บรรยากาศแห่ง “การจัดการเรียนรู้ KM”


Journal  ครั้งที่ 11

เรื่อง   บรรยากาศแห่ง “การจัดการเรียนรู้ KM”

 

@กราบเรียน     ท่านอาจารย์ ดร.ประเสริฐ  มงคลที่เคารพรัก

           

                        สัปดาห์นี้ทางคณะครุศาสตร์ ในฝ่ายงาน KM ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับคณาจารย์ภายในคณะโดยมีประเด็นที่แต่ละคนเตรียมเพื่อนำมาแลกเปลี่ยนคือ เทคนิคการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  ผู้เรียนมีความสุขในการเรียนรวมไปถึงการปลูกฝังคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของคณะในเรื่องการมีคุณธรรม จริยธรรม ภายใต้บรรยากาศของความเป็นอาจารย์รุ่นพี่ รุ่นน้องซึ่งกิจกรรมเริ่มต้นจากการที่ให้แบ่งกลุ่มๆ  ละ 4 คน และแลกเปลี่ยนความรู้กันในกลุ่มและนำเรื่องที่กลุ่มเลือกสรรว่าดีที่สุดมานำเสนอ หนูได้เก็บเทคนิคที่น่าสนใจบางเทคนิคมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

 

อาจารย์ผู้สอนสาขาภาษาอังกฤษ : ได้นำเสนอวิธีการสอนที่เรียกว่า  “shopping idea”

คือการที่อาจารย์ให้ concept กว้างๆ เกี่ยวกับการหัวข้อหรือเนื้อหาสาระแล้วให้นักศึกษาคิดประเด็นย่อยๆ และนำเสนอการขายความคิดหรือขายไอเดียในประเด็นที่ได้รับ ทำให้นักศึกษาได้ศึกษาความรู้แล้วยังต้องคิดวิธีการนำเสนอเพื่อนๆ ในห้องให้สนใจในประเด็นนั้น ทั้งนี้วิธีการนำเสนอก็คือการจัดนิทรรศการหรือจัดบู๊ธที่ห้องประชุมขนาดกลาง ที่รองรับจำนวนนักศึกษาประมาณ 50 คนได้ สิ่งที่นักศึกษาได้รับคือความกระตือรือร้น กระตุ้นการเรียนรู้และเพิ่มความคิดสร้างสรรค์

อาจารย์ผู้สอนสาขาภาษาไทย นำเสนอวิธีการสอนแบบโดยใช้เสียงเพลงบรรเลง

อาจารย์ผู้สอนมีแนวคิดว่าการสร้างบรรยากาศในการเรียนการสอนเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี ได้ศึกษาว่าเสียงเพลงบางประเภทเช่น เพลงบรรเลงคลาสสิก ของโมสาร์ต โขแปงจะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ได้ดี คือ จะมีการแบ่งประเภทบทเพลงบรรเลงว่า หากเป็นช่วงนักศึกษาต้องมีสมาธิในการทำงาน อ่านหนังสือ ของตนเองก็จะมีเพลงบรรเลงประเภทหนึ่ง และหากต้องการให้นักศึกษาร่วมกิจกรรมและสร้างบรรยากาศการแข่งขันกันก็จะมีเพลงบรรเลงอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งอาจารย์ผู้สอนบอกว่าวิธีการนี้ได้ทำให้นักศึกษาผ่อนคลายและเกิดสุนทรียภาพในการเรียนได้

สำหรับตัวหนูเอง...พบว่า

ผู้สอนควรการเลือกวิธีการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับธรรมชาติของผู้เรียน เช่น ได้พบว่าการสอนโดยใช้วิธีการ PBL (Project Based Learning) เมื่อนำไปใช้กับนักศึกษาหลายสาขาเช่น ภาษาไทย ปฐมวัย ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษา วิเคราะห์ได้ว่าสาขาสังคมศึกษาเป็นสาขาที่วิธีการ PBL นำไปใช้ได้ดีที่สุด เริ่มตั้งแต่การคิดโครงการที่หลากหลาย การจัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์ และได้รับความร่วมมือจากผู้อื่น/ชุมชนเป็นอย่างดี รวมถึงการนำเสนอโครงการมีความน่าสนใจเพราะธรรมชาติของนักศึกษาสาขาสังคมศึกษา ชอบการทำกิจกรรม เป็นกลุ่ม การมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่นเป็นอย่างดี  จึงสรุปได้ว่าเทคนิคการสอนหากจะทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดผู้สอนควรพิจารณาผู้เรียนหรือกลุ่มเป้าหมายที่ต้องจัดการเรียนรู้ให้เป็นสำคัญ

 

                        จากกิจกรรมนี้อาจารย์รุ่นน้องหลายคนได้แสดงความรู้สึกและขอบคุณกิจกรรมดีดีที่ทำให้ได้รู้จักกันอีกทั้งได้รับความรู้ เทคนิควิธีการที่ดีที่แต่ละคนสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับผู้เรียนของตน แต่สิ่งหนึ่งที่หนูอยากจะขอแสดงความคิดเห็นคือ ประเด็นของบรรยากาศการทำ KM ควรจะเป็นบรรยากาศที่เป็นกันเองภายใต้สภาพห้องที่ทุกคนสามารถนั่งรวมเป็นกลุ่มๆ มากกว่าห้องประชุมที่หันหน้าไปทิศทางเดียวกันก็เป็นสิ่งที่จะได้นำไปเสนอต่อคณะผู้จัดอีกครั้งเพื่อให้การทำกิจกรรม KM มีมิติที่เหมาะกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จริงๆ

                       

 

ด้วยความเคารพรักอาจารย์อย่างสูง

น.ส.สุจิตรา ปันดี  54253910

ศิษย์สาขาหลักสูตรและการนิเทศ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 463109เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2011 10:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท