เกาะสมุย


 

เกาะสมุยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศอีกแห่งหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เพราะมีธรรมชาติอันงดงาม มีหาดทรายขาวละเอียดที่สะอาดบริสุทธิ์ อีกทั้งยังเพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกทุกรูปแบบครบครัน ทั้งที่พักหลากหลายรูปแบบจำนวนมาก มีการคมนาคมที่สะดวก และมีสนามบินเป็นของตัวเอง ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยว และเติมเต็มให้เกาะแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สมบูรณ์แบบ

ปัจจุบันเกาะสมุยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของทะเลอ่าวไทยตอนใต้ ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติหลั่งไหลไปเยี่ยมเยือนปีละหลายล้านคน

 

เกาะสมุยเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดราษฎร์ธานี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด ห่างจากชายฝั่งสุราษฎร์ธานี โดยวัดจากท่าเรือดอนสักประมาณ 35 กิโลเมตร แต่ห่างจากตัวจังหวัดสุราษฎร์ธานีประมาณ 84 กิโลเมตร ตัวเกาะมีเนื้อที่ประมาณ 247 ตารางกิโลเมตร เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ รองจากเกาะภูเก็ตและเกาะช้าง

พื้นที่ถึง 1 ใน 3 ของเกาะสมุยเป็นที่ราบ จึงสามารถสัญจรไปมาได้อย่างสะดวก และที่สำคัญคือสามารถสร้างสนามบินได้ ซึ่งอำนวยความสะดวกสบายให้กับการท่องเที่ยวเกาะสมุยได้เป็นอย่างดี

สมุยมีหาดทรายธรรมชาติสวยงามที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่น หาดเฉวง หาดละไม หาดตลิ่งงาม และหาดนาเทียน และมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ทั้งป่าไม้และแหล่งน้ำ นอกจากนี้ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่สร้างเสน่ห์ให้กับเกาะแห่งนี้เป็นอย่างมาก

 

ประวัติความเป็นมาของเกาะสมุย
ในต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกาะสมุยเป็นเมืองส่งส่วยอากร ขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช โดยมีที่ว่าการเมืองอยู่ที่บ้านดอนแตง ใกล้วัดประเดิม หมู่ที่ 1 ตำบลหน้าเมืองอยู่ทางทิศใต้ของเกาะสมุยมีข้อความปรากฏในหนังสือ " ชีวิวัฒน์ " พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงนิพนธ์ไว้เป็นทำนองรายงานการเสด็จ ตรวจราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีวอกพ.ศ. 2427 ได้กล่าวถึงเกาะสมุยในขณะนั้นใจความตอนหนึ่งว่า

" ในหมู่บ้านเกาะสมุยนี้ ถ้าจะประมาณโรงเรือนราษฎรที่ตั้งอยู่ จะเป็นไทยประมาณ 400 หลังเศษ จีน 100 หลังเศษเป็นจำนวนคนซึ่งประจำอยู่ ณ เกาะนั้น ไทยประมาณ 1,000 คนเศษ จีนสัก 600 คนเศษ คิดทั้งคนจรไปมาตั้งบ้างไปบ้างจะเป็นคนรวมประมาณถึง 2,000 คน แต่คนในเกาะสมุยนั้น มาก ๆ น้อย ๆ เป็นคราว ๆ เป็นต้นว่าถึงฤดูสักเลก คนหลบหนีมาอยู่เกาะสมุยเป็นอันมาก ถ้าจะคิดในเวลาอย่างมากจะเป็นคนประมาณถึง 5,000-6,000 คน คนไทยนั้นเป็นคนชาวนอก กริยาน้ำใจ และเสียสละเป็นชาวนอก กริยา น้ำใจเสียสละ เป็นชาวนอกทั้งสิ้น มักจะบิดเบือน พูดจาไล่ไม่จนและเป็นคนเกรงกลัวอาญานายกดขี่เป็นต้น ถ้าจะถามสิ่งใดก็พูดจาอ้อมค้อมวนเวียน ปิดบัง เป็นธรรมดา หาจริงยาก.....พวกนั้นมักจะเป็นชาติไหหลำทั้งสิ้น.....ฯลฯ "

เมื่อเกาะสมุยเป็นเมืองส่งส่วยแก่เมืองนครศรีธรรมราช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ก็ส่งคนมาปกครองเกาะสมุยความอีกตอนหนึ่งในชีวิวัฒน์กล่าวว่า

" เกาะสมุยนี้ มีตำแหน่งผู้ว่าราชการเป็นพระคนหนึ่ง คือนายฉิม ญาติพระยานครที่ตายเสียแล้ว ในเวลาบัดนี้ไม่มีตัวพระสมุยผู้ว่าราชการ มีแต่ปลัดอยู่คนหนึ่งเรียกว่า หลวงสมุยเป็นคนแก่อายุมาก" ชาวเกาะสมุยมักจะเรียกเจ้าเมือง เกาะสมุยว่า "ตาหลวงหมุย" และการปกครองสมัยเดิม เจ้าเมืองแต่ละคนจะอยู่จนแก่เฒ่า และเมื่อตายไปแล้วจะแต่งตั้งบุตรชายเป็นเจ้าเมืองแทนต่อไป

ในปี พ.ศ. 2427 ครั้งเมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาภานุพันธุ์วงศ์วรเดช ได้มาตรวจราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ ทำให้ทราบว่าชาวเกาะสมุยไม่อยากอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช เพราะถูกกดขี่ข่มเหง ทำให้ชาวเกาะสมุยเกรงอาญาเจ้าพระยานคร ดังนั้นชาวเกาะสมุยจึงได้ร้องทุกข์กับ สมเด็จฯ กรมพระยาภานุพันธุ์วงศ์วรเดช ต่อมาในคราวเดียวกันพระองค์ทรงแวะเยี่ยมเยียนที่เมืองไชยา อันเป็นเมืองสำคัญแห่งหนึ่งในสมัยนั้น ได้ทรงพบปะกับพระยาไชยา (ขำ ศรียาภัย) เจ้าเมือง ( ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวจีสัตยารักษ์ ) ก็ทรงชอบพอัธยาศัยของพระยาไชยามาก ด้วยเหตุนี้เองจึงได้กราบทูลให้ พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบถึงความต้องการของชาวเกาะสมุย จึงทำให้เกาะสมุยมาขึ้นกับเมืองไชยาด้วยเหตุนี้เอง

ต่อมาเมื่อปีพ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116) ได้มีการจัดระบบการปกครองท้องถิ่นขึ้นใหม่ โดยยุบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ตั้งเป็นมณฑล จังหวัด และอำเภอเมืองเกาะสมุยกับเกาะพะงันถูกยุบรวมเป็นอำเภอเดียวกัน และได้ส่งหลวงพิพิธอักษร (สิงห์ สุวรรณรักษ์) ไปเป็นนายอำเภอคนแรกของเกาะสมุย

หลวงพิพิธอักษร เป็นทั้งนักบริหารและนักปกครองและนักพัฒนาที่ดี จึงเป็นที่ชื่นชอบของชาวเกาะสมุยมากและได้นานนาม ท่านว่า " พ่อนาย " ท่านได้ย้ายที่ว่าการ จากบ้านดอนแตงมาตั้งที่บ้านหน้าทอน หมู่ที่ 3 ตำบลอ่างทอง ( อันเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอปัจจุบันนี้ ) ด้วยเห็นว่าที่บ้านหน้าทอน อยู่ใกล้กับที่ทำการของเมืองไชยา มีอ่าวจอดเรือที่ดีและท่านได้สละที่ดินส่วนตัว จำนวน 6 ไร่ ให้เป็นที่ตั้งที่ว่าการ อำเภอในปี พ.ศ.2449 แต่ตัวอาคารที่ว่าการอำเภอเป็นแบบสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2468หลวงพิพิธอักษร ได้รับพระราชทานยศเป็น พระยาเจริญราชภักดี ดำรงตำแหน่งนายอำเภอตั้งแต่ พ.ศ.2440-พ.ศ.2471 รวมเวลานานถึง 31 ปี จึงได้ลาออกรับบำนาญและถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 84 ปี ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2482

ครั้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เสด็จประพาสเกาะสมุย และได้ทรงปรารภถึงความเก่าแก่ ของอาคารที่ว่าการอำเภอ และทรงเห็นว่าสมควรจะสร้างใหม่ได้แล้วดังนั้นทางอำเภอจึงได้ของบประมาณไปยังส่วนกลาง
จนกระทั่งปี พ.ศ.2514 ได้รับงบประมาณ เป็นเงิน 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน) โดยให้สร้างแบบอาคารไม้สองชั้น ทางอำเภอพิจารณาเห็นว่าเกาะสมุยเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศไปเที่ยวปีละมาก ๆ จึงได้ขอทบทวนใหม่ในปี พ.ศ.2516และได้รับงบประมาณในปี พ.ศ. 2518 และสร้างเสร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ.2519 ลักษณะของอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กตัวตึก 2 ชั้น

คำสำคัญ (Tags): #เกาะสมุย
หมายเลขบันทึก: 462304เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2011 19:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท