะหาหนทางให้บิ๊กได้เรียนหนังสือแม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าเป็นไปได้ ยาก ด้วยความจนยากนั้นเป็นอุปสรรคใหญ่ที่กั้นขวางอยู่

จาก เด็กน้อย อายุประมาณ 7-8 ขวบ เดินโซซัดโซเซร่างกายซูบผอมเนื้อตัวมอมแมมที่มายืนด้อมๆ มองๆ อยู่หน้าโบสถ์แห่งหนึ่งในจังหวัดระนอง ตามแขนและลำตัวมีอาการบวมเป่งเหมือนถูกทุบถูกรุมทำร้ายมาอย่างสาหัส  ด้วยความสงสารผู้ใจบุญท่านหนึ่งจึงพาไปหาหมอปรากฏว่าเด็กคนนี้ถูกทำร้ายจน แขนหัก แล้วการเดินทางไกลของบิ๊กก็เริ้มต้นขึ้นเพื่อสานฝันของพ่อและตัวบิ๊กเอง


บิ๊กได้รับการอุปการะจากวัดพระแม่มหาการุณ เป็นโบสถ์คาทอลิกซึ่งตั้งอยู่ที่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งมีบ้านแห่งความหวังไว้คอยดูแลเด็กๆที่ครอบครัวมีปัญหา ให้เป็นที่พักอาศัยและส่งเสริมให้เด็กได้เรียนหนังสือเพื่อเป็นต้นทุนในการ ดำเนินชีวิตในอนาคต โดยปัจจุบันมีเด็กในความดูแลรวม 90 ชีวิต แต่เด็กที่มีปัญหาสถานะบุคคล ไม่มีสัญชาติไทยมีเพียง 2 คน

สมศักดิ์ ธุถาวร หรือ พี่น้อย เจ้าหน้าที่บ้านพักเล่าย้อนถึงเมื่อครั้งน้องบิ๊กเข้ามาอยู่ในความดูแลว่า ปี 2546 ได้พาบิ๊กไปสมัครเรียนในชั้นป.1 ที่โรงเรียนวัดสลักเหนือแต่ครั้งนั้นไม่มีปัญหาใดๆในการสมัครเข้าเรียน แม้ว่าน้องบิ๊กจะไม่มีเอกสารใดๆ เนื่องจากเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา จึงเข้าใจและยอมรับในสภาพปัญหาของเด็ก

ปี 2550 พอขึ้นชั้นป.4 น้องบิ๊กย้ายโรงเรียนมายังโรงเรียนวัดนาวงศ์ และที่นี่ได้ทำให้น้องบิ๊กซึ่งเป็นนักเรียนในสถานศึกษาได้รับการลงรายการ สถานะบุคคลในทะเบียนบ้าน โดยช่องทางการสำรวจนักเรียนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางฯ ปี 2548 และได้รับบัตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ขึ้นต้นด้วยเลข 0) ทำให้บิ๊กเป็น “ราษฎรไทย” และไม่ประสบปัญหาความไร้รัฐอีกต่อไป

อย่าง ไรก็ตาม บิ๊กย่อมมีสิทธิในสัญชาติ ถ้าหากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ดำเนินการตาม ยุทธศาสตร์จดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรี 18 มกราคม 2548 ซึ่งหากบิ๊กมีความสามารถที่จะศึกษาจนจบในระดับอุดมศึกษา ก็จะมีสิทธิยื่นขอสัญชาติไทยตามกรอบยุทธศาสตร์ฯ


น้อง บิ๊กกำลังจะจบชั้นป.6 ในปีนี้ ความยุ่งยากเกิดขึ้นเมื่อทางโรงเรียนแจ้งว่าจะไม่ออกเอกสารจบการศึกษาให้ น้องบิ๊ก หากไม่นำเอกสารต่างๆ ได้แก่ เอกสารการเกิด และเอกสารประจำตัวของพ่อแม่มาให้ทางโรงเรียน

โดยตาม “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.2548” ระบุไว้ชัดเจนว่าสถานศึกษามีหน้าที่รับเด็กในวัยการศึกษาเข้าศึกษาแม้ว่าไม่มีเอกสารใดๆและต้องออกหลักฐานทางการศึกษาให้

แต่ เมื่อเจ้าหน้าที่บ้านพักได้ประสานงานกับทางโรงเรียนถึงระเบียบฯดังกล่าว ก็ได้รับคำตอบว่ารับรู้และเข้าใจ แต่อย่างไรก็ต้องนำเอกสารต่างๆมาแสดงคือคำยืนยันหนักแน่นของทางโรงเรียน  สำหรับหนังสือรับรองการเกิด(ท.ร.1/1)นั้นในภายหลังโรงพยาบาลได้ออกเอกสารดัง กล่าวให้เรียบร้อยแล้วจากการประสานงานติดตามโดย นางสาวรุจิราพร โชคพิพัฒน์พร ผู้ช่วยนักวิจัยโครงการศึกษาวิจัยเพื่อสำรวจสถานการณ์และศึกษาความเป็นไปได้ ในการขจัดปัญหาการจดทะเบียนการเกิด และปัญหาสถานะบุคคลของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ ซึ่งได้ใช้ความพยายามในการสืบหาข้อเท็จจริงเพื่อไปสืบค้นท.ร.1/1 จากโรงพยาบาลจนสำเร็จ พี่น้อยและน้องบิ๊กจึงได้ติดตามท.ร.1/1 ซึ่งอยู่กับทางทีมวิจัย  และเอกสารประจำตัวของพ่อแม่ที่พังงามาแสดงในที่สุด

จะ เห็นได้ว่าความยุ่งยากในครั้งนี้เกิดขึ้นกับน้องบิ๊กจากแนวทางการปฏิบัติของ โรงเรียนและทัศนคติซึ่งยังไม่เปิดกว้างยอมรับต่อสิทธิทางการศึกษาของคนไร้ รัฐ ไร้สัญชาติ ว่าไม่ได้แตกต่างกับคนไทยแต่อย่างใด โรงเรียนไม่ได้ยอมรับและปฏิบัติตามระเบียบฯของกระทรวงศึกษาธิการแม้ว่าจะรับ รู้อยู่แล้วก็ตามที ดังนั้นเมื่อผู้ดูแลน้องบิ๊กไม่ได้ยืนยันต่อสิทธิของน้องบิ๊กอย่างแข็งขัน ภาระขั้นตอนต่างๆในการติดตามหลักฐานของน้องบิ๊กจึงเกิดขึ้นตามมา

และ แม้ว่าเรื่องราวจะจบลงด้วยดี แต่สิ่งสำคัญที่สุดแล้วคือโอกาสทางการศึกษาที่เปิดประตูต้อนรับคนไร้รัฐไร้ สัญชาตินั้นยังไม่เกิดขึ้นจริง


อ้างอิง 

(1) เรียบเรียงจาก กรณีศึกษาที่ 4 เด็ก ชายสมชาย(บิ๊ก) ภายใต้โครงการศึกษาวิจัยเพื่อสำรวจสถานการณ์และศึกษาความเป็นไปได้ในการขจัด ปัญหาการจดทะเบียนการเกิด และปัญหาสถานะบุคคลของประชาชนในพื้นที่ประสบภันสึนามิ กุมภาพันธ์ 2550  ติดตามอ่านได้ที่  “น้องบิ๊ก : ลูกแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เกิดในประเทศไทย” http://gotoknow.org/blog/sarinya/46217 และ “โลกของบิ๊ก เรื่องจริงดั่งละครในกำแพงกั้นฝันของเด็กชายตัวโต” โดย อัฎธิชัย ศิริเทศ http://gotoknow.org/blog/andaman-pocketbook/249288 

หมายเลขบันทึก: 463939เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2011 14:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท