มโนทัศน์การสอนจริยธรรมทางธุรกิจ


 

ดร. สมบูรณ์ แซ่เจ็ง
24 กันยายน 2554
บทความนี้ได้ปรับปรุงจากบทความเดิมที่เคยเขียนไว้เมื่อปี 2549

     ในภาวะที่เศรษฐกิจเกิดความผันผวนไม่แน่นอนอย่างในปัจจุบัน บรรดาองค์กรธุรกิจต่างก็ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด กลยุทธทางการตลาด และการบริหารจัดการทุกรูปแบบ ถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการผลิต การพาณิชย์ และธุรกิจการเงิน ต่างก็หลีกไม่พ้นภาวะการแข่งขันเช่นนี้ ประกอบกับพฤิตกรรมของคนในสังคมก็เริ่มเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ความแมตตาอารีอารอบ ความเอื้อเฟื้อ ความยุติธรรม เริ่มหาได้ยากขึ้น แต่กลับมีความโลภ ความก้าวร้าว แก่งแย่งเห็นแก่ตัว ผุดขึ้นมาแทนที่อย่างดาษดื่น ถึงกับมีนักวิชาการหลายท่านกล่าวว่า "ต่อไปครูจะสอนจริยธรรมให้แก่ศิษย์ได้ยากขึ้น เพราะไม่สามารถหาแบบอย่างที่ดีให้ศิษย์เห็นได้" หากสภาพที่กล่าวถึงนั้นเป็นความจริง ก็นับเป็นปัญหาที่ท้าทายยิ่งสำหรับครู โดยเฉพาะครูธุรกิจศึกษาทั้งหลาย ซึ่งมีหน้าที่สอนผู้เรียนให้รู้จักโลกของธุรกิจและการทำธุรกิจ ในขณะที่นักธุรกิจก็เป็นกลุ่มที่กำลังถูกสังคมมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาทางจริยธรรมที่กำลังเกิดขึ้น จึงดูเหมือนว่าครูธุรกิจศึกษากำลังถูกสังคมตั้งคำถามในประเด็นที่ว่า ครูจะสอนศิษย์อย่างไรให้เป็นนักธุรกิจที่มีจริยธรรม ท่ามกลางสังคมที่กำลังดิ่งลงสู่เหวแห่งความไร้จริยธรรมในปัจจุบัน ดังนั้นข้อคิดความเห็นในวันนี้ จึงใคร่ขอเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการสอนจริยธรรมทางธุรกิจในมุมมองของผู้เขียน เพื่อจุดประกายให้ท่านผู้อ่านได้ช่วยกันขยายและเติมเต็มแนวคิด อันเป็นหนทางให้ครูสามารถบูรณาการจริยธรรมไปกับเนื้อหาวิชาธุรกิจได้อย่างมีคุณภาพ

ความหมายของจริยธรรม
      จริยธรรม (Ethic) เป็นคำนามที่มีความหมายตามที่ปรากฎในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ว่าหมายถึง ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ, ศีลธรรม, กฎศีลธรรม นอกจากนี้ยังมีคำอื่นที่มีความหมายเกี่ยวข้อง เช่น จริยศาสตร์ ซึ่งหมายถึง ปรัชญาสาขาหนึ่งว่าด้วยความประพฤติและการครองชีวิตว่า อะไรดีอะไรชั่ว อะไรถูกอะไรผิด หรือ อะไรควรอะไรไม่ควร หรือคำว่า จริยศึกษา ที่หมายถึงการศึกษาเกี่ยวกับความเจริญงอกงามในทางความประพฤติและการปฏิบัติตน เพื่อให้อยู่ในแนวทางของศีลธรรมและวัฒนธรรม ดังนั้นจึงพอจะประมวลได้ว่า จริยธรรม เป็นเรื่องของการประพฤติปฏิบัติในกรอบของคุณธรรมความดี ซึ่งน่าจะครอบคลุมทั้งการคิดชอบและปฏิบัติชอบ คือมีความรู้สึกสำนึกที่ดีในจิตใจ และพฤติกรรมที่แสดงออกก็สอดคล้องกับสำนึกนั้น

มโนทัศน์ทางการสอนจริยธรรมของครู
      ในการสอนจริยธรรมนั้น ก่อนอื่นครูธุรกิจศึกษาควรต้องตีความให้ได้ก่อนว่า จริยธรรมคืออะไร การคิดชอบนั้นคืออะไร การปฏิบัติชอบนั้นคืออะไร หรือการรู้สึกสำนึกดีนั้นคืออะไร จะแสดงออกได้อย่างไร และอะไรคือความมีจริยธรรมที่สังคมยอมรับ เป็นต้น ซึ่งผลสรุปของการตีความนั้นมักจะขึ้นอยู่กับ ปรัชญาความเชื่อของครู ที่กลั่นออกมาเป็นมโนทัศน์ (concept) ทางจริยธรรมประจำตัว หากครูเห็นว่าจริยธรรมหรือความดี เป็นรูปแบบแน่นอนที่จริงแท้ และไม่เคยเปลี่ยนแปลง เช่น ความซื่อสัตย์ ซื่อตรง ความจงรักภักดี ความเสียสละ การอุทิศตน ฯลฯ เป็นความดีในตัวเองอยู่แล้ว โดยไม่ต้องมีข้อถกเถียงและไม่เคยเปลี่ยนแปลงใดๆ ซึ่งคนรุ่นก่อนได้สั่งสมไว้ เพื่อใช้จรรโลงสังคมให้ยั่งยื่นต่อๆกันมา ความหมายของการสอนจริยธรรมตามมโนทัศน์ของครูกลุ่มนี้ ก็น่าจะเป็นการสืบทอดและปฏิบัติตามมรดกทางจริยธรรมที่สังคมสั่งสมต่อเนื่องกันมายาวนาน

     แต่ถ้าหากครูเห็นว่าความหมายของจริยธรรมหรือการคิดชอบและปฏิบัติชอบนั้น ควรประเมินและตัดสินโดยพิจารณาจากบริบทและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ไม่สามารถใช้รูปแบบจริยธรรมที่ตายตัวมาเป็นเกณฑ์วัดได้ เช่น ถ้าจะให้ตัดสินคุณค่าของคำว่า ความซื่อสัตย์ ก็ต้องพิจารณาว่าเป็นความซื่อสัตย์ต่อใคร ซื่อสัตย์ต่อบริษัท ซื่อสัตย์ต่อครอบครัว หรือซื่อสัตย์ในหมู่โจร ความหมายของการสอนจริยธรรมของครูกลุ่มนี้ ก็น่าจะเป็นเรื่องของการให้รู้จักพิจารณาตัดสินใจประเมินค่าและแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสมโดยไม่เป็นผลร้ายต่อใคร

มองต่างมุม สอนต่างกัน
      จากมโนทัศน์ที่แตกต่างกันนี้ย่อมทำให้วิธีสอนแตกต่างกันไปด้วย ครูที่เชื่อว่าจริยธรรมคือรูปแบบความดีที่แน่นอนไม่เปลี่ยนแปลง การสอนก็จะเน้นการสืบทอดคุณงามความดีของมนุษย์ โดยนำเสนอรูปแบบของความดีที่มีอยู่แล้ว มาปลูกฝังให้ผู้เรียนได้รับรู้ เข้าใจและปฏิบัติตาม ซึ่งอาจใช้วิธีการบอกกล่าวกันโดยตรง หรือนำเสนอผ่านสื่อรูปแบบต่าง ๆ แล้วยกกรณีที่เกิดขึ้นในวงการธุรกิจเป็นตัวอย่าง ซึ่งวิธีสอนแนวนี้มีการปฏิบัติกันมาช้านานตามแนวทางปรัชญาสารัตถนิยม และเห็นได้ชัดเจนว่า วิธีสอนลักษณะนี้น้ำหนักจะตกอยู่กับครูผู้สอนเป็นสำคัญ เพราะครูจะเป็นผู้นำเสนอเนื้อหาความรู้ ชักจูงให้ผู้เรียนเชื่อและปฏิบัติตาม ส่วนผู้เรียนจะมีหน้าที่รับรู้ ทำความเข้าใจ เชื่อและปฏิบัติตามคำสอนของครู

     สำหรับครูที่เห็นว่า จริยธรรมเป็นเรื่องของการประเมินคุณค่าและแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม ตามบริบทและความเปลี่ยนแปลง คงไม่สามารถนำรูปแบบความดีความงามมาบอกกล่าวผู้เรียนโดยตรง แต่จะเป็นการสอนที่มุ่งฝึกฝนให้ผู้เรียนรู้จักพิจารณา และหาทางตัดสินใจแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างลงตัวไม่ส่งผลเดือดร้อนต่อทุกฝ่าย ซึ่งอาจอยู่ในรูปของการสอนด้วยกรณีศึกษาต่างๆ เช่น กรณีศึกษาทางธุรกิจ หรือกรณีศึกษาทางการตลาดที่ผนวกปัญหาทางจริยธรรมไว้ด้วย แล้วให้ผู้เรียนช่วยกันพิจารณาแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้ลุล่วง โดยที่ธุรกิจก็ไม่เสียหายและสังคมก็ไม่เดือดร้อน ซึ่งจะเห็นได้ว่าวิธีสอนตามแนวทางนี้ ครูไม่ได้เป็นผู้นำเสนอเนื้อหาหลักการ แต่มีหน้าที่เตรียมปัญหาให้ผู้เรียนพิจารณาแล้วเสริมในส่วนที่ผู้เรียนยังขาด โดยผู้เรียนจะมีหน้าที่ร่วมกับครูพิจารณาตัดสินใจประเมินค่าหรือแก้ไขปัญหานั้นๆบนพื้นฐานของบริบทและความเปลี่ยนแปลง ดังนั้นน้ำหนักของการสอนจึงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้เรียนมากขึ้น

 

ทัศนใหม่ในการสอนจริยธรรมทางธุรกิจ
      Dienhart นักวิชาการด้านจริยธรรมทางธุรกิจ แห่งมหาวิทยาลัย Seattle ได้ให้ความเห็นไว้ว่า การสอนจริยธรรมในปัจจุบันคงน้อยเกินไปถ้าครูจะสอนแค่ว่า "อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ" แต่เราควรนำผู้เรียนเข้าให้ถึงรากฐานของปัญหา โดยการนำปัญหาทางธุรกิจที่ตัดสินใจได้ยากมาให้ผู้เรียนช่วยกันพิจารณาว่า ถ้าเขาเป็นผู้เกี่ยวข้องกับปัญหานั้น เขาควรจะหาทางออกในปัญหานั้นอย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุด ซึ่งมีผู้สอนหลายคนในปัจจุบันได้นำเอาปัญหาทางจริยธรรมที่เกิดขึ้นจริงมาเป็นกรณีศึกษา อาทิ ปัญหาเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นในบริษัทต่าง ๆ ที่เป็นข่าว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการปั่นหุ้น การตกแต่งตัวเลขทางบัญชี เพื่อสร้างภาพลวงตาให้แก่บริษัทของตน ลงมาจนถึงปัญหาการปลอมปนสินค้า การกักตุนสินค้า การค้ากำไรเกินควร การผิดสัญญา การฉ้อโกง ความผิดในการใช้เช็ค การผลิตสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ฯลฯ ซึ่งเรื่องจริงที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ผู้สอนสามารถนำมาเรียบเรียงเป็นกรณีศึกษาให้ผู้เรียนได้เรียนรู้กันได้

      แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีข้อถกเถียงกันในอีกหลายประเด็นที่ยังหาข้อยุติไม่ได้เกี่ยวกับวิธีการสอนจริยธรรมทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นของการแยกวิชาจริยธรรมทางธุรกิจออกมาเป็นวิชาอิสระต่างหาก หรือควรบูรณาการไว้ในเนื้อหาของวิชาอื่น ๆ ทางบริหารธุรกิจ หรือประเด็นเรื่องตัวผู้สอนว่าใครควรเป็นผู้รับผิดชอบสอนวิชานี้ ควรจะเป็นครูผู้เชี่ยวชาญทางจริยศึกษา หรือจะให้ครูวิชาบริหารธุรกิจเป็นผู้สอน อีกทั้งเนื้อหาที่สอนควรจะเน้นหนักในเชิงวิชาการเพื่อให้ผู้เรียนได้รู้ถึงทฤษฎีและปรากฎการณ์ทางจริยธรรม หรือเน้นให้ผู้เรียนรู้จักแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยใช้สามัญสำนึก หรืออีกนัยหนึ่งอาจหมายถึงว่าเราควรเน้นความรู้ทางวิชาการ(cognitive) หรือจะเน้นให้เกิดความซาบซึ้งทางจริยธรรม(affective) และเราควรตีกรอบเนื้อหาเฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับการบริหารในองค์กรธุรกิจ(Micro) หรือควรมองกว้างไปถึงปัญหาทางจริยธรรมที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจและสังคม(Macro)

ท้ายที่สุดแต่ยังไม่สุดท้าย
      จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงการเปิดประเด็นปัญหาการสอนจริยธรรมทางธุรกิจเท่านั้น ยังมีประเด็นที่น่าคิดอีกมากมายที่รอให้ครูธุรกิจศึกษาช่วยกันหาคำตอบ เพื่อให้การสอนจริยธรรมทางธุรกิจมีประสิทธิผลมากขึ้น แม้แนวคิดการสอนจะมีการเปลี่ยนแปลงไป แต่ตราบใดที่ครูยังเห็นว่าการสอนจริยธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น ก็เชื่อมั่นได้ว่าคงมีโอกาสเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นในการจัดการเรียนการสอนจริยธรรมทางธุรกิจอย่างแน่นอน และสังคมก็คงได้รับคำตอบที่น่าพอใจจากผู้อยู่ในแวดวงธุรกิจศึกษา...

 

หมายเลขบันทึก: 462422เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2011 14:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท