หมอข้าวหอม
แพทย์หญิง ลำพู(Lampu) โกศัลวิทย์(Kosulwit)

คู่ครอง


ธนญชัยเศรษฐีสอนนางวิสาขา งอนได้แต่อย่างอ

 " คู่ครอง "

 

 

 

 

หลวงพ่อสอนลูกๆ ที่มีครอบครัวว่า

 

ให้โกรธคนละเวลา ให้เสน่หาเวลาเดียวกัน

เวลางอนให้งอนแต่พองาม

หากงอนมากๆ เรียกว่า งอ แล้ว ไม่ใช้งอน

หากงอแล้วก็จะไม่งาม

 

เหมือนงาช้าง จะให้สวยก็ต้องงอนพอดีๆ

หากงาช้างงอนมากไป ก็เป็นงาช้างงอ

ไม่สวย เพราะขาดความพอดี

 

คนจะรักกัน จะเป็นคู่บุญบารมี คู่ทุกข์คู่ยาก กันได้

ต้องมีศรัทธา ศีล ทิฏฐิ ที่เสมอกันจึงจะอยู่กันได้

อย่างนี้เรียกว่า อยู่กันอย่างคู่บุญบารมี อย่างคู่ทุกข์คู่ยาก

มีสุขก็สุขด้วยกัน มีทุกข์ก็ทุกข์ด้วยกัน

ช่วยเหลือเกื้อกูลกันไป

 

หากต่างไปจากนี้ก็จะกลายเป็นคู่เวรคู่กรรมกันไป

 

คนจะอยู่เป็นครอบครัวเดียวกัน ต้องมี 8ย คือ

2ย ยืดหยุ่น

2ย ยินยอม

2ย ยอย่อง

2ย เยือกเย็น

จึงจะอยู่กันอย่างผาสุข

ทั้ง 8 ย นี้ได้ใช้ในการดูแลคนไข้ไปหลายราย ทุกรายที่ได้ยิน จะมีสีหน้าของการตื่น

ตื่นจากความหลับไหล ตื่นจากความลืม

และ คนเหล่านั้น ก็กลับมาพบหมอใหม่ด้วยความสดใสในความสัมพันธ์มากกว่าเดิม

ธรรมะของหลวงพ่อ เป็นยาขนานเอกให้เขา

หลวงพ่อเหมือนคนคิดค้นยา

เราเป็นหมอผู้ใช้ยา ที่ต้องรู้ว่าเมื่อใดควรจ่ายยาตัวใด ปริมาณแค่ไหน

เหมาะกับคนไข้แบบใด

หากจ่ายยาผิด ยานี้ต่อให้ดีอย่างไร ก็ไม่อาจรักษาเขาได้

จะโทษว่ายาหลวงพ่อไม่ดี ก็หาได้ไม่

จะโทษคนรับยา ว่าไม่เข้ากับยาเอง ก็หาได้ไม่

หากจะโทษ  ก็คงจะต้องโทษที่คนจ่ายยา

 

อาจมีบางท่านเมื่อได้อ่าน แล้วนึกสงสัยว่า

เหตุใดพระท่านต้องมายุ่งเรื่องครอบครัว คู่ครอง

เข้าใจว่า ท่านมิได้จะยุ่งกับเรื่องโลกีย์วิสัย

แต่อย่างไรเมื่อต้องทำหน้าที่สั่งสอนญาติโยมผู้ยังเป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน

สิ่งเหล่านี้จึงไม่อาจเลี่ยงได้

 

ในพระไตรปิฏก อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปุปผวรรคที่ ๔

ได้กล่าวถึง คำสอนของท่าน ธนญชัยเศรษฐี

ที่ได้สอนลูกสาวคือ นางวิสาขา ผู้เต็มเปี่ยมด้วยลักษณะของเบญจกัลยาณี

และกำลังจะออกเรือน

ท่านสอนถึงสิ่งที่พึงกระทำและไม่พึุงกระทำในฐานะสะไภ้เอาไว้

เป็นโอวาท ๑๐ ข้อ ดังนี้ว่า


               "แม่ ธรรมดาหญิงที่อยู่ในสกุลพ่อผัวแม่ผัว

                         ไม่ควรนำไฟภายในออกไปภายนอก,
                         ไม่ควรนำไฟภายนอกเข้าไปภายใน,
                         พึงให้แก่คนที่ให้เท่านั้น,
                         ไม่พึงให้แก่คนที่ไม่ให้,
                         พึงให้แก่คนทั้งที่ให้ทั้งที่ไม่ให้,
                         พึงนั่งให้เป็นสุข,
                         พึงบริโภคให้เป็นสุข,
                         พึงนอนให้เป็นสุข,
                         พึงบำเรอไฟ,
                         พึงนอบน้อมเทวดาภายใน"

               ก็โอวาทนี้สามารถอธิบายให้ละเอียดลึกซึ้งได้ดังนี้

1. "ไม่ควรนำไฟภายในออกไปข้างนอก"

หมายความว่า "เมื่ออยู่บ้านสามี เรื่องอันใดที่ไม่ชอบใจเมื่อเกิดขึ้นในบ้านนั้น อย่านำไปเล่าใให้คนนอกบ้านฟัง หรือแม้แต่คนรับใช้ก็ไม่ได้ เพราะจะยังความเสื่อมเสียแก่วงศ์ตระกูล

 

2. "ไม่ควรนำไฟภายนอกเข้าไปภายใน"

หมายความว่า "เรื่องราวไม่ดีที่เกิดขึ้นนอกบ้าน อันเกี่ยวข้องกับ พ่อแม่สามี สามี หรือตน  เราไปรู้ไปได้ยินมา ก็ไม่ควรนำมาเล่าต่อในบ้าน เพราะจะทำให้เกิดการกินแหงแคลงใจกัน ทะเลาะกัน และอยู่ไม่เป็นสุข

 

3. "เจ้าควรให้แก่ชนทั้งหลายที่ให้เท่านั้น"

หมายความว่า "ควรให้ แก่คนที่ถือเครื่องอุปกรณ์ที่ยืมไปแล้ว ส่งคืนเท่านั้น."

 

4. "ไม่ควรให้แก่คนที่ไม่ให้"

หมายความว่า "ไม่ควรให้แก่ผู้ที่ถือเอาเครื่องอุปกรณ์ที่ยืมไปแล้วไม่ส่งคืน."

5. "ควรให้แก่คนทั้งที่ให้ทั้งที่ไม่ให้"

หมายความว่า "เมื่อญาติและมิตรยากจนมาถึงแล้ว, ชนเหล่านั้น อาจจะใช้คืน หรือไม่อาจก็ตาม, ให้แก่ญาติและมิตรเหล่านั้นนั่นแหละ ควร."

6. "พึงนั่งเป็นสุข"

หมายความว่า "การนั่งในที่ๆ เห็นแม่ผัวพ่อผัวและสามีแล้วต้องลุกขึ้น ไม่ควร."

7. "พึงบริโภคเป็นสุข"

หมายความว่า "การไม่บริโภคก่อนแม่ผัวพ่อผัวและสามี เลี้ยงดูท่านเหล่านั้น รู้สิ่งที่ท่านเหล่านั้น ทุกๆ คนได้แล้วหรือยังไม่ได้ แล้วตนเองบริโภคทีหลัง จึงควร."

8. "พึงนอนเป็นสุข"

หมายความว่า "ไม่พึงขึ้นที่นอน นอนก่อนแม่ผัวพ่อผัวและสามี, ควรทำวัตรปฏิบัติที่ตนควรทำแก่ท่านเหล่านั้นแล้ว ตนเองนอนทีหลัง จึงควร."

9. "พึงบำเรอไฟ"

หมายความว่า "การเห็นทั้งแม่ผัวพ่อผัวทั้งสามี ให้เป็นเหมือนกองไฟและเหมือนพระยานาค จึงควร."

10. "พึงนอบน้อมเทวดาภายใน"

หมายความว่า "การเห็นแม่ผัวพ่อผัวและสามี ให้เป็นเหมือนเทวดา จึงสมควร."
              

จะเห็นได้ว่า แม้ในพระไตรปิฏกก็ได้บันทึกสิ่งที่มีคุณค่าและคุณประโยชน์

ต่อการใช้ชีวิตเอาไว้ ไม่ว่าชนทั้งหลายเหล่าใด จะเป็นเพศภาวะใด ทั้งบรรพชิต

และ คฤหัสถ์  ทั้งที่เวลาผ่านกาลล่วงมากว่า 2500 กว่าปี

พระธรรมคำสั่งสอนเหล่านี้ก็ยังคงเป็น "อกาลิโก"

คือ ทุกท่านสามารถหยิบฉวยนำไปใช้ได้ไม่จำกัดกาลสมัย

แม้เวลาผ่านไปเนิ่นนานเพียงใด

พระสัทธรรมนี้ก็ยังยั่งยืนเสมอไป

 

ขออานิสงส์แห่งการเรียบเรียงธรรมะนี้

จงเป็นภารวปัจจัยให้ท่านทั้งหลายเจริญในธรรมะอย่างถูกต้องดีงามยิ่งๆ ขึ้นเทอญ

 

ที่มารูปภาพ :  internet

 

 

หมายเลขบันทึก: 463171เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2011 18:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท