การเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยที่ดี


โครงการวิจัย

การเขียนข้อเสนอโครงการวิจัย

ความหมายของการวิจัย

การวิจัย คือ การศึกษาค้นคว้าหาคำตอบด้วยองค์ความรู้ทางวิชาการที่เป็นวิทยาศาสตร์ โดยมุ่งหวังให้การศึกษาค้นคว้านั้นได้ผลผลิต (product) ของการศึกษาที่เป็นรูปแบบได้ผลลัพธ์ (outcome) ที่เอื้อประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ที่ส่งผลถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมนั้น ๆ ผลของการวิจัยอาจจะออกมาในรูปของทฤษฎีหรือแนวคิดใหม่ หรือจะออกมาในรูปของสิ่งประดิษฐ์ก็ได้ ซึ่งการที่จะได้ผลผลิตดังกล่าว นักวิจัยก็คงจะต้องให้ความสำคัญต่อปัญหาที่ต้องแก้ไขให้ได้ผลที่เป็นรูปธรรมนั้น ๆ ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงสอดคล้องกับที่มาและความสำคัญของปัญหา วัตถุประสงค์ของการศึกษาค้นคว้าสมมุติฐานที่กำหนด การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ระเบียบวิธีวิจัย และการดำเนินการ ผลที่คาดว่าจะได้รับจาการศึกษาค้นคว้า ตลอดจนงบประมาณ และระยะเวลาที่จะต้องดำเนินการ

การนำเสนอโครงการวิจัย ซึ่งเป็นการศึกษาค้นคว้าหาคำตอบให้กับปัญหาหรือโจทย์เรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น นักวิจัยหรือผู้วิจัยควรจะมีการเตรียมตัวในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ เกี่ยวกับองค์ประกอบต่าง ๆ ของการจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัยในด้านต่าง ๆ คือ
          1.1 การเลือกชื่อเรื่อง
          1.2 ทักษะการใช้ภาษาพูดและภาษาเขียน
          1.3 การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการวิจัย

ทั้งนี้เนื่องจากว่า จุดมุ่งหมายสำคัญของการจัดทำข้อเสนอโครงการ คือ ทำอย่างไรจึงจะให้ผู้อ่านได้ซึมซับว่า โครงการของผู้วิจัยมีคุณค่า และตัวผู้วิจัยเองมีความสามารถ และมีการวางแผนในการทำวิจัยที่ชัดเจนเหมาะสม  ซึ่งส่งผลให้ข้อเสนอโครงการได้รับการพิจารณาสนับสนุนให้ดำเนินการได้ ดังนั้น ไม่ว่าข้อเสนอโครงการจะเกี่ยวข้องกับความรู้สาขาใด ข้อเสนอโครงการที่ดีจะต้องครอบคลุมเนื้อหา ที่เป็นคำตอบของคำถาม 3 คำถาม คือ 1) ต้องการจะทำวิจัยหรือศึกษาค้นคว้าเรื่องอะไร 2) ทำไมถึงจะต้องทำวิจัยเรื่องนั้น และจะทำการวิจัยหรือจะศึกษาค้นคว้าเรื่องอะไร และ 3) ทำไมถึงจะต้องทำวิจัยเรื่องนั้น และจะทำการวิจัยหรือจะศึกษาค้นคว้าอย่างไร ประเด็นคำถามที่ผู้วิจัยควรตอบให้ได้มี 3 ข้อ ดังนี้ คือ คำถามข้อ 1 ผู้วิจัยต้องการจะทำวิจัยเรื่องอะไรซึ่ง จะเกี่ยวข้องกับความรู้ความสามารถของผู้วิจัยในการเลือกชื่อเรื่อง คำถามข้อ 2 ทำไมถึงจะต้องทำวิจัยเรื่องนั้น จะเกี่ยวข้องกับการสร้างทักษะการใช้ภาษาโดยเฉพาะภาษาเขียน เพราะถ้าหากเขียนตอบคำถามไม่ดีแล้ว จะทำให้ข้อเสนอโครงการนั้นมีความไม่ชัดเจน และคำถามข้อ 3 จะทำการวิจัยหรือจะศึกษาค้นคว้าอย่างไร หรือจะเกี่ยวข้องกับการสร้างองค์ความรู้ เกี่ยวกับการวิจัยในเรื่องต่าง ๆ ที่จะทำให้การวิจัยนั้นสำเร็จผลลุล่วงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร

 การเลือกชื่อเรื่อง

การเสนอโครงการวิจัยส่วนที่สำคัญที่สุด คือ ชื่อเรื่อง หรือหัวข้อที่จะทำวิจัย ชื่อเรื่องที่เลือกมาดีจะส่งผลให้สามารถกำหนดวัตถุประสงค์ เชื่อมโยงกับการตั้งสมมุติฐาน ระเบียบวิธีวิจัย ผลของการวิจัย ได้อย่างสอดคล้องกับที่สำคัญที่สุดก็คือ ชื่อเรื่อง หรือหัวข้อที่จะทำวิจัยจะบอกให้รู้ว่า การวิจัยชิ้นนั้น จะทำได้หรือไม่ได้การเลือกชื่อเรื่องหรือการกำหนดหัวข้อ จะต้องเป็นการเลือกปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมที่จำเป็นต้องหาทางแก้ไข เป็นโจทย์ที่จะต้องนำมาขบคิด และสร้างทางออกที่อยู่บนพื้นฐานของการสืบค้นข้อมูลทางวิชาการที่อิงเหตุและผล โดยทั่วไปการเลือกชื่อเรื่อง หรือการกำหนดหัวข้อวิจัย จะมีลักษณะต่าง ๆ โดยรวมดังนี้
          1. เป็นชื่อเรื่องที่ทันต่อเหตุการณ์ กล่าวคือ เป็นการกำหนดโจทย์วิจัยที่เป็นปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบต่อคนกลุ่มใหญ่ ที่ต้องการหาทางออก และการแก้ไข กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจที่จะหา ทางออกด้วยกัน
          2. มีความแตกต่าง หมายความว่า เป็นการเลือกชื่อเรื่องที่นักวิจัยได้มีการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นมาพอสมควร เพื่อที่ว่าการเลือกชื่อเรื่องที่จะมาทำวิจัยนั้น จะไม่มีความซ้ำซ้อนกับงานที่เคยมีคนทำมาแล้ว หรือแม้ว่าจะเป็นการซ้ำซ้อน แต่มีความแตกต่างในประเด็นของการวิจัย เช่น การกำหนดวัตถุประสงค์ วิธีดำเนินการ ทฤษฎีที่ใช้ ผลที่คาดว่าจะได้รับ ลักษณะที่แตกต่างออกไปจากที่เคยมีมา

         3. มีความแปลกใหม่ หมายความว่า การเลือกชื่อเรื่องที่จะมาทำวิจัยนั้น เป็นการเลือกโจทย์ที่จะหาทางออกที่ไม่เคยมีการทำมาก่อน เช่น ชื่อเรื่องที่ส่งผลให้ได้นวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่ผู้อ่านมีความพอใจเป็นส่วนใหญ่ เป็นต้น

        4.  เป็นความสนใจของผู้วิจัย กล่าวคือ การเลือกชื่อเรื่องมีความเกี่ยวโยงกับผู้วิจัยในลักษณะที่ว่า หากการเลือกชื่อที่ไม่อยู่ในความสนใจ หรือความถนัด  ในสาขาวิชาของผู้วิจัยแล้ว จะทำให้การวิจัยดำเนินไปอย่างขาดความกระตือรือร้นหรือขาดตอนได้ เช่น การเลือกชื่อเรื่องเกิดขึ้นเนื่องจากถูกสั่งให้ทำเป็นเงื่อนไขจากตัวแปรภายนอก หรือรับทำเนื่องจากเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่เกิดจากจิตวิญญาณในการทำของผู้วิจัย เป็นต้น

         5. เป็นเรื่องที่สามารถจะทำการศึกษาค้นคว้าได้ โดยการที่มีเอกสารหรือการเก็บข้อมูลที่มีความเป็นไปได้ และเพียงพอต่อการนำมาศึกษาวิเคราะห์ และอ้างอิง หรือมีวัสดุอุปกรณ์ที่เอื้อต่อการวิจัยทำให้สามารถสร้างผลผลิตที่ออกมาเป็นผลลัพธ์ที่เป็นที่พอใจ

 ขั้นตอนของการเลือกชื่อเรื่อง อาจดำเนินการได้ ดังนี้

1. เลือกชื่อเรื่องที่ไม่กว้างหรือแคบจนเกินไป จนทำให้ไม่สามารถวิจัยได้ ผู้วิจัยควรจะกำหนดให้แคบลงเพื่อสะดวกต่อการกำหนดวัตถุประสงค์ และระเบียบวิธีวิจัยได้ดี

2. รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชื่อเรื่องให้เพียงพอจากการศึกษาเบื้องต้น เพื่อที่จะได้ส่งผลให้สามารถกำหนดทิศทางความสำคัญของโจทย์หรือปัญหาได้จริง

3. ศึกษาข้อมูลที่จะนำมาช่วยในการกำหนดชื่อเรื่อง โดยสรุปย่อเป็นประเด็นและเลือกข้อความที่ตรงประเด็นกับชื่อเรื่องไว้ก่อนที่จะกำหนดชื่อเรื่อง

4. ตั้งคำถามเป็นประเด็นต่าง ๆ ที่สามารถตอบเพื่อจะเลือกชื่อเรื่องให้ได้

 ทักษะการใช้ภาษาและภาษาเขียน

ผู้วิจัยมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงโครงสร้างความถูกต้องของระเบียบถ้อยคำ ความแตกต่างในด้านการสร้าง และการใช้ภาษาพูดและภาษาเขียนให้ดีก่อนทำข้อเสนอโครงการ สำหรับการเพิ่มพูนทักษาการใช้ภาษาพูดนั้น จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้วิจัยในการนำเสนอโครงการ และการรายงานผลการวิจัยโครงการ ที่อยู่ในรูปของการนำเสนอปากเปล่า (oral presentation) ส่วนการเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ภาษาเขียนที่ถูกต้องทั้งรูปแบบและวิธีการ จะเป็นประโยชน์ต่อการเขียนรายงานการวิจัย ที่จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายของข้อเสนอได้อย่างชัดเจน

นอกจากรูปแบบและโครงสร้างของการใช้ภาษา ที่ผู้วิจัยจะต้องฝึกฝนก่อนทำข้อเสนอโครงการแล้ว เนื้อหาสำหรับการใช้ในภาษาพูดและภาษาเขียนก็มีความสำคัญมากเช่นกัน เพราะเนื้อหาที่ใช้พูดหรือเขียนจะเป็นการสะท้อนความคิดของผู้วิจัยว่า มีการเรียบเรียงเป็นลำดับขั้นตอนหรือไม่ ดังนั้น ในการพูดหรือการเขียนแต่ละความคิดที่ปรากฏในข้อเสนอจะต้องมีความต่อเนื่องและเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน ตัวอย่างเช่นการพูดหรือการเขียนบททบทวน วรรณกรรม บทวิเคราะห์ บทอภิปรายและบทสรุป และข้อเสนอแนะของงานวิจัย รวมทั้งการนำเสนอบทคัดย่อเป็นต้น

 การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการวิจัย

เพื่อที่จะให้ข้อเสนอโครงการวิจัยได้รับการพิจารณาและยอมรับ สิ่งที่ผู้วิจัยจะต้องเตรียมเป็นอย่างดีก็คือ องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการวิจัย ซึ่งอาจจะประกอบด้วยหลักสำคัญ ดังนี้

          1. องค์ความรู้เกี่ยวกับประเภทของการวิจัยที่ผู้วิจัยจะเลือกนำมาใช้ให้เหมาะสมกับชื่อเรื่องที่กำหนดไว้ ซึ่งประเภทของการวิจัยจะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการวิจัย ว่าต้องการให้ได้ผลออกมาเป็นอย่างไร เช่น การวิจัยเชิงสำรวจจะเหมาะสมกับชื่อเรื่องที่ศึกษา เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ การวิจัยเชิงทดลองจะเหมาะสมกับชื่อเรื่องที่ต้องการให้ได้ความถูกต้องแม่นยำของแนวคิด ทฤษฎี ที่เลือกมาใช้ หรือการวิจัยเชิงวิจัยและพัฒนาจะเหมาะสมกับชื่อเรื่องที่ต้องการทดสอบกับแนวคิดรูปแบบที่สร้างขึ้นว่ามีความเป็นไปได้ หรือนำไปใช้ประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใด เป็นต้น
          2. องค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเก็บข้อมูล ซึ่งเมื่อผู้วิจัยได้เลือกรูปแบบของการวิจัยแล้วการเก็บข้อมูล และประเภทของข้อมูลจะเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมทั้งการกำหนดตัวแปรที่จะนำมาศึกษาที่จะต้องสอดคล้องและเหมาะสมกับรูปแบบของการวิจัยที่เลือกใช้ เช่น การเก็บข้อมูล ข้อมูลของการวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพ จะมีความแตกต่างกัน หรือการวิจัยเชิงสำรวจและการทดลองจะมีความแตกต่างกัน เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 463411เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2011 23:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท