ภูมิปัญญาท้องถิ่น (ตอนที่ 2)


นายสนม ศิริทวี

นายสนม ศิริทวี บ้านสลักได หมู่ 1 ต.สลักได ถ.สุรินทร์-สังขะ อ.เมือง จ.สุรินทร์

 

รายงานการศึกษาแนวคิด รูปแบบ เทคนิค กระบวนการ 
ในการพัฒนาและผลงานของนายสนม ศิริทวี

 

นำเสนอโดยนายสนธยา มุลาลินน์

 

ประสบการณ์ด้านการศึกษาและพัฒนาวิชาชีพในสมัยต่อมา ประกอบด้วย

ด้านการศึกษาใฝ่รู้ในภาษาเขมรและการเขียนยันต์ ด้วยความเชื่อถือศรัทธาในความเป็นสิริมงคล :
ท่านเรียนรู้จากญาติที่เป็นชาวกัมพูชา และเรียนรู้จากพระสงฆ์ ฝึกเขียนภาษาเขมรจนสามารถเขียนได้ อ่านได้ และนำไปใช้เขียนสาระวิชาการในสมุดบันทึกต่างๆได้

ด้านการศึกษาโหราศาสตร์ เพื่อการทำนายดวงชะตาราศรี เพื่อใช้เป็นแนวทางสร้างกำลังใจในการดำเนินชีวิตหรือประกอบกิจกรรมการงานต่างๆ

ด้านการศึกษาตำรายาสมุนไพรแพทย์แผนโบราณและจิตวิญญาณอันเป็นกุศลที่มีต่อผู้ป่วย

ด้านการศึกษาบทสวด สำหรับพิธีกรรมทางศาสนาและประเพณีของท้องถิ่น

ด้านบทบาทความเป็นผู้นำ การมีส่วนร่วมกับสังคม และแกนนำเพื่อความเป็นธรรมนำความสงบสุขมาสู่สังคมเพื่อนบ้าน

2. แนวความคิดและรูปแบบการดำเนินชีวิต 

2.1 การครองตน  ยึดมั่นในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ความกตัญญูรู้บุญคุณ มุ่งมั่นพัฒนาตนเป็นคนดีมีคุณภาพ ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงปัจจุบัน บนหลักแนวคิดทฤษฎีพอเพียงและเพียงพอหรือทางสายกลางตามปรัชญาแนวคิดของพุทธศาสนา สามารถนำไปสู่สภาวะแห่งความว่างและความสงบ เป็นที่พึ่งของตนเอง

2.2 การครองคน  ปฏิบัติตนเป็นคนดี เป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้ เป็นการครองคนที่เริ่มต้นด้วยการครองใจและการทำความดีงามอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นครัวเรือนและสังคม ญาติมิตรเพื่อนบ้านให้การยกย่อง ยอมรับให้เข้าไปนั่งอยู่ในจิตใจด้วยความเคารพเลื่อมใสศรัทธาในคุณงามความดีที่ท่านมีให้ต่อสังคม

2.3 การครองงาน  งานที่สุจริตทำได้ด้วยความรู้ความสามารถ และเป็นประโยชน์ ทั้งต่อตนเองและต่อสังคม ข้อคิดจากการทำงาน คือ การงานใดก็ตามทำดีย่อมได้ดี แสวงหาความสุขก็ย่อมได้พบกับความสุข ยึดมั่นในอิทธิบาทสี่ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตะ วิมังสา

3. แนวความคิดในการพัฒนาและผลงานที่เกี่ยวกับสุขอนามัยและแพทย์แผนโบราณ 

3.1 มีบันทึกเป็นตำรายาสมุนไพรทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาเขมร

3.2 เคยเป็นบุคคลที่ได้รางวัลผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรง ด้วยเหตุมาจากการดูแลสุขภาพ

4. แนวความคิดในการพัฒนาและผลงานที่เกี่ยวกับการดนตรี 

4.1 เป็นนักดนตรี ที่สามารถสีซอในบทเพลงไทยหลายๆเพลงได้อย่างไพเราะ ในอดีตเมื่อครั้งยังเป็นหนุ่ม ท่านเคยรับงานการแสดงดนตรีไทยตามงานประเพณีต่างๆโดยร่วมกับคณะนักดนตรีพื้นบ้านในสมัยนั้น ปัจจุบันท่านก็ยังมีความสามารถนั้นติดตัวอยู่ถึงแม้ว่า การสีซออาจจะไม่คล่องแคล่วเหมือนเมื่อก่อน แต่ที่สังเกตจากการได้ชมฝีมือการสีซอในคราวที่ท่านไปร่วมงานประเพณีและเยี่ยมญาติพี่น้องที่ประเทศกัมพูชา ได้ฟังแล้วรู้สึกประทับใจในความอัจฉริยะของท่านจริงๆ

5. แนวความคิดในการพัฒนาและผลงานที่เกี่ยวกับโหราศาสตร์และคาถาเพื่อสร้างพลังทางจิตวิญญาณ 

5.1 มีบันทึกตำราทางด้านโหราศาสตร์และการดูดวงชะตาราศรี

5.2 มีตำราและผลงานการเขียนยันต์ผ้าแดงประดับบ้านในแบบฉบับของสัญลักษณ์อักษรขอมโบราณ

5.3 มีตำราที่เป็นบทสวดคาถาต่างๆ

5.4 เป็นบุคคลที่ให้บริการวิชาการทางด้านการดูฤกษ์ดูดวงแก่ประชาชนทั่วไป

6. แนวความคิดในการพัฒนาและผลงานที่เกี่ยวกับการเกษตร 

6.1 มีการทดลองทำนาแบบผสมผสานระหว่างการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์

7. แนวความคิดในการพัฒนาและผลงานที่เกี่ยวกับการศึกษาและอาชีพ 

7.1 เป็นคนที่ใฝ่ศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ

8. แนวความคิดในการพัฒนาและผลงานที่เกี่ยวกับสร้างบ้านที่อยู่อาศัย 

8.1 การเลือกจัดวางที่ตั้งในการสร้างบ้าน

8.2 การจัดวางองค์ประกอบและโครงสร้างของบ้านให้เหมาะสัมพันธ์กับนิเวศของธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

9. แนวความคิดในการพัฒนาและผลงานที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีและสังคม 

9.1 เป็นผู้นำชาวบ้านเรียกร้องความเป็นธรรม เพื่อแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่อาศัย

9.2 ช่วยเหลือผู้ป่วยที่ตกทุกข์ได้ยากด้วยยาสมุนไพรการแพทย์แผนโบราณ

9.3 เป็นผู้นำชุมชนด้านประเพณีและพิธีกรรมต่างๆทางศาสนา ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น

9.4 เป็นบุคคลอาวุโสได้รับความเลื่อมใสศรัทธาในสังคม

ภาพที่ 3 นายสนม ศิริทวี เป็นผู้นำตัวแทนชาวบ้านเข้าที่ประชุมแถลงปัญหาเรื่องที่ดิน เมื่อ พ.ศ. 2532 

ภาพที่ 4 นายสนม ศิริทวี และคณะเข้าพบนายชวน หลีกภัย (อดีตนายยกรัฐมนตรี)

บทสรุปแนวความคิดในการพัฒนา

ใช้แนวทางในการดำเนินชีวิตและดำรงอยู่ในสังคมอย่างเรียบง่าย เป็นบุคคลที่ใฝ่รู้อยู่เสมอ ครองตนอยู่ในหลักศีลธรรมอันดีงาม ยึดมั่นในหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนา ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พึ่งพาตนเอง ปฏิบัติตนอย่างมีคุณค่าและบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งรับรู้ได้ด้วยการครองตนครองธรรม นำชีวิตเป็นสุข รับรู้ทางจิตวิญญาณด้วยความรู้สึกที่พุ่งออกมาจากแก่นแท้ในจิตใจ และรับรู้ทางกายภาพด้วยการมองเห็น สัมผัสจับต้อง

 

กระบวนการพัฒนา

  1. การพัฒนาตนเอง ภายใต้หลักธรรมคำสอนหนึ่ง ที่กล่าวไว้ว่า “อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ” ตน..เป็นที่พึ่งของตน หมายถึง เมื่อตนพึ่งตนเองได้แล้ว ควรเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ด้วยในศักยภาพที่ตนมีอยู่ ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง ดังที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำไว้เป็นตัวอย่างในอดีตกาลแล้วนั้น หากคนเราเข้าใจแล้วกระทำคุณงามความดีตามแบบอย่างนี้ได้ จึงจะถือได้ว่า อยู่อย่างมีคุณค่า เหนือสิ่งที่เรียกว่าธรรมดา นั่นก็คือ ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา สำหรับตัวอย่างชีวิตของนายสนม ศิริทวี ตั้งแต่วัยเด็กท่านคร่ำเคร่งและขยันหมั่นเพียรกับการศึกษาพัฒนาตนเองเป็นเบื้องต้น การดำเนินชีวิตเรื่อยมาจวบจนปัจจุบันท่านก็ยังคงสนใจศึกษาความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอ สังเกตได้จากการอ่านหนังสือหรือท่องตำราต่างๆ นับเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักศึกษาคนรุ่นหลัง
  2. การพัฒนาผู้อื่น ท่านได้ถ่ายทอดและเผยแพร่ความรู้ ให้กับผู้ที่สนใจในด้านข้อมูลความรู้วิชาการต่างๆที่ท่านได้ศึกษาและบันทึกไว้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ ทั้งด้านยาสมุนไพร ด้านการบริการดูดวงชะตาราศรี หาฤกษ์ยามงามดี ตามหลักตำราโหราศาสตร์โบราณ การปฏิบัติตามระเบียบพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อของสังคมรวมถึงบทสวดคาถาอันศักดิ์สิทธิ์และคำกล่าวบทกลอนที่ถือว่าเป็นสิริมงคล ซึ่งจะสัมพันธ์ต่อพลังงานที่เกี่ยวข้องกับกายและใจ ก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่เชื่อมโยงไปยังด้านอื่นๆ อันจะเป็นพลังเสริมให้กับรูปแบบการดำเนินชีวิตของแต่ละคน ได้อาศัยพลังงานนั้นเป็นแนวทางในการปฏิบัติกิจต่างๆของตนให้เป็นปกติสุขต่อไป
  3. การพัฒนาท้องถิ่น ท่านได้ทุ่มเทเสียสละกำลังความสามารถและอุทิศเวลาส่วนตัวให้กับการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสำคัญต่างๆหลายๆบทบาท รวมถึงบทบาทการเป็นผู้นำที่สนองตอบต่อความปรารถนาของสังคมในท้องถิ่น เช่น นำสวดและปฏิบัติการเป็นพิธีกรรมทางศาสนา ในงานบุญประเพณีต่างๆของท้องถิ่น เน้นพัฒนาจิตใจใฝ่ในศีลธรรม อนุรักษ์ประเพณีอันดีงาม มีความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกัน ถ่ายทอดแนวคิดที่มุ่งเน้นให้มีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายเหมาะสมตามศักยภาพของตนเอง เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและร่วมสร้างสรรค์ระบบระเบียบสังคมให้ได้มาซึ่งความสงบสุขตามสิทธิอันชอบธรรม สำหรับเพื่อนบ้านซึ่งเป็นประชาชนในท้องถิ่นเดียวกัน

 

ข้อเสนอแนะต่อแนวทางการพัฒนาชุมชน

   1. การพัฒนาควรเริ่มต้นจากฐานรากของภูมิปัญญาท้องถิ่น ยั่งลึกให้ถึงจิตใจ ก้าวไปอย่างมั่นคง เป็นขั้นตอนและต่อเนื่อง มุ่งสู่เป้าหมายปลายทาง บนเส้นทางของการสร้างสรรค์และการแก้ไขปัญหา โดยการมีส่วนร่วมจากหลายฝ่าย ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรมประเพณี การกินดีอยู่ดีมีความสุขของประชาชนให้เกิดดุลภาพอย่างยั่งยืน

   2. ควรส่งเสริมให้มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเขียนเป็นตำรา และส่งเสริมให้มีการสืบสานองค์ความรู้ภูมิปัญญาสู่ชนรุ่นหลัง เพื่อให้วิชาการความรู้ที่มีคุณค่าคงอยู่ยั่งยืนต่อไป ซึ่งจะสามารถพัฒนาให้เกิดความเจริญงอกงามประกอบด้วยศีลธรรมอันดีในจิตใจและความรู้วิชาการสร้างสรรค์สถานภาพการดำรงชีพต่อไป

   3. ส่งเสริมให้มีการพัฒนาอย่างน้อย 3 ด้าน คือ

3.1 การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ หมายถึง การผลิต การแลกเปลี่ยน จัดจำหน่าย การลงทุนที่ช่วยทำให้ประชาชนไม่ประสบปัญหาความยากจนข้นแค้น

3.2 การพัฒนาทางสังคม หมายถึง พัฒนาจิตใจและพฤติกรรมของคน ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ด้วยการมีหลักศีลธรรมคุ้มครองจิตใจ ก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ มีเอกภาพและเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกัน

3.3 การพัฒนาทางการเมือง หมายถึง เน้นส่งเสริมประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนทุกคนมีความเข้าใจอย่างถูกต้องในสิทธิและหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาต่างๆของชุมชน

หมายเลขบันทึก: 463905เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2011 09:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท