การดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓


การดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓ เมื่อแม่ต้องล้มหมอนนอนเสื่อ

                          เมื่อถึงเวลาที่ผู้ป่วยต้องล้มหมอนนอนเสื่อ
          ในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตที่ลูกทุกต้องเสียใจ กับคำว่าสัตว์โลกต้องเป็นไปตามกรรม “เกิด แก่ เจ็บ ตาย”เป็นวัฏจักร หรือเป็น “กงล้อ” ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ วันนี้แม่มีอาการของคนแก่วัย ๘๕ ปี ที่มีอาการปวดหลัง(เกือบ ๑ เดือน กันยายน ๒๕๕๔)  ทุกครั้งที่ลูกๆทุกคนอยู่กับแม่ มีแต่ แววตาที่วิตกกังวล กลัวการสูญเสีย ที่จะเกิดขึ้นกับแม่ ในวัยนี้คุณหมอก็ได้แต่รักษาตามอาการที่เกี่ยวกับกระดูก การตรวจเบื้องต้นตามขั้นตอน การรักษา มีโรคที่อาจเกี่ยวข้องเช่นวัณโรคกระดูก ไตอักเสบ กระดูกเสื่อม ทรุด(ตามอายุ)หรือมะเร็งลามไปที่กระดูก หมอวินิจฉัยโดยการเอ็กเรย์ว่าอาจเป็นจากกระดูกเสื่อมตามอายุ เนื่องจากไม่ร่องรอยกระงอก แตก หรือผิดปกติจากการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ
       แม่จึงได้แค่ลุกนั่ง ลุกเดินแบบมีคนพยุง(ป้องกันขาอ่อนแรงต้องเดินบ้าง) หรือนั่งรถเข็นใส่บาตรตอนเช้า ที่หน้าบ้าน แม่ยังมีความรู้สึกดี พูดคุย หัวเราะ กินหมากกับเพื่อนบ้านเวลามาเยี่ยมถามข่าวคราว ซึ่งคนแก่รุ่นนี้ในหมู่บ้านเหลือเพียงสามคน คือ พ่อ แม่ ของผู้เขียนและญาติ อีกคนซึ่งก็ยังแข็งแรงแต่ความจำเสื่อม
       วันนี้ผู้เขียนเองในฐานะลูกชายคนเดียวของแม่ที่แก่อาจจะรักมากกว่าลูกทุกคน ก็อดคิดไม่ได้ว่าหากวันเวลาแห่งชีวิตของแม่ คือช่วงสุดท้ายของชีวิตคนๆหนึ่งที่เราเรียกว่า “แม่” ต้องจากเราไป เราต้องทำอย่างไร เป็นอย่างไร แม้ว่า วันนี้เราจะ “ยอมรับ”และ “ทำใจ” กับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ไม่ช้าก็เร็ว บ่อยครั้งที่ผู้เขียนต้อง แอบร้องให้ เมื่อเวลาที่คิดถึงวันนั้น แต่ก็คิดว่าเราได้ดูแลแม่ดีที่สุด ให้สิ่งที่ดีที่สุดตลอดเวลาที่เรารับรู้ว่าแม่ไม่สบาย ก็พอทำให้เรารู้สึกดีขึ้นบ้าง เราจึงจะไม่อ่อนแอไปมากกว่านี้
        ลูกๆของแม่ทุกคนได้ดูแล ให้กำลังใจ ปลอบโยน ให้แม่มีความหวัง มีความสุขกับลูกหลานให้นานที่สุดทุกครั้งที่ผู้เขียนเข้าวัด ไหว้พระจะอธิฐาน ให้แม่มีความสุข หายป่วยจากโรคภัย ไข้เจ็บ ก่อนนอนแม่กับพ่อยังไหว้พระสวดมนต์ทุกวัน มันเป็นความรู้สึกหนึ่งที่ทำให้เราเบาใจได้ว่า แม่ยังมีความสุข มีความหวัง ลูกที่อยู่ไกล ก็มาหาแม่บ่อยขึ้น นอกจากจะมีผู้เขียน กับพี่น้องสี่คนที่ผลัดเปลี่ยนกันดูแลอย่างใกล้ชิด นั่นจึงเป็นสิ่งที่ลูกๆได้ดูแลแม่ยามป่วยไข้ เป็นยาขนานเอกสำหรับแม่
       จึงอยากฝากความรู้สึกของความเป็นลูก ให้กับทุกท่านที่เป็นลูกที่ทำดีกับพ่อแม่อยู่แล้วให้ภาคภูมิใจ และทำต่อไปแม้จะไม่มีใครรับรู้ ส่วนลูกที่มีโอกาสดูแลพ่อแม่น้อย ก็ควรสละเวลาบางส่วนของชีวิต เพื่อดูแลและให้กำลังใจพ่อแม่ ในสิ่งที่คนแก่คนหนึ่งที่เคย “ฟูมฟัก”เรา ให้เราได้มีวันนี้ เมื่อถึงวันสุดท้ายของพ่อแม่เราอาจเสียใจที่มีโอกาสได้ดูแลพ่อแม่น้อยไป ผู้เขียนจึงเขียนป้ายติดที่หน้าบ้านไว้เตือนใจลูกๆพร้อมคาถาชินบัญชร ว่า

              “บิดา มารดา คือ ผู้ที่บุตรธิดาพึงเคารพดูแลให้มีความสุขตามอัตภาพ”

หมายเลขบันทึก: 463269เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2011 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2012 12:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท