การประยุกต์แนวคิดพื้นฐานในการทำงานประเด็นเด็กไทยกับไอซีทีในยุค ศตวรรษที่ ๒๑ มาสู่การทำงานจริง


เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารสื่อสารองค์ความรู้ : คิดใหม่ ทำใหม่ ใช้ออนไลน์สร้างสรรค์ เด็กไทยในศตวรรษที่ ๒๑ กับการใช้สื่อใหม่ ในการประชุมวิชาการประจำปีของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล

จากแนวคิดพื้นฐานในการทำงานเรื่องเด็กกับไอซีที ในส่วนนี้จะเป็นการนำเสนอถึงองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการทำงาน  เครืื่องมือในการทำงาน และ การออกแบบการบริหารจัดการภายใต้แนวคิดเรื่องการร่วมทุนทางสังคม

(๑)             วัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่ : แนวคิดใหม่ต่อยอดจากฐานแนวคิดเดิม

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รูปแบบ พฤติกรรมในการใช้งาน และ การเติบโตของเครือข่ายเด็กหัวใสฉลาดใช้ไอซีที ทำให้แนวคิดในการจัดการเริ่มให้น้ำหนักกับการสร้างวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่มากขึ้น เพื่อทำงานคู่ขนานไปกับ การปราบปรามสื่อที่ไม่ปลอดภัยหรือขัดต่อกฎหมาย และ การคุ้มครองเด็กในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

แนวคิด “การสร้างวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่” ประกอบด้วยทักษะสำคัญ ๒ ส่วนกล่าวคือ (๑) ทักษะการเรียนรู้เท่าทันสื่อใหม่ ซึ่งเป็นฐานแนวคิดเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยการเรียนรู้เท่าทันสื่อนั้น จำแนกได้เป็นการรู้เท่าทันใน ๓ เรื่องคือ เท่าทันสารสนเทศ เท่าทันการสื่อสาร เท่าทันเทคโนโลยี) และ ส่วนที่สองคือ ทักษะการใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม ซึ่งเป็นทักษะที่ต่อยอดจากทักษะด้านการเรียนรู้เท่าทันสื่อ หมายความว่า นอกจากจะรู้เท่าทันสื่อและ ยังสามารถรู้จักเลือกใช้ และ ใช้ไอซีทีเป็น “เครื่องมือ” ในการทำงานเพื่อการพัฒนาได้อีกด้วย

(๒)             ความรู้ใหม่บนฐานความรู้เดิม 

ความรู้ในการทำงานบนฐานแนวคิดใหม่ในเรื่องการสร้างวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่ของเด็ก เยาวชน ประกอบด้วยองค์ความรู้หลัก ๕ เรื่อง กล่าวคือ  

เรื่องที่ ๑         วัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่ ประกอบด้วย ๓ ทักษะ หลัก กล่าวคือ (๑) ทักษะในการเรียนรู้เท่าทันสื่อ (๒) ทักษะการใช้สื่อเพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง ชุมชนและสังคม และ (๓) ทักษะด้านกติกาพื้นฐานในการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต

เรื่องที่ ๒         ทักษะในการเรียนรู้เท่าทันสื่อใหม่ ประกอบด้วย การเรียนรู้ใน ๓ เรื่องหลัก คือ (๑) การเรียนรู้เท่าทันสารสนเทศ เช่น การชั่งน้ำหนักความถูกต้องแท้จริงของข้อมูล การเลือกใช้ข้อมูล (๒) การเรียนรู้เท่าทันการสื่อสาร เช่น การเลือกใช้รูปแบบของเครื่องมือในการสื่อสาร การรู้เท่าทันรูปแบบหรือวงจรธุรกิจด้านการสื่อสาร และ (๓) การเรียนรู้เท่าทันเทคโนโลยี เช่น ปัญหาไวรัสคอมพิวเตอร์ ปัญหาการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคล การใช้โปรแกรมการดูแลความปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

เรื่องที่ ๓         การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการพัฒนา สามารถจำแนกแนวทางในการใช้สื่อใหม่ได้เป็น ๒ ระดับ คือ ระดับที่ ๑ การใช้สื่อใหม่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง หมายถึง ความสามารถ หรือ ทักษะในการเลือกใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อตอบสนองต่อการทำงานของตนเอง และ ระดับที่ ๒ การใช้สื่อใหม่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนและสังคม

เรื่องที่ ๔         การใช้สื่อใหม่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนและสังคม ยังสามารถจำแนกได้เป็น ๕ แนวทาง คือ

(๑) การใช้สื่อใหม่เพื่อการพัฒนาการเรียนการสอน หรือ การ “ศึกษา” เป็นการใช้ไอซีทีเพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้หรือเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เนื้อหาในระบบการเรียนการสอน รวมไปถึงการใช้ไอซีทีในการสร้างโอกาสการเรียนรู้ เช่น ทีมด้วยลำแข้ง จาก โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี ผลงาน มิวสิควีดีโอเพลง Double Angle สอนเรื่องตรีโกณมิติ ในการประกวดโครงการ Skoolbuz award  การประกวดสื่อการเรียนการสอนที่ทำให้ชีวิตนักเรียนง่ายและสนุก โดย ผลงานนี้เกิดจากความต้องการสื่อสารเนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์ที่ยากให้เพื่อน ๆ เข้าใจได้ง่าย โดยทำเป็นมิวสิควีดีโอ ผลงานนี้มีอาจารย์สอนคณิตศาสตร์เป็นที่ปรึกษา หรือ กรณีนักเรียนจาก โรงเรียนบางละมุง ส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการประกวดเนื้อหาสื่อการเรียนการสอนของ thinkquest  และเป็นแกนนำเยาวชนใช้ไอซีทีเชิงสร้างสรรค์ในโรงเรียนบางละมุง เป็นต้น

(๒) การใช้สื่อใหม่เพื่อการพัฒนาการ “สื่อสาร” ภาคพลเมือง หรือ นักข่าวไซเบอร์ รวมทั้งเป็นการใช้ไอซีทีเป็นสื่อ พื้นที่ หรือเครื่องมือในการสื่อสารสาธารณะ ในประเด็นต่างๆ อาทิ โครงการ ideas…ประเทศไทย (Ideas for Thailand) “เมืองไทย คุณสร้างได้” เพื่อให้เกิดพื้นที่ในการนำเสนอความคิดดีๆ ในการพัฒนาประเทศไทย หรือ กรณีของนักข่าวจิ๋วสวนหม่อน จากโรงเรียนสวนหม่อน จังหวัดนครราชสีมา กลุ่มศูนย์ข่าวเยาวชนไทย โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม กลุ่ม Power on TV  ศูนย์พัฒนาการศึกษาเพื่อลูกหญิง หรือ กรณีของนายเปรมพัทธ  ผลิตผลการพิมพ์  จากกลุ่ม Young film maker of  Thailand ซึ่งล้วนเป็นเครือข่ายเด็ก เยาวชนที่ใช้ไอซีที่เป็นเครื่องมือในการสื่อสารเรื่องราวของชุมชนและเรื่องราวที่ตนเองสนใจสู่สังคม

(๓) การใช้สื่อใหม่เพื่อการพัฒนา “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” เป็นการใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือในการประกอบการทางธุรกิจ เช่น แนวคิดของการพัฒนาระบบ crowd source ที่คุณอภิธนะ จีระวงศ์ไกรสร ได้นำมาใช้ในการพัฒนาเว็บไซต์ www.designniti.com เป็นการใช้แนวคิดเรื่องการให้เครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นหน่วยสำคัญในการให้ความเห็นต่อลายเสื้อที่ถูกพัฒนาขึ้นว่าแบบใด ลายใดมีความน่าสนใจ หลังจากนั้น แบบเสื้อที่ได้รับความนิยมจากเครือข่ายก็จะได้ถูกนำไปผลิตจริง โดยผู้ออกแบบลายเสื้อก็จะได้รับส่วนแบ่งจากการผลิตและจำหน่าย นับเป็นการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อสร้างมูลค่าทางธุรกิจให้กับสินค้า ทั้งยังเป็นการชิมลางจากกลุ่มผู้บริโภคว่าแบบเสื้อแบบใดเป็นที่นิยมหรือเป็นที่น่าจับตามองโดยอาศัยเครือข่ายสังคมออนไลน์เองเป็นผู้กำหนดทิศทาง ดังนั้น ในการตรวจสอบ แสวงหา แนวความคิดจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ จึงเป็นแนวคิดที่สำคัญในด้านการพัฒนารูปแบบของการทำงานผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์อีกรูปแบบหนึ่งที่มีความน่าสนใจอย่างมากสำหรับการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อการต่อยอดทางธุรกิจ

(๔) การใช้สื่อใหม่เพื่อการพัฒนา “ซอฟท์แวร์”  เป็นการใช้ความรู้ ความสามารถทางไอซีทีมาพัฒนาเป็นโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ต่างๆ เช่น www.F0nt.com ซึ่งเป็นเหมือนห้องสมุดมีชีวิตและเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนพูดคุยเกี่ยวกับงานกราฟิก งานออกแบบ ฯลฯ หรือ กรณีศึกษาจากนายพีรพัทธ์ นันนารารัตน์ เริ่มต้นจากเด็กที่ชอบเล่นเกมคอมพิวเตอร์ สามารถพัฒนาและออกแบบเกมคอมพิวเตอร์ จนกระทั่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการออกแบบและพัฒนาเกมคอมพิวเตอร์ ภายใต้ชื่อโครงการเมฆา

(๕) การใช้สื่อใหม่เพื่อการพัฒนาและขับเคลื่อน “สังคม” เป็นการใช้ไอซีทีเพื่อลดช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำทางสังคม หรือแก้ปัญหาสังคมในด้านต่างๆ ซึ่งพบว่าไอซีทีเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยลดช่องว่างในสังคมและแก้ปัญหาทางสังคมได้ เช่น www.dekyim.org เป็นเครือข่ายเด็ก เยาวชนไร้สัญชาติที่ได้รับการสนับสนุนด้านโปรแกรม autopage จากมูลนิธิกระจกเงาในการพัฒนาเว็บไซต์ที่ใช้เป็นสื่อกลางในการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเด็กเยาวชนไร้สัญชาติที่สามารถเป็นพลังของแผ่นดินได้ เป็นต้น

เรื่องที่ ๕         ปัจจัยสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายเด็กและเยาวชนมี ๒ ส่วน กล่าวคือ (๑)ปัจจัยที่เป็นตัวบุคคล กล่าวคือ พ่อแม่ ครู ชุมชน รวมไปถึงพี่เลี้ยงเครือข่ายเด็กที่จะเป็นหน่วยสนับสนุนด้านความรู้ในการทำงานด้านไอซีทีขั้นพื้นฐานและการใช้ไอซีทีเพื่อการพัฒนาสังคม ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มฟิ้ว จากไบโอสโคป ที่มีการจัดอบรมทำค่าย ฟิ้วแคมป์ โดยได้รับการสนับสนุนจากอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK Park เพื่ออบรมให้ความรู้การสร้างสรรค์ผลงานด้านสื่อทั้งภาพยนตร์สั้น มิวสิกวีดีโอ รวมทั้งแอนนิเมชั่น ทำให้เด็ก เยาวชนได้รับความรู้ในการพัฒนาผลงานและยังเป็นที่สร้างเครือข่ายเด็กเยาวชนสร้างสรรค์สื่อที่จะมีพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันอ และ (๒) ปัจจัยด้านพื้นที่ โอกาส ที่จะเป็นพื้นที่ในการแสดงผลงาน แสดงตัวตนของเด็กเยาวชนในการนำเสนอผลงานของตนเองสู่สังคมรวมทั้งยังเป็นโอกาสในการพัฒนาต่อยอดคุณค่าของผลงานทั้งในด้านทางสังคมและในทางเศรษฐกิจ

(๓)             เครื่องมือใหม่ในการทำงานที่พัฒนาจากเครื่องมือเดิม ประกอบด้วย ๔ หลักสูตร

ในส่วนของเครื่องมือในการทำงานภายใต้แนวคิดใหม่บนฐานแนวคิดเดิม หมายถึง หลักสูตรในการอบรมให้ความรู้ในการทำงานเพื่อให้เกิดการใช้งานสื่อใหม่อย่างรู้เท่าทัน และใช้อย่างสร้างสรรค์ให้กับเด็ก เยาวชน รวมทั้งการอบรมให้ความรู้กับปัจจัยที่มีส่วนสนับสนุนให้เกิดการใช้งานสื่อใหม่อย่างสร้างสรรค์

โดยในส่วนของหลักสูตรสำหรับเด็ก เยาวชน จะมี ๒ หลักสูตรหลัก กล่าวคือ (๑) หลักสูตรการเรียนรู้เท่าทันสื่อซึ่งมีการอบรมให้ความรู้โดยเครือข่ายคนทำงานด้านสื่อเพื่อเด็ก เยาวชน ภายใต้การสนับสนุนหลักจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. โดยในส่วนนี้จะมีการเพิ่มเติมให้เกิดความครอบคลุมมากขึ้นโดยจะมีทั้ง หลักสูตรการให้ความรู้เกี่ยวกับการเท่าทันข้อมูลข่าวสาร การรู้เท่าทันการสื่อสาร และ การรู้เท่าทันเทคโนโลยี[1] และ(๒) หลักสูตรการใช้สื่อเพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง ชุมชน สังคม ที่จะเน้นการส่งเสริมให้เด็ก เยาวชนมีทักษะในการใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ โดยเฉพาะใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาความรู้ ความสามารถในการทำงานของตนเอง และ สามารถใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนสังคมใน ๕ ด้าน กล่าวคือ ด้านการพัฒนาการศึกษา ด้านขับเคลื่อนสังคม ด้านสร้างคุณค่าด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้านการสื่อสารสังคมหรือสื่อสารสาธารณะ และด้านการพัฒนาซอฟท์แวร์เพื่อเป็นฐานของการทำงานในด้านต่างๆ

          นอกจากหลักสูตรที่เน้นการพัฒนาความรู้ในการใช้งานอย่างเท่าทันและสร้างสรรค์ให้กับเด็ก เยาวชน แล้วจำเป็นที่จะต้องมีหลักสูตรการพัฒนาบทบาทครู พ่อแม่ ในการสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายเด็ก เพื่อทำให้เกิดการทำงานอย่างเป็นระบบและสอดคล้อง ไม่เพียงเท่านั้น จากการศึกษาของโครงการ
จัดการองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน (ICT YOUTH CONNECT PROJECT) หรือ โครงการเด็กหัวใสฉลาดใช้ไอซีที พบว่า การให้โจทย์ท้าทายในการใช้งานไอซีทีอย่างสร้างสรรค์ให้กับเด็ก เยาวชน เป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำให้เด็ก เยาวชน มีทิศทางของการใช้งานไอซีทีอย่างสร้างสรรค์ ยกตัวอย่างเช่น โครงการประกวดนักพัฒนาซอฟท์แวร์รุ่นเยาว์ จัดโดยเนคเทค ที่จะมีการกำหนดโจทย์ท้าทายให้กับนักพัฒนาซอฟท์แวร์รุ่นเยาว์ เช่น การใช้ไอซีทีเพื่อคนพิการ เป็นผลให้ผู้เข้าร่วมประกวดต้องเรียนรู้ความต้องการของคนพิการ และ เชื่อมผสานไปกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทำให้เกิดการพัฒนาโปรแกรมสปีคอัพ (Speak up) เป็นโปรแกรมที่ช่วยทำให้ผู้พิการทางการพูด สามารถพิมพ์ข้อความแล้วแปลเป็นเสียงส่งไปยังปลายทาง ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการทางการพูดเป็นอย่างมาก

          ในส่วนสุดท้ายคือ (๔) หลักสูตรการบริหารจัดการโดยชุมชนแบบมีส่วนร่วม เพื่อทำให้เครือข่ายภาคนโยบายในชุมชน เครือข่ายทางสังคมเครือข่ายวิชาการ ได้เห็นแนวทางในการบริหารจัดการ ส่งเสริมสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายเด็ก เยาวชนในการใช้ไอซีทีอย่างสร้างสรรค์

(๔)              การจัดการรูปแบบใหม่ภายใต้แนวคิด “การร่วมทุนทางสังคม”

จากการศึกษาตัวอย่างความสำเร็จในการส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน สามารถใช้ไอซีทีอย่างสร้างสรรค์เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง และ สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาชุมชนและสังคม ภายใต้โครงการ
จัดการองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน (ICT YOUTH CONNECT PROJECT) หรือ โครงการเด็กหัวใสฉลาดใช้ไอซีที พบว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เด็ก เยาวชนสามารถใช้สื่อใหม่อย่างสร้างสรรค์ เกิดขึ้นจากการสนับสนุนการทำงานของเด็กเยาวชน โดยปัจจัยสนับสนุนทั้งที่เป็นบุคคล กล่าวคือ พ่อแม่ ครู พี่เลี้ยง และ เครือข่ายชุมชน นอกจากนั้นยังมีปัจจัยสนับสนุนด้านพื้นที่และโอกาสในการทำงาน

ยกตัวอย่างเช่น กรณีโครงการ Child Voice Radio (CVR) เป็นวิทยุคลื่นเสียงเด็ก เป็นการจัดทำข้อมูลข่าวสาร เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารในชุมชน โดยเครือข่ายเด็กเยาวชน พบว่า การทำงานของเครือข่ายเด็ก เยาวชนกลุ่มนี้ ได้รับการสนับสนุนด้านความรู้ในการทำงานจากเครือข่ายคนทำงานด้านสื่อ เช่น สำนักข่าวพลเมืองของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มูลนิธิกระจกเงา เป็นต้น และยังได้รับการสนับสนุนด้านข้อมูลจากคนในชุมชน โดยหากเครือข่ายเยาวชนกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนการทำงานในพื้นที่โดยองค์กรต่างๆในพื้นที่ ทั้งองค์กรภาครัฐ โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น องค์กรภาควิชาชีพสื่อมวลชนในท้องถิ่น จะทำให้เครือข่ายเยาวชนกลุ่มนี้สามารถขยายกลุ่มคนทำงานไปยังเครือข่ายเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายได้อย่างรวดเร็ว

หรือในกรณีของ โครงการ Thailand ICT Contest Festival  จัดโดยศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีและอิเลคทรอนิกส์แห่งชาติ (NECTEC)  และ โครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย โดยทั้ง ๒ โครงการนี้ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริม และ การกระตุ้นให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาได้มีโอกาสพัฒนาทักษะการพัฒนาซอฟต์แวร์และนำเอาความรู้ที่ได้เรียนมาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยมีครูหรืออาจารย์ที่ปรึกษาในการให้คำแนะนำในการพัฒนาผลงาน อย่างไรก็ดี โครงการประกวดดังกล่าว พบว่า เพื่อทำให้เกิดการทำงานในลักษณะต่อยอดผลลัพธ์ของการทำงาน ได้มีการร่วมทุนทางสังคมในการทำงานโครงการนี้ในประเด็นด้านการพัฒนาองค์ความรู้ กล่าวคือ เป็นการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับประสบการณ์หรือบทเรียนของเครือข่ายเด็กเยาวชน ในการใช้ไอซีทีอย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำมาซึ่งองค์ความรู้ในการทำงานกับกลุ่มเด็ก เยาวชนในกลุ่มอื่นๆ โดยมีการทำงานร่วมกับ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล และองค์กรสนับสนุนด้านงบประมาณในการทำงาน เช่น มูลนิธิสยามกัมมาจล

โดยในการทำงานในระยะต่อไป เริ่มมีการหารือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการ “ร่วมทุนทางสังคม” เพื่อทำให้เกิดการต่อยอดผลลัพธ์ทั้งในเชิงคุณค่าและเศรษฐกิจ โดย หารือในประเด็นการทำงานในอีก ๓ ส่วนเพิ่มเติม กล่าวคือ (๑) การการเพิ่มและขยายโอกาสให้มีความหลากหลายของกลุ่มเด็ก เยาวชนมากขึ้น ซึ่งสามารถทำงานภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (๒) การเพิ่มคุณค่าทางสังคมให้กับเครือข่ายเด็กเยาวชน และ ผลงานที่เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ของเครือข่ายเด็กโดยมีการหารือร่วมกับ นักข่าวพลเมือง ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในการสื่อสารเรื่องราวความสำเร็จของการทำงานของเครือข่ายเด็ก เยาวชน เพื่อทำให้เกิด “ต้นแบบ” ด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่ (๓)การพัฒนาโจทย์ในการทำงานที่ท้าทายและสอดคล้องกับสภาพในสังคม เช่น มีการหารือกับกระทรวงศึกษาธิการในการตั้งโจทย์ด้านการพัฒนาซอฟท์แวร์เพื่อรองรับการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ในการทำงานทั้งในระดับภาพรวมและในระดับท้องถิ่น ประเด็นสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงนอกจาก การสร้างและพัฒนาให้เกิดเครือข่ายเด็ก เยาวชน ที่สามารถใช้ไอซีทีอย่างสร้างสรรค์แล้วยังต้องคำนึงถึง การร่วมทุนทางสังคมระหว่างหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้เกิดการขยายผลของการทำงานทั้งด้านความรู้ ด้านเครือข่ายคนทำงาน ด้านงบประมาณในการทำงาน โดยเฉพาะการต่อยอดผลลัพธ์ของผลงานทั้งในทางสังคม ผ่านเครือข่ายสื่อสาธารณะ หรือ สื่อท้องถิ่น และ การต่อยอดคุณค่าในทางเศรษฐกิจ ร่วมกับเครือข่ายภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการ



[1] กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร , กรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระยะพ.ศ.๒๕๕๔-๒๕๖๓  (ICT2020) 

หมายเลขบันทึก: 462602เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2011 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 04:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

งานเขียนอันนี้แสดงจุดยืนของอ.โก๋ในเรื่องการจัดการไอซีทีเพื่อเด็กใช่ไหมคะ หรือเป็นการตรวจสอบสถานการณ์ด้านแนวคิดทั่วไป แต่คงไม่ใช่นะคะ เพราะคนจำนวนหนึ่งในสังคมไทยไม่คิดแบบโก๋ หรือคิดแบบโก๋ แต่ก็ไม่ทำแบบโก๋

ขอบคุณครับ อ.แหวว ที่ทำให้คิดมากขึ้น

ข้อเสนอข้างบนเป็นการแสดงให้เห็นจุดยืนในทางวิชาการในการทำงานด้านเด็กกับไอซีทีครับ

ตอนนี้พยายามตรวจสอบแนวคิดเรื่องนี้ครับ ว่า ในแง่ "สิ่งที่ควรจะเป็น" ในเรื่องนี้ควรเป็นอย่างไร ข้อเสนอของผมต่อสังคมในเรื่องนี้ ถ้าเป็นแบบที่เสนอมา จะดีไหม

ปิยยส เชื่อมชิต (หยก)

ครับ ขอสนับสนุนด้านกำลังใจนะครับ โปรแกรม Speak Up ถือว่าดีมากครับ ผมชอบบ

ตอนนี้มีให้โหลดที่ไหนครับรออยู่นะครับ หรือไม่ก็รบกวน ส่งให้หน่อยทางเมลนะครับ

ผมรออยู่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท