ภูมิปัญญาท้องถิ่น (ตอนที่ 1)


นายสนม ศิริทวี

นายสนม ศิริทวี บ้านสลักได หมู่ 1 ต.สลักได ถ.สุรินทร์-สังขะ อ.เมือง จ.สุรินทร์

 

รายงานการศึกษาแนวคิด รูปแบบ เทคนิค กระบวนการ 
ในการพัฒนาและผลงานของนายสนม ศิริทวี

 

นำเสนอโดยนายสนธยา มุลาลินน์

1. ประวัติส่วนตัว 

ประวัติชีวิตในอดีต ซึ่งเป็นข้อมูลอ้างอิงจากสมุดบันทึกของนายสนม ศิริทวี เขียนไว้ว่า

ข้าพเจ้าชื่อนายสนม ศิริทวี เกิดเมื่อวันศุกร์ ที่ 13 เดือนเมษายน พ.ศ. 2470 หรืออาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เดือน 5  ปีเถาะ เวลาประมาณหกถึงเจ็ดโมงเช้า ตอนอายุ 1 ขวบ ตากับยายเอาไปเลี้ยง พอถึงอายุ 7 ขวบ เข้าเรียนหนังสือที่วัดบ้านสลักได ซึ่งสมัยนั้นใช้วัดเป็นโรงเรียน เพราะโรงเรียนจริงๆ ยังไม่มี เมื่อครั้งเรียนอยู่ชั้นประถม 1-3 ได้ผลการเรียนในอันดับที่ 1-2 เรื่อยมา พอถึงประถม 4   ทางการได้ให้โอกาสเข้าไปสอบแข่งขันระดับอำเภอ โดยมีนักเรียนจากทุกโรงเรียนในอำเภอเมืองเข้าร่วมแข่งขัน (สมัยนั้นขาดแคลนครู) ถ้านักเรียนโรงเรียนไหนสอบได้อันดับที่ 1-3 ทางอำเภอเมืองสุรินทร์จะคัดเลือกให้เป็นครูสอนนักเรียนได้เลย ไม่ต้องไปเรียนต่อหรือใครจะเรียนต่อก็ได้ตามความสมัครใจ สมัยนั้นชั้นเรียนสูงสุดมีแค่มัธยม 3 เท่านั้น เรียนจบแล้วจึงเป็นครูสอนได้ ถ้าเรียนไม่จบมัธยม 3 เป็นครูไม่ได้

ต่อมาหลังจากสอบไล่ปลายปีเสร็จ ประมาณ 1 อาทิตย์กว่า ครูที่เคยสอนเมื่อยังเรียนชั้นประถม 4 ชื่อครูลาย ถูกมุมดี  ได้แวะเข้ามาที่บ้านในเวลาตอนเย็นๆ พูดบอกกล่าวกับตาและแม่ว่า “ในวันอาทิตย์พรุ่งนี้ ท่านศึกษาอำเภอเมือง ให้พานายสนม ซึ่งเป็นหลานของตา ไปที่อำเภอ” ตาได้ถามครูลายด้วยความข้องใจว่า “ท่านเรียกไปทำไม มีธุระอะไร” ครูลายก็ตอบว่า “ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน” ตาจึงได้เรียกข้าพเจ้าเข้าไปใกล้ๆและเน้นถามว่า “เองไปทำอะไร ท่านศึกษาอำเภอจึงให้ครูลาย พาเองไปอำเภอ” ข้าพเจ้าตอบตาว่า “ผมไม่ได้ทำอะไร” แม่พูดเสริมทันทีว่า “ถ้าเองไม่ได้ทำอะไร ทำไมทางอำเภอท่านจึงเรียกเองไป” ซึ่งความจริงแม่คงจะวิตกว่าข้าพเจ้าคงทำอะไรผิดแน่ “เองชอบเตะต่อยเสมอ ถ้าเองไม่ทำผิด ท่านจะเรียกเองไปทำไม” แม่หันไปถามคุณครูลายซ้ำอีกครั้งว่า “ครูคะ ลูกดิฉันทำอะไรผิดหรือ ครูช่วยบอกหน่อยได้ไหม” ครูลายยืนยันคำพูดเดิมว่า “ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ไม่รู้จริงๆ ไม้รู้ว่าจะบอกอย่างไร  พรุ่งนี้ไปถึงแล้วก็รู้เองครับ” ตากับแม่เป็นกังวลใจมากจนนอนไม่หลับทั้งคืน

พอรุ่งขึ้น เวลาประมาณ 7 โมงเช้า เห็นครูลายเข้ามาที่บ้านอีกครั้ง และรอให้ข้าพเจ้ากินข้าวเช้าจนเสร็จเรียบร้อย ก็ได้พาข้าพเจ้าไปอำเภอ โดยมุ่งตรงไปยังบ้านพักของท่านศึกษา พอไปถึง เห็นท่านศึกษานั่งอยู่ที่แคร่ใต้ต้นมะม่วงหน้าบ้าน เมื่อท่านเห็นครูลายที่กำลังเดินนำหน้าพาข้าพเจ้าเข้าไป ท่านก็เรียกให้นั่งใกล้กันกับที่ท่านนั่งอยู่ ครูลายยกมือไหว้ท่าน ข้าพเจ้ายืนอยู่ติดๆกันก็ได้ยกมือไหว้ตามครูลาย ท่านศึกษาถามว่า “เด็กชายคนนี้ใช่ไหม ที่ชื่อ สนม ศิริทวี” ครูลายตอบว่า “ใช่ครับ เด็กคนนี้แหละครับ สนม ศิริทวี” ขณะนั้นข้าพเจ้ารู้สึกใจสั่นและตื่นเต้นมาก ไม่รู้ว่ามีเรื่องอะไรกันแน่ ท่านถามข้าพเจ้าว่า “หนูสอบได้ที่เท่าไหร” ข้าพเจ้าตอบว่า “ผมไม่ทราบครับ” ท่านก็หันไปถามครูลายว่า “ยังไม่ได้บอกเด็กหรืออย่างไร” ครูลายตอบว่า “ยังครับผม”

ท่านศึกษาหันมาทางข้าพเจ้าอีกและถามว่า “หนูเคยสอนนักเรียนบ้างไหม” ข้าพเจ้าตอบ “เคยสอนครับ ครูใหญ่ได้ให้โอกาสผมไปสอนแทน เมื่อครั้งไปอบรมเกี่ยวกับเรื่องขาดแคลนครู” ท่านถามต่อไปว่า “สอนชั้นไหน” “ผมได้สอนชั้น ก.จ. และป.1 ครับ” ท่านถามอีกว่า “ชั้นป.4 หนูสอบได้ที่เท่าไหร” ข้าพเจ้าตอบว่า “ผมยังไม่ทราบครับ”  “ถ้าอย่างนั้นฉันจะบอกให้ หนูสอบได้ที่ 1 ของอำเภอ ขอชื่นชมว่าหนูเรียนเก่งจริงๆ ฉันจะให้หนูเป็นครูสอนนักเรียน โดยมีเงินเดือนให้เดือนๆละ 8 บาท หนูอยากเป็นครูไหม” “อยากเป็นครับ แต่ผมกลัวว่าตากับแม่จะไม่ยอมให้เป็นครูครับ” ท่านศึกษาว่า “ไม่เป็นไร ให้ไปถามตากับแม่ก่อน ท่านว่าอย่างไร อาทิตย์หน้า จะให้คุณครูลายพามาที่นี่อีกที” พร้อมกับท่านได้หันไปบอกย้ำกับครูลายอีกว่า “อาทิตย์หน้าพาเด็ก มาอีกทีนะ” ครูลายตอบรับคำ

ข้าพเจ้ากลับถึงบ้าน ตากับแม่ถามว่า “ทางอำเภอท่านว่าอย่างไร” ข้าพเจ้าก็เล่าบอกว่า “ท่านศึกษาจะให้ผมเป็นครูสอนนักเรียนให้เงินเดือนๆละ 8 บาท ท่านให้ผมกลับมาถามตากับแม่ก่อน ว่าจะยอมให้ผมเป็นครูไหม” ตากับแม่ว่า “อ้าว ทำไมท่านให้เองเป็นครูเล่า” “นึกว่าเรื่องอะไร แม่เองรู้สึกเป็นห่วงมาก นึกว่าเองไปทำอะไรผิด เรื่องอะไรท่านจึงให้เองเป็นครู  เล่าให้ตากับแม่เองฟังดูซิ” ข้าพเจ้าก็เล่าให้ตากับแม่ฟังว่า “เพราะสอบได้ที่ 1 ของอำเภอ ท่านศึกษาบอกว่า ผู้สอบได้ที่ 1-3 จะถูกเรียกให้ไปเป็นครูได้เลย หรือจะสมัครใจเรียนต่อก็ได้ ท่านจะสนับสนุน  และท่านศึกษาให้ผมถามแม่กับตาว่าจะให้ผมเป็นครูไหม  อาทิตย์หน้ากลับไปบอกให้ท่านทราบด้วย” ตาพูดว่า “แล้วแต่แม่เองจะว่าอย่างไร”  แม่ค้านขึ้นมาทันที “แม่ไม่ยอมให้ไปเป็นครูอย่างเด็ดขาด” ข้าพเจ้าถามแม่ว่า “ทำไม ไม่ให้ผมเป็นครู เพราะอะไร”  “เพราะไม่มีใครช่วยแม่เลี้ยงควายไถนา” แม่ตอบ “ผมว่าพี่สนิท  เสนิน  เขาเลี้ยงควายไถนาได้เหมือนกันนะครับแม่”  แม่ตอบว่า “เคยเห็นเจ้าสนิทไปไถนาเลี้ยงควายบางไหม  มันชอบนอนตื่นสายจนตะวันโด่ง แม่ปลุกก็ไม่ยอมตื่น  ถ้าไปถึงนาปักดำได้หน้าเดียว ใจมันก็ไม่สู้แล้ว เพราะมันขี้เกียจสันหลังยาว แม่จะอาศัยมันได้อย่างไร  แม่พึ่งเองได้คนเดียว  เสนิน ก็ยังเล็กอยู่ ช่วยงานอะไรไม่ได้ดีนัก แม่ไม่ให้เองไปเป็นครูเด็ดขาด ให้เองไปบอกท่านได้เลยว่า แม่ไม่ยอมให้เองไปเป็นครู อย่าลืมที่แม่สั่งไว้”  ข้าพเจ้านั่งฟังแม่พูดอ้างสารพัดปัญหา รู้สึกสงสารแม่มาก ข้าพเจ้าหันไปถามตา “ตาจะว่าอย่างไร”  ตาตอบทำนองเดิมว่า “แล้วแต่เองกับแม่จะตกลงกัน”  แม่ตอบทันทีว่า “ฉันไม่ยอมนะพ่อ เพราะไม่มีใครช่วยฉัน  ฉันอาศัยมันคนเดียว  ถ้ามันไม่อยู่แล้ว พ่อคิดดูซิ ให้ฉันทำอย่างไร พ่อไม่สงสารฉันหรือ” ข้าพเจ้าสงสารแม่มากจนกลั้นน้ำตาไม่อยู่ ข้าพเจ้าบอกแม่ว่า “แม่อย่าได้เสียใจไปเลย ถ้าแม่ไม่ให้ผมเป็นครู ผมก็จะไม่ไปเป็นครูครับแม่”  พอถึงวันนัดหมาย ครูลายก็เข้ามาหาที่บ้าน เพื่อจะพาข้าพเจ้าไปอำเภอ

เมื่อถึงบ้านท่านศึกษา  ใต้ต้นมะม่วงที่เดิม  ครั้งนี้มีนายหญิง(หรือภรรยาของท่านศึกษา)นั่งอยู่ด้วย ครูลายกับข้าพเจ้ายกมือไหว้จนครบทุกคน นายหญิงได้ถามทุกข์สุขตามธรรมเนียมพอสมควรแล้ว ท่านศึกษาก็ถามข้าพเจ้าว่า “ตากับแม่ยอมให้เป็นครูไหม”  ข้าพเจ้าตอบว่า “ตาไม่ว่าอะไร  แต่แม่ไม่ยอมให้เป็นครูเด็ดขาด”  ท่านศึกษาถามต่อไปอีกว่า “เพราะอะไร ถึงไม่ให้เป็นครู”  “แม่ว่า ไม่มีใครช่วยแม่เลี้ยงควายไถนา”  “อ๋อ อย่างนั้นหรือ  เอาเถอะ ถ้าอย่างนั้น  ฉันจะให้เงินเดือนเพิ่มอีกจากเดือนละ 8 บาทเป็นเดือนละ 10  บาท กลับไปบอกแม่นะ”  ข้าพเจ้าตอบรับคำ  ท่านหันไปกำชับกับครูลายอีกว่า “อาทิตย์หน้า ให้ครูช่วยพาเด็กมาอีกนะ”  ครูรับคำ  คุณนายหญิงพิจารณาดูหน้าตาของข้าพเจ้า ครู่หนึ่งก็ถามว่า “เธอลูกหลานใคร บอกฉันได้ไหม”  ท่านถามข้าพเจ้าเป็นภาษาเขมร  ข้าพเจ้าตอบว่า “ผมเป็นลูกของแม่โงล  หลานตาอุนครับ”   “อะไรนะ ลูกแม่โงล  หลานตาอุน รึ บอกฉันอีกทีสิ  ”  คุณนายหญิงเอามือทาบอก แล้วหันไปพูดกับท่านศึกษาว่า  “พ่อ บังเอิญจริงๆ นี่เป็นญาติของเรานะ อาทิตย์หน้าจะพาไปบ้านป้าโงล  ตาอุนเลย ไม่ต้องให้เด็กมาที่นี่ดอก” (ท่านศึกษาพูดภาษาเขมรไม่เป็นแต่ฟังออกเป็นบางคำ เพราะท่านเป็นคนลาว) คุณนายหญิงหันไปพูดกับครูลาย เป็นภาษาเขมรเช่นกัน  “ครูไม่ต้องพาเด็กมาที่นี่แล้ว ฉันจะพาท่านศึกษาไปที่บ้านสลักไดเอง ฉันรู้จักดี บ้านป้าโงล ตาอุน” 

เมื่อข้าพเจ้ากลับถึงบ้าน แม่กับตาถามว่า “เรื่องราวเป็นอย่างไร”  ข้าพเจ้าตอบว่า “ก็ได้บอกกับท่านตามที่แม่สั่งไว้นั่นแหละว่า แม่ไม่ยอมให้เป็นครูเด็ดขาด  ท่านศึกษาจะเพิ่มเงินเดือนให้อีกนะ เป็นเดือนละ 10  บาท  ฝากมาบอกว่า ทางแม่จะว่าอย่างไร  อีกทั้งคุณนายหญิงได้สักถามผมด้วยว่า เป็นลูกหลานใคร หลังจากที่ผมบอกท่านไปแล้ว ในที่สุดท่านก็พูดว่าเราเป็นญาติกัน ท่านรู้จักที่นี่ดีและอาทิตย์หน้าคุณนายหญิงกับท่านศึกษาจะเดินทางมาที่บ้านเราด้วยตัวเอง” 

เช้าวันอาทิตย์ เวลาประมาณเจ็ดโมงเช้ากว่าๆ ข้าพเจ้าได้จูงควายออกไปกินหญ้าที่ทุ่งนา นอกหมู่บ้านตามปกติจนถึงเวลาประมาณแปดถึงเก้าโมงจึงได้กลับเข้าบ้าน  พอกลับมาถึงบ้านเห็นเกวียนเหมือนราชรถมีประทุนลวดลายสวยงามมาจอดอยู่หน้าบ้าน  เห็นท่านศึกษากับคุณนายหญิงนั่งพูดคุยอยู่กับตากับแม่   ข้าพเจ้าเข้าไปนั่งยกมือไหว้ท่านทั้งสองด้วยความรู้สึกตื่นเต้นดีใจ แม่พูดว่า “เองมานั่งอยู่ใกล้ๆนี่ ไม่ต้องไปไหน เดี๋ยวแม่จะเล่าให้ฟัง คือป้าคนนี้ (ซึ่งหมายถึงคุณนายหญิง) เป็นลูกของพี่เปี๊ยะ อยู่บ้านตะแบก เป็นญาติกันให้รู้จักกันไว้ ป้าพูดได้เฉพาะภาษาเขมรส่วนภาษาไทยนั้นพูดไม่ได้”  แม่หันไปทางคุณนายหญิงและพูดต่อ “ที่ฉันได้เล่าให้ป้าฟังไปแล้ว ป้าคงเข้าใจฉันนะ” คุณนายหญิงพูดว่า “ความจริงฉันอยากให้เด็กเป็นข้าราชการ  เพราะเด็กคนนี้ทราบว่าทั้งฉลาดทั้งเก่ง เท่าที่แม่พูดมาพร้อมคำชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นให้ฉันฟังนั้น ฉันก็พอจะเข้าใจในเจตนารมณ์ แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ ฉันเห็นว่าด้วยความสามารถของเด็กอายุเพียงเท่านี้ ทำงานได้ไม่แพ้ผู้ใหญ่บางคน  ดูได้จากผลงานต่างๆที่บอกให้ทราบนั้นสิ ไม่ว่าจะเป็นครุ กะเชอ ไม้กวาด  คานหาบน้ำ  ปั้นเชือกวัวควาย  ตะแกรงกรองมะพร้าว  ทับพี แม้กระทั่งไต้จุดไฟ ทำได้ตั้งมากมาย เก่งจริงๆ”  แม่บอกคุณนายหญิงว่า “ทั้งหมดนี้ ตาสอนให้ทำเอง”  ท่านศึกษานั่งฟังการสนทนาภาษาเขมรรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง  และได้พูดขึ้นบ้างว่า “เอาอย่างนี้นะ ฉันจะให้เงินเดือนๆละ 12  บาท  ตกลงไหม”  ดูเหมือนว่าแม่ยังฟังท่านศึกษาพูดไม่เข้าใจดีนัก คุณนายหญิงก็พูดภาษาเขมรอธิบายอีกครั้งว่า “คือยังงี้นะ ท่านศึกษาเขาว่าจะให้เงินเดือนๆละ 12  บาท  แม่จะตกลงไหม”  แม่ไม่ตกลง “แม่คิดดูให้ดี  แม่มีลูกตั้ง 4  คน 2-3  ปี น้องก็จะโตขึ้นมา สามารถช่วยงานทางบ้านได้ ไม่ต้องเป็นห่วง  ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ทางราชการให้หยุดงาน เราทำอะไรก็ได้  พอถึงเวลาปักดำนา ทางราชการเขาหยุดให้ตั้งเดือนหนึ่งนะ”  คุณนายหญิงพยายามพูดกับแม่เท่าไร แม่ก็ไม่ยอม คุณนายหญิงจึงหันไปพูดกับตาบ้าง “ตา ช่วยพูดให้หนูด้วย ฉันเลื่อมใสและรู้สึกเสียดาย ในความฉลาดความเก่งของเด็กคนนี้จริงๆ นะจ๊ะตา อนาคตต่อไปอาจเป็นใหญ่เป็นโตได้”  ตาได้แต่พูดว่า “ตาก็สงสารเด็กคนนี้เหมือนกัน ตามีความเห็นเหมือนกับหนูทุกอย่าง แต่แม่เขาไม่ยอม ตาก็ไม่รู้จะทำอย่างไร”  คุณหญิงเห็นว่าแม่ไม่ยอมจริงๆจึงยื่นข้อเสนอว่า “แม่คิดดูให้ดีนะ ฉันให้เวลาแม่คิดดูอีกหนึ่งเดือน ถ้าแม่ยอมให้เด็กรับราชการ แม่ให้ครูพาเด็กไปหาฉันที่บ้านนะ  ฉันเสียดายเด็กคนนี้จริงๆ”  พูดกันจนถึงเที่ยง แม่รับเลี้ยงข้าวกลางวัน  พอตะวันบ่าย ท่านศึกษากับคุณนายหญิงให้ข้าพเจ้าไปตามคนขับเกวียนกลับบ้านที่เมืองสุรินทร์ อันเป็นบ้านพักท่านศึกษา ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดปทุมเมฆนั่นเอง

พอข้าพเจ้ามีอายุได้ 15 ปี ทางอำเภอเมืองและจังหวัดสุรินทร์ เขาตั้งโรงเรียนสุรวิทยาคาร (ส.ว.ค.) ขึ้น ทางอำเภอเมืองเขาต้องการโต๊ะ-เก้าอี้ กระดานตั้ง เพื่อไว้ใช้ในโรงเรียน เขาจึงเรียกครูช่างไม้จากโรงเรียนช่างไม้ ขณะนั้นมีครูในโรงเรียนช่างไม้ 2 คน และครูสมชาย ชอบดี เป็นทั้งนักเรียนช่างไม้และก็เป็นครูสอนหนังสือเหมือนกัน เขาเรียกว่าเป็นครู ทั้ง 3 คน คือ

  1. นายสมศักดิ์
  2. นายเหี้ยจ
  3. นายสมชาย

โดยให้ทั้งสามคนนี้ ไปรับประมูล ทำโต๊ะ-เก้าอี้ ให้แก่โรงเรียน ครูสมชายหรือครูทอง ชอบดี เป็นลูกเขยแม่รานพ่อเดียน อยู่บ้านติดกัน พอตอนเย็นๆประมาณ 1 ทุ่ม ครูสมชายไปนั่งคุยกันที่บ้านข้าพเจ้า พูดคุยกันพร้อมทั้งตาและแม่ ครูสมชายได้เอ่ยถามข้าพเจ้าว่าอยากเรียนเป็นช่างไม้หรือไม่ ข้าพเจ้าตอบว่า “อยากเรียน แต่ไม่มีใครสอนให้ครับครู” ครูสมชายพูดว่า “ครูจะสอนให้เอง ไม่ต้องกลัว ขณะนี้ฉัน รับงานจากศึกษาอำเภอ รับทำโต๊ะครู 4 ชุด ชุดหนึ่งมีโต๊ะ1 เก้าอี้ 4 เขาให้ค่าแรง 80 บาท วัสดุต่างๆเขาจัดเตรียมไว้ให้ทั้งหมด เช่น ไม้กระดาน ตะปู กาวทาไม้ กระดาษทราย แชล็ค เป็นต้น สำหรับเครื่องมือช่างไม้นั้นเป็นของเราเตรียมไปเอง สนม สนใจงานนี้ไหม” “แต่ ผมไม่มีเครื่องมืออะไรเลยครับ” ครูบอกต่อว่า “เครื่องมือทำ ฉันมีแล้ว” ข้าพเจ้าถามต่อเกี่ยวกับเวลาการทำงาน ครูตอบว่า “เอาอย่างงี้นะ ฉันทำงานคนเดียว ในวันเสาร์-อาทิตย์ เวลากลางวันถึงกลางคืน ส่วนวันธรรมดาให้สนม ทำคนเดียว เฉพาะเวลากลางวัน พอถึงกลางคืนเราทั้งสองคนทำงานพร้อมกัน ส่วนค่าแรง แบ่งกันคนละครึ่ง สนมจะว่าอย่างไร”  ครูสมชายหันไปพูดกับแม่ “ว่าอย่างไรแม่” แม่ตอบว่า “แล้วแต่ครูเห็นสมควร” ครูสมชายพูดกับข้าพเจ้าอีกว่า “ตกลงไหม” ข้าพเจ้าตอบตกลงเพราะในใจอยากเป็นช่างไม้ด้วย  “ถ้าอย่างนั้นพรุ่งนี้ครูจะติดต่อจ้างเกวียนไปบรรทุกไม้นั้น มาให้ทำงานที่นี่ เขากำหนดเวลาสำหรับงานนี้  30  วัน ทำเสร็จแล้วนำส่งเขาให้เรียบร้อยด้วย” เมื่อบรรทุกไม้มาถึง ครูสมชายก็เอาแบบแปลนมาให้ข้าพเจ้าดู  ข้าพเจ้าบอกครูสมชายว่า “ผมดูแบบแปลนไม่ออก” ครูสมชายว่า “ฉันจะเป็นคนสอนให้เอง ไม่ต้องวิตก” ครูอธิบายให้ข้าพเจ้าฟังอย่างละเอียด จนกระทั่งข้าพเจ้าเข้าใจดีพอสมควรแล้ว ครูก็ได้เอาไม้นั้นมาวัดความยาวตามเลขหน่วยที่แบบแปลนกำหนดไว้ และให้ข้าพเจ้าเป็นคนตัดไม้เป็นส่วนประกอบต่างๆ ท่อนใดสำหรับใช้ทำอะไร ให้จัดแยกกองไว้เป็นหมวดเป็นหมู่ และไม้กระดานทั้งหมดนำมาไสให้เกลี้ยงเกลา ครูบอกว่า “กบใสไม้มี 3 ชนิด คือ ชนิดสั้น ชนิดกลาง ชนิดยาว พิจารณาเลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะงาน” ครั้งแรกข้าพเจ้ายังใสกบไม่เป็น ครูจึงอธิบายวิธีการใสกบอย่างเป็นขั้นตอน พร้อมปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง ข้าพเจ้าสังเกตดูจนกระทั่งเข้าใจและได้ทดลองฝึกใสกบจนสามารถทำได้ด้วยความมั่นใจ  ข้าพเจ้าใสไม้ไปจนกระทั่งรู้สึกเจ็บมือ ครูสมชายยืนดูบอกว่า “หยุดก่อน เอามือมาดูหน่อย นั่น ! เห็นไหม มือพองแล้ว” ครูถามว่า “มีขี้ผึ้งไหม” ข้าพเจ้าตอบว่า “ไม่มี” “ถ้าอย่างนั้น หยุดก่อนอย่างพึ่งทำนะ คอยครูก่อน” พอครูสมชายมาถึงก็เอาขี้ผึ้งทามือให้ แล้วบอกว่า “วันนี้พอแค่นี้”  ครูบอกอีกว่า “ให้จำไว้ ก่อนกินข้าวให้เอาข้าวที่กำลังร้อนๆมากำไว้ทุกเช้าค่ำเวลากินข้าว แก้อาการเจ็บมือ และก่อนใสไม้ให้เอาขี้ผึ้งทาก่อนทุกครั้ง  และสวมปลอกมือด้วย ถ้าไม่มีปลอกมือ ก็ให้เอาผ้าขี้ริ้วมาพันมือก่อน จนกว่ามือจะหายเจ็บ เราต้องทนเอาไว้ ทำงานจนมือเราเริ่มเคยชินและจะมีผิวด้านมากขึ้น อย่าเร่งรีบเกินควร มือเรานี้มีความสำคัญต่อการทำงานมาก ดูแลให้ดี หากเกิดอาการบาดเจ็บจะทำให้งานเราเสียหาย เพราะเขาให้เราทำงานให้เสร็จภายใน 30  วันเท่านั้น  ถ้ามือเราไม่บาดเจ็บ เราใช้เวลาทำงานเพียง 10-15  วัน ก็สามารถทำเสร็จได้ เพราะเราช่วยกันสองคน แต่ว่าครูทำได้แค่วันเสาร์-อาทิตย์และกลางคืน ประมาณ 1-2  ทุ่มเท่านั้น  อย่างไรฉันคิดว่าต้องทำเสร็จทันกำหนดอย่างแน่นอน พรุ่งนี้ครูจะบอกว่าใสอันไหนก่อนและหลัง  เราเป็นช่างไม้ต้องเรียนรู้เรื่องงานที่ทำ ไม้ทุกชนิดมีการหดตัว  ฉะนั้นความสวยและมาตรฐานอยู่ตรงไหน พอเขาได้ดูแล้ว สวยหรือไม่สวยและมีมาตรฐานหรือไม่ เขาดูแล้วรู้ทันที เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้สวยและมีมาตรฐาน  เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสวยหรือไม่สวย มาตรฐานหรือไม่มาตรฐานนะครู ทำงานไปก่อนแล้วฉันจะบอกให้รู้เอง  ในที่สุดก็สามารถทำงานเสร็จก่อนกำหนด  5  วัน    พอถึงวันส่งงาน ครูสมชายก็ให้ข้าพเจ้าไปด้วยพอไปถึงบ้านศึกษาก็เห็นโต๊ะเก้าอี้อยู่ใต้ต้นมะม่วงเพียบ  ข้าพเจ้าช่วยยกเอาโต๊ะเก้าอี้ไปจัดตั้งไว้เป็นชุดๆ  ใกล้กันกับชุดอื่นๆที่ได้ตั้งไว้ก่อนแล้วนั้น พอศึกษาลงมาจากบ้านตรวจดู  ข้าพเจ้าก็ยกมือไหว้  ศึกษาก็ยกมือรับไหว้แล้วท่านก็ถามว่า “โต๊ะเก้าอี้นี้ใครทำ” ครูสมชายก็ชี้มาที่ข้าพเจ้ายืนอยู่   แล้วถามว่า “เธอชื่ออะไร” ข้าพเจ้าตอบว่า “ชื่อสนม  ศิริทวี ครับ” “เธอเป็นลูกป้าโงล  ตาอุน ใช่ไหม”  ข้าพเจ้าก็ตอบว่า “ครับ”  ท่านก็เรียกคุณนายหญิงลงมาหา พอท่านคุณหญิงลงมาท่านพูดว่า “เด็กคนนี้ ฉันรู้จักไหม”  ท่านผู้หญิงดูหน้าข้าพเจ้าๆยกมือไหว้ท่านๆก็ยกมือรับไหว้แล้วพูดว่า “เหมือนกับเคยเห็นที่ไหน คลับคล้ายคลับคลา”  ศึกษาก็บอกว่า “ลูกป้าโงล บ้านสลักได ที่เราเคยไปหาตอนนั้น จำไม่ได้หรือไง” ว่าแล้วท่านก็ดึงมือคุณหญิงชี้ให้ดูโต๊ะเก้าอี้ ผลงานของข้าพเจ้าแล้วก็ได้ออกปากชื่นชม “ต่อไม้กระดานได้เรียบเหมือนเป็นกระดานแผ่นเดียวเลย ยอดจริงๆ”  จากนั้นก็พาคุณหญิงไปดูโต๊ะเก้าอี้ของครู ที่ได้นำมาส่งไว้ก่อนแล้ว ท่านวิจารณ์ข้อด้อยในผลงานของครู และก็ได้สั่งให้คนใช้หรือคนที่อยู่ในนั้นให้ไปเรียกครูทั้งสองมาที่บ้านท่านโดยเร็ว  ท่านศึกษาให้ข้าพเจ้า ครูสมชาย ภรรยาของท่านได้นั่งคุยกัน และท่านพูดกับข้าพเจ้าว่า “ฉันเคยเรียกหนู มาเป็นครูครั้งหนึ่งใช่ไหม”  ข้าพเจ้าตอบว่า “ครับ”  “ครั้งนั้นแม่หนูไม่ยอมอนุญาต ฉะนั้นครั้งนี้ฉันให้หนูเป็นครูโรงเรียนช่างไม้ ฉันให้เงินเดือนๆละ  18  บาท  ไปบอกแม่นะไปเล่าให้แม่ฟังตามที่พูด” แล้วท่านก็หันไปหาครูสมชาย ย้ำให้ช่วยเล่าบอกแม่ของข้าพเจ้าด้วย ครูสมชายรับคำ ท่านศึกษาพูดกับครูสมชายอีกว่า “เอาไม้ไปทำแผ่นกระดานดำ(กระดานตั้ง) ให้ค่าแรงชุดละ  30  บาท”  ท่านก็พูดกับข้าพเจ้าว่า “หนูทำให้ได้ไหม”  ข้าพเจ้าตอบว่า “ทำได้ครับ”  พอครูโรงเรียนช่างไม้มาถึง  ท่านก็ให้ครูไปดูโต๊ะเก้าอี้ของข้าพเจ้า เพื่อชี้ให้เห็นความแตกต่างในคุณภาพของผลงาน  ครูทั้งสองยอมรับว่าผลงานของตนสู้ไม่ได้ ท่านศึกษาจึงว่า “ถ้าอย่างนั้น ให้ครูเอาไปทำใหม่” ตอนกลับบ้าน ข้าพเจ้าขอครูทั้งสอง ไปชมโรงเรียนด้วย ครูทั้งสองได้พูดกับข้าพเจ้าว่า “ทำไม ทำได้สวยขนาดนั้น ทำให้ครูต้องรื้อทำใหม่” ข้าพเจ้าขอโทษครู ยกมือไหว้ขออภัย ครูทั้งสองไม่ถือสา “เออ ไม่เป็นไร เพราะต่างคนต่างไม่รู้” พอถึงโรงเรียนช่างไม้ ข้าพเจ้าได้เดินดูจนทั่ว แล้วนั่งคุยกัน 3 คน คือ  ครูสมชาย  ครูเหี้ยจ  และข้าพเจ้า  ครูเหี้ยจได้ถามข้าพเจ้าว่า “ศึกษาได้ให้ข้าพเจ้าเป็นครูไม้จริงไหม”  ข้าพเจ้าตอบว่า “จริง แต่ว่า แม่จะอนุญาตหรือไม่ยังไม่รู้”  “ถ้าเธอเป็นครู จะทำงานกับฉันไหม ทำเฉพาะวันเสาร์-วันอาทิตย์และกลางคืนถึงประมาณ 2 ทุ่ม ฉันให้ค่าแรงวันละ 7 บาท กินอยู่กับฉันทั้งหมด (เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ )” ข้าพเจ้าตอบว่า “ครับ คอยหลังจากส่งงานกระดานดำ ให้ศึกษาเสร็จก่อน”  ครูเหี้ยจบอก  “นี่ฉันรับทำโต๊ะเก้าอี้นักเรียน  200  ชุดแล้วนะ  หากเธอรับปากมาทำงานนี้ด้วย ฉันจะรับงานมาให้ทำเรื่อยๆ เพราะมีโรงเรียนอื่นๆเขาได้ติดต่อว่าจ้างให้ทำงานให้เขา หลายโรงเรียน เกือบทุกอำเภอ”  พอมาถึงบ้านข้าพเจ้าก็ได้เล่าตามที่ศึกษาบอกให้แม่ฟังทุกอย่างว่า “ท่านให้ข้าพเจ้าเป็นครูช่างไม้จะให้เงินเดือนๆละ  18  บาท  และทางโรงเรียนเขาให้ทำงานวันเสาร์-อาทิตย์  เขาให้ค่าแรงวันละ  7  บาท  เดือนหนึ่งทำงาน  8  วัน  รวมทั้งเงินเดือนและรายวันตกเดือนละ  70  กว่าบาท   ถ้าหากว่าแม่ให้ผมเป็นครู เงินเดือนทั้งหมดผมจะให้แม่  แม่ก็สบายไม่ต้องเหนื่อยไม่ต้องลำบาก  ถ้าหากแม่อยากทำนา แม่ก็เอาเงินนี้ไปจ้างเขา จะหมดเท่าไรกัน แม่คิดดูให้ดี เรื่องการไถนานั้นไม่ต้องห่วง เพราะเสนินก็ออกจากโรงเรียนแล้ว สองปีข้างหน้า แกดก็โตขึ้นพอจะสามารถช่วยงานกันได้ แม่ให้ผมเป็นครูเถอะนะ”  แม่ก็พูดว่า “เองอยากเป็นครูหรือเองอยากจะทิ้งแม่ไปอย่างนั้นหรือ” ข้าพเจ้าตอบว่า “ไม่ใช่อย่างนั้นหรอกแม่ การทำงานนี้เท่ากับผมไปหาเงินมา เมื่อถึงฤดูทำนาทางราชการเขาก็หยุดให้ทำตั้ง  30  วัน  ผมก็ช่วยแม่ทำนาเหมือนเดิม ผมไม่ได้ไปไหน ผมสอนอยู่ในเมืองนี้เอง ผมอยู่ในบ้านเหมือนเดิม แม่คิดดูให้ดี  ไม่ใช่ผมจะหนีจากไปไหนไกล” แม่ก็ว่า “กูไม่ให้เองเป็นครูเด็ดขาด” ข้าพเจ้าพูดไม่ออก หมดหวังทันที ไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไรต่อไป สงสารแม่ก็สงสาร ข้าพเจ้าตัดสินใจถามแม่อีกครั้งว่า “แม่ไม่ยอมให้ผมเป็นครูอย่างนั้นหรือ”  “เออ กูไม่ให้เองเป็นครู แม่พึ่งเองคนเดียว”  “ถ้าอย่างนั้น แม่ไม่ต้องเป็นห่วง ผมไม่ไปเป็นครู เหมือนที่แม่ต้องการ เป็นอันว่าจบ” (นี่แหละวาสนาของคนเราที่กำหนดไว้ เช่นนี้แล ) พอถึงวันส่งกระดานดำ ข้าพเจ้าบอกท่านศึกษาว่า แม่ไม่ยอมเด็ดขาด (จบทุกอย่าง) สมัยนั้นเศรษฐกิจที่สุรินทร์  ข้าวมีราคากระเชอละ  30-40  สตางค์  เท่านั้น

ส่วนในหมู่บ้านนายพนัด-กับตาอี  ซื้อกระเชอละ  25  สตางค์

               

บทวิเคราะห์สรุปประเด็นสาระสำคัญ

                จากบันทึกประวัติส่วนตัวในอดีต ของนายสนม ศิริทวี ผู้ซึ่งยังคงมีความทรงจำกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ในวันที่ผู้ศึกษาได้ขอสัมภาษณ์ประวัติและสังเกตวิถีชีวิตความเป็นอยู่ บทบาทชีวิตของท่านนับเป็นตัวอย่างหนึ่งที่มองเห็นภาพและกระตุ้นให้เกิดแง่คิดด้านต่างๆ ได้แก่

                นิเวศวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมหน้าบ้าน : แคร่ใต้ต้นมะม่วงหน้าบ้าน

                ความปรารถนาเบื้องต้น : “หนูอยากเป็นครูไหม” “อยากเป็นครับ แต่ผมกลัวว่าตากับแม่จะไม่ยอมให้เป็นครูครับ”/ ท่านให้ข้าพเจ้าเป็นครูช่างไม้

                แสดงอำนาจความเป็นใหญ่ : แม่ค้านขึ้นมาทันที “แม่ไม่ยอมให้ไปเป็นครูอย่างเด็ดขาด”

                เหตุผลจำเป็นในการดำรงอยู่ : “เพราะไม่มีใครช่วยแม่เลี้ยงควายไถนา” “แม่พึ่งเองได้คนเดียว”

                ความรู้สึกเมตตา : ข้าพเจ้าสงสารแม่มากจนกลั้นน้ำตาไม่อยู่ “แม่อย่าได้เสียใจไปเลย ถ้าแม่ไม่ให้ผมเป็นครู ผมก็จะไม่ไปเป็นครูครับแม่”

                แรงงานสัตว์เลี้ยง : ข้าพเจ้าได้จูงควายออกไปกินหญ้า

                พาหนะ : เกวียน

                วิชาช่างไม้ : เป็นช่างไม้ ทำโต๊ะ-เก้าอี้ -กระดานดำ/ไม้ทุกชนิดมีการหดตัว 

                วิชาการแพทย์ :ให้เอาข้าวที่กำลังร้อนๆมากำไว้ทุกเช้าค่ำเวลากินข้าว แก้อาการเจ็บมือ

                ศิลปะป้องกันตัว มีแผน1-2 : ก่อนใสไม้ให้เอาขี้ผึ้งทาก่อนทุกครั้ง  และสวมปลอกมือด้วย ถ้าไม่มีปลอกมือ ก็ให้เอาผ้าขี้ริ้วมาพันมือก่อน

                การรู้คุณค่า : มือเรานี้มีความสำคัญต่อการทำงานมาก

                การพึ่งกันและความสามัคคี : เพราะเราช่วยกัน

                การรู้มาตรฐานความงาม : เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้สวยและมีมาตรฐาน 

                ความมีระเบียบ : ข้าพเจ้าช่วยยกเอาโต๊ะเก้าอี้ไปจัดตั้งไว้เป็นชุดๆ 

                ด้านเศรษฐกิจ : ให้เงินเดือนๆละ  18  บาท  /ข้าวราคากระเชอละ  30-40 สตางค์

                วิสัยทัศน์และความปรารถนาของแม่ : “เองอยากเป็นครูหรือเองอยากจะทิ้งแม่ไปอย่างนั้นหรือ”

ด้านต่างๆเหล่านี้ ผู้อ่านจะสามารถนำแนวคิดที่เป็นประโยชน์ไปพัฒนาต่อไปได้ไม่มากก็น้อย สาระสำคัญในประวัติเบื้องต้นนี้ สะท้อนให้เห็นว่าชีวิตในครอบครัวหรือครัวเรือนหนึ่ง “แม่” จะเป็นผู้ที่มีอำนาจและบทบาทอันแรงกล้า ที่จะส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจของลูก ผู้ซึ่งสังคมได้ให้การศึกษา อบรมสั่งสอน หล่อหลอมให้เป็นผู้มีศีลธรรม มีความกตัญญูและเมตตาต่อแม่ ลูกจะยอมกระทำทุกอย่างเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณทำให้แม่สบายใจและเสียสละความปรารถนาของตน(ลดความเห็นแก่ตัวเพื่อผู้อื่น)ช่วยเป็นกำลังแรงงานสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ในอันที่จะก่อให้เกิดผลของการอยู่ร่วมกันในครัวเรือนได้อย่างสันติสุข ช่วยทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวให้สามารถดำรงอยู่ได้ในวิถีชีวิตและค่านิยมของแม่สมัยนั้นที่มีแรงงานหลักมาจากลูกชายด้วยเหตุความจำเป็น เพื่ออาชีพด้านการเกษตรที่มีบทบาทสำคัญต่อการดำรงอยู่ของชาวนา แม้ว่าการกระทำเพื่อแม่อาจจะฝืนใจของลูกบ้างก็ตาม

จากกรณีเรื่องราวของนายสนม ศิริทวี ที่กล่าวข้างต้นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของครอบครัวอื่นๆในสังคมไทย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันเกี่ยวกับอำนาจของพ่อแม่ที่มีบทบาทสัมพันธ์ต่อวัฒนธรรมครอบครัว บางครอบครัวในสังคมไทยปัจจุบัน ยังคงมีปัญหาทำนองนี้อยู่ซึ่งเป็นส่วนน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วคนรุ่นใหม่จะสามารถคิดกระทำสิ่งใดๆ ด้วยภาวะการตัดสินใจของตนเองได้อย่างอิสระมากขึ้น

ประวัติเบื้องต้นของนายสนม ศิริทวี เน้นให้สาระสำคัญกับการศึกษาหาความรู้และการแสวงหาโอกาสที่ดี เพื่อใช้ความรู้ความสามารถที่มีประกอบอาชีพการงานและการแสวงหาความรู้เพิ่มเติม อย่างไรก็ตามจะต้องพิจารณาควบคู่ไปกับคุณธรรมประจำใจ เพื่อนำไปสู่ความสันติสุขร่วมกันในครัวเรือนและสังคม การแสดงออกอย่างมีเหตุผลด้วยศีลธรรมอันดีงาม หนักแน่น มั่นคง เป็นสิ่งที่น่าเคารพเลื่อมใส และเมื่อทุกคนในครอบครัวมีความรักความเมตตาปราณีต่อกัน สังคมนั้นก็จะสามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข

ภาพที่ 1-2 นายสนม ศิริทวี สัมพันธภาพอันดีงามกับญาติเพื่อนบ้าน ที่ภูมิโอว์ เขตเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย ในการสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาโหราศาสตร์และพิธีกรรมทางพุทธศาสนา

หมายเลขบันทึก: 463901เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2011 07:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท