Leo Szilard (1)


ลองเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านประวัติบุคคลที่น่าสนใจ

Leo Szilard เป็นชื่อนักฟิสิกส์ชาวฮังกาเรียน-ยิว ที่ทำงานอยู่ในเยอรมัน

เขาเป็นคนที่อยู่ฉากหลังเหตุการณ์สำคัญของโลกยุคใหม่ แต่เกือบเป็นคนนิรนามสำหรับคนที่อยู่นอกวงการ

สิ่งที่น่าทึ่งของเขาคือการมองการณ์ไกล

อยากรู้ว่า คำว่า "วิสัยทัศนระยะสั้น" เป็นอย่างไร ต้องศึกษาตัวอย่างจากซิลลาร์ด เพราะเขามองไปล่วงหน้าได้หลายปี

ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สังคมเยอรมันสับสนเพราะเศรษฐกิจพังพินาศ เงินเฟ้อเหลือเชื่อ มีตำนานเล่าว่าหญิงชราเข็นเงินใส่เกวียนไปซื้อขนมปัง เผลอเดี๋ยวเดียว เกวียนหาย แต่เงินยังอยู่ครบ โจรไม่เอาไปด้วย เพราะหนัก (ไม่มีตัวเลขว่าเฟ้อไปกี่เท่า แต่ให้เห็นภาพร่วมยุค ราวสิบกว่าปีมานี้เอง สมัยของสโลโบดาน มิโลโซวิก คนที่เพิ่งตายในคุกศาลโลก ทำให้เงินเฟ้อไป 3 ล้านเท่า จึงทำให้ผู้คนอาลัยถึงเป็นอันมากว่าไม่น่าด่วนตายจาก ควรอายุยืนกว่านี้มาก ๆ ได้ถึงหลายหมื่นปีจะดีนัก) เกิดความสับสนทางการเมืองตามมาไม่หยุด

กรณีเยอรมันยุคหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สอนบทเรียนที่สำคัญบทหนึ่ง

"วิบัติทางเศรษฐกิจ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามมา โดยจะเกิดระบบการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ"

ฮิตเลอร์อาศัยสภาพสังคมปั่นป่วนแจ้งเกิดทางการเมือง จนถึงจุดหนึ่ง ก็ทำรัฐประหาร แต่ไม่สำเร็จ ถูกจับขังคุก ช่วงโดนขัง เขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่ง (เคยเห็นมีคนแปลวางขายเมื่อไม่นานนี้เอง) เล่าชีวิตทางการเมือง และอุดมการณ์ของเขา ซึ่งหนังสือเล่มนี้ ทำให้เขายิ่งมีชื่อเสียงและมีพลังทางการเมืองมากกว่าตอนก่อนโดนขังเสียอีก 

หลังจากฮิตเลอร์พ้นโทษจากคุกโทษฐานรัฐประหาร พรรคนาซีของเขาชูธง "ฆ่าคอมมูนิสต์ ฆ่ายิว" เพื่อปลุกระดมผนึกความสามัคคีของคนในชาติ เกิดชาตินิยมแรงกล้า พรรคนี้ได้รับเลือกตั้ง เมื่อได้เข้าสภาก็ป่วนสภา ยุบเลือกตั้งใหม่กี่ครั้ง ๆ พรรคก็ยิ่งโตขึ้นเรื่อย ๆ และระดับการป่วนเมือง-ป่วนสภา ก็ยิ่งแก่กล้า โดยมีแก๊งอันธพาลเป็นมือไม้นอกระบบ

ประธานาธิบดีจนปัญญากับรัฐสภาที่เสียงแตกและปั่นป่วน ยอมให้ฮิตเลอร์ได้ขึ้นมาเป็น Chancellor ภายใต้อาณัติประธานาธิบดี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ประธานาธิบดีตั้งขึ้นลอย ๆ เพื่อหวังว่าฮิตเลอร์จะสงบเสงี่ยมทางการเมืองลงได้

วันแรกที่ดำรงตำแหน่ง Chancellor เขาก็ยุให้ประธานาธิบดียุบสภา

ยุบสภาปุ๊บ ก็มีมือมืดเผา Reichstag (ทำเนียบรัฐบาล) ทันที

ผลการของเผาทำเนียบรัฐบาล ที่นักประวัติศาสตร์รุ่นหลังปักใจเชื่อว่าเป็นฝีมือลิ่วล้อของฮิตเลอร์นี้เอง ทำให้ประธานาธิบดีเซ็นผ่านกฎหมายมอบอำนาจภาวะฉุกเฉินให้ฮิตเลอร์

หลังจากนั้นฮิตเลอร์ก็กุมอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองประเทศ เพียงผู้เดียวจนจบสงครามโลกครั้งที่สอง โดยใช้รูโหว่ทางกฏหมายนี้เป็นจุดตั้งต้น

มีฝรั่งกล่าวถึงการกุมอำนาจนี้ว่า "In the end, Hitler did not TAKE power at all – he was given it."

ไม่ต้องยึดอำนาจ มีคนประเคนถึงมือ 

ถือเป็นตำนานการเปลี่ยนจากรัฐประชาธิปไตยไปเป็นรัฐเผด็จการ โดยผ่านกลไกทางรัฐสภาที่คลาสสิคที่สุดชิ้นหนึ่งของโลก ที่คนทั่วไปยังเข้าใจผิด ว่าฮิตเลอร์ยึดอำนาจโดยใช้กำลัง ทั้งที่เขามาจากเส้นทางประชาธิปไตย

จากอำนาจของกฎหมายภาวะฉุกเฉินที่ส่งถึงมือนี้ ฮิตเลอร์เริ่มต้นด้วยการกวาดล้างผู้มีความคิดเห็นทางการเมืองที่ต่างไป และใช้สื่อเพื่อการเป็นกระบอกเสียงให้รัฐ ถือโอกาสแปลงเยอรมันเป็นรัฐทหาร

ลำดับเหตุการณ์นี้ จอร์จ ลูคัส ลอกไปใช้แบบเย้ยฟ้าท้าดิน ไม่ต้องทำการบ้านเอง ใส่ไว้ใน Star Wars Episode III แทบจะเป็นแบบฉากต่อฉาก (รู้ทั้งรู้ว่าพล็อตน้ำเน่าปานนั้น แถมลอกเค้ามาซะอีก แต่ก็ยังดู)

ใน Episode III นี้ Dart Lord of Sith ขึ้นมาเป็น Chancellor โดยรับหาเหตุออกกฎหมายให้อำนาจทางทหารเด็ดขาดแก่ตัวเอง โดยความเห็นชอบจากสภาของสมาพันธ์การค้า พอได้แล้วก็กวาดล้างขุมอำนาจดั้งเดิม แล้วเปลี่ยนสมาพันธ์การค้าไปเป็นจักรวรรดิ เปลี่ยนตัวเองเป็นจักรพรรดิ และกองกำลังของจักรวรรดิในหนังเรื่องนี้ ก็ใช้ชื่อว่า Storm Troopers เหมือนกัน

แล้ว Szilard อยู่ที่ไหนในเหตุการณ์นี้ ?

ตั้งแต่ก่อนฮิตเลอร์ได้เป็น Chancellor เสียอีก เขามีกระเป๋าเดินทางสองใบตั้งเตรียมไว้ในห้องพักตลอด

พอเกิดเหตุวุ่น ๆ ที่ทำเนียบข้างต้น เขาก็หิ้วกระเป๋าเดินทางออกจากเยอรมันทันทีเพื่อไปลี้ภัยดาบหน้า เขาเล่าในบันทึกว่า วันที่เขาออกเดินทาง รถไฟที่นั่ง โล่งทั้งขบวน ไม่มีใครมาสนใจตรวจไปตลอดทาง เขาลี้ภัยออกนอกประเทศก่อนที่ใครต่อใครจะมองออกว่า จะเกิดอะไรขึ้นในเยอรมันต่อไป

วันรุ่งขึ้น ชาวยิวแห่หนีตายอลหม่านออกจากเยอรมัน รถแน่นจนไม่มีแม้ที่ยืน ล้นไปถึงหลังคา และมีการตรวจถี่ยิบไปตลอดทาง

เขาคิดอย่างไร เขามองเห็นอะไรล่วงหน้า จึงทำเช่นนั้น น่าคิดอยู่ไม่น้อย ตำนานเล่าว่า ตอนวัยรุ่น เขาคาดการณ์ถูกว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และเมื่อโตแล้ว เพียงทราบข่าวว่ามีการตั้งพรรคนาซี เขาก็คาดล่วงหน้าได้ถึงชะตากรรมของเยอรมันนีว่าจะหักเหไปทิศทางใด

ยุคนั้น ทฤษฎีควอนตัมทำนายว่าพลังปรมาณูมีอยู่ แต่ยังไม่รู้ว่าจะดึงออกมายังไง แต่นักฟิสิกส์ยุคนั้นเชื่อว่า คงมีหนทาง เขารู้ว่าตนเองเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ไม่กี่คน ที่มีศักยภาพสร้างระเบิดปรมาณู เขาจึงรีบลี้ภัยตั้งแต่ทางยังโล่งสะดวก 

เขาสรุปภายหลังว่า

"ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จ คุณไม่จำเป็นต้องเก่งกว่าคนอื่น คุณแค่เร็วกว่าคนอื่นวันเดียวก็พอ"

นักกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่คนหนึ่งของโลกตะวันตกก็เคยว่าไว้อย่างน่าคิดในทำนองเดียวกัน เพื่อนิยามบริษัทในยุคโลกาภิวัฒน์

"รางวัลของการแข่งขันยุคนี้คือการอยู่รอด เพื่อได้แข่งขันต่อไป

แต่หากคุณอยากชนะ คุณต้องอยู่ล้ำหน้าการแข่งขัน"

คนที่จะเร็วกว่าคนอื่นได้ ไม่เพียงต้องมีสมอง แต่ต้องใส่ใจเรื่องรอบตัว และใจถึง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ยากจะพบพร้อมกัน

ค่อยว่าต่อภาค 2 ครับ

หมายเลขบันทึก: 46268เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2006 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 20:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท